โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งอยู่บริเวณท้ายพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 มีอาณาเขตของโรงเรียนตั้งอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอก (บางส่วน) และเขตพระราชฐานชั้นใน (บางส่วน) เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย อนุบาล 1-2 ประถมศีกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย ศูนย์ทดลองเด็กหูหนวกปฐมวัย (นักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน) จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นโรงเรียนสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนพระตำหนักสวกุหลาบ Phra Tumnuk Suankularb School | |
---|---|
เครื่องหมายประจำโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ | |
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | พ.ส.ก./P.S.K. |
ประเภท | รัฐ |
คำขวัญ | ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย ปัญญาเทียวประเสริฐกว่าทรัพย์ |
สถาปนา | 2 เมษายน พ.ศ. 2525 |
ผู้อำนวยการ | นางจินดา สรรประสิทธิ์ |
สี | ม่วง-เหลือง |
เพลง | สมเด็จพระปิยชาติ |
เว็บไซต์ | www |
โทรศัพท์ 02-222-6561, 02-222-4871 |
ประวัติโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
แก้การดำเนินการจัดตั้ง
แก้พุทธศักราช 2525 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมอาคารพระตำหนักสวนกุหลาบและอาคารโรงโขนซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 500 เมตร ให้ใช้การได้และมีพระราชดำริว่าในอดีตพระตำหนักสวนกุหลาบเคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนมาก่อน ฉะนั้นเมื่อซ่อมแซมแล้วก็ควรให้เป็นโรงเรียนเหมือนเดิม เพื่อพัฒนาคนและชุมชนไปด้วย และจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง สำนักพระราชวังได้มีหนังสือด่วนมากให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง และขอให้ดำเนินการจัดตั้งในปีการศึกษา 2525 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้นำเสนอคณะกรรมการการประถมศึกษากรุงเทพมหานครในการประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2525 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการจัดตั้งโรงเรียนและได้กราบบังคมทูลพระราชทานชื่อโรงเรียน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" คณะกรรมการการประถมศึกษากรุงเทพมหานครจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2525 และแต่งตั้ง นางสาวกาญจนา เมฆสวรรค์ ตำแหน่งอาจารย์ 2 โรงเรียนอนุบาลสามเสน (สำนักงานสลากกินแบ่งอุปถัมภ์) รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
การขยายชั้นเรียน
แก้17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเปิดทำการสอนเป็นวันแรก โดยใช้อาคารโรงโขนเป็นอาคารเรียน เปิดสอน 5 ห้องเรียน คือ อนุบาล 1 จำนวน 2 ห้อง อนุบาล 2 จำนวน 2 ห้อง และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้อง มีนักเรียนทั้งสิ้น 104 คน เป็นโรงเรียนสหศึกษาและขยายชั้นเรียนปีละ 1 ชั้น จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2530
1 มิถุนายน พ.ศ. 2525 สำนักพระราชวังขอให้สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานครเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเรียกว่า "ศูนย์ปฐมวัยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" รับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ถึง 4 ขวบ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบ)
ปีการศึกษา 2526 โรงเรียนเปิดสอนเด็กหูหนวกปฐมวัย 2 ห้อง ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการทดลองเรียกว่า "โครงการศูนย์ทดลองเด็กหูหนวกปฐมวัย" ฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้เด็กหูหนวกระดับก่อนวัยเรียน รับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบ ใช้เวลาเตรียมความพร้อม 3 ปี (ต่อมาเพิ่มเวลาเรียนเป็น 4 ปี) โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการซ่อมอาคารไม้สองชั้นใกล้กับโรงโขนเป็นที่เรียน
ปีการศึกษา 2530 นักเรียนรุ่นแรกจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรจากสมเด็จองค์ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาประจำโรงเรียน ด้วยถือว่าจบระดับการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน และรุ่นต่อๆมาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอด จนถึงปีการศึกษา 2546 ซึ่งนับเป็นปีสุดท้ายที่นักเรียนซึ่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร โดยนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษาถัดมา จึงไม่ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร เนื่องจากมีการวางแผนขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น และเว้นว่างการพระราชทานประกาศนียบัตรไป 3 ปีการศึกษา
ปีการศึกษา 2548 โรงเรียนได้รับการอนุมัติให้ขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน และขยายชั้นเรียนปีละ 1 ชั้น จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2550 และนักเรียนซึ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษาดังกล่าว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จองค์ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาประจำโรงเรียน ให้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรอีกครั้ง ด้วยถือว่าจบระดับการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน
คณะกรรมการสถานศึกษา
แก้การดำเนินงานของโรงเรียนเดิมมีคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนคณะหนึ่งเพื่อดำเนินงานตามพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งต่อมาคณะกรรมการคณะนี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็นคณะกรรมการศึกษาประจำโรงเรียน (ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาประจำโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2525) โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2525
ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาประจำรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2525 และประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยคณะกรรมการโรงเรียนประถมศึกษา และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จำนวน 15 คน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการเหมือนเดิม
โรงเรียนอนุบาลมหามงคล
แก้วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลมหามงคล ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านมหามงคล ถนนพุทธมณฑลสาย 2 แขวงบางไผ่ เขตภาษีเจริญ เป็นสาขาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในหมู่บ้านมหามงคล ซึ่งเป็นบุตรหลานของข้าราชบริพารและเด็กบริเวณใกล้เคียงให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเรียนในระดับประถมศึกษาและเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี โดยในปีการศึกษา 2538 เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 จำนวน 1 ห้อง และขยายถึงชั้นอนุบาล 2 อีก 1 ห้อง ในปีการศึกษา 2539
ฝ่ายบริหารโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
แก้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
แก้รายพระนาม/รายนาม | ตำแหน่ง |
---|---|
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์ประธานกรรมการ |
เลขาธิการพระราชวัง | กรรมการ |
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ | กรรมการ |
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน | กรรมการ |
เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย | กรรมการ |
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร | กรรมการ |
ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ | กรรมการ |
เลขานุการกรมสำนักพระราชวัง | กรรมการ |
นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ | กรรมการ |
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา | กรรมการ |
นายสมเกียรติ ขอบผล | กรรมการ |
นางพัฒนา เกตุกาญจโน | กรรมการ |
ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างฝีมือในวัง(หญิง)(วิทยาลัยในวังชาย) | กรรมการ |
ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)(วิทยาลัยในวังหญิง) | กรรมการ |
ผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ | กรรมการและเลขานุการ |
ทำเนียบผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
แก้รายนามผู้อำนวยการ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
คุณกาญจนา เมฆสวรรค์ | พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2531[1] |
นางนภา สุวรรณเทศ | พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2533 |
นางอุดมศิลป์ ศรีสมบูรณ์ | พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2549 |
นางพัฒนา เกตุกาญจโน | พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2561 |
นางจินดา สรรประสิทธิ์ | พ.ศ. 2562- ปัจจุบัน |
สถานที่ภายในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
แก้ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอก
แก้- พระตำหนักสวนกุหลาบ อาคารซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรงเรียน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระตำหนักสวนกุหลาบ (องค์จำลอง) เป็นที่ตั้งห้องเรียน ป.6/3 และห้องภาษาอังกฤษ
- โรงโขน อาคารไม้ขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธคันธรรพนาถ เป็นอาคารที่ตั้งของห้องผู้อำนวยการ ห้องรองผู้อำนวยการและห้องธุรการ ด้านหน้าของโรงโขนเป็นที่โล่งกว้างใช้ในการประกอบพิธีการต่าง ๆ เช่น พิธีวันพ่อ-วันแม่ ด้านหลังเป็นที่ตั้งของห้องครัวและห้องพัสดุ
- อาคารใหม่ อาคาร 3 ชั้นสร้างเสร็จในปีการศึกษา 2548 ชั้นหนึ่ง เป็นใต้ถุนโล่งกว้างและห้องสมาร์ทสคูล ชั้นสอง เป็นห้องคอมพิวเตอร์ 2 ห้องและห้องประชุม ชั้นสาม เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 2 ห้องและห้องสมุด
- สระพระองค์อรไทยฯ สระน้ำมีหลังคาคลุมเป็นโครงสร้างไม้หลังคาสังกะสีตั้งอยู่ข้างโรงโขน เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งภายในโรงเรียน
- อาคารศูนย์ทดลองเด็กหูหนวกปฐมวัย
- ศาลาแปดเหลี่ยม เป็นศาลาขนาดเล็กอยู่หน้าห้องสหกรณ์ เป็นที่นั่งพักของนักเรียนและผู้ปกครองก่อนกลับบ้าน อดีตเคยเป็นร้านค้าขายของว่างให้นักเรียน
- อาคารอเนกประสงค์ 1 อาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอาคารพระตำหนักสวนกุหลาบ ชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่กว้าง ใช้เรียนหนังสือ ชั้นสองเป็นที่ตั้งของห้องเรียน ป.6/1 และ ป.6/2
- อาคารอเนกประสงค์ 2 อาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณข้างโรงโขน ชั้นหนึ่งเป็นที่ตั้งห้องสหกรณ์และห้องเก็บของ ชั้นสองเป็นห้องประชุมเล็ก
- อาคารอเนกประสงค์ 3 อาคาร 2 ชั้น เป็นที่ตั้งห้องเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้นละ 2 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 6 ห้องเรียน
- โรงยิม ใช้เป็นที่เรียนพละและยิมนาสติก
- ป้อมมณีปราการ เป็นอาคารที่ตั้งของห้องเรียนจริยศึกษา อดีตเคยเป็นห้องสมุด เป็นหนึ่งในอาคารป้อมรอบพระบรมมหาราชวังอยู่ระหว่างมุมด้านทิศใต้และทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง
ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน
แก้- แถวเต๊ง เป็นอาคารที่ตั้งของห้องเรียนชั้น ป.1-ป.5 ชั้นละ 3 ห้อง ห้องเรียนดนตรีไทย 3 ห้อง ห้องเรียนศิลปะ ห้องเรียนนาฏศิลป์ 2 ห้อง ห้องเรียนดนตรีสากล ห้องศูนย์สื่อคณิตศาสตร์ ห้องพยาบาล 2 ห้อง ห้องวัดผลและห้องพิพิธภัณกึ่งฑ์วิทยาศาสตร์ 3 ห้อง (กำลังดำเนินการปรับปรุง)
- อาคารเรียนปฐมวัย อาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น รูปทรงตัวยู ทอดยาวจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก แต่เดิมเป็นที่ประทับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์จิ๋ว ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาชำรุดทรุดโทรม ในปี พ.ศ. 2525 จึงได้มีการซ่อมแซมบูรณะอาคารหลังนี้และใช้เป็นอาคารที่ตั้งของห้องเรียนปฐมวัย 1-2 ชั้นละ 2 ห้อง รวมทั้งสิ้น 4 ห้องเรียน
- อาคารเรียนอนุบาล
- สนามฝ่ายใน
อ้างอิง
แก้- หนังสือรุ่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ปีการศึกษา 2550
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์