พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก (อังกฤษ: Golden Jubilee) เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตามคติสากล
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 | |
---|---|
ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี | |
วันที่ | 8–10, 12, 14, 23 มิถุนายน และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เหตุการณ์ก่อนหน้า | พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531 |
เหตุการณ์ถัดไป | พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549 |
จัดโดย | รัฐบาลไทย |
พระราชพิธีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ทรงครองราชสมบัติ เป็นปีที่ 50 ใน พุทธศักราช 2538 และครบรอบ 50 ปีจริงในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างวันที่ 8-10,12,14,23 มิถุนายน ,7พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 รวมทั้งสิ้น 7 วัน
พระราชพิธีนี้ รัฐบาล สมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา และ ประชาชนชาวไทย เป็นผู้ร่วมกันจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ
กำหนดการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
แก้- วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 16.30 น.
พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
- วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 10.00 น.
พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า และเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
- วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 16.30 น.
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ 59 รูป ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
- วันพุธที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 17.00 น.
คณะทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 15.00 น.
พิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ณ บริเวณถนนราชดำเนิน จากท้องสนามหลวง ถึงลานพระราชวังดุสิต
- วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2539 เวลา 15.30 น.
พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
รัฐพิธี
แก้รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีถวายพระพรชัยมงคล ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังเช่นที่ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เวลา 19.30 น. งานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระพรชัยมงคล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
การประชาสัมพันธ์
แก้โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539
แก้ตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ออกแบบโดย นางสาววิยะดา เจริญสุข (เป็นแบบตราที่ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์งานดังกล่าวโดยกรมศิลปากร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อแก้ไขปรับปรุงแบบตราเพิ่มเติมก่อนพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้) ประกอบด้วย พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นหลักสำคัญ มีตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพานเครื่องสูง 2 ชั้น ที่มักอยู่ในมโนภาพของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีช้าง 2 เชือก เทินตราพระราชลัญจกร อยู่ภายใต้พระเศวตฉัตร ซึ่งสามารถแปลความหมายได้หลายทาง ดังนี้
- ช้าง เป็นพระราชพาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเสมือนข้าช่วงใช้ของพระมหากษัตริย์ จึงเปรียบได้กับประชาชน ซึ่งเสมือนเป็นข้ารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในสัญลักษณ์จึงเสมือนพสกนิกรเทิดทูนและเชิดชูองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์จักรี ขณะเดียวกัน ก็อยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้ร่มพระมหาเศวตฉัตร
- ช้างเผือก เป็นสัตว์คู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ช้างเผือกที่มีลักษณะตรงตามตำรา จะมีส่วนช่วยเกิดทั้งแสนยานุภาพ และพระปรีชาสามารถ ความรอบรู้ แก่องค์พระมหากษัตริย์ จึงแสดงถึงความเป็นผู้มีบุญญาธิการ และทรงพระปรีชาญาณ
- ช้าง มีความเป็นมาคู่กับประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอด อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่เคยใช้ในธงชาติไทยในอดีต และเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว จึงเปรียบได้กับประเทศไทย ซึ่งก็มีอายุและประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นกัน
- ช้าง เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ที่สมควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ การนำมาใช้ในตราสัญลักษณ์ฯ ก็เพื่อหวังผลต่อเนื่อง ที่อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเล็งเห็นความสำคัญ ของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และช่วยกันเกื้อกูลอนุรักษ์ไว้บ้าง และหากแม้ว่าวันข้างหน้าช้างสูญพันธุ์ไป อย่างน้อยก็ยังมีรูปพรรณ และความเป็นมาของช้าง หลงเหลือไว้ในตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ด้านล่างมีแพรแถบบรรจุข้อความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539
กรมศิลปากร มีความมุ่งหมายให้ตราสัญลักษณ์ สื่อความหมาย ดังนี้ คือ
- เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- จะต้องแสดงให้ประจักษ์ในศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดทั้งเอกลักษณ์ของชาติ อย่างถูกต้อง
- แสดงให้ประจักษ์ในความภาคภูมิใจ ที่ชาวไทยได้มี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระปรีชาญาณยิ่ง และทรงปกครองประชนชาวไทย ในระบอบประชาธิปไตย อย่างร่มเย็นเป็นสุข มาถึง 50 ปี
- แสดงให้ประจักษ์ในความเป็นชาติ ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน
ของที่ระลึก
แก้คณะกรรมการฝ่ายจัดทำของที่ระลึก ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐจัดทำของที่ระลึกเนื่องในวโรกาสดังกล่าว ดังต่อไปนี้
- เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
- ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 500 บาท และ 50 บาท โดยธนบัตรชนิดราคา 500 บาทแบบแรกที่ผลิตขึ้นคล้ายคลึงกับแบบที่ 14 แต่แตกต่างจากตรงที่ตราสัญลักษณ์ แบบที่ 2 เป็นพอลิเมอร์คล้ายคลึงกับธนบัตรชนิดราคา 50 บาทแบบที่ 13 จะแตกต่างกันตรงที่วัสดุ และแบบที่ 3 เป็นธนบัตรชนิดราคา 500 บาทพอลิเมอร์ลักษณะด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฉลองพระองค์ ครุย มหาจักรีบรมราชวงศ์ ด้านหลังเป็นภาพโครงการพระราชดำริที่สื่อถึงพระองค์ มีความพิเศษที่ธนบัตรชนิดราคา 50 บาทคือเมื่อ นำธนบัตรส่องกับแสงแบตไลท์ มีพระปฐมบรมราชโองการว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งมีความเป็นพิเศษ
- การสื่อสารแห่งประเทศไทย จัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก
ถาวรวัตถุที่ระลึก
แก้นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของรัฐอื่น ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นที่ระลึก ประกอบด้วย ถนนกาญจนาภิเษก โดยกระทรวงคมนาคม โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก โดยกระทรวงศึกษาธิการ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ [1] ซึ่งเป็นเจดีย์เฉลิมพระเกียรติจัดสร้างโดยวัดทางสาย เป็นต้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ถนนกาญจนาภิเษก
แก้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นโดยกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวง ล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาปัญหาปริมาณการจราจรและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง รวมทั้งยังเป็นทางเลี่ยงที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเชื่อมโยงเส้นทางสายหลัก ที่มุ่งไปสู่ทุกภาคของประเทศ
ถนนวงแหวนสายนี้ มีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 165 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ ฝั่งตะวันตก เริ่มจากอำเภอบางปะอิน ผ่านอำเภอบางบัวทอง สิ้นสุดที่เขตบางขุนเทียน (68 กิโลเมตร), ฝั่งตะวันออก เริ่มจากอำเภอบางปะอิน ผ่านจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานครตอนเหนือ สิ้นสุดที่อำเภอบางพลี (63 กิโลเมตร) และ ฝั่งใต้ เริ่มจากอำเภอบางพลี เชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สิ้นสุดที่เขตบางขุนเทียน (34 กิโลเมตร)
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญนามพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เป็นชื่อถนนวงแหวนสายนี้ พร้อมกันนั้น กรมทางหลวงยังดำเนินการ เปลี่ยนหมายเลขทางหลวง จากทางหลวงหมายเลข 37 เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 อีกด้วย
โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย
แก้กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐบาลไทย กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานจัดตั้งโรงเรียนระดับสามัญศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น ขึ้นจำนวน 9 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสมหามงคลนี้ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามว่า โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ประกอบกับชื่อจังหวัดอันเป็นที่ตั้ง ดังมีรายนามต่อไปนี้
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
- โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก
แก้กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐบาลไทย จัดตั้งวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษา สังกัดกรมอาชีวศึกษาในขณะนั้น ขึ้นจำนวน 7 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสมหามงคลนี้ โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ประกอบชื่อท้าย ดังรายนามต่อไปนี้
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
- วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
- กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ
แก้พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
แก้พระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาธงชัย บริเวณวัดทางสาย ตำบลเขาธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 60 กิโลเมตร หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทุ่มเทสร้างผลงานชิ้นนี้อย่างสุดฝีมือและถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นชีวิต โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ” [3]
สถานที่เพื่อจัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
แก้อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นอำเภอซึ่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอกรณีพิเศษ โดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ มีการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีการตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ใน 5 จังหวัด ดังนี้
อ้างอิง
แก้- ↑ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ พระมหาธาตุเจดีย์แห่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เว็บกะปุก Kapook
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-04-17.
- ↑ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
ดูเพิ่ม
แก้- พระราชพิธีรัชดาภิเษก พ.ศ. 2514
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530
- พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
- พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554