สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่รู้จักในนาม สะพานสาทร หรือ สะพานตากสิน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสาทร (เขตสาทรและเขตบางรัก) กับถนนกรุงธนบุรี (เขตคลองสาน) เป็นสะพานคู่แยกขาเข้า-ขาออก และเว้นเนื้อที่ระหว่างสะพานไว้เผื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนอื่น โดยปัจจุบัน พื้นที่ระหว่างสะพานเป็นรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม และพื้นที่ในฝั่งพระนครยังเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานตากสินอีกด้วย
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช | |
---|---|
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช | |
เส้นทาง | ถนนสาทรเหนือ, ถนนสาทรใต้, ถนนกรุงธนบุรี รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม |
ข้าม | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ที่ตั้ง | เขตสาทร, เขตบางรัก, เขตคลองสาน |
ชื่อทางการ | สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
ผู้ดูแล | กรมทางหลวงชนบท |
รหัส | ส.009 |
เหนือน้ำ | สะพานพระปกเกล้า |
ท้ายน้ำ | สะพานพระราม 3 |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานชนิดต่อเนื่อง |
วัสดุ | คอนกรีตอัดแรง |
ความยาว | 224.00 เมตร |
ความกว้าง | 12.85 เมตร |
ความสูง | 12.00 เมตร |
ช่วงยาวที่สุด | 92.00 เมตร |
จำนวนช่วง | 3 |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 |
วันสร้างเสร็จ | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 |
วันเปิด | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 |
ประวัติ
แก้คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปลายถนนสาทรเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยพิจารณาสถานที่ตั้งสะพานที่เห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่ 2 ที่ คือปลายถนนสาทรกับปลายถนนสีลม คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2511 ให้กรมโยธาเทศบาลเป็นผู้ดำเนินงานและให้กรมวิเทศสหการติดต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญ 4 คน มาสำรวจเวลาประมาณ 1 เดือน และส่งรายงานการศึกษา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2512 ให้สร้างสะพานที่ปลายถนนสาทร
เดิมจะขอกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียแต่รัฐบาลญี่ปุ่นให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ระยะปลอดชำระหนี้และกำหนดเวลาชำระคืนยาวกว่า รวมถึงยอมให้นำเงินกู้บางส่วนมาแลกเป็นเงินบาทได้อีกด้วย รัฐบาลไทยจึงได้ลงนามสัญญากู้กับรัฐบาลญี่ปุ่น
ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนจำนวน 126 ไร่ คิดเป็นเงินค่าที่ดินและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างประมาณ 278 ล้านบาท การก่อสร้างประสบกับปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินและการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเรื่อยมา ทำให้เกิดความล่าช้า จากกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง 30 เดือน ต้องขยายต่อมาอีก 16 เดือนจึงแล้วเสร็จ[1]
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สร้างขึ้นเพื่อสมโภชในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
ก่อนสร้างและเปิดใช้ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้จะหนาแน่นไปด้วยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ เรือสินค้าและเรือโดยสาร ผ่านเข้ามาจอดตามท่าเรือทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เมื่อสะพานแห่งนี้เปิดใช้แล้ว เป็นผลให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือได้ เพราะสะพานตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับปากแม่น้ำ และไม่สามาถเปิดให้เรือแล่นผ่านได้ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จึงต้องย้ายสถานที่จอดไปเป็นที่ท่าเรือกรุงเทพ ในเขตคลองเตยแทนนับตั้งแต่นั้น
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นที่รู้กันของชาวกรุงเทพฯ ว่าประสบปัญหาการจราจรอย่างหนัก โดยเฉพาะขาเข้าฝั่งพระนคร เนื่องจากปริมาณรถมาก และเชิงสะพานฝั่งพระนครมีสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นการปิดกั้นกระแสรถจากฝั่งธนบุรีซึ่งมีปริมาณมากให้ไหลไปได้ช้า โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่มีปริมาณรถมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนตั้งอยู่ปลายสะพานทางฝั่งพระนครซึ่งในช่วงเวลาเช้าจะมีผู้ปกครองจอดรถเพื่อส่งเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานมาก ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการจราจรที่ติดขัดเป็นพิเศษ[2]
ข้อมูลทั่วไป
แก้- วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522
- วันเปิดการจราจร : วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
- บริษัทที่ทำการก่อสร้าง :
- Italian Thai Development Corporation Co., Ltd. ของประเทศไทย
- Dragages of Travaux Publics Co., Ltd. ของประเทศฝรั่งเศส
- Impresa Generale di Construzion (Italvie-Spa.) ของประเทศอิตาลี
- ราคาค่าก่อสร้าง : 619,994,537.00 บาท
- แบบของสะพาน : เป็นสะพานชนิดต่อเนื่อง
- โครงสร้างส่วนบน : คอนกรีตอัดแรง
- สูงจากระดับน้ำ : 12.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
- จำนวนช่วงสะพานกลางน้ำ : 3 ช่วง (66.00+92.00+66.00)
- ตัวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำความยาว : 224.00 เมตร
- ช่วงกลางแม่น้ำมีความยาว : 92.00 เมตร
- เชิงลาดสะพานฝั่งพระนครด้านเหนือน้ำ : 552.00 เมตร
- เชิงลาดสะพานฝั่งพระนครด้านใต้น้ำ : 570.00 เมตร
- เชิงลาดสะพาน ฝั่งธนบุรี : 475.00 เมตร
- ความกว้างของสะพาน : 12.85 เมตร
- ความกว้างผิวจราจรสะพาน : 19.50 เมตร
- ความกว้างช่องละ : 3.25 เมตร
- ทางเท้ากว้าง : 1.60 เมตร
- ออกแบบรับน้ำหนัก : H-20-44
- สูงจากระดับน้ำ : 12.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
- สร้างสะพานเป็นแบบสะพานคู่ ห่างกัน : 15.00 เมตร
- จำนวนช่องทางวิ่ง : 6 ช่องทางจราจร
- ทางเท้ากว้าง : 1.60 เมตร
ทัศนียภาพ
แก้ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ สุชาติ เกียรติชัยพิพัฒน์. "การศึกษาาผลกระทบของสะพานสมเด็จพระจ้าตากสินมหาราช ที่มีต่อพื้นที่ใกล้เคียง" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ "THE 1979 BANGKOK MASS TRANSIT MASTERPLAN". 2bangkok.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-11-27. (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°43′08″N 100°30′45″E / 13.718791°N 100.512543°E
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานพระปกเกล้า |
สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
ท้ายน้ำ สะพานพระราม 3 |