อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อยู่ในเขตการปกครองของตำบลยางหัก ตำบลทุ่งหลวง ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ และตำบลบ้านบึง ตำบลหนองพันจันทร์ ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยได้กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีเป็นพื้นที่อุทยานฯ และเป็นพื้นที่ในโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ที่จัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อสนองพระราชปณิธานที่จะทรงอนุรักษ์ป่าไม้ โดยให้ราษฎรช่วยกันรักษาป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของราษฎร ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่จะให้มีป่าไม้หลาย ๆแห่งที่อุดมสมบูรณ์ตามสภาพและประเภทของป่าไม้ที่เคยเห็นอีกทั้งเป็นแบบอย่างของการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่า และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้ามาควบคุมพื้นที่ได้จึงเกิดความสงบสุขขึ้น จากนั้นได้ดำเนินการวางแผนเร่งรัดพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในส่วนที่ถูกทำลายให้สอดคล้อง กับพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
ผีเสื้อในเขตอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
ตำแหน่งที่ตั้งอุทยานในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอบ้านคาและอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี  ไทย
พิกัด13°14′55″N 99°30′41.6″E / 13.24861°N 99.511556°E / 13.24861; 99.511556
พื้นที่328.05 ตารางกิโลเมตร (205,030.87 ไร่)[1]
จัดตั้ง25 มกราคม 2555
ผู้เยี่ยมชม48,828 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ
กลุ่มป่าแก่งกระจาน *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(x)
อ้างอิง1461
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2564 (คณะกรรมการสมัยที่ 44)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ในปี พ.ศ. 2546 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้พิจารณาความเหมาะสมที่จะประกาศจัดตั้งพื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยตั้งชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน" ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่ 2393/2546 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานและงบประมาณจัดการอุทยานแห่งชาติในปี 2548 อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันครอบคลุมพื้นที่ อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี อยู่บริเวณที่ดินป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ป่าพุยางและพุสามซ้อน และป่าเขากงเกวียน ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่เลขที่ 110 หมู่ 5 บ้านไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี พิกัดที่ 0560310 E 1466527 N ระหว่างละติจูดที่ 13 องศา 16 ลิปดาเหนือ ถึงละติจูดที่ 99 องศา 33 ลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 205,777 ไร่

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ป่ากงเกวียน ป่าพุยาง และป่าพุสามซ้อน ในท้องที่ตำบลอ่างหิน ตำบลทุ่งหลวง ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 9 ก วันที่ 24 มกราคม 2555 เนื้อที่ประมาณ 328.74 ตารางกิโลเมตร หรือ 205,463.9 ไร่

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 อีกด้วย

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือใต้อยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดราชบุรี จนไปจดประเทศสภาพพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 349.59 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และกิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ยอดเขาสูงสุดชื่อ เขายืดหรือเขาพระรอบ มีความสูงประมาณ 834 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะธรณีของพื้นที่เป็นหินตะกอน ประกอบด้วยหินกรวดมน หินชั้น หินปูน หินดินดาน และหินทราย สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ปกคลุมไปด้วยอินทรีย์วัตถุ ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีการดูดซึมน้ำได้อย่างดี เทือกเขาป่าแม่ประจันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของห้วยพุไทร ห้วยท่าเคย ห้วยพุน้ำร้อน ลุ่มน้ำแม่ประจัน ไหลลงแม่น้ำเพชรบุรีและลุ่มแม่น้ำภาชี ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำกลอง[3]

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดปี โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม–เดือนมิถุนายน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม–เดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–เดือนกุมภาพันธ์

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า แก้

ลักษณะทั่วไปของสังคมพืชในอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้มีสำคัญของ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก เสลา ส้าน มะค่าโมง ตะค้อ ตะคร้ำ สมอพิเภก เลี่ยน กะบก มะกอก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่บง และไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น ป่าดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านตะวันตกและทางด้านเหนือ ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ยมหอม จำปาป่า รัก จำปีป่า กระบาก มะม่วงป่า ตะแบก มะหาด มะไฟป่า สะเดาป่า ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ไผ่บง ไผ่เฮียะ ตาว หวาย ปาล์ม เฟิร์น เป็นต้น

บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้ยังคงสภาพที่อุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเนื่องจากป่าเป็นผืนเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และประเทศสหภาพพม่า จึงมีการย้ายถิ่นฐานของสัตว์ป่าไปมาอยู่เป็นประจำ ที่พบเห็นได้แก่ กวางป่า กระทิง เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือไฟ หมูหริ่ง บ่าง หมาไน เม่น ลิ่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอก กระแต และหนูป่า นกที่พบเห็น ได้แก่ นกเงือกสีน้ำตาล นกกก นกแก๊ก นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกดำ เหยี่ยว นกเค้า นกปรอด นกกระปูด นกกางเขนน้ำ นกขมิ้น นกกระทาดง นกขุนทอง นกแซงแซว นกตะขาบ นกหัวขวาน นกเขียวก้านตอง นกแซวสวรรค์ ไก่ป่า นกยางเขียว และนกบั้งรอกใหญ่ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบเห็นได้แก่ เขียดหิน กบภูเขา หรือ กบทูด คางคก ปาด และอึ่งอ่าง สัตว์เลื้อยคลานที่พบเห็น ได้แก่ ตะพาบ เต่า งู ตะกวด ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และแย้ ปลาที่พบเห็น ได้แก่ ปลาค้อ ปลาตะเพียนทราย ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาซิวหางแดง ปลาก้าง ปลาไส้ต้นตาแดง ปลาแป้นแก้ว ปลาซิวใบไผ่ ปลาพลวง ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาซิวควายแถบดำ ปลาหนามหลัง และปลาอีด เป็นต้น

สถานที่น่าสนใจ แก้

  • ชมทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำกลางหุบเขาสวยงาม ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันมีอ่างเก็บน้ำอยู่หลายแห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน อ่างเก็บน้ำบ้านตากแดด อ่างเก็บน้ำบ้านวังปลาช่อน อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยศาลา และอ่างเก็บน้ำท่าเคย ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และประกอบกิจกรรมทางน้ำ
  • แก่งเทียนป่า (น้ำตกสามชั้น) ระยะเดินทาง 1,100 ม. เป็นโตรกธารและโขดหินที่มีลักษณะแปลกและสวยงาม
  • โตรกห้วย ระยะเดินทาง 1,300 ม. จำนวน 5 ห้วย บริเวณลำห้วยมีแอ่งอาบน้ำเหมาะแก่การพักผ่อนเล่นน้ำ (เดินเท้าหรือรถ 4×4) ลำห้วยในบริเวณที่เรียกว่า "โตรกทิวไผ่" ระยะทางประมาณ 1,300 เมตร มีโตรกธารและโขดหินที่มีลักษณะแปลกและสวยงาม ปริมาณน้ำจะมากในฤดูฝนบริเวณลำห้วยและแอ่งอาบน้ำเหมาะแก่การพักผ่อนเล่นน้ำ และชมธรรมชาติตามบริเวณนี้ เดินเท้าต่อไปประมาณ 900 เมตร ก็จะถึงลำห้วยในบริเวณที่เรียกว่า "โตรกลานหิน" เป็นจุดที่สวยงามมาก มีโขดหินทั้งเล็กและใหญ่ อีกทั้งมีพื้นที่ราบเหมาะต่อการกางเต็นท์พักแรม เดินเท้าต่อมาประมาณ 600 เมตร ถึงลำห้วยในบริเวณ "โตรกแซวสวรรค์" และอีกระยะทาง 400 เมตร ถึงลำห้วยในบริเวณ "โตรกบังไพร" ระยะทางประมาณ 950 เมตร ก็ถึงลำห้วย "โตรกลีลา" เป็นจุดที่สวยงาม มีสถานที่กางเต็นท์และจุดชมทิวทัศน์
  • น้ำตกไทยประจัน ระยะเดินทางจากห้วย 5 ต้องเดินเท้า เป็นระยะทาง 15 กม. และต้องมีผู้ชำนาญทาง (ไปกลับ 3 วัน 2 คืน) เป็นน้ำตกขนาดกลางสูงประมาณ 8-11 เมตร น้ำตกมีลักษณะเป็นสายน้ำยาวสวยงาม โขดหิน หน้าผาสูงชัน และพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์นและมอสต่าง ๆ
  • น้ำพุร้อนโป่งกระทิง เป็นบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านน้ำพุร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียส ที่น่าอัศจรรย์คือ เมื่อมีเสียงดังแค่ปรบมือก็จะมีพรายน้ำและฟองอากาศผุดขึ้นมาจากบ่อ เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 40 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 3206 ถึงทางแยกบ้านโป่งกระทิงล่าง เลี้ยวซ้ายไปบ้านพุน้ำร้อนผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย มีทางแยกเลี้ยวขวาเข้าไปยังบ่อน้ำพุร้อนระยะทางจากกรุงเทพฯ 186 กม.

การเดินทาง แก้

การเดินทางมาเที่ยวชมน้ำตกไทยประจัน จากกรุงเทพมหานคร เดินทางไปจังหวัดราชบุรีได้โดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษม หรือทางถนนธนบุรี-ปากท่อ และทางรถไฟจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟราชบุรี หรือลงที่สถานีรถไฟปากท่อ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร จากจังหวัดราชบุรีเดินทางโดยรถยนต์ไปตามถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3206 ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านไทยประจัน ระยะทาง 5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางลาดยางตลอดเส้นทาง

อ้างอิง แก้

  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2564.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2564.
  3. สำนักอุทยานแห่งชาติ. ม.ป.ป. อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน (Chaloem Phra Kiat Thai Prachan). กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. แหล่งอ้างอิง: https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=1021, สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2566.