วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีพิธีก่อพระฤกษ์ เมื่อ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2412

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชบพิธ
ที่ตั้ง2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระพุทธอังคีรส
พระพุทธรูปสำคัญพระนิรันตราย (จำลอง)
เจ้าอาวาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาล ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9
เวลาทำการทุกวัน 8.00-13.30
จุดสนใจสักการะพระพุทธอังคีรส
กิจกรรม30 พ.ค. : งานบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 7
25 ส.ค. : งานอุทิศส่วนกุศล ให้อดีตเจ้าอาวาส
วันเข้าพรรษา: ตักบาตรดอกไม้
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดราชบพิธ
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000007
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

(ตรงกับปี 2413 หากนับวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้ วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงจาก การขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน เมื่อปี .ศ. 2484)

โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

วัดราชบพิธฯ เป็นวัดสำคัญที่พระสันตะปาปาสองพระองค์เคยเสด็จเยือน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

สุสานหลวง

แก้

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารมีสุสานหลวงตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาของวัดด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้

  1. สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา
  2. รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย
  3. เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  4. สุขุมาลนฤมิตร์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระนัดดา

นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เช่น

  1. อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ พระโอรสและธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลยุคล
  2. อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุพระสรีรางคารเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และพระราชธิดา
  3. อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือ "วิหารน้อย" บรรจุสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) และพระธิดา รวมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 และพระโอรส พระธิดา ตลอดจนสมาชิกสายราชสกุลอาภากร และราชสกุลสุริยง

สุสานหลวงในปัจจุบันมีจำนวนอนุสาวรีย์ทั้งหมด 34 องค์ และมีการจัดตั้งกองทุนสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารขึ้นมาดูแลรักษาสุสานหลวงให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้าชมต่อไป

พระพุทธอังคีรส

แก้
 
พระพุทธอังคีรส
 
พระพุทธประทีปวโรทัย (บน) และพระพุทธอังคีรสน้อย (ล่าง) ประดิษฐานภายในพระวิหาร

พระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม "พระพุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย[2] หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415[3]

ที่ฐานพุทธบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาลัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร[2] ซึ่งราชสกุลต่างๆ ที่มีส่วนแห่งพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เก็บรักษาไว้และเชิญมาถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงโปรดให้บรรจุลงใต้ฐานพระพุทธอังคีรส นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

อนึ่ง เมื่อที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเก็บรักษาไว้ถวายสักการบูชา ต่อมาได้ตกทอดเป็นพระมรดกมาสู่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พระนัดดา ผู้เป็นพระโอรสใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และได้ทรงอัญเชิญมาถวายแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ปฏิบัติกรณียกิจแทนพระองค์ในการเชิญพระผอบศิลาบรรจุพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในคูหาบนฐานพุทธบัลลังก์ ลงในฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ในวันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ แด่พระพุทธอังคีรสเนื่องในศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ. 2412 พ.ศ. 2444
2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2480
3 พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) พ.ศ. 2480 พ.ศ. 2489
4 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2531
5 สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2551
6 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) พ.ศ. 2551 อยู่ในตำแหน่ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า 289
  2. 2.0 2.1 แผ่นพับประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  3. วัลลภ คล่องพิทยาพงษ์,เส้นทางบุญ ๙ วัด ๙ รัชกาล,หน้า 173
  4. ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๙/๒๔๙๒ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๙๒, เล่ม ๖๖, ตอน๓๔ ง, ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๒๙๓๑
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธอังคีรส

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′55″N 100°29′53″E / 13.748702°N 100.497952°E / 13.748702; 100.497952