สยามมกุฎราชกุมาร
สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารของประเทศไทย ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ไทย โดยสยามมกุฎราชกุมารจะดำรงพระยศนี้ไปจนกว่าพระมหากษัตริย์จะสวรรคตหรือสละราชสมบัติ
สยามมกุฎราชกุมาร | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน ตำแหน่งว่าง ตั้งแต่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 | |
การเรียกขาน | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
สมาชิกของ | ราชวงศ์จักรี |
ผู้แต่งตั้ง | พระมหากษัตริย์ไทย |
วาระ | ตลอดพระชนม์ชีพหรือจนกว่าจะสืบราชสมบัติ |
ผู้ประเดิมตำแหน่ง | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร |
สถาปนา | 14 มกราคม พ.ศ. 2430 |
พระอิสริยยศนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงแต่งตั้งไว้แล้ว
ประวัติ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงตรากฎมนเทียรบาลซึ่งมีการลำดับยศของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั่วไป ในกฎมณเฑียรบาลนั้นลำดับพระยศของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเป็น "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" มีพระเกียรติยศเหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แต่ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท จนกระทั่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระราชกำหนดศักดินาพลเรือนขึ้น จึงทรงกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสนดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช แต่ตำแหน่งพระมหาอุปราชก็หาได้แต่งตั้งในทุกแผ่นดินไม่[1]
ส่วนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ในทุกรัชกาล โดยเป็นตำแหน่งสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้มีความดีความชอบยิ่งใหญ่เฉพาะพระองค์ เมื่อพระมหาอุปราชพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีความชอบเสมอเหมือน พระมหากษัตริย์ก็มิทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่พระมหาอุปราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พระองค์มีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท[2] จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 และโปรดให้มีตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทรงเป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์สืบไป
ธงประจำพระอิสริยยศ
-
ธงเยาวราช -
ธงเยาวราชใหญ่ -
ธงเยาวราชน้อย
ธงประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เรียกว่า ธงเยาวราช มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ธงมีพื้นสีขาบ ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน รูปเครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช กล่าวคือ ตรงกลางเป็นรูปโล่ ในโล่แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นสีเหลืองบอกนามสยามเหนือ สยามใต้ และสยามกลาง ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพูหันออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างซ้ายเป็นรูปกฤชคดและตรง สองอันไขว้กันอยู่บนพื้นแดงบอกนามสัญญามลายูประเทศ เบื้องบนแห่งโล่มีจักรีไขว้กันและมีพระมหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี แต่เครื่องสูงข้างโล่ของธงเยาวราชนั้นเป็น 5 ชั้น ธงเยาวราชนี้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จโดยอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น [3]
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้ยกเลิกธงเยาวราชแล้วเปลี่ยนเป็น ธงเยาวราชใหญ่ และ ธงเยาวราชน้อย[4] ปัจจุบัน ธงเยาวราชใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมี 2 สี พื้นรอบนอกสีขาบ พื้นรอบในสีเหลืองกว้างยาวครึ่งส่วนของพื้นรอบนอก ตรงกลางรอบในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ส่วนธงเยาวราชน้อยแบ่งความยาวออกเป็น 2 ตอน ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงเยาวราชใหญ่แต่กว้างไม่เกินกว่า 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ[5]
เครื่องราชอิสริยยศ
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประจำตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในปัจจุบัน ประกอบด้วย[6]
- พระสุพรรณบัฏ พร้อมหีบทองคำลงยา ภปร. ประดับเพชร และพระราชลัญจกร
- หมวดเครื่องศิราภรณ์
- พระอนุราชมงกุฎ
- พระมาลาเส้าสูงเครื่องทองคำลงยา
- หมวดเครื่องศัสตราวุธ
- พระแสงฝักทองเกลี้ยง
- พระแสงกระบี่สันปรุทองคำลงยาศีรษะนาคสามเศียร
- หมวดเครื่องราชภรณ์อันเป็นมงคล
- พระสังวาลพระนพน้อย พระประคำทองคำ พระดิ่งทองคำสายทอง พระตะกรุดทองคำลงยาประดับเพชรสายทอง พระธำมรงค์นพรัตน์
- หมวดเครื่องราชูปโภค
- พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม พระคนโททองคำลงยาพร้อมพานรอง พระสุวรรณศรีทองคำลงยา หีบพระศรีไม้แดงหุ้มทองคำลงยาพร้อมพานรอง ที่ชงทองคำเครื่องพร้อม กากระบอกทองคำ
รายพระนามสยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 3 พระองค์ ได้แก่
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
- ↑ "พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-09. สืบค้นเมื่อ 2010-08-07.
- ↑ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖
- ↑ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
- ↑ "ภาพเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-26. สืบค้นเมื่อ 2010-08-10.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗, หน้า ๓๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2009-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙, ตอน ๒๐๐ ก, ฉบับพิเศษ, ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕, หน้า ๑