เสือจากัวร์
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลสโตซีน, 0.5–0Ma
เสือจากัวร์สีปกติ
เสือจากัวร์ดำ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์ (Animalia)
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ (Carnivora)
วงศ์: วงศ์เสือและแมว (Felidae)
สกุล: Panthera
สปีชีส์: P.  onca
ชื่อทวินาม
Panthera onca
(Linnaeus, 1758)
แหล่งที่พบเสือจากัวร์ (สีแดง: ปัจจุบัน; สีชมพู: ในอดีต)
ชื่อพ้อง[2]
  • Felis onca Linnaeus, 1758
  • Felis onca coxi Nelson & Goldman, 1933
  • Felis onca boliviensis Nelson & Goldman, 1933
  • Felis onca ucayalae Nelson & Goldman, 1933
เสือจากัวร์ที่สวนสัตว์นครราชสีมา
จากัวร์ในสวนสัตว์

เสือจากัวร์ จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อันดับสัตว์กินเนื้อ วงศ์เสือและแมว (Felidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera onca เป็นเสือขนาด

เสือจากัวร์ว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว แม้เรื่องปีนป่ายจะไม่เก่งเท่าเสือดาว แต่ก็สามารถจับลิงบนกิ่งไม้ที่ไม่สูงนักได้ อย่างไรก็ตาม จากัวร์มักหาเหยื่อบนพื้นดินมากกว่า มีสัตว์มากกว่า 85 ชนิดที่อยู่ในเมนูประจำของจากัวร์ อาหารโปรดมักเป็นสัตว์ใหญ่อย่างสมเสร็จ หมูป่าเพ็กคารี กวาง แต่หากจำเป็นก็กินได้ไม่เลือก เช่น อะกูตี คาปิบารา สลอท ลิง สกังก์ เม่น โคแอตี นาก อาร์มาดิลโล นก เคแมน อีกัวนา งู เต่า และปลา ในบราซิลและเวเนซุเอลามีการทำฟาร์มเปิดหลายแห่งที่ใกล้เขตหากินของจากัวร์ ทำให้สัตว์เลี้ยงตกเป็นอาหารของจากัวร์ไปด้วย หากจากัวร์กินอาหารไม่หมดในคราวเดียว มันมักเอาเหยื่อไปซ่อนเพื่อจะกลับมากินต่อในคราวหลัง

วิธีฆ่าเหยื่อของจากัวร์ต่างจากเสือชนิดอื่น จากัวร์มีกรามที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาเสือทั้งหมด มันใช้วิธีกัดหัวจนเขี้ยวเจาะทะลุกะโหลก จึงล่าเหยื่อได้มากชนิดรวมถึงสัตว์ที่มีเกราะแข็งเช่นอามาร์ดิลโลหรือเต่า

จากัวร์หากินตอนกลางคืนเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีกิจกรรมมากที่สุดช่วงฟ้าสางและหัวค่ำ แต่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน จากัวร์มีแนวโน้มจะหากินกลางคืนมากกว่า ปกติหากินโดยลำพัง เป็นสัตว์หวงถิ่นอาศัย แสดงอาณาเขตด้วยปัสสาวะ พื้นที่หากินมากน้อยต่างกันมากแล้วแต่ท้องที่ บางพื้นที่อาจกว้างเพียง 33 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวผู้และ 10 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวเมีย แต่ในบางพื้นที่เช่นในคาบสมุทรยูกาตันในบราซิล ทั้งตัวผู้และตัวเมียครองพื้นที่หากินมากถึง 142 ตารางกิโลเมตร แต่ละวันจากัวร์ตัวผู้เดินทางเป็นระยะทางราว 3.3+1.8 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าตัวเมียมาก (1.8+2.5 กิโลเมตร) ในฤดูแล้งจะเดินทางมากขึ้น จากัวร์ตัวผู้มักพักในพื้นที่ขนาดย่อมผืนหนึ่งเป็นเวลาราวสัปดาห์หนึ่งก่อนที่จะย้ายไปหากินในส่วนอื่นของอาณาเขตต่อไป

ใหญ่รองลงมาจากเสือโคร่ง (P. tigris) และสิงโต (P. leo)

ลักษณะทั่วไป

แก้

เสือจากัวร์เป็นเสือที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา ชื่อ “จากัวร์” เพี้ยนมาจากชื่อในภาษาอินเดียนแดงว่า “yaguara” มีความหมายว่า สัตว์ร้ายที่ฆ่าเหยื่อด้วยการกระโจนตะครุบครั้งเดียว ชนเผ่าในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายเผ่าใช้เสือจากัวร์เป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจของวัฒนธรรมตน

เสือจากัวร์มีลักษณะคล้ายเสือดาวมาก มีขนสั้นเกรียน สีพื้นตั้งแต่เหลืองทอง น้ำตาลอมเหลือง จนถึงน้ำตาลแดง บริเวณหัว คอ และขามีลายเป็นจุดดำ หลังและสีข้าง มีลายดอกคล้ายเสือดาว ลายดอกอาจขาดไม่เต็มวง กลางดอกมีจุดดำหนึ่งจุดหรือมากกว่า ปากกว้าง ม่านตามีสีหลากหลายตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงเหลืองอมเขียว หูค่อนข้างเล็ก สั้น และกลม หลังหูดำมีแต้มสีขาวกลางใบหู ขาสั้นและใหญ่ อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างสั้นและหนา มีจุดทั่วทั้งหาง ปลายหางดำ ลำตัวยาว 120-180 เซนติเมตร น้ำหนัก 70-120 กิโลกรัม จากัวร์ดำก็พบได้บ่อย ส่วนจากัวร์เผือกมีบ้างแต่ไม่มากนัก

เสือจากัวร์กับเสือดาวอาศัยอยู่ต่างทวีป จึงไม่มีโอกาสสับสนเมื่อพบเห็นในธรรมชาติ แต่ในสวนสัตว์ที่มีเสือทั้งสองชนิดอยู่ด้วยกันอาจทำให้ผู้พบเห็นสับสนในการจำแนกชนิด เทียบกับเสือดาวแล้ว เสือจากัวร์มีรูปร่างล่ำสันกว่า หัวกว้างและหน้าสั้นกว่า ขาสั้นและใหญ่กว่า หางใหญ่กว่า ลายดอกตามลำตัวใหญ่กว่า ความสับสนระหว่างเสือสองชนิดนี้ยิ่งมากขึ้นในจากัวร์ดำ เพราะในภาษาอังกฤษบางครั้งก็เรียกจากัวร์ดำว่า black panther เหมือนกับเสือดำ

ลักษณะของเสือจากัวร์ในแต่ละสถานที่ยังแตกต่างกันด้วย จากัวร์ในป่าทึบของแอ่งอเมซอนมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของจากัวร์ที่อาศัยในป่าเปิด ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่สัตว์เหยื่อในป่าเปิดมีขนาดใหญ่กว่าและมีมากกว่า จากการสำรวจจากัวร์ในป่าฝนของอเมริกากลาง จากัวร์ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 57 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 42 กิโลกรัม ส่วนจากัวร์ในปันตานัลของบราซิลตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 100 กิโลกรัม ตัวเมีย 76 กิโลกรัม สีสันของจากัวร์ในป่าทึบก็ค่อนข้างคล้ำกว่าจากัวร์ในป่าเปิด ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็พบได้ในเสือดาวเช่นกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแสงน้อยในป่าทึบ

วิวัฒนาการ

แก้

คาดว่าจากัวร์มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษคล้ายเสือดาวในยูเรเชียที่ได้อพยพมายังทวีปอเมริกาเหนือผ่านทางสะพานแบริง จากัวร์รุ่นบุกเบิกตัวใหญ่กว่าในปัจจุบัน แต่ต่อมาตัวหดเล็กลงและขาสั้นลงในยุคไพลโตซีน การที่ขาหดสั้นลงอาจเป็นการปรับตัวให้เข้ากับการอาศัยในโลกสามมิติที่ต้องมีทั้งการวิ่ง ปีนป่าย และว่ายน้ำ

การจำแนก

แก้

เสือจากัวร์เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก และแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ๆ ได้ดังนี้[2]

  • P. o. arizonensis (Goldman, 1932) – จากัวร์แอริโซนา
  • P. o. centralis (Mearns, 1901) – จากัวร์อเมริกากลาง
  • P. o. goldmani (Mearns, 1901) – จากัวร์คาบสมุทรยูกาตัง
  • P. o. hernandesii (Gray, 1857) – จากัวร์เม็กซิโกตะวันตก
  • P. o. onca (Linnaeus, 1758) – จากัวร์บราซิลตะวันออก
  • P. o. palustris (Ameghino, 1888) – จากัวร์ใต้แห่งแม่น้ำแอมะซอน
  • P. o. paraguensis (Hollister, 1914) – จากัวร์ปารากวัย
  • P. o. peruviana (de Blainville, 1843) – จากัวร์เปรู
  • P. o. veraecrucis (Nelson & Goldman, 1933) – จากัวร์ตะวันออกเฉียงเหนือ

เขตกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัย

แก้

เสือจากัวร์ชอบน้ำเป็นพิเศษ อาศัยในป่าใกล้แม่น้ำ ทะเลสาบ หรือลำธาร และยังพบในที่ราบหรือทุ่งหญ้าที่น้ำท่วมในฤดูน้ำหลากด้วย เช่นที่ปันตานัลในบราซิลและยาโนสในเวเนซุเอลา ทุ่งปัมปัส บางครั้งก็พบหากินในป่าไม้แคระและทุ่งหญ้าด้วย ปกติจากัวร์ชอบที่ต่ำมากกว่าบนป่าเขา ไม่เคยพบในที่ราบสูงของเม็กซิโก อย่างไรก็ตามเคยพบเสือจากัวร์ที่ระดับสูงสุดถึง 3,800 เมตรในคอสตาริกา ส่วนในเทือกเขาแอนดีสเคยพบจากัวร์ที่ระดับสูงถึง 2,700 เมตร

จาร์กัวร์พบได้เกือบทั่วอเมริกาใต้และอเมริกากลาง รวมไปถึงตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาด้วย มีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในป่าฝนลุ่มน้ำอเมซอน อย่างไรก็ตามในพื้นที่อื่นส่วนใหญ่ประชากรเสือจากัวร์ได้ลดลงจนบางแห่งถึงกับหายสาบสูญ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของเขตกระจายพันธุ์ในประเทศสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก และทางทุ่งหญ้าปัมปัสในอาร์เจนตินาตลอดจนถึงอุรุกวัย ประเทศที่ยังมีเสือจากัวร์อยู่คือ อาร์เจนตินา เบลีซ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา กายอานา ฮอนดุรัส เม็กซิโก นิคารากัว ปานามา ปารากวัย เปรู ซูรินาเม สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลา ส่วนในประเทศเอลซาลวาดอร์และอุรุกวัยไม่พบอีกต่อไปแล้ว

นอกจากลุ่มน้ำอเมซอนแล้ว ยังมีพื้นที่เป็นที่มั่นสำคัญของประชากรจากัวร์ก็คือ ป่าต่ำเขตร้อนในอเมริกากลาง เช่น เซลวามายาในกัวเตมาลา เม็กซิโก และเบลีส กับพื้นที่แคบ ๆ ในโชโก-ดาเรียนในปานามาและโคลอมเบีย จนถึงฮอนดุรัสตอนเหนือ ความหนาแน่นของจากัวร์ในป่าฝนแถบเซลวามายาในเบลีสสูงมากถึง 7.5-8.8 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

ความหนาแน่นของจากัวร์ตัวเต็มวัยในปันตานัลในบราซิลอยู่ที่ประมาณ 6.6-6.7 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนในกรานชาโกของโบลิเวียอยู่ที่ประมาณ 2.2-5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในแอ่งอเมซอนของโคลอมเบียอยู่ที่ประมาณ 2.2-4.5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในอุทยานแห่งชาติมาดิดีของโบลิเวียซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน ความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 2.8 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

อุปนิสัย

แก้

เสือจากัวร์ว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว แม้เรื่องปีนป่ายจะไม่เก่งเท่าเสือดาว แต่ก็สามารถจับลิงบนกิ่งไม้ที่ไม่สูงนักได้ อย่างไรก็ตาม จากัวร์มักหาเหยื่อบนพื้นดินมากกว่า มีสัตว์มากกว่า 85 ชนิดที่อยู่ในเมนูประจำของจากัวร์ อาหารโปรดมักเป็นสัตว์ใหญ่อย่างสมเสร็จ หมูป่าเพ็กคารี กวาง แต่หากจำเป็นก็กินได้ไม่เลือก เช่น อะกูตี คาปิบารา สลอท ลิง สกังก์ เม่น โคแอตี นาก อาร์มาดิลโล นก เคแมน อีกัวนา งู เต่า และปลา ในบราซิลและเวเนซุเอลามีการทำฟาร์มเปิดหลายแห่งที่ใกล้เขตหากินของจากัวร์ ทำให้สัตว์เลี้ยงตกเป็นอาหารของจากัวร์ไปด้วย หากจากัวร์กินอาหารไม่หมดในคราวเดียว มันมักเอาเหยื่อไปซ่อนเพื่อจะกลับมากินต่อในคราวหลัง

วิธีฆ่าเหยื่อของจากัวร์ต่างจากเสือชนิดอื่น จากัวร์มีกรามที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาเสือทั้งหมด มันใช้วิธีกัดหัวจนเขี้ยวเจาะทะลุกะโหลก จึงล่าเหยื่อได้มากชนิดรวมถึงสัตว์ที่มีเกราะแข็งเช่นอามาร์ดิลโลหรือเต่า

จากัวร์หากินตอนกลางคืนเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีกิจกรรมมากที่สุดช่วงฟ้าสางและหัวค่ำ แต่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน จากัวร์มีแนวโน้มจะหากินกลางคืนมากกว่า ปกติหากินโดยลำพัง เป็นสัตว์หวงถิ่นอาศัย แสดงอาณาเขตด้วยปัสสาวะ พื้นที่หากินมากน้อยต่างกันมากแล้วแต่ท้องที่ บางพื้นที่อาจกว้างเพียง 33 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวผู้และ 10 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวเมีย แต่ในบางพื้นที่เช่นในคาบสมุทรยูกาตันในบราซิล ทั้งตัวผู้และตัวเมียครองพื้นที่หากินมากถึง 142 ตารางกิโลเมตร แต่ละวันจากัวร์ตัวผู้เดินทางเป็นระยะทางราว 3.3+1.8 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าตัวเมียมาก (1.8+2.5 กิโลเมตร) ในฤดูแล้งจะเดินทางมากขึ้น จากัวร์ตัวผู้มักพักในพื้นที่ขนาดย่อมผืนหนึ่งเป็นเวลาราวสัปดาห์หนึ่งก่อนที่จะย้ายไปหากินในส่วนอื่นของอาณาเขตต่อไป

ชีววิทยา

แก้

เสือจากัวร์ตัวเมียเป็นสัดได้ตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาลผสมพันธุ์แน่นอน ในพื้นที่ทางเหนือ มักผสมพันธุ์ในเดือนธันวาคมและมกราคม และออกลูกในเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม ตัวเมียมีช่วงเวลาที่เป็นสัดนานประมาณ 13 วัน คาบการเป็นสัด 37 วัน ตั้งท้องนานราว 91-111 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ส่วนใหญ่ 2 ตัว ลูกเสือแรกเกิดหนัก 700-900 กรัม มีขนปุกปุย สีครีมอ่อน มีลายจุดกลมสีดำอยู่ทั่วตัวและบริเวณหน้ามีลายเส้น ตาลืมได้เมื่ออายุได้ 11-13 วัน เดินได้เมื่ออายุ 18 วัน เมื่ออายุได้ 70 วันก็เริ่มกินอาหารแข็งได้ หย่านมได้เมื่ออายุได้ 4-5 เดือน ลูกเสือจะอยู่กับแม่นานประมาณ 2 ปีก่อนที่จะแยกย้ายไปหากินเอง จากัวร์สาวที่อายุได้ 2-3 ปีก็จะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว ส่วนตัวเสือหนุ่มต้องรอให้อายุ 3-4 ปี

ในธรรมชาติ เสือจากัวร์มีอายุขัย 12-16 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้ถึง 22 ปี

สถานภาพ

แก้

ปัจจุบัน เสือจากัวร์เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าและป่าที่เป็นแหล่งอาศัยก็ถูกรุกรานและเพื่อการเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงมีการล่าเพื่อส่งขายในตลาดค้าสัตว์ป่าด้วย โดยที่โบลิเวียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการล่าสูงสุด เนื่องจากกฎหมายนั้นใช้บังคับได้ไม่เต็มที่ คาดว่ามีจำนวนเสือจากัวร์ในโบลิเวียประมาณ 15,000 ตัว

นอกจากนี้แล้วยังมีการล่าเพื่อกระดูกหรือเขี้ยวอีกด้วย โดยเป็นความต้องการจากประเทศจีนตามความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเสือ โดยเป็นความต้องการแทนที่เสือโคร่งในทวีปเอเชีย เขี้ยวของเสือจากัวร์ชิ้นหนึ่งอาจมีราคาถึง 100–200 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

ภัยคุกคาม

แก้

เสือจากัวร์ไม่มีศัตรูในธรรมชาติ ไม่มีสัตว์ผู้ล่าใดที่แข็งแรงพอจะต่อกรกับจากัวร์จอมพลังได้ ศัตรูของจากัวร์มีเพียงอย่างเดียวคือ มนุษย์

ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 จำนวนของจากัวร์ลดลงต่ำมาก มีจากัวร์ถูกฆ่ามากถึงปีละ 18,000 ตัว ส่วนใหญ่ถูกฆ่าเพื่อเอาหนัง ต่อมามีการรณรงค์ต่อต้านเสื้อขนสัตว์มาก ทำให้แฟชั่นเสื้อขนสัตว์เริ่มซบเซา การล่าเพื่อเอาหนังจึงไม่ใช่ภัยหลักอีกต่อไป ปัจจุบันภัยคุกคามหลักคือการตัดไม้ทำลายป่าและการที่ป่าที่อยู่ถูกซอยออกเป็นผืนน้อยแยกจากกัน ส่วนการล่าก็ยังคงมีอยู่โดยมักมีสาเหตุจากการที่มันเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มเปิดของชาวบ้าน โดยเฉพาะในอเมริกากลางซึ่งมีการตัดไม้ทำลายป่ามาก เสือจากัวร์จึงมีโอกาสเผชิญหน้ากับมนุษย์บ่อยครั้งและมักถูกกำจัดทิ้งทันทีที่ถูกพบเห็น

อ้างอิง

แก้
  1. Cat Specialist Group (2002). Panthera Tigris. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 10 May 2006. Database entry includes justification for why this species is endangered.
  2. 2.0 2.1 "Panthera onca (Linnaeus, 1758)". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. หน้า 78-81, แกะรอยทางพรานลักลอบล่าเสือจากัวร์ โดย ราเชล เบล, NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับที่ 197: ธันวาคม 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panthera onca ที่วิกิสปีชีส์