เสือดาว
เสือดาว | |
---|---|
เสือดาวชนิด P. p. pardus พบได้ในทวีปแอฟริกา | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Felidae |
สกุล: | Panthera |
สปีชีส์: | P. pardus |
ชื่อทวินาม | |
Panthera pardus (Linnaeus, 1758) | |
ชนิดย่อย[2] | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของเสือดาวในอดีตและปัจจุบัน | |
ชื่อพ้อง | |
|
เสือดาว หรือ เสือดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera pardus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เป็นเสือขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่ง (P. tigris)
พบได้ทั่วไปในแอฟริกาใต้ รวมถึงบางส่วนของเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง รัสเซียตอนใต้ และในอนุทวีปอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก เสือดาวถูกระบุอยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น เนื่องจากถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการล่าโดยมนุษย์ เสือดาวถือว่าเป็นสัตว์สูญพันธุ์เฉพาะถิ่นในฮ่องกง, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, จอร์แดน, โมร็อกโก, โตโก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อุซเบกิสถาน, เลบานอน, มอริเตเนีย, คูเวต, ซีเรีย, ลิเบีย, ตูนิเซีย และมีแนวโน้มมากที่สุดในเกาหลีเหนือ, แกมเบีย, ลาว, เลโซโท, ทาจิกิสถาน, เวียดนาม และอิสราเอล โดยมีการประมาณการว่านับตั้งแต่เสือดาวถือกำเนิดขึ้นบนโลก มีเพียง 25% หรือหนึ่งในสี่เท่านั้นที่อยู่รอดจนถึงปัจจุบัน[3][4]
เมื่อเทียบกับสัตว์ในวงศ์เสือและแมวขนาดใหญ่อื่น ๆ เสือดาวมีขาที่ค่อนข้างสั้น และมีลำตัวยาวและกระโหลกศีรษะขนาดใหญ่ ขนของมันถูกทำเครื่องหมายด้วยจุดคล้ายดอกกุหลาบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเสือจากัวร์ แต่ขนาดของจุดจะเล็กกว่า และไม่มีจุดตรงกลาง ทั้งเสือดาวและเสือจากัวร์ที่มีเมลานิซึมที่ผิดปกติจะกลายเป็นเสือดำ ขนของเสือดาวช่วยในการพรางตัวได้ดี เสือดาวมีพฤติกรรมการล่าสัตว์โดยซ่อนตัวและซุ่มโจมตี และยังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลายตั้งแต่ป่าฝนไปจนถึงที่ราบกว้างใหญ่ รวมถึงพื้นที่แห้งแล้งและภูเขา สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 58 กม./ชม. (36 ไมล์ต่อชั่วโมง) ฟอสซิลเสือดาวที่เก่าแก่ที่สุดที่ขุดพบในทวีปยุโรปมีอายุประมาณ 600,000 ปี[5] สืบมาจากยุคไพลสโตซีนตอนต้น และยังถูกพบในญี่ปุ่น[6] และสุมาตรา[7]
ลักษณะทั่วไป
แก้ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือมีสีเหลือง มีลายจุดสีดำเรียกว่า "ลายขยุ้มตีนหมา" แต้มบริเวณลำตัวเป็นจำนวนมากโดยลายจุดจะเรียงตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะปรากฏเฉพาะที่บริเวณด้านหลังและด้านข้างของลำตัว แตกต่างจากบริเวณส่วนหัว ขา เท้า บริเวณใต้ท้องที่จะมีจุดสีดำปรากฏอยู่เช่นเดียวกับขนใต้ท้องที่มีสีขาวหรือสีเทา ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 107–129 เซนติเมตร หางมีความยาว 79.2–99.1 เซนติเมตร ใบหูมีความยาว 6.5–7.4 เซนติเมตร และหนัก 45–65 กิโลกรัม
เสือดาวและเสือดำ จัดอยู่ในเสือชนิดเดียวกัน ซึ่งส่วนมากโดยทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เสือดาว และ เสือดำ เป็นเสือคนละชนิด ซึ่งในการผสมพันธุ์ของเสือดาว ลูกเสือที่เกิดใหม่ในครอกเดียวกัน อาจมีลูกเสือได้ทั้งสองชนิดคือเสือดาวและเสือดำ โดยที่เสือดำจะมีสีขนปกคลุมตามร่างกายด้วยสีดำ ซึ่งมีลายจุดเช่นเดียวกับเสือดาว เพียงแต่กลมกลืนกับสีขนทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด
พบในแอฟริกาและเอเชีย ตั้งแต่แมนจูเรียลงมาถึงอินโดจีน ไทย มาเลเซีย ชวา เอเชียใต้ บางส่วนของเอเชียกลาง จนถึงตะวันออกกลาง โดยเสือดาวที่พบนอกทวีปแอฟริกามักมีอุปนิสัยดุร้ายกว่า[8] สำหรับประเทศไทยพบตามป่าทั่วไปแต่พบมากทางภาคใต้ กินสัตว์ป่าทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมู กวาง ลิง นกยูง สุนัข และแมลง บางครั้งปู ปลาก็กิน ว่ายน้ำได้เก่ง มักอยู่อาศัยในป่าโปร่ง สามารถขึ้นล่าเหยื่อบนต้นไม้ หรือ ลากเหยื่อไปกิน บนต้นไม้เพื่อหลีกหนีจากศัตรูได้ ตามลำตัวมีลายจุดสีดำ บนพื้นเหลือง
เสือดาว จัดเป็นเสือขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กระจายพันธุ์กว้างไกลที่สุด และสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยสามารถอาศัยอยู่ได้ในอุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียสในทะเลทราย หรือกระทั่ง -25 องศาเซลเซียสในรัสเซีย และยังอยู่ได้ในระดับความสูงถึง 5,200 เมตร บนเทือกเขาหิมาลัย รวมถึงพื้นที่ป่าที่ใกล้กับชุมชนหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ด้วย
เชื่อว่าเสือดาว ถือกำเนิดมาเมื่อ 500,000 ปีที่แล้ว ที่แอฟริกา ก่อนจะแพร่กระจายพันธุ์ขยายไปเอเชีย [9]
สถานภาพปัจจุบัน
แก้สถานภาพตามกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง VU มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพในธรรมชาติ IUCN (1996) LR/lcCITES (1996) Appendix I และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ของประเทศไทยด้วย
เสือดาวถูกมนุษย์ล่าเพื่อเอาหนัง ซึ่งมีลวดลายสวยงามเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ โดยหนังเสือดาวเป็นเครื่องแต่งกายในพิธีกรรมทางศาสนาของชนพื้นเมืองในแถบแอฟริกา รวมถึงเนื้อหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ เพื่อการบริโภคตามความเชื่อหรือผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่า หรือถูกฆ่าเพื่อป้องกันการจู่โจมใส่ปศุสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ของมนุษย์ รวมถึงพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งอาศัยก็ถูกแผ้วถางทำลายลงด้วย [9]
ศัพทมูลวิทยา
แก้ชื่อในภาษาอังกฤษของเสือดาว คือ Leopard มาจากภาษากรีกโบราณ 2 คำผสมกัน คือ λέων (leōn) ที่หมายถึง "สิงโต" และ πάρδος (pardos) ที่หมายถึง "ลายจุด" อันเนื่องจากในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความเชื่อกันว่า เสือดาวเป็นลูกผสมระหว่างเสือโคร่งกับสิงโต ทั้งนี้ในความหมายของชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์ Panthera หมายถึง "เสือใหญ่" หรือ "เสือตัวผู้" โดยรวมแล้วมีความหมายถึง "เสือที่มีลายจุด"[10]
รูปร่างลักษณะ
แก้ดูบทความหลักที่: เสือดำ
เสือดาว กับ เสือดำ เป็นเสือชนิดเดียวกัน ในลูกเสือครอกเดียวกันมีได้ทั้งเสือดำและเสือดาว
- เสือดาว จะมีลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีเหลือง และมีลายจุดสีดำเป็นจำนวนมาก ลักษณะลายเป็นจุดเรียงตัวกันเป็นกลุ่มดอก ปรากฏเฉพาะบริเวณด้านหลังและด้านข้างลำตัว ส่วนที่หัว ขา เท้า และใต้ท้อง เป็นจุดสีดำโดด ๆ ส่วนขนใต้ท้องเป็นสีขาวหรือสีเทา
- เสือดำ เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิซึม ทำให้มีสีพื้นตามลำตัวเป็นสีดำ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าเสือดำก็มีลายเช่นเดียวกับเสือดาว เพียงแต่มองเห็นไม่ชัดนัก แต่จะมองได้เด่นชัดถ้าอยู่ท่ามกลางแสงแดด
เสือดำพบทางภาคใต้ของประเทศไทย และมีมากในประเทศมาเลเซีย ส่วนในพื้นที่อื่นพบเสือดาวได้ง่ายกว่า ภาษาพื้นบ้านบางแห่งเรียกว่า "เสือลายตลับ" หรือ "เสือแผ้ว" ภาษาลาว เรียกว่า "เสือลายจ้ำหลอด"
ขนาด
แก้หัวถึงลำตัว ยาวประมาณ 107–129 เซนติเมตร หาง 80–100 เซนติเมตร ขนาดใบหู 6.4–7.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 45–65 กิโลกรัม
การกระจายประชากร
แก้พบในแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก เรื่อยมาถึงทางภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และหมู่เกาะชวา ไม่เคยพบที่เกาะบาหลี เกาะสุมาตรามีน้อยมากในจำนวน
ปริมาณของเสือดาวเมื่อเทียบกับเสือโคร่งแล้วจะมีมากกว่าถึง 3–5 เท่า ในพื้นที่ ๆ มีเสือโคร่ง 1 ตัวอาจพบเสือดาวได้มากถึง 3–5 ตัว
ชนิดย่อย
แก้มีการจำแนกพันธุ์เสือดาวออกเป็นชนิดย่อยหลายแบบ บางแบบแยกออกเป็นประมาณ 6-7 ชนิดย่อย แต่บางแบบแยกออกมากถึง 30 ชนิดย่อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักอนุกรมวิธานมักจำแนกเสือดาวที่ยังอยู่ออกเป็น 9 ชนิดย่อย
ชนิดย่อย | ชื่อวิทยาศาสตร์ | เขตกระจายพันธุ์ |
---|---|---|
เสือดาวอินโดจีน | Panthera pardus delacouri | แผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
เสือดาวอินเดีย | Panthera pardus fusca | อินเดีย ปากีสถานตะวันออกเฉียงใต้ เนปาล ตอนเหนือของบังกลาเทศ |
เสือดาวจีนเหนือ | Panthera pardus japonensis | จีน |
เสือดาวศรีลังกา | Panthera pardus kotiya | ศรีลังกา |
เสือดาวชวา | Panthera pardus melas | เกาะชวา |
เสือดาวอามูร์ | Panthera pardus orientalis | ตะวันออกไกลของรัสเซีย จีนตอนเหนือ เกาหลี |
เสือดาวแอฟริกา | Panthera pardus pardus | แอฟริกา |
เสือดาวเปอร์เซีย, เสือดาวอิหร่าน | Panthera pardus saxicolor | เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ |
เสือดาวอาหรับ | Panthera pardus nimr | คาบสมุทรอาหรับ |
ลูกผสม
แก้ในปี 1953 เสือดาวตัวผู้และสิงโตตัวเมียผสมข้ามพันธุ์ในสวนฮันชิน ที่นิชิโนมิยะประเทศญี่ปุ่น ลูกของพวกมันที่รู้จักกันในชื่อ ลีโอพอน (Leopon) เกิดในปี 1959 และ 1961 ลูกทุกตัวมีลายจุดและมีขนาดใหญ่กว่าเสือดาววัยเยาว์ ความพยายามที่จะผสมพันธุ์ลีโอพอนกับเสือโคร่งตัวเมียไม่ประสบผลสำเร็จ[11]
นิเวศวิทยาและพฤติกรรม
แก้เสือดาวอาศัยได้ในสภาพแวดล้อมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือพื้นที่โล่ง ซึ่งมีหินและพุ่มไม้แห้ง ๆ แต่มันชอบสภาพป่ามากกว่า เสือดาวทนแล้งทนร้อนและอาศัยในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำได้ดีกว่าเสือโคร่ง ถ้าจำเป็นจริง ๆ เสือดาวก็ว่ายน้ำได้ แต่โดยปกติมันจะพยายามหลีกเลี่ยง เสือดาวชอบใช้ชีวิตบนต้นไม้และเคลื่อนที่ว่องไวไปตามกิ่งไม้ เสือดาวกินเหยื่อทุกชนิดที่จับได้ เช่น หมู กวาง ลิง นกยูง และหมา มันจะดักคอยเหยื่ออยู่บนต้นไม้และหลังจากฆ่าเหยื่อแล้ว จะลากเหยื่อกลับขึ้นไปกินบนต้นไม้ เพื่อป้องกันสัตว์กินซากมาแย่งอาหาร เสือดาวเริ่มกินเหยื่อที่บริเวณท้องก่อน ในขณะที่เสือโคร่งเริ่มกินที่สะโพกก่อน
เสือดาวมีวิธีอันชาญฉลาดในการจับค่างและลิงกิน โดยเสือดาวจะวิ่งเหยาะ ๆ ไปมาอยู่ใต้ต้นไม้ พวกลิงค่างบนต้นไม้ก็จะเริ่มตื่นกลัวและเตรียมตัวหนี โดยพากันกระโดดจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง จากนั้น เสือดาวจะแสร้งทำท่าปีนต้นไม้ ลิงที่มีประสบการณ์น้อยจะหลงกลกระโดดลงพื้นเพื่อหาทางหลบหนีไปตามพุ่มไม้ แต่นั่นคือจุดจบของมัน เพราะเสือดาวจะหันมาไล่จับมันอย่างง่ายดาย
อาหารของเสือดาวนอกจากสัตว์กินพืชจำพวกเก้ง กวาง แล้วมันยังล่าเหยื่ออื่น ๆ อีกเช่น กระต่าย นกยูง ชะมด หรือแม้แต่สัตว์เล็ก ๆ เช่น งู กิ้งก่า เป็นต้น เรียกได้ว่า เสือดาวกินสัตว์ทุกชนิดที่ล่าได้
การล่าของเสือดาวจะคล้ายกับเสือโคร่ง คือ การไล่ล่าโดยตรง การซุ่มดักเหลื่อ แต่จะแตกต่างไปบ้างก็ตรงที่มันอาจจะขึ้นไปพรางตัวสงบนิ่งอยู่บนต้นไม้ เพื่อรอคอยตะครุบเหลื่อที่ผ่านเข้ามาใกล้ เมื่อล่าเหยื่อได้มันจะกินบริเวณท้องและซี่โคร่งก่อน ต่างจากเสือโคร่งที่จะเริ่มกินเหยื่อบริเวณสะโพกก่อน
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้เขียนในบทนำของนิยายเรื่อง “เดชเสือดาว” ว่าเสือดาวมีความฉลาดและนิสัยระแวดระวังภัยมากกว่าเสือโคร่ง เวลาที่มันจะเข้าไปกินซากที่มันกินเหลือไว้จากคืนก่อน มันมักจะแอบดูเหตุการณ์อยู่นาน จนแน่ใจว่าไม่มีใครแอบซุ่มนั่งห้างคอยดักยิงมันอยู่ มันจึงจะค่อย ๆ แอบเข้าไปกินซาก ไม่เหมือนกับเสือโคร่งที่มักเดินเข้าไปอย่างสง่าผ่าเผย ศัตรูของเสือดาวก็คือเสือโคร่งนั่นเองที่มักมาแย่งอาหารของมันบ่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีพวกหมาจิ้งจอกและหมาในที่มักเข้ามาแย่งซากสัตว์ของมันเช่นกัน นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่าของพรานหรือชาวบ้านป่าบางคนว่า เสือดาวเวลาเดินจะใช้หางกลบดินเพื่อลบรอยตีนของตัวเอง รวมถึงเมื่อเสือดาวจับเม่นกินเป็นอาหาร ไม่เคยมีรายงานว่าถูกขนเม่นทิ่มตำหรือเล่นงานเอาจนถึงแก่ตายเลย ขณะที่เสือใหญ่อย่างเสือโคร่ง มักถูกขนเม่นทิ่มตำจนตายบ่อย ๆ [10]
เสือดาวจะมีพื้นที่ในการหากินประมาณ 27–37 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่จะออกหากินตามลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน ปัจจุบันสถานภาพของเสือดาวในประเทศไทยมีจำนวนลดลง เหลืออยู่ตามป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ เช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสก ประมาณ 500 ตัวเท่านั้น
เสือดาวชอบอยู่สันโดษ จะจับคู่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ตั้งท้องประมาณ 90–100 วัน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว เสือดาวตัวเมียสามารถมีลูกได้ตลอดทั้งปี เมื่อลูกยังเล็ก แม่เสือดาวจะคาบลูกไปซ่อนไว้ในที่ ๆ ปลอดภัย ลูกเสือดาวจะเรียนรู้การล่าเหยื่อจากแม่ เสือดาวใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงจะโตจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และจะแยกออกจากแม่ไปอยู่ตามลำพัง[8] เสือดาวมีอายุในสภาพกักขังประมาณ 20 ปี
ถิ่นที่อยู่อาศัย
แก้เสือดาวเป็นเสือที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน ตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกกลาง เรื่อยไปจนถึงจีน และไซบีเรีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีผู้พบซากเสือดาวอยู่ที่ระดับสูงสุดถึง 5,700 เมตรในเทือกเขาคีรีมันจาโร
ในเอเชียกลาง เสือดาวส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงที่สลับซับซ้อนและที่ริมทะเลสาบเดดซี เคยพบเสือดาวอยู่สูงถึงระดับ 1,800 เมตรในเติร์กเมนิสถาน ที่โมรอกโคเคยพบที่ระดับความสูง 3,000 เมตร ที่ซาอุดีอาระเบียที่ 2,600 เมตร และที่อิหร่านพบที่ระดับสูงถึง 3,200 เมตร
ในอินเดียมีเสือดาวในพื้นที่ทุกประเภท ตั้งแต่ป่าชายเลนซุนดาบันส์จนถึงเขตชุมชน ยกเว้นเพียงทะเลทรายเท่านั้น ในแถบเทือกเขาหิมาลัยยังพบเสือดาวอยู่สูงถึง 5,200 เมตรซึ่งซ้อนทับกับเขตหากินของเสือดาวหิมะ
ในประเทศอินโดนีเซีย พบเสือดาวเฉพาะที่เกาะชวาและเกาะกันจีน ซึ่งที่เกาะแคนจีนนี้พบซากดึกดำบรรพ์ของเสือดาวที่มีอายุถึงหนึ่งล้านปี เชื่อว่าเสือดาวในเกาะนี้ถูกนำมาจากเกาะชวา แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ไม่พบเสือดาวในเกาะบาหลีทั้งที่เกาะบาหลีอยู่ใกล้เกาะชวามากกว่าเกาะกันจีน
ในเกาะบอร์เนียวไม่มีเสือดาวและเสือโคร่ง สันนิษฐานว่า เสือดาวอาจหายไปจากเกาะนี้เนื่องจากบนเกาะไม่มีสัตว์กีบมากพอที่จะเป็นอาหารของเสือ ส่วนที่เกาะบาหลีและสุมาตราไม่มีเสือดาวเนื่องจากเสือโคร่งครอบครองพื้นที่แทน
อุปนิสัย
แก้เสือดาวเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก มันสามารถลากแอนติโลปขนาดใหญ่หรือแม้แต่ลูกยีราฟที่อาจหนักกว่ามันเองถึงสองสามเท่าขึ้นไปกินบนต้นไม้ได้ เสือดาวไม่ค่อยชอบน้ำนักแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่มักชอบออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในบางครั้งก็อาจหากินในเวลากลางวันได้โดยเฉพาะในพื้นที่ ๆ ไม่มีมนุษย์รบกวน และตัวเมียที่เลี้ยงลูกก็มักต้องออกหากินบ่อยครั้งกว่าปกติจนต้องมีการหากินในเวลากลางวันด้วย ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว เสือดาวมักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหรือหลืบหิน
เสือดาวมักพักผ่อนอยู่บนต้นไม้
การล่าของเสือดาวมักใช้วิธีย่องเข้าหา จนใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วกระโจนเข้าจับ เสือดาวกินสัตว์ได้แทบทุกชนิดในท้องที่ ๆ มันอยู่ ตั้งแต่แมลงอย่างแมงกุดจี่ นก เม่น กระต่าย ลิง ไฮแรกซ์ กวาง แพะป่า อิมพาลา กาเซลล์ วิลเดอบีสต์ จนถึงอีแลนด์ หรือแม้แต่ซากสัตว์ บางครั้งก็ล่าสัตว์วัวควายของชาวบ้านกินเหมือนกัน เสือดาวมักเก็บเหยื่อไว้บนง่ามไม้บนต้นไม้ ทำให้ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าหรือสัตว์กินซากตัวอื่นที่จะมาแย่งไปได้
ในแอฟริกา เสือดาวล่าเหยื่อขนาดใหญ่เช่นสัตว์กีบทุก 7-14 วัน เสือดาวตัวผู้กินอาหารวันละประมาณ 3.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียกินราววันละ 2.8 กิโลกรัม จากตัวอย่างขี้เสือดาวในเคนยา พบว่าเหยื่อของเสือดาวประกอบด้วยสัตว์ฟันแทะประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ นก 27 เปอร์เซ็นต์ แอนติโลปขนาดเล็ก 27 เปอร์เซ็นต์ แอนติโลปขนาดใหญ่ 12 เปอร์เซ็นต์ กระตายป่าและไฮแรกซ์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์มีเปลือกอีกราว 18 เปอร์เซ็นต์ อีกตัวอย่างหนึ่งของขี้เสือดาวในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์เป็นสัตว์กีบ เป็นอิมพาลาเสีย 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเสือดาวที่อุทยานแห่งชาติมาโตโป ในซิมบับเวและที่เทือกเขาในจังหวัดเคปของแอฟริกาใต้จะกินร็อกไฮแรกซ์เป็นอาหารหลัก ในป่าฝนของแอฟริกากลาง อาหารหลักของเสือดาวคือดุยเกอร์และสัตว์จำพวกลิงขนาดเล็ก และยังพบว่าเสือดาวบางตัวชื่นชอบลิ่นและเม่นเป็นพิเศษ เสือดาวที่อาศัยอยู่ที่ระดับ 3,900 เมตรในเทือกเขาคีรีมันจาโร ประเทศแทนซาเนียจะล่าสัตว์ฟันแทะเป็นหลัก
ที่ทะเลทรายจูเดียนของอิสราเอล เสือดาวมักล่าร็อกไฮแรกซ์เป็นอาหารหลัก รองลงมาคือไอเบกซ์และเม่น ในโอมาน อาหารหลักของเสือดาวคือไอเบกซ์ ไฮแรกซ์ และนกกระทาขาแดงอาหรับ ส่วนที่อิหร่านตอนเหนือและแอลจีเรียจะกินหมูป่าเป็นอาหารหลัก เสือดาวในเทือกเขาคอเคซัสคาดว่าน่าจะล่าแพะป่าและมูฟลอนเป็นอาหาร ในเติร์กเมนิสถาน เสือดาวอาศัยอยู่ในที่เดียวกับแกะเติร์ก
บางครั้งเสือดาวก็จับปลากินเหมือนกัน เคยมีผู้พบเสือดาวตัวหนึ่งที่ติดอยู่ในเกาะในทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนคาริบาดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการจับปลาเป็นอาหารหลัก ถึงแม้ว่าในเกาะนั้นยังมีอิมพาลาและดุกเกอร์อยู่บ้างก็ตาม
บางครั้งเสือดาวก็อาจฆ่าสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นที่ตัวเล็กกว่าได้ เช่นหมาจิ้งจอกหลังดำ แมวป่าแอฟริกา รวมทั้งลูกของผู้ล่าชนิดอื่น ๆ เช่น ลูกสิงโต ลูกชีตาห์ ลูกไฮยีนา ลูกหมาป่า
บางครั้งเสือดาวก็อาจล่าเหยื่อโดยการกระโจนลงจากต้นไม้ เสือดาวมักไม่กระโจนลงบนหลังเหยื่อโดยตรง แต่จะกระโจนลงบนพื้นข้าง ๆ ตัวเหยื่อก่อนแล้วค่อยเอื้อมไปตะครุบ หรือกระโจนโดยใช้ขาหน้าตะปบเหยื่อ ส่วนขาหลังจะลงไปยืนบนพื้น อย่างไรก็ตาม การล่าจากบนต้นไม้ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ถึงแม้เสือดาวจะปีนต้นไม้ได้ดี แต่แทบไม่เคยมีใครพบเสือดาวล่าเหยื่อบนต้นไม้เลย แม้แต่ในพื้นที่ ๆ เสือดาวกินสัตว์ที่อาศัยบนต้นไม้มาก เช่นที่อุทยานแห่งชาติไทซึ่งเป็นพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน เสือดาวที่นี่จะจับลิงที่ลงมาอยู่บนพื้นเท่านั้น
อาหารของเสือดาวส่วนใหญ่ในเขตร้อนเป็นสัตว์กีบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น เก้ง กวางดาว แพะภูเขา กวางโร กวางชิกะ เนื้อทราย กวางทัฟต์ และค่าง มีรายงานว่าเคยมีแพนด้าเด็กถูกเสือดาวจับกินด้วย
ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของประเทศไทย ราบิโนวิตซ์ (1989) ได้สำรวจขี้เสือดาวพบว่าเสือดาวกินสัตว์จำพวกลิงมาก โดยปรกติเสือมักไม่ล่าสัตว์จำพวกลิงหากมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ล่าได้ง่ายกว่ามากเพียงพอ ในกรณีของที่ห้วยขาแข้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าเสือดาวต้องล่าสัตว์จำพวกลิงเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเสือโคร่งในการล่าสัตว์กีบเช่นเก้ง อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะป่าเบญจพรรณในห้วยขาแข้งมีเรือนยอดค่อนข้างโปร่งทำให้พวกลิงค่างต้องลงพื้นดินบ่อยครั้ง จึงตกเป็นเหยื่อของเสือดาวได้ง่าย มีรายงานว่า เสือดาวล่าค่างโดยแกล้งทำท่าเหมือนจะปีนต้นไม้ขึ้นไปจับ ทำให้ค่างบางตัวคิดหนีลงดิน ซึ่งเป็นการคิดผิดอย่างมากเพราะเสือดาวจะจับค่างบนพื้นดินได้โดยง่าย
จากการติดตามเสือดาวตัวผู้ด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย พบว่าเสือดาวเดินทางเฉลี่ยประมาณวันละ 2 กิโลเมตร และในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ตื่นตัวประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ หากินได้ทุกเวลาไม่จำเป็นว่าต้องกลางวันหรือกลางคืน แต่เสือดาวที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะหากินตอนกลางคืนมากกว่า
เสือดาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นมากจะมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับสัตว์คู่แข่งได้ดี เช่นในพื้นที่ตอนเหนือของเซเรนเกตติพบว่าเสือดาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับสิงโต จะล่าเหยื่อหลากหลายชนิดมากกว่าสิงโต ทำให้มีการแย่งชิงเหยื่อกันน้อยลง และเมื่อล่าสัตว์ใหญ่ได้ เสือดาวจะลากเหยื่อขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อป้องกันสิงโตมาแย่งไปกิน ความสามารถในการลากเหยื่อขึ้นต้นไม้ของเสือดาวแสดงถึงพละกำลังอันแข่งแกร่งได้เป็นอย่างดี เคยมีผู้พบเห็นเสือดาวลากลูกยีราฟหนักประมาณ 125 กิโลกรัมขึ้นไปสูง 5.7 เมตรบนต้นไม้ พฤติกรรมเช่นนี้จะพบได้มากในพื้นที่ ๆ มีสัตว์ผู้ล่ามาก แต่ในพื้นที่ ๆ มีการแข่งขันกันน้อย เสือดาวมักจะลากเหยื่อไปซ่อนตามพุ่มไม้ทึบหรือหลืบหินมากกว่า
เสือดาวออกหากินตอนกลางคืนเป็นหลัก แต่ก็อาจหากินตอนกลางวันบ้าง เช่นในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ เสือดาวหากินตอนกลางวันมากขึ้นในฤดูฝน โดยอาศัยความทึบของ thorn ช่วยในการหากิน ในป่าฝนเขตร้อนแห่งหนึ่งเคยพบว่าเสือดาวคู่หนึ่งที่ถูกติดตามด้วยปลอกคอวิทยุจะหากินเฉพาะกลางวันเท่านั้น
เสือดาวมักเป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านของความฉลาดและเจ้าเล่ห์กว่าเสือชนิดอื่น ๆ นายพรานเก่าอย่าง "พนมเทียน" หรือนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลก็เคยกล่าวในทำนองนั้น ชาวบ้านบางคนเล่าว่าเวลาเสือดาวเดินในป่า มันจะใช้หางปัดลบรอยตีนของตัวเอง เสือดาวสามารถจับเม่นกินโดยไม่เคยรายงานว่าเสือดาวถูกขนเม่นเล่นงานจนตายเลย ในขณะที่เสือโคร่งและสิงโตจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะขนเม่น
โดยทั่วไป ในพื้นที่ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ประชากรของเสือดาวจะมีน้อย แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เช่น ใน Kedrovaya Pad ของรัสเซีย การเพิ่มจำนวนประชากรของเสือโคร่งไม่มีผลต่อประชากรของเสือดาว ในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ป่าเกียร์ของอินเดีย และในทุ่งเซเรนเกตติในแอฟริกา เสือดาวและเสือโคร่งอยู่ร่วมกันได้โดยการหากินต่างเวลากัน ล่าเหยื่อต่างชนิดกัน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีพืชต่างชนิดกัน เช่น เสือดาวจะล่าเหยื่อขนาดเล็กกว่า ทนแล้งและทนร้อนได้ดีกว่า
ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ราบิโนวิตช์พบว่าเสือดาวตัวผู้มีพื้นที่หากินประมาณ 27-37 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียมีพื้นที่หากินประมาณ 11-17 ตารางกิโลเมตรภายในพื้นที่หากินของตัวผู้ และความกว้างของพื้นที่ยังขึ้นกับฤดูกาลอีกด้วย เสือดาวตัวผู้ตัวหนึ่งมีเขตหากินกว้างที่สุด 17-18 ตารางกิโลเมตรในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมซึ่งเป็นต้นฤดูฝน และมีเขตหากินแคบที่สุด 4.4 ตารางกิโลเมตรในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุด
ในอุทยานแห่งชาติหลวงจิตวันของประเทศเนปาล เสือดาวตัวเมียตัวหนึ่งมีเขตหากินประมาณ 7-13 ตารางกิโลเมตร ส่วนเสือดาวพันธุ์อามูร์มีพื้นที่หากินกว้างขวางถึง 50-300 ตารางกิโลเมตร
จากการติดตามการหากินของเสือดาวโดยอาศัยปลอกคอวิทยุในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ อุทยานแห่งชาติเซเรนเกตติ และซีดาร์เบิร์กวิลเดอร์เนสในแอฟริกาใต้ พบว่าพื้นที่หากินของเสือดาวตัวผู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30-78 ตารางกิโลเมตร และสำหรับตัวเมียจะอยู่ที่ประมาณ 15-16 ตารางกิโลเมตร และมักพบว่าพื้นที่หากินของตัวเมียมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าและมีเหยื่อมากกว่าพื้นที่ของตัวผู้
ชีววิทยา
แก้- เสือดาวในเขตร้อนผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี เสือดาวในจีนและไซบีเรียตอนใต้มักผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เสือดาวอามูร์ผสมพันธุ์ในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม (ฤดูร้อน) และออกลูกราวเดือนกันยายน-ตุลาคม เสือดาวในศรีลังกาผสมพันธุ์ในฤดูแล้ง (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ส่วนในแถบหิมาลัยคาดว่าเสือดาวผสมพันธุ์ในฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่เพราะมักได้ยินเสียงร้องหาคู่ในช่วงเวลานี้ เสือดาวมีช่วงเวลาที่เป็นสัดยาวนานราว 46 วัน ในช่วงเวลานี้จะติดสัดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงยาวนานราว 4-7 วัน ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เสือดาวตัวผู้และตัวเมียจะอยู่และหากินด้วยกัน หลังจากผสมพันธุ์กันแล้วก็อาจยังอยู่ด้วยกันอีกระยะหนึ่งก่อนจะจากกันไป ตัวเมียจะตั้งท้องนาน 90-105 วัน (เฉลี่ย 96 วัน) ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว ส่วนใหญ่มักออกลูกคราวละ 2-3 ตัว แม่เสือดาวจะเลือกถ้ำ ซอกหิน หรือโพรงไม้เป็นรังเลี้ยงลูก ลูกเสือดาวแรกเกิดหนัก 400-700 กรัม เริ่มเดินได้เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ และหย่านมเมื่ออายุได้ 4 เดือน เมื่ออายุ 12-18 เดือน เสือหนุ่มสาวก็จะหากินเองได้ พี่น้องเสือดาวอาจอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหากินโดยลำพัง เสือหนุ่มจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 24-36 เดือน ส่วนเสือสาวจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 33 เดือน ช่วงเวลาระหว่างการตั้งท้องแต่ละครอกโดยเฉลี่ย 15 เดือนจนถึง 2 ปี ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ อัตราเฉลี่ยของเสือดาวตัวเมียที่ออกลูกคือ 28 เปอร์เซ็นต์ อัตราการสืบพันธุ์นี้ผันแปรมากในแต่ละปี บางปีอาจไม่มีเสือดาวตัวไหนออกลูกเลย ในขณะที่บางปีอาจมีเสือดาวตัวเมียถึงครึ่งหนึ่งที่ออกลูก อัตราส่วนจำนวนประชากรของเสือดาวแอฟริการะหว่างตัวผู้และตัวเมียอยู่ที่ราว ๆ 1:1.8 ในสวนสัตว์ เสือดาวตัวเมียสามารถให้กำเนิดลูกได้จนถึงอายุราว 8.5 ปี แต่จากสถิติ เสือดาวแก่ที่สุดที่ออกลูกมีอายุถึง 19 ปี ในแอฟริกา ลูกเสือที่ตายก่อนอายุจะครบขวบมีประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ และลูกเสือวัยรุ่น (1.5-3.5 ปี) มีการตายประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ (ครูเกอร์) ซึ่งมากเป็นสองเท่าของอัตราตายของเสือดาวตัวเต็มวัย เสือดาวในธรรมชาติมีอายุประมาณ 12-17 ปี ตัวที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 20 ปี ส่วนเสือดาวในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุยืนถึง 23 ปี
ภัยที่คุกคาม
แก้แม้ว่าเสือดาวจะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่ออาศัยในพื้นที่ ๆ มีการรบกวนจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ได้ดี แต่ความหนาแน่นของเสือดาวในบริเวณดังกล่าวจะน้อยกว่าพื้นที่ ๆ ไม่ถูกมนุษย์รบกวนอย่างเห็นได้ชัด โดยอาจต่างกันเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า ความแตกต่างนี้ย่อมแสดงว่าการอาศัยของมนุษย์มีผลต่อจำนวนประชากรของเสือดาว
เช่นเดียวกับเสือส่วนใหญ่ ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเสือดาวก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่หาศัย แม้ว่าเสือดาวจะปรับตัวเข้ากับป่าชั้นสองได้ดีก็ตาม แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากไม่มากก็น้อย ปัญหานี้แสดงชัดเจนที่สุดในกรณีของเสือดาวในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งถูกคุกคามอย่างมากและอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือดาวถูกตัดขาดจากกันจนเป็นผืนเล็กผืนน้อย การจับคู่ผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นในสายเลือดที่ใกล้ชิดหรือแม้แต่มีการจับคู่ระหว่างแม่ลูก ทำให้เสือในรุ่นถัดไปไม่แข็งแรง
เสือดาวพันธุ์อามูร์ประสบปัญหากับจำนวนประชากรที่เหลือน้อย จนเกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดขึ้น ทั้งระหว่างพ่อ-ลูก และพี่-น้อง ตั้งแต่ 2516 จนถึงปี 2534 จำนวนเฉลี่ยของลูกเสือดาวครอกหนึ่งลดลงจาก 1.75 เหลือเพียง 1.0 แต่ก็ยังยากที่จะสรุปว่าการลดลงนี้เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ความอุดมสมบูรณ์ลดลง หรือเป็นเพียงการขึ้นลงเชิงประกรศาสตร์
เสือดาวในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากเนื่องจากสัตว์กีบที่เป็นอาหารหลักถูกล่าไปเป็นจำนวนมาก เช่นเสือดาวในแถบรัสเซียตะวันออก บางส่วนต้องถูกฆ่าเนื่องจากไปจับสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้านกิน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ โดยเฉพาะในแถบอุทยานแห่งชาติจิตวันนั้นพบว่าบริเวณขอบอุทยานซึ่งใกล้เคียงกับฟาร์มปศุสัตว์จะมีเสือดาวอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าในใจกลางของอุทยานเสียอีก เสือดาวเป็นเสือที่มีปัญหาการเผชิญหน้ากับชุมชนมากที่สุด ถันปังเจี๋ย (1990) เคยบันทึกไว้ว่ามีเสือดาวตัวหนึ่งติดกับดักที่ห่างจากปักกิ่งเพียง 50 กิโลเมตร ในเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ยังมีเสือดาวอาศัยอยู่ ความใกล้ชิดนี้ทำให้มีโอกาสสร้างปัญหาขัดแย้งกับชุมชนได้ง่าย เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่าเสือดาวเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงหรือตัวเขาเอง ย่อมต้องล่าเสือดาวเพื่อล้างแค้นหรือตัดปัญหาในอนาคต ในปี 2525-2532 ชาวอินเดีย 170 คนถูกเสือดาวฆ่าตาย ส่วนใหญ่เหตุเกิดใน Kumaon และ Garhwal hill ในอุตตรประเทศ
ภัยคุกคามที่รองลงมาก็คือ การล่าเพื่อเอาหนัง กระดูกแลเครื่องในเพื่อเอาไปทำยาจีน การล่าเพื่อเอาหนังเคยเป็นภัยที่คุกคามเสือดาวในแอฟริกามากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 แต่หลังจากนั้น ตลาดขนสัตว์ได้ล่มสลายลงเนื่องจากทรรศนะเรื่องแฟชันขนสัตว์ของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปและเริ่มมีการควบคุมภายใต้อนุสัญญาไซเตส การล่าเสือดาวเพื่อเอาหนังทำให้จำนวนประชากรของเสือดาวลดลงไปมาก และพบว่าเสือดาวถูกจับได้ค่อนข้างง่ายด้วยกับดัก ทั้งนี้เนื่องจากเสือดาวมักจะเดินหากินเป็นพื้นที่เล็ก ๆ และมีเส้นทางประจำ นอกจากนี้การล่าโดยการวางยาพิษก็ฆ่าเสือดาวไปไม่น้อย แต่สำหรับเสือดาวในแอฟริกาตะวันออกแล้ว การล่ามีผลต่อจำนวนของเสือดาวน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม อนาคตของเสือดาวก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา พื้นที่อนุรักษ์ในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่อาศัยของเสือดาวที่สำคัญ ๆ เพียง 13% เท่านั้น
ประเทศที่ห้ามล่า
แก้แองโกลา เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน คองโก จิบูตี อิเควทอเรียลกินี กาบอง กานา กินีบิสเซา ไอเวอรีโคสต์ ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย รวันดา เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดาน โตโก ยูกันดา คองโก แอลจีเรีย อาร์เมเนีย อียิปต์ จอร์เจีย อิหร่าน อิสราเอล จอร์แดน โมร็อกโก ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน รัสเซีย ศรีลังกา ไทย
ประเทศที่ควบคุมการล่า
แก้เนปาล
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์
แก้ภูฏาน
ไม่มีการคุ้มครอง
แก้แกมเบีย เลบานอน โอมาน ตูนิเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไม่มีข้อมูล
แก้อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน อิรัก ลิเบีย คูเวต ซีเรีย ทาจิกิสถาน เยเมน บุรุนดี ชาด กินี กัมพูชา เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ พม่า เวียดนาม
อ้างอิง
แก้- ↑ Database entry includes justification for why this species is of least concern Cat Specialist Group (2002). Panthera pardus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 12 May 2006.
- ↑ "Panthera pardus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ Jacobson, A. P.; Gerngross, P.; Lemeris Jr., J. R.; Schoonover, R. F.; Anco, C.; Breitenmoser-Würsten, C.; Durant, S. M.; Farhadinia, M. S.; Henschel, P.; Kamler, J. F.; Laguardia, A.; Rostro-García, S.; Stein, A. B. & Dollar, L. (2016). "Leopard (Panthera pardus) status, distribution, and the research efforts across its range". PeerJ. 4: e1974. doi:10.7717/peerj.1974. PMC 4861552. PMID 27168983.
- ↑ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5414262/
- ↑ https://www.academia.edu/10193221
- ↑ Izawa, M. & Nakanishi, N. (2015). "Felidae". In Ohdachi, S. D.; Ishibashi, Y.; Iwasa, M. A. & Saitoh, T. (eds.). The Wild Mammals of Japan (Second ed.). Kyoto: Shoukadoh Book Sellers and the Mammalogical Society of Japan. pp. 226−231. ISBN 978-4-87974-691-7.
- ↑ https://www.researchgate.net/publication/319279333_Did_Panthera_pardus_Linnaeus_1758_become_extinct_in_Sumatra_because_of_competition_for_prey_Modeling_interspecific_competition_within_the_Late_Pleistocene_carnivore_guild_of_the_Padang_Highlands_Sumat
- ↑ 8.0 8.1 จุดประกาย 7 WILD, เสือดาว จอมเวทย์ The Magic of the Leopard. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10196: วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559
- ↑ 9.0 9.1 หน้า 100-119, ก้าวย่างจากเงื้อมเงา โดย ริชาร์ด คอนนิฟฟ์. เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 173: ธันวาคม 2558
- ↑ 10.0 10.1 หน้า 28 คนรักสัตว์เลี้ยง, เสือดำ เสือดาว ล้วนเผ่าเดียวกัน. "วาไรตี้สัตว์เลี้ยง" โดย นสพ.เกษตร สุเตชะ. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,965: วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ
- ↑ Kawata, K. (2001). "Zoological gardens of Japan". ใน Kisling, V.N. (บ.ก.). Zoo and Aquarium History : Ancient Animal Collections to Zoological Gardens. Boca Raton, Florida: CRC Press. pp. 295–329. ISBN 978-0-8493-2100-9.