ป้อมไพรีพินาศ

ป้อมปราการทางทะเลในจังหวัดจันทบุรี

ป้อมไพรีพินาศ ตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ หมู่ 1 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2377 เพื่อเตรียมรับศึกญวณที่อาจจะยกมาทางทะเล แต่เดิมไม่มีชื่อจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลจันทบุรี ทรงพระราชทานนามป้อมนี้ว่า ป้อมไพรีพินาศ ซึ่งอยู่คู่กับป้อมพิฆาฏข้าศึก (ป้อมพิฆาตปัจจมิตร)[1]

ป้อมไพรีพินาศ
ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในป้อมไพรีพินาศ
ประเภทป้อมปราการ
ที่ตั้งตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย
พิกัด12°28′36″N 102°03′27″E / 12.4766°N 102.0574°E / 12.4766; 102.0574
สร้างเมื่อพ.ศ. 2377
สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
การใช้งานดั้งเดิมเป็นป้อมยุทธนาวี
สถานะปิดใช้งาน, ยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนป้อมไพรีพินาศ
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตจังหวัดจันทบุรี
เลขอ้างอิง0000825

ป้อมสร้างขึ้นบริเวณปากแม่น้ำ อยู่บนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นเขาขนาดเล็ก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 172 เมตร บริเวณหินชายฝั่ง ที่มีลักษณะคล้ายกับสิงโตหมอบ (จึงเรียกว่า "แหลมสิงห์") บนเขาแหลมสิงห์เป็นทำเลที่เหมาะกับการตั้งป้อมปืน สามารถมองเห็นข้าศึกที่เข้ามาทางทะเลได้แต่ไกล

ป้อมไพรีพินาศ มี 3 ชั้น คือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง มีการก่อสร้างลักษณะเป็นปีกกา โดยใช้การถมดินเป็นใบเสมาป้อมอันใหญ่ เรียงติดต่อกันไปเหมือนปีกกา โอบเขาทั้งสอง ตัวป้อมเป็นแบบก่ออิฐถือปูน กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังหนา 60 เซนติเมตร ใกล้กันมีคลังกระสุนดินดำ ก่อด้วยปูน ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2.8 เมตร[2]

ปัจจุบันบริเวณป้อมปืนได้มีการปรับภูมิทัศน์ มีกระบอกปืนใหญ่ 2 กระบอก วางให้เห็นว่าเคยเป็นจุดที่เป็นป้อมปืน และมีห้องเก็บกระสุนดินดำที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถานประมาณ 17 ไร่ 58 ตารางวา[3]

เจดีย์อิสระภาพ

แก้
 
เจดีย์อิสระภาพ ภายในป้อมไพรีพินาศ

เจดีย์อิสระภาพ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ภายในป้อมไพรีพินาศ สร้างขึ้นโดยพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมืองตราด ร่วมกับชาวจันทบุรีสร้างขึ้นมาบริเวณเขาแหลมสิงห์เพื่อเป็นที่ระลึกในการประกาศอิสระภาพหลังประเทศฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกจากจังหวัดจันทบุรี[4]

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์อิสระภาพเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน เจดีย์เป็นทรงระฆังในผังกลม พร้อมกับฐานบัวคว่ำบัวหงายชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนที่รองรับองค์ระฆัง มีลักษณะยืดสูง เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง ประกอบกับบัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหานปล้องไฉนและปลียอด ฐานของเจดีย์เป็นแบบประทักษิณพร้อมทั้งพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส มีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบของจีน พร้อมกับกำแพงแก้วแบบเตี้ยภายในฐานล้อมรอบเจดีย์ โดยเป็นศิลปะในยุครัตนโกสินทร์ ของศาสนาพุทธ นิกายเถราวาท[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ". กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี". สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี". www.rbru.ac.th.
  4. Gplace. "เจดีย์อิสรภาพ". Gplace.
  5. "เจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี - ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : Arts in Southeast asia". db.sac.or.th.