อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หรือ ผืนป่ากุยบุรี เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำกุยบุรีและแม่น้ำปราณบุรี หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่ปรากฏในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งหาความรู้ศึกษาวิจัย และการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชน โดยได้รับประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 20ก วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2542 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ของประเทศ มีอาณาเขตครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ป่ากุยบุรี
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอกุยบุรี อำเภอปราณบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ไทย
พิกัด12°13′44.2″N 99°33′18.5″E / 12.228944°N 99.555139°E / 12.228944; 99.555139
พื้นที่991.46 ตารางกิโลเมตร (619,663.38 ไร่)[1]
จัดตั้ง26 มีนาคม 2542
ผู้เยี่ยมชม10,037 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ฝูงช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจาน
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(x)
อ้างอิง1461
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2564 (คณะกรรมการสมัยที่ 44)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
แผนที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรียังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 อีกด้วย

ระบบนิเวศ

แก้

ป่ากุยบุรีมีความหลากหลายทางระบบนิเวศทางชีวภาพสูง ประกอบด้วย สังคมพืช ที่มีความโดดเด่นได้แก่ ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ป่าดิบเขา พบกระจายเป็นพื้นที่เล็กๆตามสันเขา ยอดเขาสูงชันทางด้านทิศตะวันตก ป่าดิบชื้นพบตามริมลำห้วย ป่าผสมผลัดใบพบกระจายบางพื้นที่ทางด้านตะวันออก ส่วนตอนกลางของพื้นที่ของบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่กร.1 (ป่ายาง) เป็นพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่า ปลูกพืช อาหารสัตว์ และพื้นที่จัดการทุ่งหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่า มีการสร้างแหล่งน้ำทั้งในรูปฝายเก็บน้ำ และฝายต้นน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนป่าตามโครงงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริจากการที่เป็นผืนป่ารอยต่อระหว่างภาคใต้และภาคกลาง ทั้งยังอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีจึงมีความหลากหลายของพืชพรรณสูงมากแห่งหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้ พบเหรียงหรือต้นกะเหรี่ยงไม้สกุลสะตอ ได้บริเวณป่าดิบแล้งไม้ภาคใต้ในป่าดิบชื้นทางตอนเหนือออกฝักช่วงฤดูฝน ถิ่นกำเนิดไม้หอมหลายชนิด เช่น ไม้จันทร์หอม ไม้หอมในพระราชพิธีสำคัญ ไม้มหาพรหมไม้ป่า ดอกไม้สวยงาม ไม้ยางนา ไม้ยางแดง มะด่าโมง ตะเคียนทอง มะปรางป่าตอนเหนือของอุทยานฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธ์หวายธรรมชาติ เช่นหวายตะเค้าทองกล้วยไม้กว่า 60 ชนิด ส่วนใหญ่พบออกดอกในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงมิถุนายน กล้วยเด่นหวายแดงประจวบคีรีขันธ์ เอื้องวนิลา ไม้ดอกหอมที่พบกระจายพันธุ์เฉพาะถิ่นใต้ กล้วยไม้หางช้าง หรือ ว่านเพชรหึง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติกุยบุรียังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น ช้างเอเชีย (Elephas maximus), เสือโคร่ง (Panthera tigirs), วัวแดง (Bos javanicus), กระทิง (Bos gaurus), สมเสร็จ (Topirus indicus), เก้งหม้อ (Muntiacus teae), หมีควาย (Ursus Thibetanus), เสือลายเมฆ (Neofells nebulosa), เสือไฟ (Capricornis temminickki) เสือดำ, เสือดาว (Panthera pardur), เสือปลา (Prionailurus viverrinus), หมีหมา (Ursus malayanus), หมาใน (Cuon alpinus), ชะมดแปลงลายแถบ (Prionodon linsang), เลียงผา (Capricornis sumatraensis), นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Rhyticeros subruficollis), ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Lophura ifnita) ซึ่งล้วนอยู่ในวิกฤติของการสูญพันธุ์ทางธรรมชาติ และพันธุ์พืช เช่น ต้นจันทน์, ต้นยางนา, ต้นเหรียง, ต้นเปล้าน้อย, หวายตะค้าทอง, ต้นเอื้องวานิลลา เป็นต้น

ช้างป่า

แก้

จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีในต้นปีที่แล้วนี้มีช้างจำนวน 109 ตัว แบ่งเป็น 2 โขลง โขลงใหญ่มี 70 กว่าตัว อาศัยและหากินในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในท้องที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอีกโขลง 30 กว่าตัว อาศัยและหากินในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีท้องที่บ้านหาดขาม บ้านหุบบอน และบ้านย่านซื่อ ตำบลหาดขาม ภาพประกอบเรื่องบันทึกเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2542 ช้างป่ากุยบุรีลงมาหาอาหารกินที่เชิงป่าชายเขาท้องที่บ้านรวมไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งของโขลงช้างที่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารในช่วงหน้าแล้ง ต้องเสี่ยงชีวิตพาลูก ๆ ลงมาหาอาหารยังเชิงเขาและที่เพาะปลูกของชาวบ้าน อันนำมาซึ่งปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้านและนายทุน

ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า

แก้

พื้นที่รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีปรากฏเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นเวลานาน พืชที่มีการเพาะปลูกมากที่สุด คือ สับปะรด การขยายพื้นที่สับปะรดเริ่มต้นช่วงปี พ.ศ. 2510 เพราะปัญหาเศรษฐกิจการผลิตของบริษัทสับปะรดที่เกาะฮาวาย บวกกับนโยบายของรัฐบาลไทยในยุคนั้นต้องการกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้หมดไป จึงส่งเสริมให้ราษฎรออกจากป่าโดยจัดตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินทำกิน รวมถึงการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อเป็นที่เกษตรกรรมแต่ขาดมาตรการควบคุมและขาดการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ปัญหาที่ตามมา คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็วจนเกิดผลกระทบกับสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม ต้องอพยพหลบหนีไปจากแหล่งอาศัยเดิม สิ่งที่ตามมา คือ การสนับสนุนส่งเสริมการตั้งโรงงานทำผลไม้กระป๋องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนถึง 32 แห่ง เมื่อใดก็ตามที่สับปะรดราคาแพงจะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปีต่อมาสับปะรดมีปริมาณเกินความต้องการของตลาด ราคาสับปะรดก็ลดลงจนไม่มีคุ้มกับการลงทุนและเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านทิ้งไร่โดยเฉพาะแปลงที่อยู่ไกลชุมชนและติดกับชายป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สภาพดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างป่าออกมากินสับปะรดที่ถูกทิ้งร้างไว้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหากิน จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย่งระหว่างคนกับช้างป่าและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสับปะรดปรับตัวสูงขึ้น

ผลกระทบของความขัดแย้ง

แก้

ช้างป่าต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแต่เดิมในบริเวณป่าแถบนี้เป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย ต่อมาป่าไม้ถูกทำลาย กลายเป็นที่ทำประโยชน์ของมนุษย์ ทำให้สัตว์ป่าและช้างป่าจำต้องถอยร่น พื้นที่ป่าที่เคยเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติก็ถูกลุกล้ำลิดรอน เมื่อเข้าฤดูแล้งช้างป่าขาดแคลนอาหารธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างต้องออกจากป่ามาหากินประทังชีวิตแถบถิ่นเดิมที่กลายมาเป็นที่ปลูกพืชไร่ของชาวบ้าน ก็เกิดปัญหาตามมา คือการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน จนเกิดเหตุการณ์กรณีที่ช้างป่าตายเพราะถูกวางยาพิษ

เหตุการณ์ช้างป่าถูกวางยาพิษ

แก้

"2 ช้างป่าตายปริศนากลางไร่""ผ่าซากพิสูจน์ช้างโดนยาพิษ ฝีมือนายทุนใจทมิฬ " ข่าวหน้าหนึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2540 กรณีช้างป่าถูกวางยาที่ป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สื่อมวลชนติดตามข่าวโดยตลอด ผู้มีจิตเมตตาและองค์กรอนุรักษ์ภาครัฐและเอกชนต่างเคลื่อนไหวต่อกรณีช้างป่ากุยบุรี ที่กำลังประสบปัญหาเนื่องจากป่าที่เป็นที่อยู่ของช้างถูกทำลายกลายมาเป็นไร่สัปประรด เมื่อช้างลงมากิน จึงถูกวางยาพิษและจบชีวิต

การแก้ปัญหา

แก้

ในช่วงฤดูแล้ง ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีอยู่ 100 กว่าเชือกจะออกจากป่ามาหากินตามชายป่าซึ่งเป็นอาณาบริเวณถิ่นที่อยู่เดิมของตนแต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ปลูกพืชไร่ เช่น สับปะรดของชาวบ้านและนายทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่ออนุรักษ์ช้างในอุทยานแห่งชาติป่ากุยบุรี

นอกจากนั้นยังมีการประชุมหารือชาวบ้านแถบถิ่นนั้น เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย และหาวิธีการผลักดันที่ไม่เกิดอันตรายต่อช้างป่า

อ้างอิง

แก้
  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้