เลียงผา หรือ เยียงผา หรือ โครำ (อังกฤษ: Serows; อีสาน: เยือง) เป็นสกุลของสัตว์กีบคู่สกุลหนึ่ง ในวงศ์ Bovidae วงศ์ย่อย Caprinae คือ วงศ์เดียวกับแพะและแกะ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis (/แคป/-ปริ-คอร์-นิส/)

ศัพทมูลวิทยา

แก้

โดยคำว่า Capricornis นั้นมาจากภาษาลาตินคำว่า "Caprea" แปลว่า "แพะ" และคำว่า "cornis" (κορνης) เป็นภาษากรีก แปลว่า "เขา" รวมความหมายได้ว่า "สัตว์ที่มีเขาอย่างแพะ" ในขณะที่ชื่อสามัญมาจากคำว่า "Saro" ในภาษาเลปชา ของชาวเลปชา ในรัฐสิกขิม ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยสันนิษฐานว่ามาจาก คำว่า "เยียง" แปลว่า "แพะ" เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีน ในภาษาแต้จิ๋วออกเสียงคำนี้ว่า "เอี๊ยง" (羊) ส่วนภาษาจีนสมัยกลางในยุคราชวงศ์ถังและภาษาจีนกลางรุ่นแรกในสมัยราชวงศ์หยวนมีหลักฐานว่าออกเสียงเป็น "เยียง"[1]

ลักษณะ

แก้

เลียงผามีลักษณะคล้ายกับกวางผา ซึ่งเดิมก็เคยถูกจัดให้อยู่สกุลเดียวกันมา (ซึ่งบางข้อมูลยังจัดให้อยู่สกุลเดียวกัน[2]) แต่เลียงผามีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ, สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์ มีขนหยาบและไม่เป็น 2 ชั้นเหมือนกวางผา ใต้ตามีต่อมน้ำมันใช้สำหรับถูตามต้นไม้หรือโขดหินเพื่อประกาศอาณาเขต พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดนีเซีย จนถึงเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่าง ๆ กลางทะเล[3] มีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงชันได้อย่างคล่องแคล่ว โดยสามารถทำความเร็วในการขึ้นที่สูงได้ถึง 1,000 เมตร ด้วยเวลาเพียง 15 นาที[4]

เลียงผา ถือเป็นสัตว์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในวงศ์ย่อยนี้ โดยปรากฏมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีนราว 2-7 ล้านปีมาแล้ว [5]

ถิ่นอาศัยของเลียงผา

แก้

เลียงผาเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน โดยพบว่าเลียงผาจะชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ในป่าเบญจพรรณ ในป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และบริเวณหน้าผาหินชั้นตามลาดเขาในป่าดงดิบเขา เลียงผาสามารถพบได้ในสภาพป่าค่อนข้างหลากหลาย โดยในปัจจุบันสามารถพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตาม เลียงผามักใช้พื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุมเป็นหลัก โดยทั่วไปแล้วเลียงผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร

ปัจจัยคุกคาม

แก้

นอกจากการที่ป่าไม้อันเป็นที่พำนักถูกทำลายแล้ว เลียงผายังถูกไล่ล่าเพราะถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขาหรือบาดแผลจากการถูกยิงหรือสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าวแล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาท รายได้จึงขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง[3]

การจำแนกประเภท

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. เลียงผา จากราชบัณฑิตยสถาน
  2. "Capricornis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ August 8, 2016.
  3. 3.0 3.1 สัตว์ป่าน่ารู้ เลียงผา
  4. หน้า 19 สังคม/มวย/ฟุตบอลต่างประเทศ/สกู๊ป, คนขี่เสือ โดย พันโชค ธัญญเจริญ. คมชัดลึก ปีที่ 14 ฉบับที่ 4796: วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557
  5. Mammal species of the world : a taxonomic and geographic reference (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Capricornis ที่วิกิสปีชีส์