วัวแดง
วัวแดงตัวผู้
วัวแดงตัวเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Bovinae
สกุล: Bos
สปีชีส์: B.  javanicus
ชื่อทวินาม
Bos javanicus
(D'Alton, 1823)
ชนิดย่อย
3 (ดูในเนื้อหา)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Bos banteng Wagner, 1844

วัวแดง เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos javanicus รูปร่างคล้ายวัวบ้าน (B. taurus) ทั่วไป แต่มีลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากวัวบ้านและกระทิง (B. gaurus) คือ มีวงก้นขาวทั้งในตัวผู้และตัวเมีย มีเส้นขาวรอบจมูก ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ เรียกว่า "กระบังหน้า" ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 190–255 เซนติเมตร หางยาว 65–70 เซนติเมตร สูงประมาณ 155–165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 600–800 กิโลกรัม

พบในพม่า, ไทย, อินโดจีน, ชวา, บอร์เนียว, เกาะบาหลี, ซาราวัก, เซเลบีส สำหรับประเทศไทยเคยพบได้ทุกภาค วัวแดงกินหญ้าอ่อน ๆ ใบไผ่อ่อน หน่อไม้อ่อน ลูกไม้ป่าบางชนิด ใบไม้ ยอดอ่อนของพืช และดอกไม้ป่าบางชนิด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย ได้ดังนี้

  • B. j. birmanicus พบในไทย, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม ตัวผู้และตัวเมียมีสีเดียวกัน และในมาเลเซียส่วนใหญ่จะมีสีดำ
  • B. j. javanicus พบในชวา ตัวผู้สีดำ ตัวเมียสีเหลืองอ่อน
  • B. j. lowi พบในเกาะบอร์เนียว มีขนาดเล็กกว่าชนิดแรก เขามีความโค้งสูง ลำตัวสีน้ำตาลแดง

วัวแดงชอบหากินอยู่เป็นฝูง ไม่ใหญ่นัก ราว 10–15 ตัว ปกติจะเริ่มออกหากินตั้งแต่ตอนพลบค่ำไปจนถึงเช้าตรู่ บางครั้งอาจเข้าไปรวมฝูงกับกระทิงและกูปรี (B. sauveli) กลางวันนอนหลบตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่งหรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่งไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้ายเหมือนกระทิง หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปีเศษ ระยะตั้งท้องนาน 8–10 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่อมีอายุราว 9 เดือน หลังคลอดลูกราว 6–9 เดือน แม่วัวแดงจะเป็นสัดและรับการผสมพันธุ์อีก มีอายุยืนประมาณ 30 ปี วัวแดงยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "วัวเพลาะ" [2] ขณะที่ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีสีคล้ำคล้ายกับสีตาลโตนด คือสีน้ำตาลเข้ม บางตัวมีสีเข้มทำให้แลดูคล้ายกระทิงมาก ลักษณะเช่นนี้เรียก "วัวบา"[3]

เป็นสัตว์ที่มีรายชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ได้มีการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกของโลก เป็นตัวผู้ 2 ตัว อายุ 5 ปี และ 4 ปี และเป็นตัวเมีย 2 ตัว อายุระหว่าง 3 ถึง 4 ปี ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี[4]

ที่ติมอร์-เลสเต ชาวบ้านนิยมใช้วัวแดงในการไถนา ซึ่งกระทำได้ยากกว่าการใช้วัวบ้านมาก[5]

อ้างอิง แก้

  1. Timmins, R.J., Duckworth, J.W., Hedges, S., Steinmetz, R. & Pattanavibool, A. (2008). Bos javanicus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 March 2009. Database entry includes a brief justification of why this species is of endangered.
  2. เพลาะ ๒ : น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. หน้า ๐๘๔-๐๘๕, ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง. "โลกละมุน" โดย ณรงค์ สุวรรณรค์. อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๑๒: กรกฎาคม ๒๕๕๙
  4. "ปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่าสลักพระ". เดลินิวส์. 15 December 2014. สืบค้นเมื่อ 23 January 2016.
  5. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Bos javanicus ที่วิกิสปีชีส์