โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน

โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน (อังกฤษ: Lavalin Skytrain) เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในอดีตของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินงานโดยบริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากประเทศแคนาดา

รถไฟฟ้าลาวาลิน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะยกเลิกโครงการ
เจ้าของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
จำนวนสถานี63
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับ ระดับพื้นดิน และใต้ดิน
ระบบรถไฟฟ้าลาวาลิน
เส้นทาง3
ผู้ดำเนินงานบริษัท ลาวาลิน จำกัด
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงห้วยขวาง
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง61 กม.
แผนที่เส้นทาง
Map of the cancelled Lavalin Skytrain.svg

ประวัติแก้ไข

นับตั้งแต่ความนิยมของรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากในคริสต์ทศวรรษ 1960 ได้ส่งผลให้การจราจรมีความคับคั่งอย่างมาก และนำมาสู่ปัญหาการจราจรติดขัดและได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมันส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษา สำรวจ และวางแผนแม่บทสำหรับการจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เสนอแนะให้มีระบบรถขนส่งมวลชนแบบเร็ว (Mass Rapid Transit System) เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางและการจราจรในกรุงเทพมหานคร จึงได้มี “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515” จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อจัดสร้าง “ทางพิเศษ” ซึ่งประกอบด้วยระบบทางด่วน (Express Way) และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit System)[1] จากผลการศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสามารถแบ่งออกมาได้ 3 สาย ได้แก่ สายพระราม 4 สายสะพานพุทธ และสายสาธร โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2524 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 แต่เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงทำให้โครงการจึงถูกระงับไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โครงการได้ถูกนำมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ได้มีการเปิดให้ยื่นเสนอราคาประมูล โดยมี 3 บริษัทเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกประมูล คือ บริษัทร่วมค้า เอเชีย-ยูโร คอนซอร์เตียม (AEC) , บริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) และบริษัทร่วมค้า ฟรังโก-เจแปน คอนซอร์เตียม จากการประมูลได้ บริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากประเทศแคนาดา เป็นผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินโครงการนี้ และได้ลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการก่อสร้าง 55,000 ล้านบาท[2]

โครงการได้เริ่มต้นก่อสร้างบริเวณสะพานพระปกเกล้า และมีการเตรียมพื้นที่ที่จะสร้างบริเวณสะพานตากสิน แต่โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินสิ้นสุดลงในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังประสบปัญหาโครงสร้างทางการเงิน ที่กำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องค้ำประกันเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย (ซอฟท์โลน) จากรัฐบาลแคนาดา และต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้น เนื่องจากความผิดพลาดในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภค[3][4]

แนวเส้นทางแก้ไข

สายพระราม 4แก้ไข

เริ่มต้นจากสถานีอ่อนนุชไปตามแนวถนนสุขุมวิทจนถึงสถานีพระโขนง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพระราม 4 ไปยังคลองเตยผ่านท่าเรือคลองเตย ทางด่วนเฉลิมมหานคร แล้วเชื่อมต่อกับสายสาธร (ตลาดพลู–วงเวียนใหญ่–สาทร–ลาดพร้าว) ที่สถานีลุมพินีบริเวณแยกวิทยุ จากนั้นผ่านหัวลำโพงเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมต่อกับสายสะพานพุทธ (ดาวคะนอง–สะพานพุทธ–มักกะสัน–เพชรบุรีตัดใหม่) บริเวณแยกเทวกรรม สะพานเทวกรรมรังรักษ์ จากนั้นลงสู่ระดับใต้ดินก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ระยะทาง 600 เมตร ก่อนจะกลับมายกระดับอีกครั้งบริเวณแยกเทเวศร์ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปตามถนนสามเสน ผ่านซังฮี้ แยกเกียกกาย จนถึงแยกบางโพ เลี้ยวขวาไปตามถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านเตาปูน สถานีชุมทางบางซื่อ ตลาดนัดจตุจักร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน ไปสิ้นสุดสถานีหมอชิต รวมระยะทางทั้งสิ้น 25 กิโลเมตร มีทั้งหมด 25 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–900 เมตร

สายสาธร[note 1]แก้ไข

เริ่มจากสถานีตลาดพลู บริเวณซอยวัดกันตะยาราม จากนั้นไปยังถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเชื่อมกับสายสะพานพุทธใกล้กับแยกเจริญรัถ ไปตามถนนกรุงธนบุรีผ่านถนนเจริญนคร จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอยู่กึ่งกลางระหว่างผิวจราจรของสะพานตากสินทั้งสองฝั่ง ที่เตรียมพื้นที่รองรับโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าไว้ (ปัจจุบันเป็นแนวทางวิ่งของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม) แล้วไปตามแนวถนนสาธรผ่านถนนสุรศักดิ์ เชื่อมกับสายพระราม 4 (อ่อนนุช–พระโขนง–หัวลำโพง–หมอชิต) ที่สถานีลุมพินีบริเวณแยกวิทยุ ผ่านสนามมวยลุมพินี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวทางรถไฟสายแม่น้ำ (ทางรถไฟขนสินค้าจากสถานีมักกะสันไปยังท่าเรือคลองเตย) ขนานไปกับทางด่วนเฉลิมมหานครจนไปเชื่อมกับสายสะพานพุทธอีกครั้งที่สถานีมักกะสัน บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน ทางรถไฟจะไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก จนไปถึงถนนอโศก-ดินแดง และไปตามถนนรัชดาภิเษก จนสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว รวมระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร มีทั้งหมด 17 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–1300 เมตร

สายสะพานพุทธแก้ไข

เริ่มต้นจากบริเวณดาวคะนอง มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เชื่อมต่อกับสายสาธรที่สถานีตากสิน ผ่านวงเวียนใหญ่ จากนั้นมุ่งขึ้นต่อไปตามถนนประชาธิปก ผ่านวงเวียนเล็ก แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่กึ่งกลางระหว่างผิวจราจรของสะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง ที่เตรียมพื้นที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะพานรองรับโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าไว้ โดยมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปพร้อมกับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า (ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยชื่อ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา หรือ สะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ก เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563[5]) จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนจักรวรรดิ์ ผ่านเยาวราช บริเวณแยกวัดตึก เข้าสู่ถนนจักรพรรดิพงษ์จนถึงถนนนครสวรรค์ เลี้ยวขวาไปเชื่อมกับสายพระราม 4 ที่สถานีสะพานขาว บริเวณแยกเทวกรรม สะพานเทวกรรมรังรักษ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนพิษณุโลก ผ่านจุดตัดทางรถไฟยมราช จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก จนไปเชื่อมกับสายสาธรอีกครั้งที่สถานีมักกะสัน แล้วไปต่อตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกจนสิ้นสุดที่สถานีเพชรบุรีตัดใหม่บริเวณวัดใหม่ช่องลม (ห่างจากถนนอโศก-ดินแดง ประมาณ 1.2 กิโลเมตร) รวมระยะทางทั้งสิ้น 16 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–1300 เมตร

รายชื่อสถานีแก้ไข

รถไฟฟ้าลาวาลินในจำนวนทั้งหมด 3 เส้นทาง ประกอบด้วยสถานีรถไฟทั้งหมด 63 สถานี ดังต่อไปนี้ (ตัวเอน หมายถึงโครงการก่อสร้าง)

สายพระราม 4แก้ไข

สถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง โครงการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบัน
หมอชิต  สายสุขุมวิท  สถานีหมอชิต
 สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีสวนจตุจักร
กำแพงเพชร  สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีกำแพงเพชร
บางซื่อ  สายเฉลิมรัชมงคล   สายนครวิถี   สายธานีรัถยา  สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ)
ประชาชื่น
เตาปูน  สายเฉลิมรัชมงคล   สายฉลองรัชธรรม  สถานีเตาปูน
เกียกกาย  สายฉลองรัชธรรม  สถานีรัฐสภา
ศรีย่าน  สายฉลองรัชธรรม  สถานีศรีย่าน
ซังฮี้
เทเวศร์
กรุงเกษม
สะพานขาว สายสะพานพุทธ
บ้านครัว
ยศเส  สายธานีรัถยา  สถานียศเส
หัวลำโพง  สายธานีรัถยา   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีหัวลำโพง
รองเมือง
สามย่าน  สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีสามย่าน
สีลม  สายสีลม  สถานีศาลาแดง
 สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีสีลม
ลุมพินี สายสาทร  สายสีเทา   สายสีฟ้า   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีลุมพินี
บ่อนไก่
คลองเตย  สายสีเทา   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีคลองเตย
การท่า  สายสีเทา  สถานีเกษมราษฎร์
ม.กรุงเทพ  สายสีเทา  สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
กล้วยน้ำไท  สายสีเทา  สถานีบ้านกล้วยใต้
พระโขนง  สายสีเทา   สายสุขุมวิท  สถานีพระโขนง
อ่อนนุช  สายสุขุมวิท  สถานีอ่อนนุช

สายสาธรแก้ไข

สถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง โครงการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบัน
ลาดพร้าว  สายสีเหลือง   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีลาดพร้าว
รัชดา  สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีรัชดาภิเษก
ห้วยขวาง
สุทธิสาร  สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีสุทธิสาร
ประชาราษฎร์บำเพ็ญ  สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีห้วยขวาง
เทียมร่วมมิตร
อสมท.  สายสีส้ม   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ดินแดง
มักกะสัน สายสะพานพุทธ  สายตะวันออก  สถานีรถไฟมักกะสัน
วิทยุ
เพลินจิต  สายนครวิถี   สายสีฟ้า   สายสุขุมวิท  สถานีเพลินจิต
ยาสูบ  สายนครวิถี  สถานีคลองเตย
ลุมพินี สายพระราม 4  สายสีเทา   สายสีฟ้า   สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีลุมพินี
สาทร  สายสีเทา   สายสีฟ้า   สายสีลม  สถานีช่องนนทรี
 BRT สายสาทร–ราชพฤกษ์  สถานีสาทร
สุรศักดิ์  สายสีลม  สถานีสุรศักดิ์
สะพานตากสิน  สายสีลม  สถานีสะพานตากสิน
เจริญนคร  สายสีลม   สายสีทอง  สถานีกรุงธนบุรี
ธนบุรี
ตากสิน สายสะพานพุทธ  สายสีลม  สถานีวงเวียนใหญ่
ตลาดพลู  สายสีเทา   สายสีลม  สถานีตลาดพลู
 BRT สายสาทร–ราชพฤกษ์  สถานีราชพฤกษ์

สายสะพานพุทธแก้ไข

สถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง โครงการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบัน
เพชรบุรีตัดใหม่
อโศก  สายสีฟ้า   สายนครวิถี   HSR เชื่อม 3 สนามบิน   แอร์พอร์ต เรล ลิงก์  สถานีมักกะสัน
 สายตะวันออก  ป้ายหยุดรถไฟอโศก
 สายเฉลิมรัชมงคล  สถานีเพชรบุรี
มักกะสัน สายสาทร  สายตะวันออก  สถานีรถไฟมักกะสัน
ประตูน้ำ  สายสีส้ม   สายนครวิถี  สถานีราชปรารภ
พญาไท  สายนครวิถี   สายสุขุมวิท   แอร์พอร์ต เรล ลิงก์  สถานีพญาไท
 สายตะวันออก  ป้ายหยุดรถไฟพญาไท
อุรุพงษ์  สายตะวันออก  ป้ายหยุดรถไฟอุรุพงษ์
 สายสีส้ม  สถานียมราช
ยมราช  สายธานีรัถยา  สถานียมราช
นางเลิ้ง
สะพานขาว สายพระราม 4
วรจักร
สะพานพุทธ
ประชาธิปก  สายฉลองรัชธรรม  สถานีสะพานพุทธ
วงเวียนใหญ่  สายฉลองรัชธรรม   สายธานีรัถยา  สถานีวงเวียนใหญ่
ตากสิน สายสาทร  สายสีลม  สถานีวงเวียนใหญ่
สำเหร่  สายสีเทา   สายฉลองรัชธรรม  สถานีสำเหร่
จอมทอง
มไหสวรรค์
ดาวคะนอง  สายฉลองรัชธรรม  สถานีดาวคะนอง

รูปแบบโครงการแก้ไข

รูปแบบโครงการจะเป็นรถไฟฟ้าทางคู่ ตู้รถไฟทั้งหมด 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน โดยรถไฟจะเดินรถเข้าสู่สถานีทุก 15 นาทีต่อขบวน และ 4 นาทีต่อขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน รูปแบบสถานีประกอบด้วยแบบยกระดับ ระดับพื้นดิน และสถานีใต้ดิน โดยราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 35 สตางค์ต่อกิโลเมตร แต่หากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล 30% ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อกิโเมตร และหากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล 40% ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จตามแผนในปี พ.ศ. 2529 คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2533 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 200,000 คนต่อวัน[6] และมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ห้วยขวาง ปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

โครงการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าลาวาลินแก้ไข

 
ระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าลาวาลิน

เชิงอรรถแก้ไข

หมายเหตุแก้ไข

  1. ขณะนั้น ถนนสาทร ยังใช้ชื่อว่า "สาธร"

อ้างอิงแก้ไข

  1. "ประวัติความเป็นมาและการจัดตั้ง รฟม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-26. สืบค้นเมื่อ 2022-08-24.
  2. THE LAVALIN SKYTRAIN 2Bangkok.com
  3. https://www.skyscrapercity.com/threads/history-of-thailands-infrastructure.410940/
  4. THE 1979 BANGKOK MASS TRANSIT MASTERPLAN 2bangkok.com
  5. "สะพานอัปยศ: สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา".
  6. THE 1979 BANGKOK MASS TRANSIT MASTERPLAN 2bangkok.com