สะพานตากสินมหาราช
สะพานตากสินมหาราช หรือ สะพานแหลมสิงห์ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ และตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ขนาด 2 ช่องจราจร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท
สะพานตากสินมหาราช | |
---|---|
สะพานตากสินมหาราชมองจากท่าเทียบเรือประมง | |
พิกัด | 12°29′02″N 102°03′35″E / 12.4838°N 102.0598°E |
เส้นทาง | ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต กม. 75+011 |
ข้าม | แม่น้ำจันทบุรี |
ที่ตั้ง | ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ และ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี |
ชื่อทางการ | สะพานตากสินมหาราช |
ชื่ออื่น | สะพานแหลมสิงห์ |
ตั้งชื่อตาม | สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
ผู้ดูแล | กรมทางหลวงชนบท |
เหนือน้ำ | สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี |
ท้ายน้ำ | อ่าวไทย |
ข้อมูลจำเพาะ | |
วัสดุ | คอนกรีตเสริมแรง |
ความยาว | 1,060 เมตร (3,480 ฟุต) |
ความกว้าง | 11 เมตร (36 ฟุต) |
ประวัติ | |
ผู้สร้าง | สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท |
วันเริ่มสร้าง | 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 |
วันสร้างเสร็จ | พ.ศ. 2550 |
งบก่อสร้าง | 179.57 ล้านบาท |
วันเปิด | 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 |
สถิติ | |
การจราจรโดยเฉลี่ย | 6,577 คัน/วัน (พ.ศ. 2565) |
ที่ตั้ง | |
สะพานตากสินมหาราช เป็นสะพานที่มีความยาวที่สุดในภาคตะวันออก คือมีความยาว 1,060 เมตร[1]
ประวัติ
แก้สะพานตากสินมหาราช หรือที่ถูกเรียกชื่อเดิมโดยคนในพื้นที่ว่า สะพานแหลมสิงห์ เป็นสะพานที่ก่อสร้างขึ้นโดย สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท[2] เพื่อแก้ไขปัญหาที่แต่เดิมหากประชาชนจะไปมาหาสู่กันทั้งสองฝั่งจะต้องใช้เรือในการสัญจรข้ามฟาก[3] หากจะขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงจะต้องเดินทางอ้อมไปยังตัวเมืองในการข้ามไปอีกฝั่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง โดยสะพานตากสินมหาราชนั้นช่วยลดระยะเวลาในการสัญจรไปมาหาสู่กัน ลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงซึ่งแต่เดิมต้องใช้ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ให้สามารถเชื่อมต่อและใช้เส้นทางในการคมนาคมขนส่งในเส้นทางพื้นที่ชายฝั่งได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายทะเลภายในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียง โครงการก่อสร้างดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต[4]
สะพานตากสินมหาราช เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548[5] และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 179,570,000 บาท เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.09 น.[2] โดยมีรัฐมนตรีว่าการทระทรวงคมนาคมเดินทางมาเป็นพิธีเปิด[4] ซึ่งอำเภอแหลมสิงห์ได้จัดกิจกรรมในการเฉลิมฉลองสะพานตั้งแต่วันที่ 1-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทั้งการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปิน การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ อาทิ เรือเร็ว เรือคยัค เดินวิ่งมินิมาราธอน การปั่นจักรยานเสือภูเขา รวมถึงการออกร้านขายสินค้าขึ้นชื่อในท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวเฉลิมฉลองร่วมกัน[2] และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อสะพานว่า "สะพานตากสินมหาราช" เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552[5]
ข้อมูลสะพาน
แก้สะพานตากสินมหาราช เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความกว้างสะพาน 8 เมตร ความกว้างทางเท้า 3 เมตร มีความยาวสะพาน 1,060 เมตร โดยในปี พ.ศ. 2565 มีค่า PCU อยู่ที่ 6,577 คัน/วัน[6] เหนือน้ำขึ้นไปคือสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี[a] ในพื้นที่ตำบลเกาะขวาง และตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี ท้ายน้ำคือปากน้ำจันทบุรีและอ่าวไทย
การจราจร
แก้สะพานตากสินมหาราช เป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ในสายทางหลวงชนบท รย.4036 มีขนาด 2 ช่องจราจร สวนทางกัน พื้นผิวจราจรคอนกรีต ฝั่งตะวันออกอยู่ในตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เชื่อมต่อฝั่งตะวันออกในตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[1]
เนื่องจากความสูงของสะพานที่มีช่องสำหรับให้เรือประมงสามารถลอดผ่านได้ ทำให้บริเวณจุดสูงสุดกลางสะพานมีพื้นที่สำหรับเบี่ยงเพื่อจอดแวะชมวิวทิวทัศน์เพื่อชมความงามของปากแม่น้ำจันทบุรี[1]
แหล่งท่องเที่ยว
แก้สะพานตากสินมหาราชนั้น มีจุดชมวิวอยู่บริเวณจุดสูงสุดของสะพาน หากมองไปยังฝั่งอ่าวไทยสามารถรับชมความสวยงามของปากแม่น้ำจันทบุรี ท่าเรือประมงของชาวแหลมสิงห์ และหากมองเข้ามายังฝั่งแม่น้ำจันทบุรีจะสามารถมองเห็นกระชังปลาและวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้านของชาวแหลมสิงห์เช่นกัน[3] ซึ่งในอดีตมีการใช้เครื่องมือทำประมงพื้นบ้านที่เรียกว่าโพงพาง และหลักรอ แต่เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวขวางทางเดินของน้ำในฤดูน้ำหลากและขัดขวางการสัญจรทางเรือจึงมีคำสั่งให้กรมประมง กรมเจ้าท่า และตำรวจน้ำรื้อถอนเครื่องมือดังกล่าวบริเวณแม่น้ำจันทบุรีบริเวณใกล้เคียงกับสะพาน[7]
นอกจากนี้สะพานตากสินนั้นยังช่วยเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยนักท่องเที่ยวนั้นสามารถเดินทางมาเที่ยวที่หาดแหลมสิงห์ และเดินทางไปเที่ยวยังหาดเจ้าหลาวได้โดยใช้สะพานตากสินมหาราชและไปตามเส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิต รวมถึงสามารถใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางตามชายฝั่งทะเลเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งแต่เดิมจะต้องใช้เรือข้ามฝากในการเดินทางข้ามฝั่ง หรือหากใช้รถยนต์จะต้องวิ่งอ้อมไปอีกเส้นทางซึ่งใช้ระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร[4]
สถานที่สำคัญใกล้เคียง
แก้แหล่งท่องเที่ยว
แก้- โบราณสถานตึกแดง
- คุกขี้ไก่
- หาดแหลมสิงห์
- โอเอซิส ซีเวิลด์
- วัดเขาแหลมสิงห์
- ศาลเจ้าพ่อแหลมสิงห์
- ป้อมไพรีพินาศ
- อ่าวกระทิง
- วนอุทยานเขาแหลมสิงห์
- ตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ระเบียงภาพ
แก้-
เชิงสะพานตากสินมหาราชฝั่งตะวันตกในพื้นที่ตำบลบางกะไชย
-
ป้ายสะพานตากสินมหาราชบริเวณจุดชมวิวกลางสะพาน
-
สะพานตากสินมหาราชและเรือประมงที่จอดเทียบท่าอยู่บริเวณท่าเรือใกล้สะพาน
-
สะพานตากสินมหาราชมองจากศาลเจ้าพ่อแหลมสิงห์
-
กระชังเลี้ยงปลาในพื้นที่ปากแม่น้ำจันทบุรี มองจากสะพานตากสิน
-
ป้ายข้อมูลสะพานตากสินมหาราช บริเวณเชิงสะพานฝั่งตะวันตก
หมายเหตุ
แก้- ↑ สะพานชุมชนที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ก่อสร้างหรือรับโอนมาจากกรมโยธาธิการมาอยู่ในการดูแล โดยสะพานนี้รหัส จบ.006 เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงท้องถิ่น สายท่าแฉลบ–เกาะลอย
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "สะพานตากสินมหาราช จันทบุรี (แหลมสิงห์) ชมวิวทะเลและเส้นขอบฟ้าแบบชิลๆ". www.ceediz.com.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "จันทบุรีจัดกิจกรรมฉลองเปิดสะพานข้ามแม่น้ำจันท์". mgronline.com. 2008-04-18.
- ↑ 3.0 3.1 "[รีวิว] "สะพานแหลมสิงห์" อีกหนึ่งจุดชมวิวที่สวยที่สุดของจันทบุรีที่ต้องมาเยือน | จันท์จี๊ดด - กินเที่ยวพัก แล้วคุณจะรักจันทบุรี". www.chanjeed.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-05-02.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 ที่ผ่านมา, สายลม. "พาแม่เที่ยวจันท์ 3 วัน 2 คืน :: สะพานตากสินมหาราช - วัดเขาแหลมสิงห์ - ศาลเจ้าพ่อแหลมสิงห์". README.ME.
- ↑ 5.0 5.1 คณะกรรมการบริหารงานอำเภอแหลมสิงห. แผนพัฒนาอำเภอ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) ฉบับทบทวนในรอบปี พ.ศ. 2562 อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เก็บถาวร 2023-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ บัญชีสะพานทางหลวงชนบท ประจำปีงบประมาณ 2566 เก็บถาวร 2023-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (drr.go.th)
- ↑ "ได้แต่มอง! ขอยืดเวลาไม่เป็นผล จนท.รื้อโพงพางเมืองจันท์". www.thairath.co.th. 2015-09-24.
สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรีในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี |
สะพานตากสินมหาราช |
ท้ายน้ำ อ่าวไทย |