อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นอำเภอศูนย์กลางการปกครองและการบริหารของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mueang Prachuap Khiri Khan |
คำขวัญ: แคบสุดในสยาม เมืองงามสามอ่าว ดูดาวที่หว้ากอ ถิ่นก่อวีรกรรม ตำนานตาม่องล่าย | |
แผนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้นอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ | |
พิกัด: 11°48′30″N 99°47′48″E / 11.80833°N 99.79667°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ประจวบคีรีขันธ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 844.0 ตร.กม. (325.9 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 90,986 คน |
• ความหนาแน่น | 107.80 คน/ตร.กม. (279.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 77000, 77210 (เฉพาะตำบลบ่อนอกและหมู่ที่ 1, 4-10 ตำบลอ่าวน้อย) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 7701 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ถนนก้องเกียรติ ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77000 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ประวัติ
แก้อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า "เมืองนารัง" หรือ "เมืองบางนางรม" ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าได้ลำดับชื่อหัวเมืองปักษ์ใต้ดังนี้ "เมืองปราณ เมืองชะอัง เมืองนารัง เมืองบางตะพาน" เมืองเหล่านี้ก็คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอชะอำ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพานในปัจจุบัน
หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 เมืองนารัง (บางนางรม) ก็เลิกร้างไป จนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองบางนางรมขึ้นใหม่ที่ปากคลองบางนางรม แต่ที่ดินไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก จึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่เมืองกุย ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจากเมืองกุยเป็น "เมืองประจวบคีรีขันธ์" โดยรวมเมืองกุย เมืองคลองวาฬ เมืองบางนางรมเข้าด้วยกัน โดยที่ตั้งเมืองยังคงตั้งอยู่ที่เมืองกุย (คืออำเภอกุยบุรีในปัจจุบัน)
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ตั้งมณฑลราชบุรี ขึ้นในปี พ.ศ. 2438 เมืองประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับแขวงเมืองเพชรบุรีนั้นจึงได้รับจัดตั้งเป็น อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สังกัดเมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี
พ.ศ. 2441 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งอยู่ที่อ่าวเกาะหลัก ต่อมา วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าให้รวมเอาอำเภอเมืองปราณบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธุ์ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอกำเนิดนพคุณ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นเมืองชั้นจัตวามาก่อนเข้ารวมเป็นเมืองปราณบุรี (จังหวัดปราณบุรี) ตั้งที่ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์จึงได้แยกจากเมืองเพชรบุรีมาอยู่ในการปกครองของเมืองปราณบุรี เป็น อำเภอประจวบคีรีขันธ์ [1] ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีเป็น "เมืองประจวบคีรีขันธ์"[2] เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2458 อำเภอประจวบคีรีขันธ์จึงสังกัดเมืองประจวบคีรีขันธ์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) จนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และมีการเปลี่ยนนามอำเภอตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอคือ อำเภอเกาะหลัก ภายหลังได้เปลี่ยนกลับมาเป็น "อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์" จวบจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้ตั้งอยู่กึ่งกลางของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 281 กิโลเมตร มีแนวชายแดนไทย-พม่า ยาวประมาณ 44 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดน 1 แห่ง ได้แก่ ช่องด่านสิงขร หมู่ที่ 6 ตำบลคลองวาฬ ช่องที่แคบที่สุดของประเทศไทยกว้างประมาณ 11 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลห้วยทราย
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอกุยบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทับสะแก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับภาคตะนาวศรี (ประเทศพม่า)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 6 ตำบล 63 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[3] |
---|---|---|---|---|
1. | ประจวบคีรีขันธ์ | Prachuap Khiri Khan | –
|
17,892
|
2. | เกาะหลัก | Ko Lak | 11
|
15,413
|
3. | คลองวาฬ | Khlong Wan | 9
|
15,034
|
4. | ห้วยทราย | Huai Sai | 13
|
9,681
|
5. | อ่าวน้อย | Ao Noi | 16
|
25,030
|
6. | บ่อนอก | Bo Nok | 14
|
7,525
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลประจวบคีรีขันธ์ทั้งตำบล บางส่วนของตำบลเกาะหลักและตำบลอ่าวน้อย
- เทศบาลตำบล กม.5 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอ่าวน้อย
- เทศบาลตำบลคลองวาฬ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลคลองวาฬ
- องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะหลัก (นอกเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์)
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองวาฬ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองวาฬ (นอกเขตเทศบาลตำบลคลองวาฬ)
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยทรายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย (นอกเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์และเทศบาลตำบล กม.5)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อนอก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อนอกทั้งตำบล
ลักษณะภูมิประเทศ
แก้ลักษณะโดยทั่วไป ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตก ซึ่งเป็นเทือกเขาตะนาวศรี อันเป็นเทือกเขากั้นระหว่างพรมแดนไทย กับพม่าลงสู่ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นอ่าวไทย และมีเทือกเขาและภูเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งบริเวณชายฝั่งทะเล และบริเวณส่วนกลางของพื้นที่จังหวัดซึ่งมีชายหาดและอ่าวที่สวยงามหลายแห่ง เช่น อ่าวประจวบฯ อ่าวมะนาวเป็นอ่าวที่ชายหาดรูปโค้งเสี้ยวพระจันทร์แต่งแต้มด้วยภูเขา ทิวเขา และเกาะแก่งต่าง ๆ ที่ผสมกลมกลืนกันตามธรรมชาติ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาสลับซับซ้อน สมดังความหมายของชื่อจังหวัดที่แปลว่า “เมืองที่มีภูเขาเป็นหมู่ ๆ ยาวพืดทั่วไป” ซึ่งมีภูเขากระจัดกระจายทั่วไป ทั้งบริเวณชายฝั่งทะเล และบริเวณส่วนกลางของจังหวัด
พื้นที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย 6 ตำบล
1. ตำบลอ่าวน้อย คิดเป็นร้อยละ 40.28
2. ตำบลบ่อนอก คิดเป็นร้อยละ 22.39
3. ตำบลห้วยทราย คิดเป็นร้อยละ 13.63
4. ตำบลคลองวาฬ คิดเป็นร้อยละ 11.14
5. ตำบลเกาะหลัก คิดเป็นร้อยละ 10.90
6. ตำบลประจวบคีรีขันธ์ คิดเป็นร้อยละ 1.66
- พื้นที่ราบประมาณร้อยละ 71
- เป็นภูเขาประมาณ ร้อยละ 28
- พื้นน้ำร้อยละ 1
สภาพแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นสายสั้น ๆ ที่เป็นอิสระแยกจากกันและไหลลงอ่าวไทยอยู่ในสภาพตื้นเขิน จะมีน้ำมากเฉพาะในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งจะมีน้ำบ้างบางส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้บ้างเพียงส่วนน้อย แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่
- คลองบึง ยาวประมาณ 20 กิโลเมตร
- คลองบางนางรม ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร
- ซึ่งเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้แบ่งเมืองสามอ่าว ทั้งหมด 3 อ่าว
- 1.อ่าวประจวบ หรือชื่อเต็มว่า อ่าวประจวบคีรีขันธ์ - ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเขาช่องกระจก สะพานปลาสราญวิถี
- 2.อ่าวมะนาว - ตั้งอยู่ในกองบิน 5 ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- 3.อ่าวน้อย - ตั้งอยู่ในตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ลักษณะภูมิอากาศ
แก้ลักษณะอากาศ โดยทั่วไปอากาศไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไป ความชื้นอากาศปานกลาง เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ในบางปีจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อตัวในทะเลจีนใต้ แล้วเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก กับมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาเป็นละลอก ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะฝนปริมาณมากในเดือนตุลาคม โดยปกติจะมีลมพัดผ่านทุกฤดูกาล ในฤดูหนาวจะพัดมาจากทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูร้อน
ฤดูกาล อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ มี 3 ฤดู ได้แก่
1. ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมนี้พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย โดยฝนจะหนักในเดือนพฤษภาคม แล้วฝนจะทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคมหลังจากนั้นฝนจะตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายนมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,179 มิลลิเมตร
2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลมนี้จะพัดมาจากบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะพัดเอาความร้อนขึ้นมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 25 องศาเซลเซียส
3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม โดยระยะนี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดูลมมรสุมหลังจากสิ้นฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน และมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายร้อนลงไป อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิ
- เฉลี่ยตลอดทั้งปี 27 องศาเซลเซียส
- สูงสุดวัดได้ 39.3 องศาเซลเซียส
- ต่ำสุดวัดได้ 10.5 องศาเซลเซียส
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศ ตั้งเมืองปราณบุรี ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๓ ตอนที่ ๔๑ ประกาศ ณ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ หน้าที่ ๑๐๖๒
- ↑ ประกาศ เปลี่ยนนามเมืองปราณบุรี เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๒ ตอนที่ ๐ ก ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ หน้าที่ ๑๗๖
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.