ถนนวิสุทธิกษัตริย์

ถนนวิสุทธิกษัตริย์ [วิ-สุด-กะ-สัด] (อักษรโรมัน: Thanon Wisut Kasat) เริ่มต้นตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอก (ทางแยก จ.ป.ร.) ในท้องที่แขวงบางขุนพรหมและแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนประชาธิปไตย (ทางแยกวิสุทธิกษัตริย์) และถนนสามเสน (ทางแยกบางขุนพรหม) จนถึงท่าเรือสะพานพระราม 8 (บางขุนพรหม) ในท้องที่แขวงวัดสามพระยา

ถนนวิสุทธิกษัตริย์เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศล พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนนีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะพระชันษา 9 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนวิสุทธิกษัตริย์"[1]

การตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า แต่เดิมการสร้างถนนต้องใช้พระราชทรัพย์ในการก่อสร้างรวมทั้งการดูแลรักษา การตัดถนนในกรุงเทพฯ มักผ่านไปในเขตที่มีเจ้าของถือที่ดินอยู่ ถนนผ่านไปในที่ใดเจ้าของที่ดินย่อมได้รับประโยชน์เรื่องราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงสมควรให้เจ้าของที่ดินซึ่งถือครองที่ดินอยู่ตามแนวถนนซึ่งจะตัดผ่านช่วยกันออกทุนในการทำถนน เว้นแต่ผู้ที่ต้องเสียที่ดินทั้งหมดจนไม่ได้รับประโยชน์ในการตัดถนน ควรได้รับประโยชน์ราคาที่ดินของตนเป็นค่าเสียหาย[2] โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสร้างถนนหลวงภายในบริเวณกรุงเทพฯ ขึ้นใน พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) สำหรับการสร้างถนนวิสุทธิกษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "ประกาศการสร้างถนนวิสุทธิ์กระษัตริย์" ว่า ที่ดินตำบลบางขุนพรหมและหลังวัดมกุฏกษัตริย์ สมควรจะตัดเป็นถนนใหญ่ให้เดินไปมาติดต่อกันได้ ตั้งแต่วงเวียนบางขุนพรหม ตัดตรงไปทางหลังวัดมกุฏกษัตริยาราม ออกถนนราชดำเนินนอก ต่อมาใน พ.ศ. 2471 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนจากวิสุทธิกษัตริย์ต่อจากที่ตัดไว้แต่เดิม ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา มาบรรจบถนนสามเสน ตำบลบางขุนพรหม โดยตัดผ่านเข้าไปในตำบลบางขุนพรหม

บริเวณถนนวิสุทธิกษัตริย์จนถึงทางแยกวิสุทธิกษัตริย์ถือได้ว่าเป็นย่านที่ขึ้นชื่ออย่างมากในการประกวดนางงามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ที่รู้จักกันดีในชื่อ "เทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์" ซึ่งจัดโดยชาวชุมชนท้องถิ่นและใกล้เคียง โดยจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 โดยเฉพาะในอดีตในเวลากลางคืนจะมีบรรยายกาศครื้นเครงคล้ายกับงานวัดเลยทีเดียว ซึ่งมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันหลายคนเคยผ่านการประกวดมาแล้ว เช่น คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ, จริยา แอนโฟเน่, สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ เป็นต้น[3]

อ้างอิง

แก้
  1. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 338.
  2. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 338–339.
  3. หนุ่มลูกทุ่ง (2007-04-10). "สงกรานต์วิสุทธิ์กษัตริย์ ตำนานที่ยังมีลมหายใจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-17. สืบค้นเมื่อ 2018-04-01.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′49″N 100°30′14″E / 13.763695°N 100.503841°E / 13.763695; 100.503841