โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (อังกฤษ: Mahidol Wittayanusorn School) เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2543[1] ในอดีตเคยตั้งอยู่ ณ วัดไร่ขิง ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยอยู่ในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนเอง โดยปกติมีอัตราการรับเข้าประมาณร้อยละ 1.5 (240 คนจากนักเรียนที่สมัครแต่ละปีประมาณ 20,000 คน)[2] โดยนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน)
Mahidol Wittayanusorn School (Public Organization)
ตราโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ป้ายทางเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ที่ตั้ง
แผนที่
พิกัด13°48′2″N 100°19′8″E / 13.80056°N 100.31889°E / 13.80056; 100.31889
ข้อมูล
ชื่ออื่นมวส. (MWIT)
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
คำขวัญบาลี: ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ
(คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา)
ก่อตั้ง
  • 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534; 33 ปีก่อน (2534-05-08) (สังกัดกรมสามัญศึกษา)
  • 26 สิงหาคม พ.ศ. 2543; 24 ปีก่อน (2543-08-26) (องค์การมหาชน)
รหัส1573072001
ผู้อำนวยการวรวรงค์ รักเรืองเดช
ผู้บริหารไพรินทร์ ชูโชติถาวร
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน
สี   สีน้ำเงิน-สีเหลือง
เพลงมาร์ชมหิดลวิทยานุสรณ์
ต้นไม้ศรีตรัง
เว็บไซต์www.mwit.ac.th

ประวัติ

แก้

แนวคิดริเริ่ม

แก้

มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความคิดที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในทางสาขาวิชานี้ เพื่อป้อนให้กับประเทศ ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับพื้นฐานที่ดีก่อนที่จะมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในการนี้ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รูปแบบดังกล่าวนี้หากขยายนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็จะผลิตกำลังคนได้สอดคล้อง กับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3]

โรงเรียนในช่วงแรก

แก้

ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และโกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยใช้พื้นที่ 35 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้กรมสามัญศึกษาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือสนับสนุนทางด้านวิชาการ รูปแบบการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใดเพื่อให้เหมาะสมในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนรู้ และพฤติกรรมของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรุ่นแรกในปีการศึกษา 2534 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระธรรมมหาธีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ให้ใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของทางวัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวไปจนกว่าอาคารเรียนของทางโรงเรียนในบริเวณของมหาวิทยาลัยจะเสร็จเรียบร้อย ในช่วงนั้นทางวัดไร่ขิงได้ให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนใช้บริเวณวัดทำการเรียนการสอน บริการเรื่องสาธารณูปโภค โดยไม่คิดมูลค่า ให้ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของทางวัดทำการเรียนการสอน อนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ของวัดมาสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งยังมอบเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุก ๆ ปี และยังได้รับความอุปการะจากบุญ วนาสิน ในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน ได้จ้างครูต่างชาติมาสอนวิชาภาษาอังกฤษปีละ 2 คนทุกปี จัดสร้างหอพักนักเรียนชายและหญิง ณ บริเวณโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้มีการลงนามร่วมกันอีกครั้งหนึ่งโดยบรรจง พงศ์ศาสตร์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา และประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงมาให้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ จำนวนระยะเวลา 30 ปี และตกลงให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสมปีการศึกษา 2538 โรงเรียนได้ย้ายสถานที่เรียนชั่วคราวที่วัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มาตั้งเป็นโรงเรียนเอกเทศ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดลจนถึงปัจจุบัน

โรงเรียนในสถานภาพองค์การมหาชน

แก้

ปี 2542 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ขณะนั้นมีนโยบายจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีลักษณะพิเศษต่างจากโรงเรียนทั่วไป ต่อมาจึงมีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. 2543 ให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[4] จุดมุ่งหมายของโรงเรียนตามที่กล่าวไว้ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นดังนี้

ให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีศักยภาพสูงทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ต่อมาใน พ.ศ. 2544 ได้มีแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในฐานะองค์การมหาชน คือ ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานในระบบองค์การมหาชนนี้ โรงเรียนได้รับการบริหารที่ยืดหยุ่นกว่าในระบบเดิมและได้รับงบประมาณที่มากขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

ความคาดหวังให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนนำร่อง[5] ได้ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2551 มีการขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งและจัดตั้งโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่งโดยใช้หลักสูตรอ้างอิงจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำหลักสูตรไปดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของมหาวิทยาลัย และยังมีแผนจะจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกจำนวน 207 โรงเรียน

จากการประเมินองค์การมหาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับการประเมินในระดับดีเด่น เป็นต้นแบบทางด้านวิธีการทำงาน กลไกการทำงาน หลักการดำเนินกิจการเพื่อประสบความสำเร็จ[6]

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2566[7]

ผลงานและเกียรติประวัติของโรงเรียน

แก้

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้ก่อตั้ง International Student Science Fair (ในอดีตเรียกว่า Thailand International Science Fair[8]) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนชั้นนำทางวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สืบเนื่องจากความสำเร็จในการจัดครั้งแรกจึงได้รับการสานต่อโดยโรงเรียนต่าง ๆ และในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ได้เวียนมาจัดที่โรงเรียนมหิดลวิทยานสุรณ์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนต่าง ๆ จากทั่วโลกอีกด้วย[9]

ทางด้านผลงานของนักเรียนและศิษย์เก่า นักเรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัลจากการแข่งขันทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันเพชรยอดมงกุฎ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศและระดับนานาชาติ การแข่งขันประลองความรู้ในหลากหลายสาขาวิชาเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า World Scholar's Cup[10] ทางโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก ศิษย์เก่าของโรงเรียนได้รับทุนการศึกษาทั้งจากการสมัครสอบผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และมีอีกจำนวนมากได้สมัครเข้าเรียนโดยตรงผ่านทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งที่มีความร่วมมือโดยตรงกับโรงเรียน และที่ไม่ได้มีความร่วมมือโดยตรงกับโรงเรียน[11]

หลักสูตรโรงเรียน

แก้

โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกับนักเรียนของโรงเรียนมีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 3 ปี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียน รอบด้าน ทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา รายวิชาพื้นฐานครอบคลุมหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการนอกจากนี้ยังจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมให้หลากหลาย สอดคล้องกับ ศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคลมีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและ ภายนอกห้องเรียน เพื่อมุ่งสร้างความเป็นพหุปัญญาสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลของ นักเรียน และ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งความรู้ ความคิด ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม[12]

ปัจจุบันโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566[13] ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 7 ปรับปรุงและพัฒนาจากหลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2562[14] โดยจุดเน้นของหลักสูตรฉบับนี้ คือการส่งเสริมนักเรียนให้มีความรู้รอบด้านโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และมุ่งเน้นให้นักเรียนมีคุณลักษณะของนักวิจัยและนวัตกร มีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล มีความคิดวิจารณญาณ มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนและบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีความตระหนักรู้และจัดการตนเอง มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีจิตสาธารณะมีความมุ่งมั่นสู่ความสําเร็จ มีความกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถสร้างและพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีความสามารถขับเคลื่อนการทํางานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีจิตสํานึกความเป็นไทย อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรม และมีความรับผิดชอบต่อการเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองของสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน เพื่อเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศและของโลกที่มุ่งทําประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป

ระบบคัดเลือกนักเรียน

แก้

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีระบบการคัดเลือกนักเรียน ที่ดำเนินการโดยบุคลากรของโรงเรียนเอง เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเป้าหมายของโรงเรียน ในอดีต การสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียนทำควบคู่ไปกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการ พสวท. จนถึงรุ่นที่ 16 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษา พ.ศ. 2549 โดยมีการสอบแบ่งเป็น 2 รอบ โดยในรอบแรกเป็นข้อสอบประเภทข้อเขียน ซึ่งมีทั้งข้อสอบประเภทปรนัยและอัตนัย ส่วนในรอบที่สองนั้น จนถึงรุ่น 17 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษาพ.ศ. 2550 เป็นการสอบพร้อมกับการเข้าค่ายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมีทั้งการสอบข้อเขียนแบบอัตนัย และการฟังบรรยายแล้วสอบจากเรื่องที่บรรยาย รวมถึงมีการให้นักเรียนได้เข้าใช้ห้องปฏิบัติการของทั้งสาขาวิชาชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนหอพัก เพื่อช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงเป็นการวัดความสามารถในการเรียนรู้ ที่ไม่สามารถเตรียมมาล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม จากรุ่น 18 หรือรุ่นที่เข้าปีการศึกษาพ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เนื่องจากได้ปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกนักเรียน ให้สามารถใช้ร่วมกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง และโครงการ วมว. จึงมีการปรับใช้การอ่านบทความแทนการฟังบรรยาย และเปลี่ยนให้การเข้าร่วมค่ายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นไปตามความสมัครใจแทน

การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ถือว่ามีความเข้มข้นสูงมาก โดยปกติแล้วตั้งแต่รุ่น 17 เป็นต้นมา มีนักเรียนมาสมัครเข้ารับการคัดเลือกประมาณ 20,000 คน สถิตินักเรียนสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์สำหรับรุ่นที่เข้าปีการศึกษา พ.ศ. 2562 มีจำนวน 22,321 คน[2] โดยโรงเรียนจะทำการคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนเป็นจำนวน 240 คน โดยนักเรียนที่ได้คะแนนเท่ากันเป็นอันดับสุดท้าย ทางโรงเรียนจะรับเข้าศึกษาด้วย

อาคารสถานที่

แก้
 
อาคารมหิดลวิทยานุสรณ์

ศูนย์วิทยบริการและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

แก้

เป็นแหล่งวิทยาการที่มีสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบครบถ้วนทุกสาขาวิชา จัดบริการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ การค้นคว้าวิจัย จนถึงเวลา 21.00 น. ทุกวันในช่วงเปิดภาคเรียน ภายในมีให้บริการหนังสือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้โรงเรียนได้เดินสายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงทุกอาคารภายในโรงเรียน มีจุดเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์มากกว่า 400 จุด นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งระบบสัญญาณเครือข่ายไร้สายทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นักเรียนและครูอาจารย์สามารถใช้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนติดต่อสื่อสาร และสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีให้บริการในศูนย์วิทยบริการ ห้องเรียน และห้องทำงาน หรือสามารถเข้าถึงได้จากหอพัก ห้องอาหาร สนามกีฬา หรือที่อื่น ๆ ที่สัญญาณเครือข่ายกระจายไปถึง

ห้องฉายภาพยนตร์

แก้

จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ The Centre for Astrophysics & Supercomputing, Swinburne University of Technology, Australia เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ที่จะช่วยจุดประกายเด็กและเยาวชน ให้เกิดความรักและสนใจในดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ช่วยในการเสริมสร้างจินตนาการให้สนใจศึกษาและค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งห้องฉายภาพยนตร์นี้โรงเรียนอนุญาตให้ชุมชนภายนอกสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยต้องนัดหมายล่วงหน้า หรือใช้บริการในวัน MWIT Science Fair ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีความยาวตั้งแต่ 9-19 นาที

หอพักสำหรับนักเรียนและบุคลากร

แก้

เนื่องจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนประจำ จึงจำเป็นต้องมีหอพักไว้สำหรับนักเรียน โดยจะแยกเป็นหอพักชาย 9 ชั้น 1 แห่ง (หอ 9) และหอพักหญิง 2 แห่ง (หอ 7 และ หอ 8) นอกจากนั้นยังมีหอพักสำหรับครูและบุคลากรเพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินกิจกรรมหลังจากเลิกเรียนได้ ในทุกวันหอพักนักเรียนจะเปิดตั้งแต่เวลา 05.00 ถึง 22.00 และจะตัดไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เวลา 24.00 ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งยังมีหอพักสำหรับรองรับนักเรียนแลกเปลี่ยนอีกด้วย (หอ 14)

ห้องปฏิบัติการ

แก้

โรงเรียนมีห้องปฏิบัติการเฉพาะสาขาวิชาที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การค้นคว้า ทดลอง และฝึกปฏิบัติต่าง ๆ อันได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการภาษา ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการเขียนแบบ ห้องปฏิบัติการช่างกลโรงงาน ห้องปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผา และห้องปฏิบัติการทัศนศิลป์ เป็นต้น ในส่วนของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้นได้แบ่งออกเป็น 3 สาขาคือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา นักเรียนที่ต้องการใช้บริการสามารถขอใช้บริการทั้งในและนอกเวลาได้ที่อาจารย์ของแต่ละสาขาวิชา

ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้ง

แก้

โรงเรียนมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬาและออกกำลังกายหลากหลายประเภท ได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส สควอช บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เซปัคตะกร้อ ว่ายน้ำ ลีลาศ แอโรบิค ศิลปะการป้องกันตัว หรือฟิตเนส ศูนย์กีฬาและสนามกีฬากลางแจ้งเปิดให้บริการ ถึงเวลา 20.00 น. ทุกวัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา

กิจกรรมเสริมหลักสูตร

แก้

กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้
  • กิจกรรมฝึกงานในศูนย์วิจัยในช่วงปิดภาคเรียน: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกงานและเรียนรู้กับนักวิจัยในสถานที่จริง
  • กิจกรรม MWIT Science Fair: นิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานที่ตนเองทำต่อสาธารณชน

กิจกรรมวิชาการอื่น ๆ

แก้
  • กิจกรรมค่ายวิชาการ: ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนโดยจัดบูรณาการระหว่างสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มีการทำโครงงานขนาดเล็กที่เรียกกันว่า Miniproject และพักอาศัยในค่ายพักแรมตามธรรมชาติ
  • กิจกรรมบรรยายพิเศษ: โรงเรียนได้เชิญบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆมาบรรยายเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเติมองค์ความรู้ใหม่ๆให้นักเรียนและให้ได้แนวคิดใหม่ๆในการทำโครงงานหรืองานวิจัยในอนาคต
  • กิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่: ให้นักเรียนได้ศึกษาดูงานตามสถานที่และศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม

กิจกรรมทางนันทนาการและสังคม

แก้
  • กิจกรรมสนับสนุนการออกกำลังกายและเล่นกีฬา: โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย รวมทั้งโรงเรียนยังมีการตรวจสุขภาพประจำปี การทดสอบสมรรถภาพ และโครงการ MWIT วัยใส ใส่ใจสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนได้รับทราบถึงสุขภาพของตนเองและพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
  • กิจกรรมค่ายบำเพ็ญประโยชน์: ส่งเสริมให้นักเรียนได้ช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณในการพัฒนาประเทศ
  • กิจกรรมค่าย Pre-MWIT: ค่ายสำหรับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์รอบแรก มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และให้นักเรียนได้มาพบประสบการณ์จริงในโรงเรียน
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยนกับนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายในต่างประเทศ: สร้างประสบการณ์ในการใช้ภาษาต่างประเทศและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดน

รายนามผู้อำนวยการโรงเรียน

แก้
รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กรมสามัญศึกษา
ผู้อำนวยการ ดำรงตำแหน่ง
1. สมจิตต์ บุตรดีมี 3 มิถุนายน 2534 – 27 พฤศจิกายน 2534
2. นิพนธ์ นุตพงษ์ 28 พฤศจิกายน 2534 – 9 มิถุนายน 2542
3. อ่องจิตต์ เมธยะประภาส 10 มิถุนายน 2542 – 9 ธันวาคม 2542
4. สมพงษ์ รุจิรวรรธน์ 20 มกราคม 2542 – 25 ตุลาคม 2543
5. นพพร สุวรรณรุจิ 27 ตุลาคม 2543 – 18 กุมภาพันธ์ 2544
รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน)
ผู้อำนวยการ ดำรงตำแหน่ง
6. ธงชัย ชิวปรีชา 19 กุมภาพันธ์ 2544 – 16 มีนาคม 2552
7. ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ 17 มีนาคม 2552 – 16 มีนาคม 2560
8. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล 17 มีนาคม 2560 – 28 กุมภาพันธ์ 2565[15]
9. วรวรงค์ รักเรืองเดช 1 มีนาคม 2565 – ปัจจุบัน[16]

รายชื่อสาขาวิชาและฝ่าย

แก้

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดระบบการบริหารโดยหลัก ๆ เป็น 2 ส่วนคือ บุคลากรกลุ่มครูสังกัดสาขาวิชา และบุคลากรกลุ่มปฏิบัติการสังกัดฝ่าย ดังต่อไปนี้[17]

สายวิชาการ

แก้
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • สาขาวิชาศิลปศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ

สายสนับสนุน

แก้
  • ฝ่ายบริหารการเรียนรู้และระบบโรงเรียนประจำ
  • ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
  • ฝ่ายบริหารทรัพยากรและความปลอดภัย
  • ฝ่ายบริหารงานทั่วไป

เหตุการณ์สำคัญ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ประวัติโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  2. 2.0 2.1 "จำนวนผู้สมัครสอบคัดเลือกทั้งหมด เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา (จำแนกตามโรงเรียนที่ผู้สมัครเลือกสอบเข้าเรียน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "เหตุผลของการจัดตั้งโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-21. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  4. คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 30 ปี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. (2563). บันทึกความทรงจำ 30 ปี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์.
  5. "พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  6. เปิดผลประเมิน 35 องค์การมหาชน
  7. สรุปข่าวมติคณะรัฐมนตรี 21 กุมภาพันธ์ 2566
  8. สถาพร วรรณธนวิจารณ์. (2549). The 1st Thailand International Science Fair at Mahidol Wittayanusorn School, November 24-28, 2005. @Science(1), 10-12.
  9. "MWIT Partner Schools". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  10. "World Scholar's Cup Success". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-21. สืบค้นเมื่อ 11 January 2012.
  11. "MWIT Student Achievements". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  12. "หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-21. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
  13. "หลักสูตร – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์".
  14. หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562
  15. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมต้อนรับ ดร. วรวรงค์ รักเรืองเดช ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  16. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดงานแสดงกตเวทิตาจิต แด่ รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล เนื่องในโอกาสครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-25. สืบค้นเมื่อ 2017-01-30.
  18. พวงรัตน์ อินทรฤทธิ์ และ ประดิษฐ นวลจันทร. (2560). บันทึกเหตุอัคคีภัยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์.
  19. "The 7th International Student Science Fair 2011". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-14. สืบค้นเมื่อ 11 January 2012.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้