สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระราชวงศ์ไทย

พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชสมภพ: 2 เมษายน พ.ศ. 2498) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา[1] และสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย[2] ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[3]

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี
พระฉายาลักษณ์ในปี 2559
สยามบรมราชกุมารี
ดำรงพระยศ5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน
(46 ปี 363 วัน)
พระราชสมภพ2 เมษายน พ.ศ. 2498 (69 พรรษา)
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลมหิดล
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชมารดาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”[4] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร[5]

พระราชประวัติ

พระราชสมภพ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม ฉศก จ.ศ. 1316 ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย[6][7]

พระนาม "สิรินธร" นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สำหรับสร้อยพระนาม "กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ "กิติ" มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมารดา (แม่) ส่วน "วัฒนา" มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ "อดุล" มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระอัยกา (ปู่)

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ระหว่างวันที่ 15–16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498[8] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 เช้าวันรุ่งขึ้น (16 พฤษภาคม) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย

การศึกษา

เมื่อปีวันที่ 2 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษาทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน 20 คน เป็นโอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็ก ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ วิชาที่ทรงเรียนในชั้นอนุบาลนี้ คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลขคณิตและขับร้อง พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรขณะนั้น ได้แก่ อาจารย์ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ และอาจารย์ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช[9] เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนรวมร้อยละ 96.60 อันนับว่าเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่เจ็ด จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 31 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2511[10] และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[11] และ ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ[12]

หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ[13] ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ[14] จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98[12]

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524[15] หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือสถาบันเอไอที ในหลักสูตรเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา จนได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบัน โดยพระองค์ได้ทรงประยุกต์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการทำแผนที่ของจังหวัดนราธิวาส[16][17]

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529[18]

การสถาปนาพระอิสริยยศ

สยามบรมราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ในด้านการพัฒนาบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาและช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่าง ๆ นับเป็นการดูแลสอดส่องพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งต่างพระเนตรพระกรรณ ในด้านการพระศาสนา มีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัยและสนพระหฤทัยศึกษาหาความรู้ด้านศาสนาพุทธและศาสนาอื่นอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์นั้น ก็ได้สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520[12]

นับเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์ที่ 14 ในราชวงศ์จักรี ที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระ หรือ กรมพระยา และเป็นครั้งแรกที่สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง[19] “สมเด็จพระ” ในที่นี้เป็นอิสริยยศพิเศษ ระดับเดียวกับสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากนี้ยังทรงได้อิสริยยศพิเศษเป็น “สยามบรมราชกุมารี” ให้ทรงรับพระราชบัญชาเสมอกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พร้อมทั้งรับพระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริย อุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี[20]

นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า โดยยังทรงพระอิสริยยศ กรมสมเด็จพระ และ สยามบรมราชกุมารี ตามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

ในที่นี้เป็นการเฉลิมพระนามาภิไธย ให้วิเศษยิ่งขึ้นจาก “สมเด็จพระ” เป็น “กรมสมเด็จพระ” เหมือนในอดีต แต่ “กรมสมเด็จพระ” ในที่นี้ไม่ใช่การสถาปนาเจ้าต่างกรมแบบโบราณ เพราะพระเกียรติยศที่มีอยู่เดิมสูงกว่าเจ้าต่างกรมไปแล้ว พระองค์ยังทรงพระอิสริยยศเป็น "สยามบรมราชกุมารี" ตามเดิม นอกจากนี้ยังทรงได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นที่ "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า" ซึ่งไม่เคยปรากฏในอดีตเพิ่มเติมด้วยอีกประการหนึ่ง

พระอัจฉริยภาพ

ด้านภาษา

พระองค์ทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินอีกด้วย[13] ขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่าง ๆ หลายตอน ทำให้พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย

เมื่อพระองค์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส โดยภาษาไทยนั้น พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พระองค์พอรู้แน่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้เรียนแผนกวิทยาศาสตร์ จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม เนื่องจากในสมัยนั้น ผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร[21] ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้ นอกจากนี้ ยังทรงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสแทนการเรียนเปียโน เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่มีอยู่ในตู้หนังสือมากกว่าการซ้อมเปียโน[22]

เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น พระองค์ทรงเลือกเรียนสาขาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก และวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นวิชาโท ทำให้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับชั้นสูงและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ส่วนภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เรียนกันในพระอารามต่าง ๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ตั้งแต่ไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และเรียนตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษในระดับปริญญาโท ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ส่งศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี มาถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทของพระองค์ เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท นั้น ยังได้รับการยกย่องจากมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า เป็นวิทยานิพนธ์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในภาษาบาลีพุทธวจนะเป็นพิเศษ[23]

พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัยบักกิงแฮม สหราชอาณาจักร เป็นต้น[24]

ด้านดนตรี

พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงใช้เครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก[25] พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก[26] และได้ทรงดนตรีไทยในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียน รวมทั้ง งานวันคืนสู่เหย้าร่วมกับวงดนตรีจิตรลดาของโรงเรียนจิตรลดาด้วย หลังจากที่ทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมรสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ โดยทรงเล่นซอด้วงเป็นหลัก[26] และทรงเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่น ๆ ด้วย

ในขณะที่ทรงพระเยาว์ เครื่องดนตรีที่ทรงสนพระทัยนั้น ได้แก่ ระนาดเอกและซอสามสาย[27] ซึ่งพระองค์ทรงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังจากการเสด็จทรงดนตรีไทย ณ บ้านปลายเนิน ซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยมี สิริชัยชาญ พักจำรูญ เป็นอาจารย์ผู้ถวายการสอน[28] พระองค์ทรงเริ่มเรียนตั้งแต่การจับไม้ระนาด การตีระนาดแบบต่าง ๆ และท่าที่ประทับขณะทรงระนาด และทรงเริ่มเรียนการตีระนาดตามแบบแผนโบราณ กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยเพลงต้นเพลงฉิ่งสามชั้น แล้วจึงทรงต่อเพลงอื่น ๆ ตามมา ทรงทำการบ้านด้วยการไล่ระนาดทุกเช้า หลังจากบรรทมตื่นภายในห้องพระบรรทม จนกระทั่ง พ.ศ. 2529 พระองค์จึงทรงบรรเลงระนาดเอกร่วมกับครูอาวุโสของวงการดนตรีไทยหลายท่านต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเพลงที่ทรงบรรเลง คือ เพลงนกขมิ้น (เถา)

ในด้านการขับร้อง พระองค์ทรงสนพระทัยในด้านการขับร้องเพลงไทย โดยทรงเริ่มฝึกหัดการขับร้องด้วยพระองค์เองเมื่อครั้งยังทรงศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนจิตรลดา[29] ทรงเริ่มต้นเรียนการขับร้องกับ เจริญใจ สุนทรวาทิน อาจารย์ประจำชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องเพลงไทยสำหรับพระราชทานให้แก่สถาบันการศึกษาและวงดนตรีไทยเพื่อนำไปบรรเลงและขับร้องเนื่องในโอกาสต่าง ๆ[30]

นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังทรงดนตรีสากลด้วย โดยทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา แต่ได้ทรงเลิกเรียนหลังจากนั้น 2 ปี และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนสามารถทรงทรัมเปตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต[26]

ด้านพระราชนิพนธ์

พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม[31] ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ทัศนะจากอินเดีย มนต์รักทะเลใต้ ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ) เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์[32]

นอกจากพระนาม "สิรินธร" แล้ว พระองค์ยังทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ได้แก่[33][34]

"ก้อนหินก้อนกรวด" เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึง พระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหิน หมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ ทรงใช้ครั้งเดียวตอนประพันธ์บทความ "เรื่องจากเมืองอิสราเอล" เมื่อปี พ.ศ. 2520

"แว่นแก้ว" เป็นชื่อที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "ชื่อแว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็ก ๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว" พระนามแฝง แว่นแก้วนี้ พระองค์เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

"หนูน้อย" พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่า น้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย" โดยพระองค์ทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปีจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2523

และ "บันดาล" พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "ใช้ว่า บันดาลเพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย" ซึ่งพระองค์ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ทรงทำให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2526

นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงแป็นจำนวนมาก โดยบทเพลงที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ เพลง ส้มตำ รวมทั้ง ยังทรงประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ เพลงรัก และเพลงเมนูไข่

พระราชกรณียกิจ

ด้านการศึกษา

เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในขณะนั้น[35] ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น "ทูลกระหม่อมอาจารย์" สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น ต่อมา เมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน[36] และทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529[37] และเป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (อัตราจอมพล) เมื่อปี พ.ศ. 2543[38] นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ด้วย[39]

ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทรงเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกครั้ง รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกครั้ง เพื่อพระราชทานทุนพระราชทานส่งเสริมการเรียนดี และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาต่าง ๆ คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) กาญจนาภิเษกวิทยาลัย (ช่างทองหลวง)

ในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศลาวครั้งแรกระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม[40]

พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลจังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี[41]

ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ

มีพระวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง"องค์ความรู้" ให้แก่ประเทศไทย

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามพระราชดำริฯ ณ โรงเรียนประถมศึกษา เหวียน เติ๊ต ทั่ญ (Nguyen Tat Thanh Primary School) เมืองดงห่า จังหวัดกว๋างจิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการความร่วมมือการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามพระราชดำริฯ มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6 โรงเรียน โดยในการเสด็จพระราชดำเนินทรงติดตามความก้าวหน้า และทรงเยี่ยมโรงเรียนในโครงการในครั้งนี้ คณะครูและนักเรียนต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามให้ดียิ่งขึ้น

ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

พระองค์ทรงสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ทรงสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยทรงเป็นแบบอย่างในการเสด็จทรงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยโดยการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่า และเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการเผยแพร่งานทางด้านดนตรีไทย ซึ่งจากงานทางด้านการอนุรักษณ์ดนตรีไทย ครูเสรี หวังในธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”[42]

นอกจากด้านดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้าน การช่างไทย นาฏศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย[43] พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “ เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” เมื่อ พ.ศ. 2531 และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา รวมทั้ง ทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ[44] นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น "วันอนุรักษ์มรดกของชาติ" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก[45] พระองค์ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย [46]ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523[47]

ด้านการพัฒนาสังคม

พระองค์ทรงสนพระทัยงานด้านการพัฒนา ซึ่งถือเป็นงานหลักที่พระองค์ทรงงานควบคู่กับงานวิชาการ พระองค์ทรงเรียนรู้งานทางด้านพัฒนาจากการตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ[48] จากการที่พระองค์ทรงได้เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงนำความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาใช้ในงานด้านการพัฒนาสังคม นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์มากมาย โดยโครงการตามพระราชดำริในระยะเริ่มแรกนั้น พระองค์ทรงงานเกี่ยวกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารที่มีปัญหาขาดสารอาหาร ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันรับประทาน[49] โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร[50] โครงการในพระราชดำริในระยะต่อมา พระองค์ทรงมุ่งเน้นทางด้านการศึกษามากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ตลอดจนความประพฤติและคุณงามความดีของบุคคล โดยพระองค์ทรงตั้งพระทัยให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ[49]อีกทั้งทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

ด้านการพัฒนาห้องสมุดและการรู้หนังสือ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยการอ่านและการพัฒนาห้องสมุด ทรงรับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯไว้ในพระราชูปถัมภ์ [51] เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2519[52] หลายโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ ได้เสด็จเยี่ยมและทรงดูงานห้องสมุดชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งได้พระราชทานข้อแนะนำแก่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ[53] และบรรณารักษ์ไทยในการนำความรู้ไปพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนรวมทั้งห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี[54]ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายโอกาสให้ประชนในการพัฒนาการรู้หนังสือ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯเสมอมา รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสมาพันธ์สมาคมห้องสมุดฯนานาชาติ (IFLA) และมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม IFLA ครั้งที่ 65 ที่กรุงเทพมหานครในปี 1999 [55][56]

ด้านการต่างประเทศ

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอย่างเป็นทางการ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2503-2504 ในขณะที่มีพระชนมายุ 5 พรรษา หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยการเสด็จฯ นั้น พระองค์เสด็จฯ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ รวมทั้ง เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งนอกจากจะทรงงานเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศแล้ว พระองค์ยังเสด็จฯ ทอดพระเนตรสังคม วัฒนธรรม สถานที่ต่าง ๆ และทรงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ และได้ทรงนำความรู้และประสบการณ์ที่ทรงได้ทอดพระเนตรและจดบันทึกมาประยุกต์ใช้กับการทรงงานภายในประเทศด้วย ซึ่งการเสด็จฯ ทรงงานในต่างประเทศของพระองค์ทำให้หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสว่าถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า “เจ้าฟ้านักดูงาน” หรือ “Le Princesse Stagiaire”[57]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม อาทิเช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีโครงการตามพระราชดำริทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และการสาธารณสุข การพัฒนาทางด้านการศึกษา เป็นต้น นอกจากประเทศลาวแล้ว โครงการเพื่อการพัฒนาของพระองค์ยังได้ขยายออกไปยังประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า และประเทศเวียดนามด้วย[50] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ พระองค์ทรงให้ความร่วมมือในโครงการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการของโครงการอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ โดยได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นทูตพิเศษของโครงการด้วย, โครงการการศึกษาเพื่อทุกคน เป็นโครงการด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้วยการศึกษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมทั้ง โครงการการศึกษาหลังประถมศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น โดยมูลนิธิการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ[49]

ความสัมพันธ์กับประเทศจีน

 
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติด้านจารึกอักษรจีน
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนเหมียนหยางเซียนเฟิงลู่สิรินธร ที่เมืองเหมียนหยาง

พระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จเยือนจีนมากครั้งที่สุด รวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง โดยเสด็จฯ เยือนมณฑลของจีนครบทุกมณฑล ซึ่งหลายครั้งหลังเสด็จฯ เยือนจีนจะทรงถ่ายทอดประสบการณ์การเยือนเป็นสารคดี ได้แก่ ย่ำแดนมังกร ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์หลังเสด็จฯ เยือนจีนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524 ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่ตามมาได้แก่ มุ่งไกลในรอยทราย, เกล็ดหิมะในสายหมอก , ใต้เมฆที่เมฆใต้, เย็นสบายชายน้ำ, คืนถิ่นจีนใหญ่ และ เจียงหนานแสนงาม นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับการยกย่องจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนว่าทรงเป็น "ทูตสันถวไมตรี" ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547[58]

ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2542 ชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน กลุ่มมวลชน หน่วยงานราชการได้ร่วมใจกันจัดสร้าง ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย–จีน หรือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ บริเวณวงเวียนโอเดียน เพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์ พระองค์ได้ทรงจารึกอักษรจีน "เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง" หมายถึง "ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" พร้อมนามาภิไธย "สิรินธร" บนแผ่นจารึกนามใต้หลังคาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ

ด้านการสาธารณสุข

จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดาร ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรในชนบท พระองค์จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของราษฎร โครงการแรกที่พระองค์ทรงเริ่ม ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้วยังช่วยให้นักเรียนมีความรู้ทางด้านโภชนาการและการเกษตรด้วย[59] และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การระบาดของโรคคอพอกเนื่องจากการขาดสารไอโอดีน พระองค์ทรงแก้ไขปัญหานี้โดยทรงริเริ่ม โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้เกลือไอโอดีนหรือหยดไอโอดีนในการประกอบอาหาร และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขาดไอโอดีน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข[60] นอกจากนี้ พระองค์ยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารด้วย โดยพระองค์ทรงตระหนักว่าคนเราจะภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่ดีนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา พระองค์จึงเริ่ม โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้แม่และเด็กได้รับบริการทางด้านอนามัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่[61]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานเพื่ออกตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมในแต่ละครั้ง รวมทั้งทรงรับผู้ป่วยที่ยากจนเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย[62][63]

พระองค์เสด็จฯ ณ โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและจักษู นำวิทยาการในประเทศเยอรมนีมาสู่เมืองไทย

ด้านศาสนา

เนื่องจากพระองค์ทรงได้รับการอบรมให้มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยพระองค์มักมักจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จฯ เป็นผู้แทนพระองค์ เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล เนื่องในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น

พระองค์ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูประเพณีฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยได้ทรงประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันจุดโคมประทีป และส่งบัตรอวยพรที่มีข้อธรรมะ เพื่อเป็นการพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ทราบถึงประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้ง ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า[64] โดยพระองค์ยังได้พระราชทานโคลงข้อธรรมะเพื่อให้กระทรวงวัฒนธรรมพิมพ์แจกแก่พุทธศาสนิกชนในบัตรอวยพรวันวิสาขบูชาด้วย[65][66] และพระองค์ยังทรงพระราชดำริให้ธรรมสถานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเทศน์มหาชาติร่ายยาวขึ้น ซึ่งเป็นการเทศน์มหาชาติตามรูปแบบที่ถูกต้องตามตำรับหลวง เพื่อชี้นำให้คนไทยได้เข้าใจในคุณค่าของเรื่องมหาชาติ และประเพณีการเทศน์มหาชาติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล[64] พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ พระองค์ยังทรงเป็นแม่กองในการซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้สำเร็จทันงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 ซึ่งงานบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากงบประมาณน้อย รวมทั้ง ขาดแคลนช่างในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น งานในครั้งนี้พระองค์ทรงดูแลอย่างใกล้ชิด และคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระราชหฤทัยที่เด็ดขาด รวมทั้ง แก้ได้รับเงินบริจาคจากพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนร่วมสมทบทุนจึงทำให้งานบูรณะในครั้งนี้จึงเสร็จทันกาล[67] นอกจากนี้ พระองค์ทรงบูรณะวัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทอง และทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่เพื่อเป็นพระราชกุศลในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ[68] และทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ด้วย[69]

นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอื่น ๆ โดยมิได้ทรงละเลย ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปประกอบพิธีกรรมของศาสนาต่าง ๆ นั้น พระองค์ก็จะเสด็จฯ ตามคำกราบบังคมทูลเสมอ

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

พระองค์มีพระราชดำริให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาพัฒนาประเทศหลายประการ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นเลขานุการ[70] โดยมีพระราชดำริให้โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโครงการนำร่องและใช้เป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ และมีพระราชประสงค์จะให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ มารับช่วงต่อไป[71] พระองค์ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในชนบท ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ใน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท โดยพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปรณ์ที่จำเป็นเพื่อจัดตั้งเป็นห้องเรียนขึ้น และพัฒนามาจนสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ ปัจจุบัน มีโรงเรียนในโครงการประมาณ 85 แห่ง โดยมีโรงเรียนในจังหวัดนครนายกเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อนำแนวทางใหม่ ๆ ไปทดลองใช้กับโรงเรียนในชนบท[72] และทรงริเริ่ม โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างความรู้ ความบันเทิง พัฒนาทักษะ และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต พระองค์ทรงมีคณะทำงานที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและวิธีการช่วยเหลือผู้พิการในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม ซึ่งโครงการนี้มีโรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นหน่วยงานหลัก[73] นอกจากนี้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำรินี้ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถานได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างการถูกคุมขัง เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปพัฒนาตนเองและนำไปประกอบอาชีพได้ และมีโครงการสำหรับเด็กป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน รวมทั้ง ส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่ป่วยด้วย[74] นอกจากนี้ พระองค์ยังนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับงานทางด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย 76 จังหวัด ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการนี้[75]

จากพระราชกรณียกิจทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้วารสารอินโฟแชร์ ซึ่งเป็นวาสารของสำนักงานด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารของยูเนสโก ได้ตีพิมพ์บทความเฉลิมพระเกียรติการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านสารสนเทศของเด็กและผู้ด้อยโอกาสของไทย รวมทั้ง ยังได้ถวายนาม “IT Princess” หรือ “เจ้าหญิง ไอที” แก่พระองค์อีกด้วย[76][77]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
 
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
ลำดับโปเจียม4
 
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

พระอิสริยยศ

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (2 เมษายน พ.ศ. 2498 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520)
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)[12]
  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน)[20]

เครื่องราชอิสริยยศ

เมื่อพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 นั้น พระองค์ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ[78] ดังนี้

  • พระสุพรรณบัฏ จารึกพระปรมาภิไธย บรรจุในหีบทองคำลงยา ภปร ประดับเพชร
  • เครื่องราชูปโภค
    • พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยาเครื่องพร้อม
    • หีบพระศรีทองคำลงยาประดับเพชร พร้อมพานทองรองเครื่องพร้อม
    • พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
    • กาทองคำทรงกระบอกมีถาดรอง
    • ขันน้ำเสวยทองคำลงยา พร้อมจอกทองคำลงยา
    • ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมพานรอง
    • ที่ชาทองคำพร้อมถ้วยฝาหยก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

ประเทศ ปีที่ได้รับ ชื่อ แพรแถบ อ้างอิง
  เกาหลีใต้ พ.ศ. 2524 เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งการทูต ชั้นที่ 1 (เหรียญควางฮวาแดจัง)   [91]
  เยอรมนีตะวันตก พ.ศ. 2527 เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นประถมาภรณ์   [91]
  เนปาล พ.ศ. 2527 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันรุ่งโรจน์ โอจาสวี ราชญาญ   [91]
  สเปน พ.ศ. 2530 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อิซเบลลาชาวคาทอลิก ชั้นประถมาภรณ์   [91]
  ฝรั่งเศส พ.ศ. 2532 เครื่องอิสริยาภรณ์ปาล์มวิชาการ ชั้นที่ 1   [91]
  บรูไน พ.ศ. 2533 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลไลลา อุตมะ  
  ลาว พ.ศ. 2534 เหรียญทองคำแห่งชาติ   [91]
  ญี่ปุ่น พ.ศ. 2534 เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1   [92]
  บริเตนใหญ่ พ.ศ. 2539 เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียน ชั้นอัศวินสูงสุด   [93]
  เดนมาร์ก พ.ศ. 2544 เครื่องราชอิสริยาภรณ์แดนเนอโบร ชั้นประถมาภรณ์  
  สวีเดน พ.ศ. 2546 เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซราฟีม  
  เนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2546 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ครูนอรด์ ชั้นสูงสุด  
  ออสเตรีย พ.ศ. 2547 เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ชั้นมหาอิสริยาภรณ์ทอง  
  ตองงา พ.ศ. 2549 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปูโอโน  
  มองโกเลีย พ.ศ. 2552 เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราขั้วโลกแห่งมองโกเลีย  
  มาเลเซีย พ.ศ. 2552 เครื่องราชอิสริยาภรณ์หยาง มูเลีย เซเตีย มาห์โกตา มาเลเซีย ชั้นที่ 1  
  ปากีสถาน พ.ศ. 2555 เครื่องอิสริยาภรณ์นิชาน-อี-ปากีสถาน   [94]
  อินเดีย พ.ศ. 2560 เครื่องอิสริยาภรณ์ปัทมภูษัณ  
  จีน พ.ศ. 2562 เครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์   [95]

พระยศทางทหาร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี
รับใช้  ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพบกไทย, กองทัพเรือไทย, กองทัพอากาศไทย และ กองอาสารักษาดินแดน
ประจำการ
  •   พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน
  •   พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน
  •   พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน
  •   พ.ศ. 2525 – ปัจจุบัน
ชั้นยศ
  •   พลเอกหญิง
  •   พลเรือเอกหญิง
  •   พลอากาศเอกหญิง
  •   นายกองใหญ่
  • ร้อยเอกหญิง เรือเอกหญิง เรืออากาศเอกหญิง และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ และนายทหารพิเศษประจำกองทัพอากาศ (21 ธันวาคม พ.ศ. 2520)[96]
  • นายทหารพิเศษ ประจำกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5 (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523)
  • นายทหารพิเศษ ประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ, ประจำกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน, ประจำกองนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหาร และประจำกองพันอากาศโยธินที่ 1 รักษาพระองค์ (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523)
  • ตำแหน่งอาจารย์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (24 ธันวาคม พ.ศ. 2523)
  • พันตรีหญิง นาวาตรีหญิง และนาวาอากาศตรีหญิง (25 ธันวาคม พ.ศ. 2523)[97]
  • นายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (13 มกราคม พ.ศ. 2524)
  • นายกองเอก กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (พ.ศ. 2525)[98]
  • พันโทหญิง นาวาโทหญิง นาวาอากาศโทหญิง (1 ตุลาคม พ.ศ. 2526)[99]
  • พันเอกหญิง นาวาเอกหญิง นาวาอากาศเอกหญิง (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528)[100]
  • ศาสตราจารย์ (อัตรา พ.อ.) (2 มิถุนายน พ.ศ. 2529)[101]
  • หัวหน้า กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (5 มีนาคม พ.ศ. 2530)
  • พลตรีหญิง พลเรือตรีหญิง และพลอากาศตรีหญิง ศาสตราจารย์ (อัตรา พล.ต.) และ ผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (31 มกราคม พ.ศ. 2532)[101][102]
  • พลโทหญิง พลเรือโทหญิง และพลอากาศโทหญิง และ ศาสตราจารย์ (อัตรา พล.ท.) (19 สิงหาคม พ.ศ. 2535)[103]
  • นายกองใหญ่ กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (17 เมษายน พ.ศ. 2535)[104]
  • พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง และพลอากาศเอกหญิง (15 มีนาคม พ.ศ. 2539) [105]
  • ศาสตราจารย์ (อัตรา จอมพล) (2 สิงหาคม พ.ศ. 2543)
  • นายทหารพิเศษ ประจำกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545) [106]

พระเกียรติคุณ

รางวัลที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย

  ราชอาณาจักรไทย

  • รางวัลพระเกี้ยวทองคำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากพระองค์ทรงมีผลงานที่มีส่วนส่งเสริมความรู้และความภูมิใจในภาษาไทยเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปอย่างเด่นชัด และผลงานนั้น ๆ มีลักษณะก่อให้เกิดความสนใจ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อภาษาประจำชาติ[107]
  • รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2545 สาขาสหวิทยาการ แด่พระองค์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2545 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณในพระอัจฉริยภาพที่ทรงเป็นนักวิจัย โดยมีผลงานในทุกสาขาวิชาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการของประเทศ[108]

  สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

  • รางวัลรามอน แมกไซไซ พระองค์ทรงได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ให้ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรามอล แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2534 โดยทรงเข้ารับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ณ ศูนย์วัฒนธรรมฟิลิปปินส์ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2534[109][110]

  สาธารณรัฐอินเดีย

  สาธารณรัฐประชาชนจีน

  • รางวัลมิตรนานาชาติ 10 อันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพระองค์ทรงได้รับการคัดเลือกจากประชาชนชาวจีนให้เป็นมิตรนานาชาติ 10 อันดับแรกของประเทศจีน เนื่องจากพระองค์ทรงศึกษาภาษาจีนตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมาตลอด และเสด็จเยือนประเทศจีนแล้วมากกว่า 32 ครั้ง ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา[112] ทรงเข้ารับการทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ ประเทศจีน ในโอกาสนี้ รัฐบาลไทย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในนามคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสโมสรสันนิบาตและงานถวายพระกระยาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลการจัดกิจกรรม มิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนในรอบ 100 ปี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตำแหน่งที่ทรงได้รับ

  • อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ที่เหมาะสมและไว้วางพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520[113]
  • ทูตพิเศษของโครงการอาหารโลก ด้านอาหารโรงเรียน (WFP's Special Ambassador for School Feeding) พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตพิเศษของโครงการอาหารโลก (World food programme) แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2547[50][114]
  • ทูตสันถวไมตรีแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้วยการศึกษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (UNESCO Goodwill Ambassador for the Empowerment of Minority Children and the Preservation of their Intangible Cultural Heritage) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก แต่งตั้งให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนี้ โดยนายโคอิชิโร มัตสึอูระ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก พร้อมด้วยผู้บริหารยูเนสโก เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายใบประกาศนียบัตรและใบประกาศแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคมพ.ศ. 2548 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต[76][115]
  • วุฒิสภากิตติมศักดิ์ ของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Honorary Senate of the Foundation Lindau Nobel Prize Winners Meetings) เนื่องจากพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อย่างเด่นชัดในการประชุมที่ลินเดา และแก่มูลนิธิ ทรงเสียสละและทุ่มเทให้กับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และทำให้เกิดการบูรณาการ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553[116]

เหรียญและตราไปรษณียากรที่ระลึก

เหรียญราชอิสริยาภรณ์

 
เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ (ซ้าย) ด้านหน้าเหรียญ สำหรับสตรี
(ขวา) ด้านหลังเหรียญ สำหรับบุรุษ
 
เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สำหรับสตรี
  •   เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีลักษณะ ดังนี้[117]

ลักษณะ เป็นเหรียญเงินรูปกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.1 เซนติเมตร ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีผินพระพักตร์เฉียงทางซ้าย ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสะบักปักดิ้นทอง เข็มกลัดนพเก้า ประดับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 และมีลายกลีบดอกรักชิดวงขอบ ด้านหลัง กลางเหรียญมีพระนามาภิไธยย่อ "สธ" ไขว้ภายใต้มงกุฎขัตตินารี ไม่มีพระจอน ภายในวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๕ ธันวาคม ๒๕๒๐" โดยมีดอกประจำยามประกอบหัวท้ายด้านบน มีมงกุฎขัตตินารี ไม่มีพระจอน หลังมงกุฎมีห่วง

การประดับ สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 3.1 เซนติเมตร พื้นของแพรแถบด้านขวาเป็นสีเหลืองขอบนอกมีริ้วสีม่วง ด้านซ้ายเป็นสีม่วงขอบนอกมีริ้วสีเหลือง ส่วนสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบเช่นกัน แต่ผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือ ห้อยคอ หรือ ประดับโดยวิธีที่สมควรโดยไม่มีแพรแถบก็ได้

  •   เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีลักษณะ ดังนี้[118]

ลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร ทำด้วยเงิน ด้านหน้า ด้านหน้ากลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับดวงตราปฐมจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ริมขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยลายไทยประดิษฐ์ จำนวน 60 ดอก ด้านหลังกลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558” ด้านหน้าขอบนอกเหรียญเบื้องบนมีมงกุฎขัตติยราชนารีอยู่ภายใต้พระสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานอยู่ภายในวงรี มีลายกลีบบัวล้อมรอบ

การประดับ สำหรับบุรุษ ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีม่วงอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ กลางแพรแถบมีริ้วสีขาว หมายถึง น้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาลไปยังประชาชนทุกหมู่เหล่า และริ้วสีเหลือง หมายถึง สีประจำราชวงศ์จักรี สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือ ห้อยคอ หรือ ประดับโดยวิธีที่สมควรโดยไม่มีแพรแถบก็ได้

เหรียญที่ระลึก

  • เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ เปิดศาลาไทย ณ ประเทศนอร์เวย์ แบ่งออกเป็น เหรียญที่ทำจากทองคำและทำจากเงิน มีลักษณะ ดังนี้[119]

ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีพระนามาภิไธย "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" ด้านล่างมีข้อความว่า "เสด็จเปิดศาลาไทย ประเทศนอร์เวย์ พ.ศ. ๒๕๓๒" มีดอกประจำยามและเครื่องหมายโรงกษาปณ์คั่นระหว่างข้อความ

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปก้อนหินสลักพระปรมาภิไธยย่อ "จปร" และเลขบอกปีคริสต์ศักราช "1907" ด้านล่างมีรูปค้อนไขว้ ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN" "1989" ด้านล่างมีข้อความว่า " APNING AV SALA THAI NORDKAPP"

  • เหรียญที่ระลึกเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ดนตรีไทย เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา มีลักษณะ ดังนี้[120]

ด้านหน้า มีพระรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสวมสายสร้อยแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูประนาด และข้อความว่า "ระนาดเอก" ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" ด้านล่างมีข้อความว่า "องค์อุปถัมภ์ดนตรีไทย" "พ.ศ. ๒๕๓๔" มีเครื่องหมายโรงกษาปณ์

เหรียญกษาปณ์

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ออกใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2521 โดยมีลักษณะ ดังนี้[121]

ด้านหน้า เป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีประดับพระอังสา ผินพระพักตร์เฉียงขวา ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ริมขอบมีข้อความว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี"

ด้านหลัง เป็นพระปรมาภิไธยย่อ "สธ" ใต้พระมงกุฎขัตติยราชนารี ริมขอบซ้ายมีข้อความว่า "๕ ธันวาคม ๒๕๒๐" ริมขอบขวามีข้อความว่า "ประเทศไทย " เบื้องล่างด้านซ้ายมีเลขบอกราคา ด้านขวามีเลขบอกราคาว่า "บาท"

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระชนมายุ 36 พรรษา ออกใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2534 โดยมีลักษณะ ดังนี้[122]

ด้านหน้า มีพระบรมรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเครื่องแบบเต็มยศพลตรีหญิงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสายสะพายและสวมสายสร้อยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี"

ด้านหลัง เป็นรูปพระตรา มีพระนามาภิไธยย่อ "สธ" อยู่ภายใต้พระจุลมงกุฎปักยี่กา ใต้ช่อชัยพฤกษ์ ด้านขวามีเลขบอกราคาของเหรียญ ด้านซ้ายมีข้อความ "บาท" ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่าง มีข้อความว่า "ฉลองพระชนมายุ ๓๖ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๓๔" และ "ประเทศไทย"

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 50 พรรษา ออกใช้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยมีลักษณะ ดังนี้[123]

ด้านหน้า มีพระบรมรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสะพักปักลาย ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ริมขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยดอกรัก จำนวน 50 ดอก

ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ "สธ" ไขว้ภายใต้มงกุฎขัตติยราชกุมารี และมีเส้นรัศมีเปล่งออกโดยรอบ 50 เส้น รอบรัศมีประกอบด้วยดารารัศมีจรดดอกและช่อชัยพฤกษ์ ริมขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยดอกรักจำนวน 50 ดอก ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระชนมายุ ๕๐ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๔๘" เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาของเหรียญ และ ข้อความว่า "ประเทศไทย"

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 60 พรรษา ออกใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558[124]

ตราไปรษณียากร

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 4 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นภาพพระฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยตราอักษรพระนามาภิไธย "สธ" ขอบภาพด้านล่าง มีคำว่า "๔ รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN'S 4th CYCLE BIRTHDAY ANNIVERSARY" ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 จำนวน 2,000,000 ดวง[125]
  • ตราไปรษณียากรชุดโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นภาพพระฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยตราอักษรพระนามาภิไธย "สธ" ขอบภาพด้านล่าง มีคำว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี พระอัฉริยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN" ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2547 จำนวน 700,000 ดวง[126]
  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระสาทิสลักษณ์ในฉลองพระองค์ชุดไทยทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ขอบด้านล่าง มีคำว่า "๕๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN'S 50th BIRTHDAY ANNIVERSARY" ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2548 จำนวน 1,000,000 ดวง[127]

สัตว์ทรงเลี้ยง

สุนัขทรงเลี้ยงตัวแรกของพระองค์ ชื่อ ทอฟฟี่ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ แต่ท่านเสด็จฯ ต่างประเทศ พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยงเอง ปัจจุบัน ทอฟฟี่อยู่ที่วังสวนจิตรลดา[128]

พระองค์ทรงมีสุนัขทรงเลี้ยงภายในวังสระปทุม แบ่งออกเป็น 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ 4 ตัว ชื่อ วิกค์ ปักเป้า โลมา และพะยูน, โกลเดนรีทรีฟเวอร์ 4 ตัว ชื่อ วาเป็กซ์ ปรอด กาเหว่า และขมิ้น, เซนต์เบอร์นาร์ด 1 ตัว ชื่อ แป๊ะฮวยอิ้ว, มิเนเจอร์พูเดิ้ล (Miniature Poodle) 5 ตัว ชื่อ โป้ยเซียน กะละแม ข้าวแตก ข้าวแตน และข้าวตู, ฟอกซ์เทอร์เรีย ขนลวด (Wire-haired Fox Terrier) 7 ตัว ชื่อ ทิฟฟี่ พิมเสน มหาหิงคุ์ ข่าหอม มะระ ชะพลู และหลงจิ่ง รวมทั้งสิ้น 21 ตัว[129]

สุนัขตัวแรกที่เข้ามาอยู่ภายในวังสระปทุมนั้น เป็นสุนัขที่พระสหายทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งพระองค์ทรงตั้งชื่อให้ว่า ทิฟฟี่ เพื่อให้สอดคล้องกับ ทอฟฟี่ และสุนัขตัวถัด ๆ มา พระองค์พระราชทานชื่อเป็นยาดม ได้แก่ วิกค์ วาเป็กซ์ โป๊ยเซียน พิมเสน และแป๊ะฮวยอิ้ว[128] โดยแป๊ะฮวยอิ้วเป็นสุนัขที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[129] นอกจากนี้ ยังมี "กาละแม" ซึ่งมีผู้ตั้งชื่อถวายและพระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะดีจึงมิได้เปลี่ยนเป็นชื่ออื่น สุนัขทั้ง 7 ตัวนับเป็นรุ่นแรกที่เข้ามาอยู่ในวังสระปทุม

สุนัขทรงเลี้ยงรุ่นถัดมานั้น จะเป็นรุ่นลูก ๆ ของสุนัขที่กล่าวมาข้างต้น โดยลูกของวิกค์ 3 ตัว ได้รับพระราชทานชื่อเป็นปลา ได้แก่ ปักเป้า โลมา และพะยูน, ลูกของวาเป็กซ์ 3 ตัว ได้รับพระราชทานชื่อเป็นนก ได้แก่ ปรอด กาเหว่า และขมิ้น, ลูกของพิมเสนกับทิฟฟี่ ได้รับพระราชทานชื่อเป็นสมุนไพร ได้แก่ มหาหิงคุ์ ข่าหอม มะระ และ ชะพลู นอกจากนี้ ทิฟฟี่ยังมีลูกกับสุนัขนอกวัง 4 ตัว ได้รับพระราชทานชื่อเป็นชาจีนทั้งหมด โดยพระองค์ทรงเลี้ยงไว้ 1 ตัว ได้แก่ หลงจิ่ง และลูกของกะละแม 3 ตัว ได้รับพระราชทานชื่อเป็นขนมไทย ได้แก่ ข้าวแตก ข้าวแตน และข้าวตู[128][130]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเลี้ยงปลาทองซึ่งมีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย และปลาเทวดาอีกหลายพันธุ์ที่กรมประมงได้ทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย[131]

รถยนต์พระที่นั่ง

 
รถพระที่นั่ง ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บีเอ็มดับเบิลยู 760Li E66 เลขทะเบียน 1ด-1993

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรถยนต์พระที่นั่งดังนี้

  1. บีเอ็มดับเบิลยู 760Li E66 เลขทะเบียน 1ด-1993
  2. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ S500 LWB W221 Pre-Facelift เลขทะเบียน 1ด-3905
  3. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ S500 BlueEFFICIENCY LWB W221 Facelift เลขทะเบียน 1ด-6905
  4. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ S500 LWB W222 Pre-Facelift เลขทะเบียน 1ด-7905
  5. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ 600SEL W140 เลขทะเบียน ร.ย.ล.905
  6. เล็กซัส LS460L เลขทะเบียน 1ด-4905
  7. เล็กซัส LS600hL เลขทะเบียน 1ด-5905
  8. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ เวียโน V6 เลขทะเบียน 1ด-2553
  9. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ เวียโน V6 เลขทะเบียน 1ด-2555
  10. เมอร์ซิเดส-เบนซ์ สปรินเตอร์ CDi (พระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นรถพยาบาล)

ราชตระกูล

อ้างอิง

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๒๐ (๑) เล่ม ๑๓๓ ตอน ๑๐๙ ก หน้า ๘ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙
  3. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ
  4. ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโล่พระสมัญญา“วิศิษฏศิลปิน”[ลิงก์เสีย]
  5. อริยสิริ. รอยพระบาท ขัตติยนารี. นิตยสารครอบครัวพอเพียง. บริษัท ฐานการพิมพ์ จำกัด. ฉบับที่ 51. เมษายน 2555. ISSN 1906-5256. หน้า 24-27
  6. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  7. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระมิ่งขวัญครูไทย เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2531, ปีที่ 49, ประจำวันอังคารที่ 22 เมษายน 2546
  8. หมายกำหนดการ ที่ ๖/๒๔๙๘ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๒๔๙๘
  9. http://sirindhorn.net/hrh_new/index_0_1_1.php
  10. http://sirindhorn.net/hrh_new/index_0_1_1.php
  11. พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา), เล่ม ๙๔, ตอน ๑๓๑ก ฉบับพิเศษ, ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า ๑
  13. 13.0 13.1 Biography of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn จาก เว็บไชต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก (อังกฤษ)
  14. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับ วิชาประวัติศาสตร์ เก็บถาวร 2008-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไชต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  15. พระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จาก เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  16. พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
  17. เอไอที ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งหอเกียรติยศแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงนำความรู้ในหลักสูตรเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลไปทรงประยุกต์ใช้ในการพัฒนา จาก เว็บไซต์คมชัดลึก
  18. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงหลักสูตรการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ เก็บถาวร 2007-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  19. พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เก็บถาวร 2016-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  20. 20.0 20.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15 ข): 4–5. 5 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. พระราชประวัติ ทางด้านภาษาเขมร เก็บถาวร 2008-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  22. พระราชประวัติ ทางด้านภาษาฝรั่งเศส เก็บถาวร 2007-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  23. พระราชประวัติ ทางด้านภาษาบาลีและสันสกฤต เก็บถาวร 2007-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  24. ปริญญากิตติมศักดิ์ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากสถาบันการศึกษา เก็บถาวร 2007-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  25. "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระผู้สืบสานภูมิปัญญาไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2008-01-23.
  26. 26.0 26.1 26.2 พระราชประวัติด้านดนตรี เก็บถาวร 2007-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  27. ศรัณยา, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทยเดิม ร่วมวงปี่พาทย์ “บ้านปลายเนิน” ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2534, ปีที่ 49, วันที่ 13 พฤษภาคม 2546
  28. พูนพิศ อมาตยกุล, เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าพระบรมราชกุมารีทรงดนตรีไทย เก็บถาวร 2007-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  29. "สมเด็จพระเทพรัตน์ กับดนตรีไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-06. สืบค้นเมื่อ 2015-09-15.
  30. เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประชุมเพลงสวรรค์ เล่ม 1-2, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นางเจริญใจสุนทรวาทิน ต.ม.ม ร.ด.ม. (ศ) ศิลปินแห่งชาติ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555, กรุงเทพ: อัมรินทรืพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
  31. ไทยรัฐ, เจ้าฟ้าผู้ทรงเป็น "วิศิษฏศิลปิน" เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550
  32. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับการอนุกรักษณ์มรดกไทย ด้านภาษาไทย เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  33. อมรรัตน์ เทพกำปนาท, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และวิศิษฏศิลปิน เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  34. ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, “ร้อยประกายฉายชัดพระอัจฉริยญาณ” พระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ฉบับที่ 2455, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544
  35. พระราชกรณียกิจการทรงรับราชการ เก็บถาวร 2009-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  36. พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  37. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์โรงเรียนทหาร เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓, ฉบับพิเศษ, ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๑
  38. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗, ตอน ๘๒ง, ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓, หน้า ๑๒
  39. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๘, ตอน ๕๐ ง, ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔, หน้า ๒๕๙๓
  40. เว็บไซต์โครงการ "สื่อศิลปินรวมใจถวายฝนหลวง"
  41. "วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ของขวัญอันยั่งยืนที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวกัมพูชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-07-24.
  42. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  43. รศ.ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2476, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 2 เมษายน 2545
  44. วิศิษฏศิลปิน เก็บถาวร 2008-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  45. วันอนุรักษณ์มรดกไทย เก็บถาวร 2008-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  46. http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1qWXhOek0yT1E9PQ==&subcatid=
  47. บทความเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 4 รอบพระชันษา
  48. พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา เก็บถาวร 2008-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  49. 49.0 49.1 49.2 โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2008-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  50. 50.0 50.1 50.2 ไทยรัฐ, เจ้าฟ้านักพัฒนา ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตา เก็บถาวร 2008-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 เมษายน พ.ศ. 2550
  51. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-03. สืบค้นเมื่อ 2009-04-02.
  52. [1] เก็บถาวร 2009-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนและนับเป็นสมาคมวิชาชีพแห่งแรกที่มีพระกรุณาธิคุณ
  53. หน้าแรก
  54. รายชื่อห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี[2] เก็บถาวร 2009-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  55. Introduction - 65th IFLA Council and General Conference
  56. International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA)
  57. พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ เก็บถาวร 2008-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  58.  : ผู้จัดการออนไลน์ , รายงานพิเศษ : “สมเด็จพระเทพฯ” : ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน, 7 กรกฎาคม 2548
  59. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  60. โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  61. โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร เก็บถาวร 2008-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  62. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน เก็บถาวร 2008-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  63. โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  64. 64.0 64.1 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับพระพุทธศาสนา[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์ Sema.go.th
  65. แนวหน้า, วธ.แจกบัตรอวยพร- สมเด็จพระเทพฯพระราชทานโคลง"คืนวิสาข์" เก็บถาวร 2011-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 14 พฤษภาคม 2007
  66. ไทยรัฐ, วธ.พิมพ์ 2 แสนใบ การ์ดวันวิสาขะ[ลิงก์เสีย], 14 พฤษภาคม 2550
  67. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับพระพุทธศาสนา เก็บถาวร 2006-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  68. วัดท่าสุทธาวาส ๒ เก็บถาวร 2008-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
  69. วัดท่าสุทธาวาส[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  70. ความเป็นมา เก็บถาวร 2008-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  71. แนวทางการดำเนินงานตามพระราชดำริ เก็บถาวร 2008-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  72. เจ้าฟ้าไอที และ การพัฒนา เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 เมษายน 2551
  73. พิชามญชุ์, “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” ด้วยพระมหากรุณา ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,บับที่ 2528 ปีที่ 49 ประจำวัน อังคาร ที่ 1 เมษายน 2546
  74. โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย เก็บถาวร 2008-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  75. โครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ เก็บถาวร 2008-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  76. 76.0 76.1 องค์การยูเนสโกทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีแห่งยูเนสโก เก็บถาวร 2007-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  77. ยูเนสโกเทิด"พระเทพ" เจ้าหญิงไอที. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ปีที่ 28 ฉบับที่ 9873. วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2548. ISSN 1686-8188
  78. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2020-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
  79. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
  80. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐, เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๑๓๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙, ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๐
  81. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕
  82. 82.0 82.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง วันอังคารที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๐, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗, ๙ มกราคม ๒๕๒๑
  83. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  84. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
  85. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑๕ มกราคม ๒๕๑๘
  86. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๒๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒ สิงหาคม ๒๕๓๒
  87. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๐๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
  88. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
  89. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี, เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๕ ข หน้า ๔, ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
  90. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๙๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔, ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๕
  91. 91.0 91.1 91.2 91.3 91.4 91.5 "Biography of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn". The golden Jubilee Network. สืบค้นเมื่อ 28 February 2015.
  92. เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ[ลิงก์เสีย]
  93. Honorary Dame Grand Cross of the[ลิงก์เสีย]
  94. Associated Press of Pakistan. President confers Hilal-e-Pakistan upon Princess Maha Chakri Sirindhorn. เรียกดูเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556
  95. Xinhua Thai service. Xinhua Thai service จีนถวายเหรียญรางวัล[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562
  96. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  97. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  98. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 99 (ตอน 4 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 14 มกราคม 2525. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-27. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  99. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  100. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  101. 101.0 101.1 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์โรงเรียนทหารและพระราชทานพระยศทหาร
  102. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร
  103. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร
  104. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศกองอาสารักษาดินแดน ๑ นายกองเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมงกุฎราชกุมาร ๒ นายกองเอก สมเด็จพระเพทรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปียชาติ สยามบรมราชกุมารี ๓ นายกองโท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙, ตอน ๕๕ ง ฉบับพิเศษ, ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕, หน้า ๑
  105. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓, ตอน ๖ข, ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙, หน้า ๑
  106. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙, ตอนพิเศษ ๑๑๘ง, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕, หน้า ๑
  107. รางวัลพระเกี้ยวทองคำ เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  108. การแถลงข่าว ทูลเกล้าฯถวายสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2545[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  109. พระราชประวัติ ทางด้านภาษาอังกฤษ เก็บถาวร 2008-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  110. The 1991 Ramon Magsaysay Award for Public Service citation for Princess Maha C. Sirindhorn เก็บถาวร 2008-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจาก เว็บไซต์ รางวัลรามอน แมกไซไซ (อังกฤษ)
  111. ทศพิธ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับรางวัลอินทิรา คานธี ประจำปี ๒๕๔๗ เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2681, ปีที่ 52, วันที่ 7 มีนาคม 2549
  112. จีนถวายรางวัลพระเทพฯ 1 ใน10 มิตรที่ดีที่สุด เก็บถาวร 2011-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2552
  113. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย, เล่ม ๙๔, ตอน ๑๓๑ ก ฉบับพิเศษ, ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า ๗
  114. Thai Princess agrees to appointment as WFP special ambassador for School Feeding เก็บถาวร 2008-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ World food programme (อังกฤษ)
  115. UNESCO Celebrity Advocates : Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn จาก เว็บไซต์ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (อังกฤษ)
  116. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-30. สืบค้นเมื่อ 2010-06-28.
  117. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๒๑, เล่ม ๙๕, ตอน ๑๐๒ ก, ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑, หน้า ๕๕๐
  118. ราชกิจจานุเบกษา,ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๓๒, ตอน ๒๓ ก, ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘, หน้า ๙
  119. เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ เปิดศาลาไทย ณ ประเทศนอร์เวย์[ลิงก์เสีย] จากกรมธนารักษ์
  120. เหรียญที่ระลึกเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ดนตรีไทย เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์กรมธนารักษณ์
  121. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์กรมธนารักษ์
  122. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกระษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ ๓๖ พรรษา พ.ศ. ๒๕๓๔, เล่ม ๑๐๘, ตอน ๖๐ ง ฉบับพิเศษ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔, หน้า ๓
  123. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องออกใช้เหรียญกษาปน์ที่ระลึกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ ๕๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๘, เล่ม ๑๒๒ ,ตอนพิเศษ ๒๘ ง, ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑
  124. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกระษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒, ตอนพิเศษ ๕๗ ง ฉบับ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘, หน้า ๑๐
  125. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๔ รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอน ๕๖ ง, ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๑๖
  126. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เล่ม ๑๒๑, ตอน ๗๑ ง, ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗,หน้า ๑๐
  127. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๕๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เล่ม ๑๒๒, ตอน ๗๒ ง, ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๙
  128. 128.0 128.1 128.2 กรุงเทพธุรกิจ, สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2548
  129. 129.0 129.1 สิรินธร,Diary 2549/2006 สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม,อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, พ.ศ. 2548, ISBN 974-9931-37-8
  130. อารตี, รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2686, ปีที่ 52, ประจำวันอังคารที่ 11 เมษายน 2549
  131. มติชนออนไลน์, 'พระเทพฯ' ทรงเผยถึงช่วงเวลาทรงสำราญในการเล่นกับสุนัข ประดาสัตว์ วังสระปทุม เก็บถาวร 2008-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2550

แหล่งข้อมูลอื่น