กลุ่มป่าแก่งกระจาน

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของไทย

กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 6 และเป็นลำดับที่ 3 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ผ่านการประชุมออนไลน์ ณ เมืองฝูโจว ประเทศจีน เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแนวทิวเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีก 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี มีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านไร่ หรือราว 4,702 ตารางกิโลเมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร[1]

กลุ่มป่าแก่งกระจาน *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ทิวทัศน์มองจากเขาพะเนินทุ่งในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
พิกัด12°54′16.1″N 99°20′15.2″E / 12.904472°N 99.337556°E / 12.904472; 99.337556
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(x)
อ้างอิง1461
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2564 (คณะกรรมการสมัยที่ 44)
พื้นที่408,940 เฮกตาร์
กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในประเทศไทย
กลุ่มป่าแก่งกระจาน
ที่ตั้งของกลุ่มป่าแก่งกระจานในประเทศไทย
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ในเขตนิเวศอินโดมาเลยันซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิศาสตร์ย่อยของพืชพันธุ์สัตว์ป่าหลายเขตมาบรรจบกัน อีกทั้งยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับทิวเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืด บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

การเสนอขึ้นทะเบียน

แก้

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ประจำปี 2564 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 -31 ก.ค. 2564 ประเทศไทยได้มีการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอีกครั้งและได้รับการขึ่นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้สำเร็จ สำหรับการนำเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยระหว่างการพิจารณานั้นเมื่อทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น กล่าวเปิดประเด็นเพื่อเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ประเทศแรกที่ยกมือสนับสนุน คือ รัสเซีย ต่อมาประเทศนอร์เวย์ ได้ขึ้นกล่าวคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพราะยังติดใจในประเด็นการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชน ของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน อย่างไรก็ตาม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในอนุสัญญามรดกโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการจัดการดูแลความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เป็นอย่างดี และทุกคนก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการทุกอย่างตามคำแนะนำที่ไอยูซีเอ็น และประเทศอื่นๆ ที่แสดงความเป็นห่วงติติง จากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างดีแล้ว หลังจากนั้น ก็มีผู้แทนจากประเทศ อียิป เอธิโอเปีย และประเทศโอมานขึ้นกล่าวสนับสนับสนุนให้ป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยผู้แทนจากประเทศโอมานระบุว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ของโลกที่มีการจัดการพื้นที่ป่าเป็นอย่างดี และมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพืชและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญมากกว่า 700 ชนิด ประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สเปน ออสเตรเลีย มาลี บราซิล จีน ไนจีเรีย เมียนมา และกัวเตมาลา มีเพียง ประเทศนอร์เวย์ประเทศเดียวที่คัดค้าน

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กุยบุรี เฉลิมพระเกียรติไทยประจันทร์ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบทางไกล ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้

  • (x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

โดยมติของ ยูเนสโก ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน 3 เรื่อง ได้แก่

1. ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง

2. การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน

3. การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวถูกคัดค้านจากกลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย เนื่องจากรัฐไทยยังไม่สะสางปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "World Heritage Site | รายละเอียดแหล่ง". worldheritagesite.onep.go.th.
  2. "ภาคีเซฟบางกลอย บุก ทส. สาดสีแดง จี้หยุดมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน". ข่าวสด. 26 July 2021. สืบค้นเมื่อ 30 July 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้