หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540) สถาปนิก ออกแบบสถาปัตยกรรมไทยมีความชำนาญในการออกแบบผูกลาย ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปีพ.ศ. 2530[1]
หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว., จ.ภ. | |
---|---|
![]() ปกหนังสือประวัติและผลงานของ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี | |
เกิด | 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 (82 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
มีชื่อเสียงจาก | ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิก |
บิดามารดา | หม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี หม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา |
รางวัล |
พ.ศ. 2530 - ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) |
ประวัติแก้ไข
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เกิดที่บ้านสี่กั๊กพระยาศรี ริมถนนเจริญกรุง ตำบลพาหุรัด อำเภอพาหุรัด (ขณะนั้น) กรุงเทพมหานคร เป็นโอรสของ พันโท หม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี และหม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 รวมอายุได้ 82 ปีด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์
ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยมี นาย ชวน หลีกภัยเข้าร่วมในพระราชพิธี
การศึกษาแก้ไข
- พ.ศ. 2466 :ประถมศึกษา โรงเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม
- พ.ศ. 2470 :มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
- พ.ศ. 2475 :มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส
- พ.ศ. 2478 :อนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทำงานแก้ไข
หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรีสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา ในปี พ.ศ. 2481 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังได้เข้ารับราชการที่กรมโยธาธิการ โดยได้รับมอบหมายให้ ออกแบบอาคารราชการหลายหลังได้ขึ้นไปปฏิบัติงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจะย้ายเมืองหลวงไปที่นั่น ได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมรุสำหรับเผาคนที่ตายเพราะพิษไข้ป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นท่านก็ได้ทำงานส่วนตัวไปพร้อม ๆ กัน โดยออกแบบบ้านซึ่งเป็นที่นิยมชมชื่นของเจ้าของบ้านเป็นอันมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ทางกรมศิลปากรได้ ขอตัวหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ จากกรมโยธาธิการ ให้ไปสังกัดอยู่กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ช่วงเวลานี้ท่านได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดชลบุรี พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ปราสาทจำลอง ซึ่งนำไปแสดง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2501 นอกจากนั้นยังได้ออกแบบเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งใช้เป็นเมรุในการพระราชพิธีตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
ท่านยังได้รับเชิญให้ เป็นอาจารย์พิเศษสอนสถาปัตยกรรมไทยให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในระหว่างนี้ท่านได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทออกแบบเขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างที่ประทับแบบพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตำหนักที่ประทับและที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ต่อมา
ในปี พ.ศ. 2504 หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณขอลาออกจากราชการเพื่อปฏิบัติงานส่วนตัว แต่เมื่อทรงทราบได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาปฏิบัติราชการ ในพระราชวัง สังกัดสำนักพระราชวัง ในตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก และปฏิบัติราชการในฐานะสถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวัง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยตั้งแต่ออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทั้งยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบพระตำหนักเพิ่มเติม ได้แก่ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งหอพระประจำราชนิเวศน์ด้วย นอกจากนั้นยังโปรดฯ ให้เป็นผู้ควบคุมตกแต่งสถานที่พระราชนิเวศน์แห่งนี้ทั้งหมด ส่วนที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ซ่อมแซมสระสรงที่ตำหนักที่ประทับต่อมาเมื่อมีพระราชประสงค์ สร้างพระตำหนักเพิ่มเติม เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมทั้งหมดส่วนที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อมีพระราชประสงค์จะต่อเติมพระตำหนักส่วนใด ก็จะโปรดเกล้าให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้เขียนแบบและต่อเติมขึ้น พร้อมทั้งเขียนแบบการตกแต่งภายในทั้งหมดส่วนที่พระบรมมหาราชวัง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณได้รับผิดชอบ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ที่นั่งองค์ต่าง ๆ ในช่วงนี้
เมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ พอจะมีเวลาว่างมากขึ้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณไปช่วยงานด้านพระศาสนาออกแบบอาคารต่าง ๆ ในวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี งานที่สำคัญ ได้แก่ พระมหามณฑปพระพุทธบาท “ภปร” “สก” ศาลานาคเลนน้ำนานาชาติ
นอกจากงานออกแบบในวัดญาณสังวรารามแล้ว ยังได้ออกแบบพระอุโบสถ เจดีย์ ที่วัดตรีทศเทพฯ ศาลาที่ระลึกครบ 150 ปี ของวัดบวรนิเวศวิหารนอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณยังได้ออกแบบตรามหาวิทยาลัยมหิดล ตรามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตราสวนหลวง ร.9
และเมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ มีอายุครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติราชการต่อไปอีกจนถึงอายุ 65 ปี หลังจากนั้น จึงขอรับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยมิขอรับเงินเดือน และไปปฏิบัติราชการทุกวันในช่วงนี้ได้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างอาคารหลาย ๆ หลัง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้แก่ วัดญาณสังวราราม วัดตรีทศเทพฯ วัดบวรนิเวศน วิหาร วัดถ้ำผาปล้อง จังหวัดเชียงใหม จะเห็นได้ว่า หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ได้ปฏิบัติงานออกแบบสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมสม่ำเสมอมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่จบการศึกษามา ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในการออกแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรมไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับนับถือในงานวิชาการสถาปัตยกรรมจนทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. 2530 หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ยังได้ออกแบบเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งใช้เป็นเมรุในพระราชพิธีต่อมาจนทุกวันนี้
- 2482 :ช่างตรีแผนกสำรวจกองผังเมืองและช่างสุขาภิบาล กรมโยธาธิการ
- 2484 :ช่างตรีแผนกออกแบบ กองสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการ
- 2485 :ช่างตรีแผนกสถาปัตยกรรม กองแบบแผนและผังเมือง
- 2492 :รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกแบบแผน กองแบบแผนและผังเมือง กรมโยธาธิการ
- 2494 :ผู้ช่วยโทแผนกแบบแปลน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
- 2494 :ช่างโทหัวหน้าแผนกแบบแผน กรมศิลปากร
- 2495 :หัวหน้าแผนกตรวจงาน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
- 2496 :นายช่างผู้ช่วยโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2498 :นายช่างโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2504 :นายช่างศิลปเอก กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- 2507 :หัวหน้ากองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง
ผลงานดีเด่นระหว่างปฏิบัติราชการกรมศิลปากรแก้ไข
- วิหารพระพุทธสิหิงค์จังหวัดชลบุรี
- เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส
- ร่วมกับหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากรออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งตกแต่งภายในพระตำหนัก และจัดตกแต่งสวนรอบพระตำหนัก
- เรือนรับรอง สำหรับผู้ติดตาม (State visit) ในพระบรมมหาราชวัง
- ออกแบบศาลาไทย โดยนำเค้าโครงจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปแสดงณ ประเทศเบลเยี่ยม กรุงบรัสเซลส์ในงาน World Exposition ปี พ.ศ. 2501
- ตกแต่งภายในห้องไทย ที่เจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
ผลงานส่วนตัวแก้ไข
- เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านพักอาศัยทั้งในแบบสากล และแบบบ้านไทย
- ออกแบบตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- ออกแบบอาคารไทยลายทอง เป็นการนำอาคารแบบไทยมาปรับปรุงใช้เป็นอาคารพาณิชย์ อาคารไทยลายทอง โรงแรมมณเฑียร ถนนสุรวงศ์
รางวัลและเกียรติคุณแก้ไข
- 2513 :ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2514 :ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- 2530 :รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- 2537 :ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2538 :ได้รับยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรม กรมกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[5]
- พ.ศ. 2514 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[6]
- พ.ศ. 2514 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)[7]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๑๘, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๒๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๔๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- ศิลปินแห่งชาติ เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน