สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Civil Aviation Authority of Thailand, CAAT) หรือ กพท. จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่เดิมหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย คือ กรมการบินพลเรือน เป็นหน่วยงานภาครัฐอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมตั้งแต่ พ.ศ. 2462

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
The Civil Aviation Authority of Thailand
เครื่องหมาย
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง1 ตุลาคม พ.ศ. 2558; 9 ปีก่อน (2558-10-01)
สำนักงานก่อนหน้า
ประเภทหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 222 ซอยวิภาวดีรังสิต 28 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
งบประมาณต่อปี943,175,777 บาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร, ผู้อำนวยการ
  • ศรัณย เบ็ญจนิรัตน์, รองผู้อำนวยการ
  • ขจรพัฒน์ มากลิ่น, รองผู้อำนวยการ
  • พงศ์พัฒน์ เทียนศิริ, รองผู้อำนวยการ
  • พลอากาศตรี นาถวุฒิ หยูทอง, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักงานกระทรวงคมนาคม
เว็บไซต์www.caat.or.th

การจัดตั้งองค์กร เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานเพิ่มขึ้น สามารถจัดหาพนักงานได้อย่างมีอิสระมากขึ้น รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาด้านการบินได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนขึ้น โดยการบริหารงบประมาณในช่วงแรก CAAT ได้รับการสนับสนุนเงินทุนประเดิมจากรัฐบาลเพื่อให้เกิดการจัดตั้งองค์กรขึ้น ในปัจจุบันรายได้หลักขององค์กรมาจากค่าธรรมเนียมกำกับดูแลการบินพลเรือน

ประวัติการบินของประเทศไทย

แก้

การบินเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดย ชาร์ลส ฟาน เดน บอร์น (Charles Van Den Born ) นักบินชาวเบลเยียม ได้นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง เข้ามาสาธิตการบินให้ทอดพระเนตร และให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ชม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน นับเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในประเทศไทย โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้โดยสารขึ้นบินทดลองชุดแรก และทรงซื้อเครื่องบินลำนั้นไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2454 จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นาย เดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ทางการได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 ลำ เข้าไว้ประจำการ อีกทั้ง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์ของเครื่องบินที่สามารถนำมาใช้ในทางราชการได้ จึงทำให้ในยุคแรกประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น 8 ลำ

ภายหลังสำเร็จการศึกษานายทหารทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตราย ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญรัชกาลที่ 6 กับวิวัฒน์พัฒนาการการบินของไทย

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม ส่งผลทำให้กิจการการบินของไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ และในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและรับชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหล่าเจ้านายในอดีต ทรงเป็นทั้งผู้ริเริ่มและผู้อุปถัมภ์กิจการการบินของประเทศไทย จนได้รับการพัฒนาสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

และในปี พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองแล้วเสร็จ เพื่อเป็นสนามบินที่ใช้ในกิจการทหาร และได้เลื่อนฐานะแผนกการบินทหารยกขึ้นเป็นกรม และได้เคลื่อนย้ายจากสนามราชกรีฑาสโมสรไปสู่ที่ตั้งใหม่ที่ดอนเมืองจนถึงปี พ.ศ. 2491 ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เข้ามาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ (และในปี พ.ศ. 2499 ได้เปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่ยังคงสังกัดกองทัพอากาศอยู่) ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เป็นสนามบินหลักของประเทศ และได้รับการพัฒนาสร้างเสริมต่อเติมมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2462 ได้มีการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรีด้วยเครื่องบินเบรเกต์ (Breguet XIV) ซึ่งเป็นเครื่องบินทหารที่ได้ดัดแปลงมาใช้งานขนส่งทางอากาศ การทดลองทำการบินได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาจึงได้มีการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางนี้ด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2463 กรมอากาศยานทหารบกได้เปิดการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา กับจังหวัดอุบลราชธานีขึ้น เส้นทางบินได้ขยายออกไปยังจังหวัดอุดรธานี และหนองคาย มีเส้นทางบินอีกสายหนึ่งไปยังจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ แม้จะมีการขนส่งผู้โดยสารบ้าง แต่บริการหลักก็ยังคงเป็นไปรษณีย์ และเป็นการขนส่งไปยังจังหวัดที่ยังไม่มีทางรถไฟที่เชื่อมถึง

ในปี พ.ศ. 2468 ประเทศไทยได้จัดตั้งกองบินพลเรือน กรมบัญชาการกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และจากนั้นการบินพลเรือนของประเทศได้มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมาโดยตลอด

เมื่อกิจการขนส่งทางอากาศ ได้เจริญรุดหน้าขยายตัวขยายเส้นทางออกไป และมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนจากกองบินพลเรือนเป็นกองการบินพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเศรษฐการ ถัดมาในปี พ.ศ. 2477 ย้ายไปสังกัดกรมการขนส่ง ทบวงพาณิชย์และคมนาคม กระทรวงเศรษฐการ[2] จนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 กรมการขนส่ง โอนกลับมาขึ้นกับกระทรวงคมนาคม ต่อมา พ.ศ. 2485 ได้มีการแบ่งแยกกองให้ชัดเจนเป็น กองขนส่งทางอากาศ กรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม

ต่อมาปี พ.ศ. 2491 ได้มีการแยกการบินพลเรือน ออกจากการบินทหาร และโอนกิจการให้กระทรวงคมนาคม และปี พ.ศ. 2497 ได้ยกฐานะเป็น สำนักงานการบินพลเรือน แต่ยังสังกัดกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคมอยู่ จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 ได้ยกฐานะเป็น กรมการบินพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการขนส่งทางอากาศ” เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545

และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "กรมการบินพลเรือน" มีผลตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[3]

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เปลี่ยนแปลงชื่อกรมเป็น "สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย"[4]

กรรมการอื่นในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

แก้

คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งกรรมการอื่น จำนวน 5 ท่าน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567 ดังนี้ [5]

  1. พลอากาศตรี นาถวุฒิ หยูทอง (ผู้แทนกองทัพอากาศ)
  2. นางชาริตา ลีลายุทธ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารกิจการการบินพาณิชย์)
  3. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย)
  4. นางปานทิพย์ ศรีพิมล (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินหรือการคลัง)
  5. นายโชติชัย เจริญงาม (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการ)

ต่อมาเมื่อ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย) ได้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการอื่น (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป [6]

ต่อมาเมื่อ พลอากาศตรี นาถวุฒิ หยูทอง (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ได้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง พลอากาศตรี วุฒิ น้อยเชี่ยวกาญจน์ เป็นกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แทนกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ที่พ้นจากตำแหน่ง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

รายนามผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

แก้
ลำดับที่ ชื่อ ดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
- จุฬา สุขมานพ 1 ตุลาคม 2558 - 9 พฤษภาคม 2559
(7 เดือน 8 วัน)
อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการแทน
1 อลงกต พูลสุข 10 พฤษภาคม 2559 - 30 กันยายน 2559
(4 เดือน 20 วัน)
ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ
2 จุฬา สุขมานพ 1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2563
(3 ปี 11 เดือน 29 วัน)
ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
3 สุทธิพงษ์ คงพูล 17 กุมภาพันธ์ 2564 - 16 กุมภาพันธ์ 2568
(3 ปี 11 เดือน 30 วัน)
ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
4 พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร 17 กุมภาพันธ์ 2568 - ปัจจุบัน
(3 เดือน 29 วัน)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. รายงานประจำปี 2566 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
  2. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๙
  3. พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมการขนส่งทางอากาศ เป็นกรมการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒
  4. พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๙๕ ก วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง หน้า ๖ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
  6. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๒ ตอนพิเศษ ๑๕๕ ง หน้า ๒ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘

ดูเพิ่ม

แก้