ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (อักษรโรมัน: Thanon Somdet Phra Chao Tak Sin) เป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน | |
---|---|
ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ช่วงตลาดดาวคะนอง | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 3.692 กิโลเมตร (2.294 ไมล์) |
ประวัติ | |
ทางแยกที่สำคัญ | |
จาก | วงเวียนใหญ่ ในเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร |
ถึง | ถนนจอมทอง / ถนนสุขสวัสดิ์ ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร |
ประวัติ
แก้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็น "ถนนสายที่ 1" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473 ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 1 ไว้ตั้งแต่เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ตัดกับถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนอรุณอมรินทร์และถนนสมเด็จเจ้าพระยา) ถนนสายที่ 3 (ปัจจุบันคือถนนอิสรภาพ) และถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนอินทรพิทักษ์และถนนลาดหญ้า) แล้วมุ่งตรงต่อไปจนถึงคลองดาวคะนอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนสายต่าง ๆ ในโครงการดังกล่าวถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเสนอชื่อถนนสายที่ 1 ว่า "ถนนพระปกเกล้า" และ "ถนนประชาธิปก"[1] เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนามเดิมคือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและสร้างถนนเชื่อมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนคร เมื่อพระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนประชาธิปก[1]
เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ทางราชการสร้างถนนประชาธิปกไปได้เพียงช่วงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ถึงทางรถไฟสายแม่กลอง ส่วนช่วงทางรถไฟสายแม่กลองถึงคลองดาวคะนองยังไม่ได้สร้างต่อ จนกระทั่งกรมโยธาเทศบาลได้ตกลงกับเทศบาลนครธนบุรีว่า การสร้างถนนในเขตเทศบาลให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล และให้เทศบาลนครธนบุรีรับช่วงตัดถนนสายนี้พร้อมกับถนนสายเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือถนนเจริญนคร) ถนนสายตลาดพลู-ภาษีเจริญ (ปัจจุบันคือถนนเทอดไทบางส่วนและถนนรัชมงคลประสาธน์) และถนนท่าดินแดงบางส่วน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2482[2] เทศบาลนครธนบุรีได้เริ่มกรุยทางและถมดินเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2481 จนเสร็จเรียบร้อยในเดือนมกราคม ปีเดียวกัน[3] เมื่อได้รอให้ดินยุบตัวพอสมควรแล้วจึงเริ่มงานหินเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2482[2]
อนึ่ง เนื่องจากถนนประชาธิปกช่วงทางรถไฟสายแม่กลองถึงคลองดาวคะนองเพิ่งมาสร้างสำเร็จในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งสภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ประกอบกับรัฐบาลไทยสมัยนั้นมีโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้น ณ กลางวงเวียนใหญ่ ทางราชการจึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนชื่อถนนประชาธิปกช่วงดังกล่าวเป็น ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อให้ชื่อถนนสายนี้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชานุสาวรีย์[2]
บางคนจะเรียกชื่อถนนสายนี้อย่างไม่เป็นทางการแบบสั้นๆว่า “ถนนพระเจ้าตาก”
ลักษณะ
แก้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นถนนขนาด 8 ช่องทางจราจร มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 36–38 เมตร ระยะทางยาว 3.692 กิโลเมตร[4] มีจุดเริ่มต้นจากวงเวียนใหญ่ในพื้นที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านปากถนนเจริญรัถ ข้ามคลองบางไส้ไก่ ตัดกับถนนราชพฤกษ์และถนนกรุงธนบุรีที่ทางแยกตากสินและเข้าพื้นที่แขวงบุคคโล ข้ามคลองสำเหร่ ตัดกับทางเข้า-ออกโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่ทางแยกโรงพยาบาลทหารเรือ ตัดกับทางขึ้น-ลงสะพานพระราม 3 ข้ามคลองบางน้ำชน ตัดกับถนนรัชดาภิเษกและถนนมไหสวรรย์ที่ทางแยกมไหสวรรย์และเข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง ตัดกับซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 37 ที่ทางแยกตากสิน 37 ข้ามคลองบางสะแกเข้าพื้นที่แขวงจอมทอง เขตจอมทอง ตัดกับถนนจอมทองที่ทางแยกดาวคะนอง และไปสิ้นสุดที่สะพานข้ามคลองดาวคะนอง โดยมีถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือถนนสุขสวัสดิ์
ทางแยกสำคัญ
แก้จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
วงเวียนใหญ่–ดาวคะนอง(ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | แยกวงเวียนใหญ่ | เชื่อมต่อจาก: วงเวียนใหญ่ | ||
แยกตากสิน | ถนนกรุงธนบุรี ไปสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน | ถนนราชพฤกษ์ ไปถนนกัลปพฤกษ์ | |||
แยกมไหสวรรย์ | ถนนมไหสวรรย์ ไปสะพานกรุงเทพ | ถนนรัชดาภิเษก ไปแยกท่าพระ | |||
แยกดาวคะนอง | ไม่มี | ถนนจอมทอง ไปถนนเอกชัย | |||
ตรงไป: ถนนสุขสวัสดิ์ ไปป้อมพระจุลจอมเกล้า | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
เชิงอรรถและอ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 175.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 สำนักงานปกครองและทะเบียน. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร. "โปรแกรมจัดทำข้อมูลถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร." [โปรแกรมประยุกต์]. [ม.ป.ป.]. สืบค้น 27 สิงหาคม 2559.
- ↑ ขณะนั้นยังไม่เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่
- ↑ กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.