โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล (อักษรย่อ: พ.ส.ม.) จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 300 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย
โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล Phra Tamnak Suankulab Mahamongkol School | |
---|---|
ตราประจำโรงเรียน | |
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 13°48′56″N 100°19′04″E / 13.815655°N 100.317863°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | พ.ส.ม. (P.S.M.) |
ประเภท | รัฐบาล |
คำขวัญ | บาลี: ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย (ปัญญาเทียวประเสริฐกว่าทรัพย์) |
สถาปนา | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 |
ผู้ก่อตั้ง | สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
ผู้อำนวยการ | จำเริญ สีมารัตน์ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | อนุบาล-ประถมศึกษา |
สี | สีม่วง - สีเหลือง |
เพลง | เพลงมาร์ชโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติโรงเรียน
แก้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ณ บริเวณพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ปัจจุบันโรงเรียนได้มีการพัฒนาสามารถจัดการศึกษาได้มาตรฐาน คุณภาพสูง เป็นที่นิยมของผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป มีนักเรียนประสงค์จะเข้าเรียนเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับได้ ประกอบกับโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายบริเวณได้อีก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีกระแสพระดำริให้พิจารณาจัดตั้งโรงเรียนสาขาขึ้นใหม่อีก 1 แห่งบริเวณหมู่บ้านมหามงคล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อรองรับบุตรข้าราชบริพารที่พักอาศัย บริเวณหมู่บ้านมหามงคล และเด็กที่อยู่ในวัยเรียนทั่วไป พร้อมทั้งเป็นศูนย์ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริ โดยสำนักพระราชวังได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินจำนวน 18 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้าง และได้พระราชทานนามว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2540 และปี พ.ศ. 2541 ให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครปฐม ในวงเงินงบประมาณ 20,093,000 บาท ดำเนินการถมดินปรับปรุงพื้นที่ 5,154,000 บาท สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 1 หลัง จำนวน 6 ห้องเรียน งบประมาณ 3,300,000 บาท อาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช. 206/26 จำนวน 1 หลัง งบประมาณ 2,200,000 บาท ส้วมแบบ สปช. 602/26 จำนวน 2 หลัง งบประมาณ 534,000 บาท
โรงเรียนเปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 สอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 จำนวน 35 คน ชั้นอนุบาล 2 จำนวน 35 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 46 คน รวม 3 ห้องเรียน จำนวน 116 คน โดยมีนางละออ วัฒนไพโรจน์ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่เป็นคนแรก มีครู 7 คน
ปีงบประมาณ 2542 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบพระตำหนักสวนกุหลาบ 4 ชั้น 20 ห้องเรียน บ้านพักครู 6 หน่วย และเสาธง เป็นเงิน 12,634,000 บาท และงบประมาณก่อสร้างรั้ว รอบโรงเรียนยาว 666 เมตร ซุ้มประตู หอพระ ถนนส่วนที่ 1 กว้าง 5 เมตร ยาว 234 เมตร 2 เลน และถนนส่วนที่ 2 กว้าง 5 เมตร ยาว 198 เมตร รวมงบประมาณ 9,228,200 บาท
ปี 2543 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบพระตำหนักสวนกุหลาบ หลังที่สอง 4 ชั้น 20 ห้องเรียน ขนาดพื้นที่กว้าง 9.40 เมตร ยาว 58.00 เมตร เป็นเงิน 9,900,000 บาท สร้างแล้วเสร็จ วันที่ 2 มีนาคม 2544 และได้รับงบประมาณ 100,000 บาท สร้างลานอเนกประสงค์ แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544
ปีการศึกษา 2544 เปิดรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 เพิ่มเป็นจำนวน 6 ห้อง 180 คน ชั้นประถม ศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 ห้องเรียน นักเรียน 240 คน
ปี 2549-2550 ได้รับงบประมาณ 15,800,000 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนแบบพระตำหนักสวนกุหลาบ หลังที่สาม 4 ชั้น 10 ห้องเรียน พร้อมห้องประชุม ห้องสมุด ห้องอินเทอร์เน็ต ห้องวิชาการ ห้องพยาบาล ห้องธุรการ และห้องผู้บริหาร
ปี 2551 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง) ได้ให้ความอนุเคราะห์งบประมาณในการปรับปรุงห้องสมุด และห้องทรงงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเงิน 1,450,000 บาท
พระพิพัฒนวิริยาภรณ์ (ปัจจุบันคือพระเทพศาสนาภิบาล (แย้ม กิตฺตินฺธโร)) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ได้ให้ความอนุเคราะห์งบประมาณ ปรับปรุงห้องศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนา เป็นเงิน 100,000 บาท
เมื่ออาคารทั้งสามหลังสร้างเสร็จเรียบร้อย โรงเรียนได้เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานชื่ออาคารเรียนทั้งสามหลัง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตลอดจนประชาชนจังหวัดนครปฐม
ปี 2552 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้สำนักราชเลขาธิการ นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่า-ละอองพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล คือ อาคารสิรินธรรังสรรค์ อาคารเฉลิมขวัญปิยชาติ อาคารราชสุดาประสิทธิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียนทั้งสามหลัง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 เวลา 09.00 น.
ปี 2552 ได้รับรางวัลนักเรียนรางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษา ขนาดใหญ่
ปี 2553 ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษา ขนาดใหญ่ และได้รับเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School)
ปี 2554 โรงเรียนได้จัดสร้างศูนย์สื่อปฐมวัย และศูนย์มัลติมีเดีย เป็นอาคารขนาด 3 ชั้น สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เด็กปฐมวัย และเป็นศูนย์การเรียนนักเรียนโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล
ปี พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับก่อนประถมศึกษา ขนาดใหญ่
ปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนได้รับพระราชทานชื่ออาคารเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "อาคารสิรินธรวิทยพัฒน์"
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารสิรินธรวิทยพัฒน์
ผู้บริหารโรงเรียน
แก้- นางละออ วัฒนไพโรจน์ (18 พฤษภาคม พ.ศ. 2541-30 กันยายน พ.ศ. 2552) เป็นครูใหญ่คนแรก เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
- นายวิเชียร รุ่งทวีชัย (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552-30 กันยายน พ.ศ. 2559)
- ดร.ชำนาญ ทัดมาลี (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 -30 กันยายน 2561)
- นางจำเริญ สีมารัตน์ (ยังไม่แน่ชัด-ปัจจุบัน)
อ้างอิง
แก้- หนังสืออนุสรณ์โรงเรียน "เพชรพระตำหนัก ๑"