การเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีกำหนดระหว่างวันที่ 25–29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยเริ่มการเตรียมงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เรื่อยมา มีการสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุ

ลำดับการเตรียมงานอย่างละเอียด แก้

การบูรณะราชยานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ณ โรงราชรถ เพื่อใช้ในพระราชพิธีเดือนตุลาคม

พ.ศ. 2559 แก้

3 พฤศจิกายน แก้

มีการปรับพื้นที่บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างพระเมรุมาศ โดยย้ายเต็นท์จากทางทิศใต้มายังทิศเหนือ และมีจุดพักคอยบริเวณกลางสนามหลวง มีการปรับดินและปูกากยางมะตอย[1]

14 พฤศจิกายน แก้

เจ้าหน้าที่กองพิธีการ สำนักพระราชวัง ได้ประกอบพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนมอบให้สำนักช่างสิบหมู่นำไปจัดสร้างพระโกศทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ จำนวน 12 จาก 19 ต้น ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คัดเลือกมาแล้ว โดยขวานที่ใช้ตัดเป็นขวานโลหะที่พ่นสีทอง และเคยใช้ตัดไม้จันทน์หอมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมาแล้ว[2]

19 ธันวาคม แก้

พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ ราชรถ พระยานมาศ และเครื่องประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[3]

20 ธันวาคม แก้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งมอบไม้จันทน์หอม จำนวน 1,461 แผ่น ให้แก่สำนักช่างสิบหมู่เพื่อนำไปจัดสร้างพระโกศจันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พร้อมช่อดอกไม้จันทน์ 7 แบบ ฟืนไม้จันทน์ และยอดพระจิตกาธานพระเมรุมาศ ซึ่งพัฒนาแบบจากพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งมีความโดดเด่นของลายที่ตื้นลึก มีมิติชัดเจน แต่มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เนื่องจากได้เพิ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง และตรงกลางเป็นครุฑ[4]

26 ธันวาคม แก้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุดจำนวน 9 จุด ประกอบด้วย[5]

พ.ศ. 2560 แก้

27 กุมภาพันธ์ แก้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงการก่อสร้างและยกเสาเอกพระเมรุมาศ โดยมีพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศฯ คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีฯ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี[6]

24 มีนาคม แก้

กรมสรรพาวุธทหารบก จังหวัดนครราชสีมา จัดพิธีบวงสรวงสร้างราชรถปืนใหญ่ที่จะใช้สำหรับเคลื่อนพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เวียนอุตราวรรตรอบพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยได้นำโครงสร้างราชรถต้นแบบ ประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง ราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า และรถบรรทุกกระสุน ชิ้นส่วนจากปืนใหญ่จริงที่ประจำการที่กองทัพบกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาประกอบในพิธี[7]

1 พฤษภาคม แก้

 
ราชรถปืนใหญ่ ขณะเตรียมการอยู่ที่โรงราชราถในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560

กรมสรรพาวุธทหารบก ส่งมอบราชรถปืนใหญ่อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ประกอบพระบรมราชอิสริยยศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้กรมศิลปากรนำไปดำเนินการตกแต่งให้สมพระเกียรติ[8]

5 พฤษภาคม แก้

กรมศิลปากรเคลื่อนย้ายราชรถปืนใหญ่ทั้ง 2 องค์ไปยังโรงราชรถ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อดำเนินการด้านศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ ที่ศึกษามาจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มาเป็นต้นแบบ[8] ในส่วนที่เป็นไม้ สำนักช่างสิบหมู่จะรับไปแกะสลัก ส่วนโครงรถที่เป็นเหล็กและถูกพ่นด้วยสีเขียว ก็จะมีการประดับตกแต่งลายตามแผนที่ได้มีการวางไว้ คาดว่าการบูรณะราชรถปืนใหญ่จะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้ และจะนำราชรถทั้ง 2 องค์ไปฝึกซ้อมในสถานที่จริง และทำพิธีบวงสรวงอีกด้วย[9]

6 กรกฎาคม แก้

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้างานติดตั้งกล้องโทรทัศน์ เครื่องเสียง และการจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ จะมีการซักซ้อมการแพร่ภาพและกระจายเสียงก่อนงานพระราชพิธีจริงอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้องที่สุด ทั้งการแพร่ภาพ และเสียงออกอากาศส่งไปให้ประชาชนรับชมทั่วประเทศอย่างสมพระเกียรติ โดยการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จะใช้กล้องบันทึกภาพทั้งระบบสายและไร้สายกว่า 100 ตัว[10]

21 กันยายน แก้

ที่บริเวณมณฑลพิธีด้านหน้าโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงการอัญเชิญพระมหาพิชัยราชรถ และพระยานมาศสามลำคาน หลังการบูรณปฏิสังขรณ์ออกจากโรงราชรถ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามโบราณราชประเพณีและเฉลิมพระเกียรติสูงสุด โดยในพิธี ประธานสักการะพระพุทธสิหิงค์พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และสักการะเจ้าพ่อหอแก้ว ด้านข้างบริเวณพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ และจุดธูปถวายเครื่องสังเวยขออัญเชิญราชรถและพระยานมาศเคลื่อนออกจากราชรถ จากนั้นพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ถวายน้ำสังข์ ใบมะตูมเจิมที่ราชรถและพระยานมาศ ประธานเข้าสู่โรงราชรถ คล้องพวงมาลัยที่ราชรถและพระยานมาศ ถวายเครื่องนมัสการ จากนั้นประธานฯไปยังเครื่องโต๊ะบวงสรวง อธิษฐานจิตขอพระราชทานจากสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เทพเทวา ขออนุญาตเคลื่อนขบวนราชรถและพระยานมาศออกจากโรงราชรถ จากนั้นทำการอัญเชิญราชรถออกจากโรงราชรถ เจ้าหน้าที่เคลื่อนขบวนตามลำดับประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่ ราชรถน้อยและพระมหาพิชัยราชรถ การแสดงชุดระบำดาวดึงส์จากศิลปินสำนักการสังคีตของกรมศิลปากร ประธานฯ โปรยข้าวตอกดอกไม้ที่โต๊ะบวงสรวง เป็นอันเสร็จพิธี[11]

2 ตุลาคม แก้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศฯ โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ดังนี้[12]

  • งานก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ ภาพรวมขณะนี้คืบหน้าไปแล้ว 98.6% ส่วนงานศิลปกรรมประกอบจัดทำแล้วเสร็จ และติดตั้งบนพระเมรุมาศแล้วทั้งหมดแล้ว รวมทั้งจิตรกรรมฉากบังเพลิงและจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำขึ้นติดตั้งตามตำแหน่งแล้วเช่นกัน
  • งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี ได้แก่ งานจัดสร้างพระโกศจันทน์และฟืนไม้จันทน์ แล้วเสร็จ งานจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ คืบหน้ารวม 89% อยู่ระหว่างการลงยาสีและประดับอัญมณี งานออกแบบและจัดทำเครื่องสังเค็ด คืบหน้ารวม 81%
  • งานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปเป็นประธานในพิธีบวงสรวงอัญเชิญราชรถ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา และพร้อมสำหรับการเคลื่อนออกเพื่อร่วมการฝึกซ้อมริ้วขบวนในสถานที่จริงครั้งแรก ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560

4 ตุลาคม แก้

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่าภาพรวมของการก่อสร้างพระเมรุมาศขณะนี้ส่วนใหญ่แล้วเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 98.5 - 99 เปอร์เซ็นต์ โดยยังเหลือเพียงการเก็บรายละเอียดบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์และจะมีพระเมรุมาศบุษบกองค์กลางที่ยังคงนั่งร้านไว้จนกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จึงจะมีการรื้อนั่งร้านออก พร้อมยืนยันว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ และในวันที่ 10 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ก็จะมีการตรวจสอบระบบโดยเฉพาะระบบการระบายน้ำที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ปริมาณฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ถือเป็นผลดีอย่างยิ่งที่จะทำให้สามารถตรวจสอบระบบหาจุดบกพร่องเพื่อทำการแก้ไข ให้มีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ตรวจหาจุดบกพร่องและเร่งแก้ไขเพื่อให้การก่อสร้างออกมาสมบูรณ์ที่สุดและสมพระเกียรติ[13]

11 ตุลาคม แก้

วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการต้อนรับคณะทูตานุทูตจาก 65 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน บังกลาเทศ เบลเยี่ยม ภูฏาน บราซิล บรูไน กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน คิวบา เช็ก เดนมาร์ก อียิปต์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อัครสมณทูตวาติกัน ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิตาลี ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เคนยา เกาหลีใต้ คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย มอลตา เม็กซิโก มองโกเลีย โมร็อคโค เมียนมาร์ เนปาล เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ โอมาน ปากีสถาน ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ กาตาร์ รัสเซีย สิงค์โปร์ สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ สเปน ศรีลังกา สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน ติมอร์ เลสเต ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอุซเบกิสถาน รวมกว่า 170 คน เข้าเยี่ยมชมการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม น.ส.สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม น.ส.ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กรมศิลปากร และนายวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ มัณฑนากรชำนาญการ กรมศิลปากร เป็นวิทยากรบรรยาย ซึ่งคณะทูตานุทูตกลุ่มนี้ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและเป็นบุคคลสำคัญที่จะสื่อสารเรื่องราวกลับไปยังประเทศของตน กระทรวงวัฒนธรรมจึงจัดการบรรยายความรู้โบราณราชประเพณี ถือเป็นประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แห่งศตวรรษ และถือว่าวันที่ 26 ตุลาคม เป็นพระราชพิธีหนึ่งเดียวในโลก สื่อทั่วโลกจะต้องให้ความสนใจในพระราชพิธีนี้ และกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากทูตมากที่สุด โดยก่อนหน้านี้เคยจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งได้ปูพื้นให้เห็นว่าเป็นประเพณีที่มีตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนเป็นภาพลายเส้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นเวลายาวนานกว่า 300 ปี ซึ่งพบในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ มีการใช้ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ รวมถึงพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การที่ไทยรักษาพระราชประเพณีดังกล่าวไว้และสืบทอดถึงปัจจุบัน มีคุณค่าที่อยากสื่อสารให้สาธารณชนและทูตานุทูตได้รับทราบ[14]

12 ตุลาคม แก้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ซ้อมพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยการซ้อมครั้งนี้เป็นการทดสอบการชักรอกสลิง และตรวจสอบตำแหน่งสลิงรวมถึงการเลื่อนฉัตรเพื่อให้เป็นไปตามจังหวะและลงตำแหน่ง บริเวณส่วนยอดพระเมรุมาศที่กำหนดไว้ โดยภาพรวมแล้วการซ้อมครั้งนี้เป็นไปด้วยดี ใช้เวลาในการอัญเชิญฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศรวมประมาณ 3 นาที ทั้งนี้ในการซ้อมพบว่าสลิงบางช่วงมีลักษณะหย่อนเป็นรูปตัววี ดังนั้นในการซ้อมในวันที่ 17 ตุลาคม ได้ขอให้กรมศิลปากรจัดเตรียมนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่มีน้ำหนักและขนาดใกล้เคียงกับนพปฎลมหาเศวตฉัตรองค์จริง ซึ่งมีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม สูง 5.10 เมตร มาใช้ในการซ้อม เพื่อให้วันพระราชพิธีมีความสมบูรณ์และสมพระเกียรติ อย่างไรก็ตาม หลังพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรในวันที่ 18 ตุลาคม จะถือว่าพระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์ โดยภายใน 24 ชั่วโมง จะทำการถอดนั่งร้านพระเมรุมาศองค์ประธาน โดยขณะนี้ ได้มีการถอดนั่งร้านบุษบกซ่าง และหอเปลื้องออกเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้สำนักช่างสิบหมู่ ได้ดำเนินการติดตั้งจิตรกรรมฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศ รวมถึงติดตั้งประติมากรรรมท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศเรียบร้อย ขณะเดียวกันยังได้นำดอกดาวเรืองมาประดับภายในมณฑลพิธีเรียบร้อยแล้ว เหลือในส่วนของการติดตั้งพระวิสูตรหรือผ้าม่าน ซึ่งจะดำเนินการในช่วงใกล้วันพระราชพิธีเพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายจากสภาพอากาศ โดยภาพรวม การสร้างพระเมรุมาศเสร็จแล้วกว่า 99% และมีการประดับดอกไม้อย่างงดงาม ซึ่งในวันพระราชพิธีจริงไม้ดอกไม้ประดับสีเหลืองจะบานสะพรั่งและจะงดงามตลอดระเวลา จนถึงช่วงการจัดนิทรรศการจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ภายในอาคารพระที่นั่งทรงธรรม สำนักพระราชวังจะได้เข้ามาจัดที่นั่ง และซักซ้อมในส่วนพระราชพิธีที่เกี่ยวข้อง[15]

13 ตุลาคม แก้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังท้องสนามหลวง ทอดพระเนตรความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะทีมวิศวกรที่ปรึกษาวิศวกรรมด้านโครงสร้างพระเมรุมาศ และหม่อมราชวงศ์บุตรี วีระไวทยะ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ 10 เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ทรงรับฟังการถวายรายงานจากอธิบดีกรมศิลปากรถึงการจัดสร้างพระเมรุมาศ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสระอโนดาต ระบบไอน้ำ ระบบไฟฟ้าในสระอโนดาต จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงานประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ ได้แก่ บันไดนาคสามเศียร บันไดนาคห้าเศียร เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรจิตรกรรมฉากบังเพลิงและการจัดสร้างพระจิตกาธาน จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระเมรุมาศฝั่งทิศใต้ ก่อนเสด็จฯไปยังศาลาลูกขุน เพื่อรับฟังรายงาน จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรงานภูมิสถาปัตยกรรม การประดับไม้ดอกไม้ประดับภายในมณฑลพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงนาคันนาเลข ๙ ไทย ฝายแม้ว กังหันน้ำชัยพัฒนา หญ้าแฝก บริเวณทางเข้าพระเมรุมาศฝั่งทิศเหนือ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 09.07 น. รวมเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินกว่า 2 ชั่วโมง

สำหรับงานก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 99.5 และจะติดตั้งพระวิสูตรหรือผ้าม่านบุษบกองค์ประธานวันที่ 17 ตุลาคม และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศในวันที่ 18 ตุลาคม ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19 น.-21.30 น. จะถือว่าพระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้กรมศิลปากรได้กำหนดซักซ้อมการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศอีกครั้งในวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 18.00 น. และซ้อมช่วงที่สองในช่วงค่ำ เพื่อเตรียมความพร้อมหากวันจริงมีการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรในเวลากลางคืนจะได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งวันดังกล่าวฉัตรที่ใช้ซักซ้อมจะมี 9 ชั้น และน้ำหนักเท่าฉัตรจริง เพื่อทดสอบการต้านลม จะมีการล็อกน้ำหนักของรอก เพื่อให้รอกที่ใช้ในการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประกอบพระราชพิธีอย่างสมบูรณ์ที่สุด ส่วนการซักซ้อมอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานนั้น กรมศิลปากรและสำนักพระราชวังกำหนดซ้อมย่อยวันที่ 19 ตุลาคม ขณะที่การซ้อมริ้วขบวนที่ 3 ซึ่งใช้ราชรถปืนใหญ่อัญเชิญพระบรมโกศเวียนอุตราวัฎรอบพระเมรุมาศนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พื้นลานพระราชพิธีมีความมั่นคงและแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

ส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรม มีการประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดแล้ว ภาพรวมความงามของต้นไม้ร้อยละ 65 และเมื่อถึงวันพระราชพิธีจะสมบูรณ์งดงาม  หากพบต้นไม้ต้นใดไม่แข็งแรงจะเปลี่ยนให้เรียบร้อย ส่วนสระอโนดาตขณะนี้แล้วเสร็จ แต่ใกล้วันพระราชพิธีจะนำประติมากรรมปลามาติดตั้งเพิ่มเติม รวมทั้งให้แนวทางกรมศิลปากรเพิ่มแสงไฟส่องสว่างให้แก่สัตว์หิมพานต์ เพื่อให้สามารถเห็นเผ่าพงศ์สัตว์ตระกูลสิงห์ ม้า โค ช้าง แต่ละชนิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้ให้แนวทางในการติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาเพิ่มอีก 1 ตัว จากเดิม 2 ตัว และมีเครื่องกลเติมอากาศ ส่วนแปลงนาข้าวที่ปลูกแต่ละระยะมีความงดงาม ขณะที่ระยะออกรวงจะชูรวงสีทองในช่วงพระราชพิธี ขณะที่ผักสวนครัวริมรั้วไม้ไผ่ได้ลงปลูกและดูแลให้เติบโตออกผลผลิตตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานครเพื่อให้ระบบระบายน้ำภายนอกมณฑลพิธีและภายในมณฑลพิธีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ท่วมขัง[16]

16 ตุลาคม แก้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า สำหรับงานก่อสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของพระเมรุมาศยังเหลือนั่งร้านไว้ตรงกลาง โดยจะมีการรื้อนั่งร้านออกภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 18 ตุลาคม จากนั้นในวันที่ 20 ตุลาคม จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมความสมบูรณ์ของการก่อสร้างทั้งหมด ทั้งนี้ การเตรียมงานพระราชพิธีขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะระบบไฟ ที่มีการเตรียมไฟไว้สำรองกรณีหากเกิดไฟฟ้าดับ จะมีรถจ่ายไฟสำรองภายใน 30 วินาที ถึง 1 นาที เป็นต้น ดังนั้นถือว่ามีความพร้อมครบ 100% แล้ว และถือว่าเสร็จก่อนเวลาที่กำหนดอีกด้วย

สำหรับปัญหาฝนที่ตกหนัก ได้มีเตรียมการป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทั้งการประสานกับทางกรุงเทพมหานครให้ลอกท่อทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้ระบายน้ำได้เร็ว ส่วนเรื่องดอกไม้ คาดว่าในวันนั้นจะบานสะพรั่งเต็มที่ โดยดอกไม้ และข้าวที่ปลูกนั้น จะอยู่ได้นานถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่จะมีการจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้เข้าชม ในวันที่ 2-30 พฤศจิกายน ขณะที่การซักซ้อมริ้วขบวน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ภาพรวมถือว่าสมบูรณ์ มีความเหมาะสมทุกจุด อาจมีการแก้ไขบางจุดให้ดีมากยิ่งขึ้น ทุกอย่างถือว่าสมพระเกียรติ ทุกคนในริ้วขบวนมีความพร้อม จึงไม่มีสิ่งไหนน่ากังวลแล้ว[17]

17 ตุลาคม แก้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรวจความพร้อมและซักซ้อมการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อให้พระราชพิธีเป็นไปด้วยควาเรียบร้อย สมพระเกียรติ ตามที่กรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จฯ ไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในการนี้ กองกิจการในพระองค์ฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงรับเชิญเสด็จฯ ไปในการนี้ ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19 - 21.30 น. ในเวลา 17.19 น. กรมศิลปากรจึงได้ทำการซักซ้อมระบบและทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นครั้งที่ 2 โดยจำลองฉัตรให้มีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงฉัตรองค์จริงมากที่สุด ใช้การวางสลิง แขวนฉัตรบริเวณลานด้านหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หมุนสลิงผ่านรอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบน เมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและทำการติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุน จนเสร็จสมบูรณ์[18]

18 ตุลาคม แก้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19 น. – 21.30 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการ กราบบังคมทูลรายงาน และเบิกกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม จากนั้น นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากรรับไปผูกไว้ที่เสาบัว เป็นอันเสร็จสิ้นการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างสมบูรณ์และเป็นทางการ[19]

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ แก้

1 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 1/2560 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยทรงรับเป็นที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการนี้ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น หน่วยแพทย์ อาหาร น้ำดื่ม รถสุขา และถังขยะให้มีความพร้อมพอเพียงสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกตลอดเวลา[20]

ช่วงเช้าของวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 2/2560 ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมเรื่องต่างๆ อาทิ ด้านการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน การจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ พระราเชนทรยานน้อย และส่วนประกอบทั้งหลายที่จะใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีหม่อมราชวงศ์บุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เฝ้าทูลละอองพระบาทกราบบังคมทูลถวายรายงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนจิตอาสาเฝ้ารอรับเสด็จ[21]

ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ แก้

รายละเอียดของแต่ละริ้วขบวน แก้

 
เส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ริ้วขบวนที่ 1 และ 2)

คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาเห็นชอบให้มีทั้งสิ้น 6 ริ้วขบวน ดังรายละเอียดต่อไปนี้[22]

การฝึกซ้อมริ้วขบวน แก้

ในส่วนการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีฝึกการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศขึ้น ได้ฝึกซ้อมในสถานที่จริง และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศจริง โดยมี คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมพลาธิการทหารบก กรมสรรพาวุธทหารบก หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทหารสามเหล่าทัพ กรมดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจม้า และนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้ร่วมเดินฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ[29] แต่ในริ้วขบวนสุดท้ายนั้นทหารม้ารักษาพระองค์ได้ทำการฝึกซ้อมภายในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์[30] และครั้งต่อไปได้ร่วมฝึกซ้อมกับริ้วขบวนที่เหลือในสถานที่จริง[31] โดยสรุปลำดับการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ มีดังนี้

พระเมรุมาศและอาคารประกอบ แก้

 
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำเนินการก่อสร้าง

การจัดสร้าง แก้

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรก โดยมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นประธาน โดยมีการเปิดเผยร่างแบบพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระโกศจันทร์ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศฯ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรจัดสร้างพระเมรุมาศในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยการจัดสร้างในทุก ๆ ด้าน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 และจะมีการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนมีการรื้อถอน[45]

องค์ประกอบพระเมรุมาศ แก้

ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ[46]

พระเมรุมาศออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น 53 เมตร) มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี 3 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก 8 ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ

สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ใช้ประดับยอดพระเมรุมาศในครั้งนี้ มีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ความสูง 5.10 เมตร มีลักษณะเป็นฉัตรขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง 14 ช่อ ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง[18][19]

ทั้งนี้ มีเสาโครงเป็นครุฑและสัตว์หิมพานต์ ซึ่งครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ มีความเชื่อตามสมมติเทพว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา

ส่วนภายในพระเมรุมาศ บริเวณกึ่งกลาง มีพระแท่นพระจิตกาธานดอกไม้สด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศไม้จันทน์ และหีบพระบรมศพไม้จันทน์ หลังจากการเปลื้องพระโกศทองใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในพระแท่นบริเวณด้านล่างของพระจิตกาธาน ประดิษฐานเตาไฟฟ้าสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพของประเทศไทย ที่มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธานด้วยระบบเตาเผาไฟฟ้า แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด 4 มุม พระจิตกาธาน

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งลิฟท์บริเวณชานชาลาพระเมรุมาศ ด้านทิศใต้ ทั้ง 4 จุด สำหรับใช้เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จและใช้ขึ้นและลงพระเมรุมาศ และมีการติดตั้งลิฟท์สำรอง ด้านทิศตะวันออก อีก 4 จุด สำหรับใช้เสด็จและใช้ขึ้นและลงพระเมรุมาศ สำหรับพระราชวงศ์ และบุคคลผู้สูงอายุ ที่มาเข้าเฝ้าฯ ภายในมณฑลพระราชพิธี

 อาคารประกอบพระราชพิธี แก้

  • พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ซึ่งเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งจัดเป็นที่ประทับและที่นั่งสำหรับบุคคลสำคัญที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี รองรับได้ประมาณ 2,800 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมีห้องทรงพระสำราญสำหรับเป็นที่ประทับพักของพระบรมวงศานุวงศ์ ห้องพักรับรองสำหรับพระสงฆ์และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้าฯบนพระที่นั่งทรงธรรม ห้องสุขา ห้องส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ห้องพักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่
  • ซ่าง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ ในช่วงพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ตลอดจนบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ติดตั้งลิฟท์หนึ่งเพื่อใช้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นหรือลงจากพระที่นั่งทรงธรรมไปยังพระเมรุมาศ
  • หอเปลื้อง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับเป็นที่เก็บพระโกศทองใหญ่ หลังจากอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานพระจิตกาธานประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศแล้ว และเป็นที่เก็บเครื่องใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 1 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ สำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 2 ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี
  • ศาลาลูกขุน แบบที่ 3 ใช้เป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ และใช้เป็นห้องสุขา ตลอดจนใช้เป็นห้องส่งสำหรับส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี
  • ทับเกษตร สำหรับใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและวงปีพาทย์ และใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
  • ทิม สำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา
  • พลับพลายกท้องสนามหลวง อยู่ด้านนอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถ สู่ราชรถปืนใหญ่
  • พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคาน สู่พระมหาพิชัยราชรถ
  • พลับพลายกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท หน้าพระบรมมหาราชวัง สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระบรมศพ
  • เกยลา ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน

การออกแบบภูมิทัศน์และงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ แก้

การออกแบบภูมิทัศน์จะจำลองพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม และได้จำลองกังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ในการออกแบบงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพาน ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ งานเขียนฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ[47]

  • ฉากบังเพลิง มีความสูง 4.4 เมตร กว้าง 5.35 เมตร มี 2 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้า ประกอบด้วย 4 ช่อง ช่องละ 2 ส่วน ช่องบนประกอบด้วยพระนารายณ์อวตาร จำนวนทั้งหมด 8 ปาง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประทับอยู่ในพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เปรียบเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9 นอกจากนี้ บนฉากบังเพลิงยังมีเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิง ด้านบนเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” โดยมีดอกดาวเรืองอันเป็นดอกไม้ประจำพระองค์สอดแทรกอยู่ตรงกลางรอบข้างจะเป็นดอกไม้มณฑาทิพย์ เป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์จะร่วงหล่นในยามเกิดเหตุการณ์สำคัญแก่ชาวโลก ด้านล่างประกอบด้วยดอกไม้มงคล อาทิ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรค์ สื่อถึงการนำมาถวายสักการะในหลวง รัชกาลที่ 9[48]
  • ประติมากรรมรอบพระเมรุมาศ การจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ เป็นส่วนประกอบซึ่งแสดงความเป็นทิพยสถาน ซึ่งได้ออกแบบโดยใช้แนวคิดตามคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพอวตารลงมาจากสวรรค์เพื่อมาปราบยุคเข็ญ งานจัดสร้างประติมากรรมประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ประกอบด้วย ประติมากรรมพระโพธิสัตว์, เทพพนม, ครุฑยุดนาค, เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ, เทวดานั่งรอบพระเมรุ, เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้, มหาเทพ ประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม และได้มีการปั้นหุ่นพระพิฆเนศเพิ่มเติมในภายหลัง, ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประกอบด้วยท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก, ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ, ราวบันไดนาค, คชสีห์-ราชสีห์, สัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วยช้าง ม้า วัวและสิงห์[49] นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดทำประติกรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนำมาประดับบริเวณด้านข้างพระจิตกาธานอีกด้วย[50][51]
  • ภาพจิตรกรรมภายในพระที่นั่งทรงธรรม อยู่บริเวณภายในพระที่นั่งทรงธรรมทั้ง 3 ด้าน เป็นเขียนภาพจิตรกรรมเรียงร้อยเป็นเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จำนวน 46 โครงการจากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ แต่ละด้านบอกเล่าโครงการในภูมิภาคต่างๆ[52][53][54]
  • สระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ งานพระเมรุมาศครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สร้างสระอโนดาต แทนภูเขาในป่าหิมพานต์ที่ทำในงานพระราชพิธีครั้งก่อๆ สระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ จะมีการขุดสระน้ำสูง 20 เซนติเมตร เป็นสระน้ำสีมรกต โดยมีสัตว์หิมพานต์ทิศละ 30 ตัว แบ่งเป็นสัตว์ 4 ชนิด ตามไตรภูมิ คือ ช้างประจำทิศเหนือ สิงห์ประจำทิศตะวันออก ม้าประจำทิศตะวันตก และโคประจำทิศใต้ สัตว์หิมพานต์ที่นำมาประดับ มีต้นแบบมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แบ่งเป็นช้าง 10 ตระกูล สิงห์ 4 ชนิด พระโค และปัญจมหานที ที่สื่อถึงความสมบูรณ์ และม้า พาหนะของเจ้าชายสิทธัตถะ[55]

พระเมรุมาศจำลอง แก้

 
พระเมรุมาศจำลองบริเวณลานพระราชวังดุสิต
 
พระเมรุมาศจำลองบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ โดยให้สร้างตามแบบของกรมโยธาธิการและผังเมือง และมีการประดับตกแต่งพร้อมทั้งติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้เรียบร้อย เพื่อเป็นจุดถวายดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชน และให้จัดซุ้มตามแบบของกรมศิลปากร[56] และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองจำนวนทั้งสิ้น 85 แห่งทั่วประเทศ โดยให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด จำนวน 76 แห่ง และพระเมรุมาศจำลองในบริเวณ 4 มุมเมือง และบริเวณรอบๆ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง รวมอีก 9 แห่ง ดังนี้

  1. ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
  2. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เดิม)
  3. สวนนาคราภิรมย์
  4. ลานปฐมบรมราชานุสรณ์
  5. สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์)
  6. ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
  7. พุทธมณฑล
  8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  9. ลานพระราชวังดุสิต

โดยแบบของพระเมรุมาศจำลอง แผนกสถาปนิกในพระองค์ฯ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยขนาดของฐานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16 เมตร ตัวพระเมรุมาศข้างในมีขนาดของฐาน 4.5 คูณ 4.5 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความสูงรวมตั้งแต่ฐานถึงยอดประมาณ 22 เมตร 35 เซนติเมตร และกำหนดให้สร้างแล้วเสร็จในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560[57] ทั้งนี้ พระเมรุมาศจำลองทุกแห่งจะประดับยอดด้วยนพปฎลสุวรรณฉัตร (ฉัตรทอง 9 ชั้น) ยกเว้นพระเมรุมาศจำลองบริเวณลานพระราชวังดุสิต ที่ประดับยอดด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) เหมือนกับองค์จริงในท้องสนามหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ในพระราชวังดุสิต ซึ่งถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน หรือที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์[58]

ส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แก้

การจัดสร้างพระโกศจันทน์และพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยา แก้

 
พระโกศและหีบพระบรมศพจันทน์ สำหรับประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

การจัดสร้างพระโกศจันทน์ กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ โดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโสเป็นผู้ออกแบบ[59] ซึ่งไม้จันทน์ที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้ มาจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ได้มีพิธีบวงสรวงและเริ่มพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมตามโบราณราชประเพณี ณ บริเวณชายป่าใกล้อ่างเก็บน้ำย่านซื่อ เมื่อดำเนินการตัดไม้จันทน์หอมแล้วเสร็จ มีการแปรรูปและได้ส่งมอบไม้ให้กรมศิลปกรในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และจะเริ่มสร้างพระโกศไม้จันทน์ช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2560

ในส่วนของการจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยา สำนักช่างสิบหมู่ ร่วมกับสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา จัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยาจำนวน 6 องค์ โดยสถาบันสิริกิติ์จะจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิสำหรับทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะที่สำนักช่างสิบหมู่จะจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิสำหรับประดิษฐานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กับสำหรับทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

การจัดสร้างราชรถใหม่ แก้

ทางกรมศิลปากรโดยกรมสรรพาวุธทหารบก ได้ออกแบบจัดสร้างราชรถองค์ใหม่ 2 องค์คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย โดยราชรถปืนใหญ่จะนำมาใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศแทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิม ออกแบบโดย นายชนะโยธิน อุปลักษณ์[60] สำหรับพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยจะนำมาใช้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารแทนพระวอสีวิกากาญจน์[61]

การรักษาความปลอดภัยและการจราจร แก้

รับหน้าที่ดูแลโดยคณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจร โดยมีหน้าที่ดังนี้[62]

  • พิจารณาและดำเนินการรักษาความปลอดภัยความสงบเรียบร้อย และจัดการจราจร
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน
  • รายงานการดำเนินงานเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณา
  • ดำเนินการในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในส่วนนี้จะอยู่ด้านล่าง

การรักษาความปลอดภัย แก้

เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษา สบ.10 พลตำรวจโท รุ่งฤทธิ์ ซุ่นทรัพย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการทุกหน่วยในสังกัด เข้าร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ วางมาตรการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 ตร.

ในช่วงวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีประชาชนเดินทางมาร่วมพระราชพิธีฯ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก และอาจมีกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดี เข้ามาฉกฉวยโอกาส สร้างสถานการณ์ก่อเหตุร้าย หรือความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น จึงมีการประชุมเตรียมความพร้อมและได้สั่งการให้ทุกกองบัญชาการ ทั่วประเทศ ระดมกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอาวุธปืน ยาเสพติด และการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับค้างเก่า โดยจะแบ่งการระดมกวาดล้างเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 6 - 15 กันยายน ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 - 30 กันยายน และ ช่วงที่ 3 ระหว่าง วันที่ 6 - 15 ตุลาคม โดยเฉพาะหมายจับค้างเก่าตำรวจมีการดำเนินการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะภาพรวมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน มีหมายจับค้างเก่ากว่า 1 แสนหมาย ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้พื้นที่รับผิดชอบเข้มงวดตรวจสอบบริเวณจุดที่กำหนดให้เป็นจุดถวายดอกไม้จันทน์ เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมาก มาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ รวมถึงเพิ่มมาตรการเข้มข้นจุดคัดกรองต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีฯ โดยกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สายตรวจ ให้นำเทคโนโลยีฯ ที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการบันทึกภาพขณะปฏิบัติงาน การใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด มาใช้ในการบริหารการป้องกันเหตุในพื้นที่ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างด้วยส่วนเรื่องการจราจรบริเวณรอบท้องสนามหลวง จะมีการประชุมเตรียมความพร้อม และกำหนดเส้นทางชี้แจงให้ประชาชนทราบอีกครั้งภายหลัง และทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนในการเป็นหูเป็นตา ให้ข้อมูลเบาะแสกับตำรวจ หากพบการกระทำความผิด[63][64]

นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยังได้ออกประกาศให้พื้นที่ท้องสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง และเขตพื้นที่โดยรอบในรัศมี 19 กิโลเมตร เป็นเขตพื้นที่ห้ามทำการบิน ทั้งนี้ รวมถึงอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานทีควบคุมการบินจากภายนอก หรือโดรนด้วย ยกเว้นโดรนซึ่งใช้ในการถ่ายภาพมุมสูงของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจทำลายอากาศยานจากภาคพื้นได้[65]

ส่วนทางฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลัง เปิดกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (กอร.พระราชพิธี) ว่า เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกประชาชนในเรื่องเส้นทางการเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การถวายดอกไม้จันทน์ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ฯลฯ ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีความปลอดภัยขั้นสูงสุด ทางคณะอนุกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจร จึงได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้น ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นหน่วยงานประสานงานให้กับหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม กรมประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าทั้ง 3 ฝ่าย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยาน กรมทางหลวง ในการดำเนินดังกล่าว โดยกองอำนวยการร่วมนี้จะปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560[66]

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้รองรับ โดยมีทั้งจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จิตอาสา พร้อมดูแลพระเมรุมาศจำลองในกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง และทั่วประเทศอีก 76 แห่ง การเตรียมความพร้อมนั้นได้ประชุมสั่งการไปหมดแล้ว และมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดศูนย์อำนวยการไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธี โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันการข่าวว่าไม่พบการเคลื่อนไหว และการตระเตรียมยุทโธปกรณ์ เพื่อสร้างสถานการณ์ในช่วงงานพระราชพิธี และมั่นใจว่าตำรวจ, ทหาร และฝ่ายความมั่นคง จะดูแลสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้ กลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่เกาะสมุย และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มเดียวกัน โดยก่อเหตุเพื่ออุดมการณ์ ไม่ใช่เป็นการรับจ้าง ซึ่งมีการเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ด้วย ส่วนการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางเคลื่อนไหว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้ราคากับคนในโซเชียล เนื่องจากไม่สามารถจับต้องได้เป็นกลุ่มที่มโนไปเอง แต่ตำรวจก็ไม่ประมาทมีการเฝ้าระวังในทุกมิติ รวมทั้งกลุ่มที่ถูกจับกุมอาวุธสงครามในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ก่อนหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน และใช้โซเชียลเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหว ได้มีการเฝ้าระวังและจับตาเพื่อป้องกันเหตุแทรกซ้อน[67]

การจราจร แก้

ทางบก แก้

วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แจ้งเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และวันซ้อมใหญ่ โดยทางคณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและจราจรจะปิดการจราจรแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และวันซ้อมใหญ่จำนวน 3 วัน ดังนี้[68]

ระดับการปิดเส้นทาง แก้

ในช่วงการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 24 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จะมีการปิดการจราจรหลายเส้นทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมแผนการจัดการจราจรรองรับไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้[69]

  • 24 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันก่อนถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จะปิดการจราจรพื้นที่ชั้นในทั้งหมด ประกอบด้วย
  1. ถนนหน้าพระลาน ตลอดสาย
  2. ถนนหน้าพระธาตุ ตลอดสาย
  3. ถนนราชดำเนินใน จากแยกผ่านพิภพลีลาถึงแยกป้อมเผด็จ
  4. ถนนสนามไชย จากแยกป้อมเผด็จถึงวงเวียน รด.
  5. ถนนหับเผย
  6. ถนนหลักเมือง
  7. ถนนกัลยาณไมตรี ปิดถึงสะพานช้างโรงสี
  8. ซอยสราญรมย์ ถนนพระจันทร์
  9. ถนนราชินี จากแยกตัดถนนพระอาทิตย์ถึงแยกผ่านพิภพ
  10. ถนนมหาราช ถึงแยกปากคลองตลาด
  11. ถนนท้ายวัง ตลอดสาย
  12. ถนนสนามไชยตลอดสาย
  13. ถนนเชตุพน
  14. ถนนเศรษฐการ
  15. ถนนพระพิพิธ ตลอดสาย
  16. ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่วงเวียนรด.ถึงแยกสะพานมอญ 

และจัดเดินรถทางเดียวใน 3 เส้นทาง ได้แก่ 

  1. ถนนจักรพงษ์ จากแยกบางลำภูถึงถนนเจ้าฟ้า
  2. ถนนเจ้าฟ้า จากปรับถนนจักรพงษ์ถึงตัดถนนพระอาทิตย์
  3. ถนนพระอาทิตย์ จากใต้สะพานพระปิ่นเกล้าถึงแยกบางลำพู
  • วันที่ 25 ตุลาคม หากมีประชาชนเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากก็จะปิดถนนเพิ่มขึ้นอีกตามแผนที่ระดับที่ 1 คือ
  1. ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า จากแยกอรุณอัมรินทร์ถึงแยกผ่านพิภพลีลาทั้ง 2 ฝั่ง
  2. ถนนราชดำเนินกลาง จากแยกผ่านพิภพลีลาถึงแยกผ่านฟ้าลีลาศทั้ง 2 ฝั่ง
  3. ถนนราชดำเนินนอก จากแยกผ่านฟ้าลีลาศถึงแยกจปร.
  4. ถนนหลานหลวงจากแยกหลานหลวงถึงแยกผ่านฟ้าลีลาศ ทั้ง 2 ฝั่ง
  5. ถนนคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี จากทางร่วมสะพานพระราม 8 ถึงทางขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

และปิดการจราจรในถนนที่พาดผ่านถนนราชดำเนินกลาง ได้แก่

  1. ถนนตะนาว จากแยกคอกวัวถึงแยกถนนพระสุเมรุ ซึ่งตัดถนนบวรนิเวศน์
  2. ถนนดินสอ จากแยกกรุงเทพมหานครถึงแยกสะพานวันชาติ
  3. ถนนมหาไชย จากแยกสำราญราษฎร์ถึงป้อมมหากาฬ
  4. ถนนพระสุเมรุ จากแยกป้อมมหากาฬถึงแยกสะพานวันชาติ
  5. ถนนราชินี จากแยกปากคลองตลาดถึงแยกผ่านพิภพลีลา
  6. ถนนอัษฎางค์ จากปากคลองตลาดถึงแยกผ่านพิภพลีลา
  7. ถนนมหาราช จากสามแยกตัดถนนบ้านหม้อถึงแยกปากคลองตลาด
  • 26 ตุลาคม ที่จะมีประชาชนเข้ามามากที่สุดนั้นจะขยายปิดถนนเพิ่มขึ้นอีกเป็นระดับที่ 2 ดังนี้
  1. ขยายการปิดการจราจรในถนนหลานหลวงไปถึงแยกสะพานขาว และจัดระบบเดินรถทางเดียวในถนนกรุงเกษมจากแยกสะพานขาวไปแยกกษัตริย์ศึกเพื่อระบายรถออกไปยังถนนพระราม 1 และถนนพระราม 4 ส่วนรถในถนนจักรพรรดิพงษ์ตั้งแต่แยกแม้นศรีถึงแยกวิสุทธิกษัตริย์ยังสามารถวิ่งได้ตามปกติแต่จะห้ามเลี้ยวเข้าถนนราชดำเนินนอก
  2. ถนนราชดำเนินนอกจากลานพระราชวังดุสิตถึงแยกจปร.จะปิดการจราจรเป็นช่วงช่วงตามแยกโดยไม่ให้รถเข้าสู่ถนนราชดำเนิน แต่ให้วิ่งพาดผ่านสัญจรส่งประชาชนไว้ดังนี้
    1. ปิดแยกลานพระรูปถึงแยกสวนมิสกวันโดยคงให้รถในถนนศรีอยุธยาวิ่งผ่านได้
    2. ปิดแยกสวนมิสกวันถึงแยกมัฆวานโดยยังคงให้รถในถนนพิษณุโลกวิ่งผ่านได้
    3. ติดแยกมัฆวานถึงแยกจปร.โดยยังคงให้รถในถนนเจริญกรุงวิ่งผ่านได้
    4. ปิดถนนลูกหลวงตลอดสาย

และหากประชาชนมาเต็มพื้นที่ดังกล่าวก็จะขยายพื้นที่ปิดถนนเพิ่มเป็นระดับ 3 ดังนี้

  1. จากแยกวัดเบญจฯถึงแยกหอประชุมทบ. (พล1)
  2. ถนนพิษณุโลก จากแยกพาณิชยการถึงแยกวังแดง
  3. ถนนกรุงเกษม จากแยกเทวกรรมถึงแยกประชาเกษม
  4. ถนนจักรพรรดิพงษ์ จากแยกแม้นศรีถึงแยกจปร.
  5. ถนนวิสุทธิกษัตริย์ จากแยกจปร. ถึงแยกวิสุทธิกษัตริย์
  6. ถนนนครสวรรค์ จากแยกผ่านฟ้าถึงแยกนางเลิ้ง

ทางน้ำ แก้

กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ควบคุมการเดินเรือเฉพาะคราว โดยจะปิดห้ามเรือเดินทะเลลากจูงลำเลียงสินค้า ทางด้านเหนือของสะพานกรุงธน และด้านใต้ของสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เว้นแต่เรือของหน่วยงานราชการ ในช่วงเวลาดังนี้

  • 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 12.00-21.00 น.
  • 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.
  • 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น.

ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยางดใช้ท่าเรือท่าช้าง ท่าพระอาทิตย์ และท่าราชินี โดยด้านเหนือให้ใช้ท่าเรือเทเวศร์ ด้านใต้ให้ใช้ท่าเรือตลาดยอดพิมานแทน ส่วนเรือข้ามฟากจะงดให้บริการในบริเวณท่าเรือท่าพระจันทร์เหนือ ท่ามหาราช ท่าช้าง โดยให้ไปใช้ท่าเรือปิ่นเกล้าฝั่งพระนครแทน เช่นเดียวกับท่าเรือท่าเตียน ให้ไปใช้ท่าเรือราชินีแทน รวมทั้งเรือบริการนักท่องเที่ยว ด้านเหนือให้ใช้ท่าเรือปิ่นเกล้าฝั่งพระนครและด้านใต้ให้ใช้ท่าเรือราชินีแทน[68]

ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร แก้

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร จึงทำให้มีประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจัดการจราจร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อรองรับการจัดการจราจร ซึ่งได้มีการประกาศออกมา 2 ฉบับ[70][71]

การเชิญผู้ไปร่วมเข้าเฝ้าฯ แก้

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในวันงานพระราชพิธี ประชาชนไม่สามารถเข้าไปในบริเวณท้องสนามหลวงในส่วนที่เป็นมณฑลพิธีได้ แต่สามารถเข้าไปในส่วนของโรงละครแห่งชาติที่ได้มีการกันไว้เป็นส่วนของมหรสพได้ ส่วนคนที่จะเข้าไปได้จะต้องมีบัตรติดทุกคน ซึ่งบัตรที่ติดนั้นจะมีสีแสดงที่นั่ง ส่วนการเชิญแขกที่จะมานั้น สำนักพระราชวังได้มอบให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาจัด ซึ่งได้มีการตกลงกันแล้วว่าจะเชิญแขกอย่างไรบ้าง โดยจะมีทั้งหมดประมาณ 7,000-7,500 ที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงอาจจะเหลือประมาณ 5,000 ที่นั่ง เพราะอีก 2,000 ที่นั่งจะต้องกันไว้ให้คนที่จะเข้ามาอยู่ในริ้วขบวน และจะไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปได้ ต้องนำรถไปจอดในที่จัดไว้ และเมื่อถึงเวลาจะมีรถบัสรับ - ส่งเข้าไปที่งาน ทั้งนี้ ในวันถวายพระเพลิงจะต้องเข้าไปในพิธีถึง 3 ครั้ง คือ 1.รอรับขบวนเชิญพระบรมโกศ 2.ตอนถวายพระเพลิง และ 3.ถวายพระเพลิงจริง[72]

สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีบริการรถรับ - ส่งให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะจัดรถรับส่งเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน 25 เส้นทาง และรถชัตเตอร์บัส 21 เส้นทาง ซึ่งจะมีจุดรับ - ส่ง 5 จุด ได้แก่ ปากคลองตลาด แยกอรุณอมรินทร์ แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ สนามม้านางเลิ้ง และบ้านมนังคศิลา

ส่วนการเดินทางจากพื้นที่รอบนอกเข้ามาสู่ท้องสนามหลวงมีบริการจุดจอดรถ 12 จุด ได้แก่ 

สำหรับการเดินทางโดยทางเรือ ทางกรมเจ้าท่าร่วมกับสมาคมเรือไทย และผู้ประกอบการเรือโดยสาร จะจัดเรือให้บริการรับ - ส่งประชาชนที่เดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 25-26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 09.00-16.00 น. และวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 10.00-15.00 น. ด้านเหนือให้บริการจำนวน 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกระทรวงพาณิชย์ ท่าเรือท่าน้ำนนทบุรี และท่าเรือสะพานพระราม 8 ส่วนด้านใต้ให้บริการจำนวน 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือสาทร และท่าเรือยอดพิมาน

ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้ามาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะต้องผ่านจุดคัดกรอง จำนวน 9 จุดโดยรอบ ประกอบด้วย พระแม่ธรณีบีบมวยผม, สะพานมอญ, ท่าพระจันทร์, ท่าช้าง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สะพานช้างโรงสี, ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, แยกวัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม และแยกกัลยาไมตรี[68]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ปรับพื้นที่สนามหลวงสร้างพระเมรุมาศ". วอยซ์ทีวี. 3 พฤศจิกายน 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "บวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมใช้ในงานพระบรมศพ-แปรรูปส่งกรมศิลป์ ธ.ค.นี้". โพสต์ทูเดย์. 14 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ธนะศักดิ์บวงสรวงบูรณะราชรถพระยานมาศพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". สนุกดอตคอม. 19 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ช่างสิบหมู่รับมอบ "ไม้จันทน์หอม" 1,461 แผ่น เผยออกแบบพระโกศจันทน์เพิ่ม "ครุฑ" เป็นครั้งแรก". ผู้จัดการออนไลน์. 20 ธันวาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "ปักหมุด9จุดสนามหลวงสร้างพระเมรุมาศ". โพสต์ทูเดย์. 26 ธันวาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "พิธีบวงสรวง ยกเสาเอก พระเมรุมาศ". เนชั่นทีวี. 27 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "กรมสรรพาวุธทหารบก บวงสรวงราชรถปืนใหญ่". พีพีทีวี. 24 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 "ส่งมอบราชรถปืนใหญ่สง่างามสมพระเกียรติ". เดลินิวส์. 1 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "กรมสรรพาวุธ ส่งมอบ 'ราชรถปืนใหญ่' ให้กรมศิลปากร". เอ็มไทย. 5 พฤษภาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ติดตั้งระบบถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช". กรมประชาสัมพันธ์. 6 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  11. "นายกฯ บวงสรวงราชรถพระยานมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิง". สนุก.คอม. 21 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "'พลเอกธนะศักดิ์' ตรวจการจัดสร้างพระเมรุมาศ คืบหน้าแล้ว 98.6%". เรื่องเล่าเช้านี้. 3 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  13. "กรมศิลป์ยันอีก6วันงานก่อสร้างพระเมรุมาศสมบูรณ์". สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น. 4 ตุลาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-04. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "ทูต65ประเทศชมพระเมรุมาศ-ราชรถงานออกพระเมรุในหลวงร.9". เดลินิวส์. 11 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "17 ต.ค.ซ้อมยกฉัตรขนาด น้ำหนักเท่าองค์จริง". คมชัดลึก. 12 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "พระเมรุมาศคืบหน้าร้อยละ 99.5 สมพระเกียรติ". เดลินิวส์. 13 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "'บิ๊กเจี๊ยบ' เผย 18 ต.ค.นี้ 'รัชกาลที่10' เสด็จฯไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร". ไทยรัฐ. 16 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 "'ธนะศักดิ์'ตรวจการซ้อมยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรฯ". ทีเอ็นเอ็น24. 17 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. 19.0 19.1 "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ". ประชาชาติธุรกิจ. 18 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. "สมเด็จพระเทพฯทรงร่วมประชุมจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". ไทยโพสต์. 1 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  21. "สมเด็จพระเทพฯ เสด็จร่วมประชุมงานถวายพระเพลิง". ไทยรัฐ. 27 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. "ข้อมูลเกี่ยวกับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". kingrama9.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-19. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๑". kingrama9.net. 5 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๒". kingrama9.net. 7 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๓". kingrama9.net. 12 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๔". kingrama9.net. 14 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๕". kingrama9.net. 20 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. "เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๖". kingrama9.net. 21 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  29. "ซ้อมขบวนอิสริยยศเสมือนจริง". ไทยโพสต์. 23 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. 30.0 30.1 ""พระองค์หญิง"ผู้บังคับกองทหารม้า ทรงร่วมซ้อมริ้วขบวน". นิวทีวี. 14 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 "พระองค์หญิงสิริวัณณวรีฯ ทรงม้าซ้อมนำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". คมชัดลึก. 15 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. "เปิดฝึกกำลังพลฉุดชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ". กรุงเทพธุรกิจ. 15 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. "กรมสรรพาวุธฯซ้อมครั้งสุดท้ายฉุดชักราชรถ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". ไทยรัฐ. 31 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  34. "ทบ.1 ซ้อมพลฉุดชักราชรถ พระราชพิธีถวายพระเพลิง ร.9". สนุก.คอม. 7 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. "ซ้อมขบวนอิสริยยศเสมือนจริง". ไทยโพสต์. 23 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  36. "ฝึกซ้อมพลฉุดราชรถ 3,000 คนในขบวน "พระบรมราชอิสริยยศ"". ไทยพีบีเอส. 28 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  37. "ซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯครั้งแรก". ทีเอ็นเอ็น24. 7 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  38. "ซ้อมย่อยริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ริ้วขบวนสุดท้ายในพระราชพิธีฯ". ข่าวสด. 8 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  39. "สมเด็จพระเทพฯร่วมซ้อมขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ". ทีเอ็นเอ็น24. 15 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  40. ""พระองค์โสม" ทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนฯ พร้อมด้วยคุณพลอยไพลิน-คุณใหม่". ประชาชาติธุรกิจ. 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. ""สมเด็จพระเทพ"ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". ไบรท์ทีวี. 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  42. "ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯเสมือนจริง". 21 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  43. "'สมเด็จพระเทพฯ'ทรงร่วมซ้อมขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 4 ปชช.เฝ้าชมเนืองแน่น". ข่าวสด. 22 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  44. "พระองค์หญิงสิริวัณวรีฯ ทรงซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ". คมชัดลึก. 22 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  45. "เผยกำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตุลาคม 2560". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-22. สืบค้นเมื่อ 2017-04-27.
  46. กรมศิลป์ฯ เปิดแบบ "พระเมรุมาศ" ยึดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
  47. รัฐบาลเตรียมจัดสร้างพระเมรุมาศพร้อมบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ[ลิงก์เสีย]
  48. "จิตรกรรม "ฉากบังเพลิง" ศิลปะชั้นสูง รัชกาลที่ 9". มติชน. 24 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. "14 ประติมากรรม ประดับตกแต่งพระเมรุมาศ 'ร.9'". มติชน. 4 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  50. "รูปปั้นคุณทองแดง ประดับพระเมรุมาศ พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". เนชั่นทีวี. 4 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  51. "ปั้น 'โจโฉ' สุนัขทรงเลี้ยงเพิ่มอีกตัว คู่คุณทองแดง". ไทยรัฐ. 12 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  52. "46 โครงการพระราชดำริ ร.9 สู่...จิตรกรรม 'พระที่นั่งทรงธรรม'". มติชน. 4 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. "46 โครงการ ร.9 สู่…จิตรกรรม 'พระที่นั่งทรงธรรม' (2)". มติชน. 5 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  54. "อัญเชิญ24โครงการราชดำริ วาดลงฉากบังเพลิง แจง46โครงการบนผนังพระที่นั่งทรงธรรม3ด้าน". มติชน. 22 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  55. "แบบจำลองสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ". สำนักข่าวไทย อสมท. 7 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 81 แห่งทั่วประเทศแล้วเสร็จภายใน 10 ต.ค." ผู้จัดการออนไลน์. 27 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  57. "มท.ยันพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่ง ทั่วประเทศ เสร็จ 15 ต.ค.นี้". ไทยรัฐ. 12 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  58. "ร.10 โปรดเกล้าฯ ผู้แทนพระองค์ยกนพปฎลเศวตฉัตร พระเมรุมาศ (จำลอง)". มติชน. 3 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. รัฐบาลเตรียมจัดสร้างพระเมรุมาศพร้อมบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ[ลิงก์เสีย]
  60. ออกแบบสร้าง"ราชรถปืนใหญ่" ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ
  61. "เตรียมสร้าง"ราชรถรางปืน-พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย"องค์ใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 2017-04-27.
  62. "โครงสร้างคณะกรรมการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-19. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  63. "'เฉลิมเกียรติ'ถกความปลอดภัยพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ". กรุงเทพธุรกิจ. 6 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  64. "วันที่ 6 กันยายน 2560 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 ตร./ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนพระราบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ 10) พร้อมด้วย พล.ต.ท.รุ่งฤทธิ์ ซุ่นทรัพย์ รรท.ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม". กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 6 กันยายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-11. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  65. ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานทีควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  66. "'บิ๊กป้อม' ตั้งกองอำนวยการร่วมงานพระราชพิธีฯ". กรุงเทพธุรกิจ. 2 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  67. "รบ.เตรียมกำลังรองรับ รักษาความปลอดภัยช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ". เรื่องเล่าเช้านี้. 4 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  68. 68.0 68.1 68.2 "เตรียมปิดจราจรทางบก-น้ำ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ". DDProperty. 5 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. "ปิดถนนงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงฯ 24-26 ต.ค." เดลินิวส์. 6 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  70. ราชกิจจานุเบกษา, ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจัดการจราจร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔, ตอนพิเศษ ๒๕๔, ง, ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, หน้า ๔๑ – ๔๖
  71. ราชกิจจานุเบกษา, ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจัดการจราจร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔, ตอนพิเศษ ๒๕๙, ง, ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, หน้า ๒๖ – ๒๘
  72. "รองรับ7พันที่นั่ง งานพระราชพิธี ถวายพระเพลิง". ไทยโพสต์. 15 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้