ศาสตราจารย์

(เปลี่ยนทางจาก ศาสตราจารย์พิเศษ)

ศาสตราจารย์ (อักษรย่อ ศ.[1]) คือผู้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะวิทยาการเฉพาะด้าน หรือผู้สอนผู้มีความชำนาญระดับสูง ศาสตราจารย์อาจได้รับการคัดเลือกแล้วแต่งตั้งตามตำแหน่งทางวิชาการ หรือมีคุณวุฒิในระดับที่ควรแก่การยกย่อง มีคนในวงการอ้างถึงและยกผลงานให้เป็นทฤษฎี หรือมีผลงานวิจัยที่ส่งผลกระทบโดยกว้าง

ความหมายของ ศาสตราจารย์ (อังกฤษ: professor) แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในกลุ่มเครือจักรภพ (ยกเว้นแคนาดาและไอร์แลนด์) คำนี้หมายถึง อาจารย์อาวุโสที่ดำรงตำแหน่งระดับภาควิชา โดยเฉพาะหัวหน้าภาควิชา หรือหมายถึงตำแหน่งที่ได้รับเป็นการเฉพาะบุคคล สำหรับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งสำหรับอาจารย์อาวุโสในสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ตำแหน่งศาสตราจารย์ในอเมริกาและแคนาดาเปิดกว้างสำหรับอาจารย์จำนวนมากกว่าตำแหน่งในกลุ่มเครือจักรภพ

หลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย คำว่า ศาสตราจารย์ ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนจำกัด เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในเครือจักรภพ สำหรับประเทศไทยคำว่า ศาสตราจารย์ สามารถใช้นำหน้าชื่อได้ตามที่บุคคลนั้นต้องการ

ประเทศที่พูดภาษาสเปนในลาตินอเมริกา คำว่า ศาสตราจารย์ (สเปน: profesor) ใช้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่สอนในโรงเรียน สถาบัน โรงเรียนเทคนิค โรงเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยไม่คำนึงถึงระดับของเนื้อหาวิชา หรือระดับชั้นหรืออายุของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งรวมไปถึงระดับอนุบาล ประถม มัธยมด้วยเป็นต้น ถึงเช่นนั้นก็ตาม ศาสตราจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยจะระบุว่าเป็น ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย

ประเภทของศาสตราจารย์

แก้

ตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ

แก้

ศาสตราจารย์ที่ต้องทำผลงานวิจัยและ/หรือแต่งตำรา

แก้

ศาสตราจารย์ประเภทนี้ เป็นศาสตราจารย์ที่เป็นพื้นฐานหลักของมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งประจำ เช่น เป็นข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย (รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเอกชน) ที่สอนประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันอุดมศึกษา โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย หรือระเบียบตามกฎหมายของประเทศนั้น

ศาสตราจารย์คลินิก

แก้

ศาสตราจารย์คลินิกจะแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านการสอนและการค้นคว้าวิจัยในภาคปฏิบัติ เช่น แพทย์เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่สอนนักศึกษาแพทย์ด้านคลินิก มีการค้นคว้าทดลองวิธีการรักษา หรือค้นพบสิ่งใหม่ในทางปฏิบัติ ได้นำผลนั้นมาเผยแพร่และสอนทางปฏิบัติที่มีคุณค่าทางวิชาการ แต่มีรูปแบบของผลงานไม่เข้าเกณฑ์ที่ใช้ขอตำแหน่งตามปกติ ในต่างประเทศ มีการตั้งตำแหน่ง ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ (professor of practice) สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพนั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาวิชาชีพ เช่น สาขาการออกแบบวางแผน หรือการบัญชีเชิญมาเป็นอาจารย์สอนประจำแบบไม่เต็มเวลา หรือไม่ครบ 4 องค์ประกอบหลัก บางครั้งเรียก "adjunct professor"

ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

แก้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แต่งตั้งจาก "อาจารย์ประจำ" ผู้เคยเป็นศาสตราจารย์มาแล้วจากการวิจัยและ/หรือแต่งตำราของมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญพิเศษได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสาขาวิชานั้นมาก่อน และเกษียณอายุราชการแล้ว ที่สถาบันอุดมศึกษา เห็นสมควรแต่งตั้งเพื่อให้สร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาให้แก่ภาคหรือสาขาวิชานั้นต่อไป โดยถือว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งยังคงมีสิทธิ์ใช้ชื่อศาสตราจารย์นำหน้า และยังสามารถบ่งบอกสังกัดตนได้ต่อไปจนถึงแก่กรรม ตำแหน่งนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "professor emeritus" ซึ่งธรรมเนียมการใช้ชื่อในภาษาอังกฤษจะใช้โยงกับสาขาวิชา เช่น Professor Emeritus of Mathematics Isaac Newton หรือ Isaac Newton, Professor Emeritus of Mathematics เป็นต้น

ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ไม่ประจำ หรือแต่งตั้งโดยวิธีอื่น

แก้

มหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งบุคคลภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญยิ่งในสาขาวิชาที่เป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการชั้นเยี่ยม มีมาตรฐานสูงทางคุณธรรม จริยธรรม และมีความซื่อตรงต่อวิชาชีพ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น โดยมหาวิทยาลัยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนหรือเงินตอบแทนจากทุนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจที่เป็นงานทางวิชาการ โดย

ศาสตราจารย์พิเศษ

แก้

ศาสตราจารย์พิเศษ อักษรย่อ ศ.(พิเศษ) เป็นศาสตราจารย์ที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันนั้น โดยต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านวิชาการ ที่อาจจะเป็นอาจารย์พิเศษทรงคุณวุฒิสูง และทำหน้าที่สอนให้มหาวิทยาลัยมานาน หรือเป็นบุคคลที่ได้อุทิศตัว มีความรู้มีประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านการประเมิน โดยการกลั่นกรองจากสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาเสนอ

ศาสตราภิชาน

แก้

ศาสตราภิชาน มาจากสมาสคำ 2 คำ คือ ศาสฺตฺร แปลว่า วิชา กับคำว่า อภิชาน แปลว่า รู้ยิ่ง ศาสตราภิชาน จึงแปลว่า ผู้ที่รู้ยิ่งในศาสตร์ของตน ภาษาอังกฤษใช้ว่า distinguished scholar หรือ named professor หมายถึง ตำแหน่งที่ไม่ใช่การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งมาทำงานในมหาวิทยาลัย[2] สำหรับเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งที่มีผู้มาตั้งไว้พร้อมทั้งเงินตอบแทนหรือเงินเดือน เป็นตำแหน่งที่ตั้งไว้สำหรับผู้มีความรู้ความชำนาญสูงสุดเป็นที่ยอมรับในหมู่ปราชญ์สาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเชิญมา มักเป็นตำแหน่งที่มีชื่อผู้อุปถัมภ์ประจำอยู่ อาจเป็นเงินสนับสนุนจากภายนอกมหาวิทยาลัย อาจเป็นนักวิชาการที่เคยหรือไม่เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็ได้ ตำแหน่งศาสตราภิชานที่มีเกียรติสูงเป็นตำแหน่งเฉพาะสาขาวิชา มีตำแหน่งเดียวและมักเป็นตำแหน่งตลอดชีพ จะว่างเมื่อผู้ครองตำแหน่งถึงแก่กรรม ไร้ความสามารถ หรือลาออก

ในต่างประเทศ ตำแหน่งศาสตราจารย์ในกลุ่มนี้ เช่น Lucasian professor of mathematics ซึ่งเป็นตำแหน่งศาสตราภิชานที่เรียกเต็มว่า "Lucasian Chair of Mathematics" เป็นตำแหน่งที่ เฮนรี ลูคัส ตั้งไว้ที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อ พ.ศ. 2206 และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ในปีถัดมา (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) นับถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับตำแหน่งนี้เพียง 17 คน ในจำนวนนี้ ไอแซก นิวตันอยู่ในลำดับที่ 2 และสตีเฟน ฮอว์คิงซึ่งได้รับตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จนถึง พ.ศ. 2561

ศาสตราจารย์กิตติเมธี

แก้

ศาสตราจารย์กิตติเมธี คือศาสตราจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญยิ่งในศาสตร์สาขาเฉพาะตนซึ่งมหาวิทยาลัยเชิญมาทำงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรในศาสตร์สาขานั้น เป็นตำแหน่งที่กำหนดระยะเวลาและค่าตอบแทนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดมาจากกองทุนมหาวิทยาลัย [3]มีความหมายว่าเป็นนักปราชญ์หรือนักวิจัยผู้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจตรงกับ research professor ของบางประเทศ มีการตั้งศาสตราจารย์ประเภทนี้แพร่หลายขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน

ศาสตราจารย์อาคันตุกะ

แก้

ศาสตราจารย์อาคันตุกะ หรือ ศาสตราจารย์รับเชิญ (visiting professor) ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ[4] แต่เป็นตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่สถาบันแต่งตั้งจากอาจารย์ประจำสถาบันอื่นหรือผู้ทรงคุณวุฒินอกมหาวิทยาลัย ให้มาสอนหรือวิจัยภายในช่วงเวลาหนึ่ง อาจารย์ที่ได้รับเชิญนั้นอาจดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ก็ได้ บุคคลที่เป็นอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ได้[5]

ศาสตรเมธาจารย์

แก้

ศาสตรเมธาจารย์ หรือ ศาสตราจารย์อาวุโส หรือ ศาสตราจารย์เกียรติยศ ในภาษาอังกฤษคือ chair professor หมายถึง ตำแหน่งเกียรติยศเพื่อเป็นการยกย่องศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำในมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำทางวิชาการในระดับนานาชาติและได้แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าเป็นผู้นำใน การยกมาตรฐานของมหาวิทยาลัยในด้านการสอน การวิจัย และการบริการทางการศึกษา [6]

ศาสตราจารย์พิศิษฐ์

แก้

ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ มีผลงานดีเด่น ประสบความสำเร็จในการค้นพบและการเรียนการสอน และเป็นผู้นำทางวิชาการของสาขาวิชานั้น ๆ ในระดับนานาชาติ เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าศาสตราจารย์ปรกติ ซึ่งเทียบได้กับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย (university professor) ในระบบอเมริกัน [7]

ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์

แก้

ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ หมายถึง ตำแหน่งเกียรติยศที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญและทำประโยชน์อย่างยิ่งให้แก่มหาวิทยาลัยและสังคม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฮาร์บิน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่ง ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงเชี่ยวชาญศาสตร์หลายสาขา ทรงใช้ความรู้แขนงต่าง ๆ ช่วยพัฒนาประเทศ และทรงมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงได้รับการถวายตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ สาขาคหกรรมศาสตร์ จากสถาบันการอาหารชั้นสูงแห่งมณฑลเสฉวน

ศาสตราจารย์อุปการคุณ

แก้

ศาสตราจารย์อุปการคุณ เป็นตำแหน่งสำหรับศาสตราจารย์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่หน่วยงาน มหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง และได้รับความยอมรับนับถือในแวดวงวิชาการด้านนั้น ๆ อย่างสูง เช่น ศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ ผู้ริเริ่มวิชาการบัญชีในประเทศไทยและผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ปรมัตถ์

แก้

ศาสตราจารย์ปรมัตถ์ เป็นตำแหน่งพิเศษที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดให้เป็นศาสตราจารย์ระดับสูงสุดของสถาบัน โดยข้อบังคับของราชวิทยาลัยระบุว่า ผู้สมควรดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นบุคคลซึ่งทำคุณประโยชน์แก่สถาบันและสังคมเป็นอย่างสูงทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งยังมีผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง[8] โดยราชวิทยาลัยได้ถวายตำแหน่งดังกล่าวแด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นพระองค์แรก ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[9]

ผลงานและการพิจารณา

แก้

ศาสตราจารย์ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงทฤษฎี การวิจัย เขียนบทความทางวิชาการ หรือตำราเรียน ที่ผ่านการประเมินเฉพาะสาขาวิชานั้นๆ มาแล้ว ศาสตราจารย์ที่ไม่ต้องทำผลงานวิจัย หมายถึง ผู้ที่เขียนบทความทางวิชาการ (หรือหนังสือ) ที่มีข้อเสนอเชิงวิชาการจำนวนมาก ต้องเป็นแนวคิดใหม่ และต่อมาคนในวงการเรียก ข้อเสนอหรือแนวคิดใหม่ ดังกล่าวนั้น ว่า ทฤษฎี ดังเช่น Albert Einstein ที่ไม่เคยทำงานวิจัย หรือเข้าห้องทดลอง แต่เสนอเรื่องสัมพัทธภาพระหว่างความเร็วและเวลา และต่อมาคนในวงการเรียกข้อเสนอดังกล่าวว่าทฤษฎี (ผู้เสนอไม่มีสิทธิเรียก แนวคิดของตนเองว่า ทฤษฎี)

หากเป็นงานวิจัยที่เป็นลักษณะสากล (วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์) ควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนงานวิจัยระดับดีเลิศ มักเกี่ยวข้องกับงานเชิงทฤษฎี หรือกฎเกณฑ์ใหม่ ที่ไขปริศนา หรือพิสูจน์สมมุติฐานที่มีผู้สร้างไว้ งานวิจัยระดับดีมาก หรือดีเลิศนั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น แต่มักได้รับการกล่าวถึง หรืออ้างอิงถึง โดยงานวิจัยอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง จำนวนการอ้างอิงนี้ ถึงบ่งบอกถึงความสำคัญของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ไม่ใช่จำนวนรางวัลที่ได้รับ

ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน

แก้

ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานระดับศาสตราจารย์จำนวนหนึ่ง มิได้สอนในมหาวิทยาลัย และมิได้มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เลือกที่จะทำงานในบริษัทเอกชน มักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ามหาวิทยาลัยระดับกลางค่อนข้างมาก ตัวอย่างบริษัทเอกชนที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในสาขาต่างๆ เช่น ในสาขาไอที ได้แก่ ไมโครซอฟท์[ต้องการอ้างอิง] สาขาการแพทย์ ได้แก่ Biogen[ต้องการอ้างอิง] สาขาสื่อสาร ได้แก่ AT&T[ต้องการอ้างอิง] สาขาการเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การท่องเที่ยว การโรงแรม และผลงานวิจัยจากบริษัทเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ (รวมถึงศาสตราจารย์) ในสาขานั้น ๆ ทั่วโลก

ศาสตราจารย์ในแต่ละประเทศ

แก้

ศาสตราจารย์ในประเทศไทย

แก้

ในประเทศไทย ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความรู้สูง และมีผลงานด้านการศึกษาของบุคคลนั้น ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา ศาสตราจารย์ประเภทอื่นอาจมีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป ตามประเภทของศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ระดับสูงสุด เรียกว่า ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ (หรือศาสตราจารย์ในระดับ C-11 เดิม) [10] ผู้ที่เป็นศาสตราจารย์ สามารถใช้คำว่า ศาสตราจารย์ นำหน้าชื่อเพื่อลงชื่อในหนังสือ เอกสาร งานสารบรรณ เสมือนยศหรือคำนำหน้าชื่ออย่างอื่น [11][1]

การแต่งตั้งศาสตราจารย์ในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) และทบวงมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แล้วการแต่งตั้งก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย จะต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งเช่นกัน

สำหรับตำแหน่งศาสตราภิชานอาจเป็นตำแหน่งที่มีกำหนดเวลา มักขึ้นกับปีงบประมาณหรือกองทุนศาสตราภิชานของมหาวิทยาลัยที่เชิญ ส่วนศาสตราจารย์กิตติเมธีในประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาปฏิบัติ งานวิจัยและบริการวิชาการที่นอกเหนือและสูงกว่างานของศาสตราจารย์ประจำ เช่น กิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อย่างไรก็ดี ทั้งตำแหน่งศาสตราภิชานและศาสตราจารย์กิตติเมธี อาจมีเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งไม่เหมือนกัน เช่น ศาสตราภิชานของไทยมีวาระเพียงปีเดียว

อนึ่ง การใช้ชื่อ ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยกำหนด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ "กิตติคุณ" ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้ "เกียรติคุณ" เป็นต้น ซึ่งความเป็นอาจารย์ประจำในกรณีนี้ หมายถึง การผูกพันเป็นการประจำกับคณะที่ขอแต่งตั้ง ต่างกับศาสตราจารย์เกษียณอายุที่ได้รับการต่ออายุราชการถึง 65 ปี ซึ่งถือเป็นการทำงานประจำเต็มเวลาปกติเหมือนอาจารย์ประจำทั่วไป ในประเทศไทยยังมีผู้เข้าใจว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกทั่วไปเพื่อเป็นเกียรติเท่านั้น โดยไม่ต้องเป็นศาสตราจารย์มาก่อนซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ศาสตรเมธาจารย์ในประเทศไทย ได้รับการพิจารณาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ได้ทุน ศาสตรเมธาจารย์ สวทช (NSTDA Chair Professor) โดยพิจารณาจากความสามารถทางการวิจัย สามารถเป็นแกนนำกลุ่มวิจัยขั้นสูง[12] โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับการประกาศเป็นศาสตรเมธาจารย์ทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[13] ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[14] ศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวันเพ็ญ ชัยคำภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[15] และ ศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[16]

ศาสตราจารย์ของไทย ส่วนมากไม่มีผลงานในเชิงทฤษฎี แต่เป็นผลงานงานวิจัย พิสูจน์สมมติฐาน ที่ได้รับการยอมรับว่า 'ดีมาก' ถ้าเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับของไทย (เช่น ประวัติศาสตร์ไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย โบราณคดี) ควรได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการของราชบัณฑิตสภา หรือวารสารวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติ มิใช่เพียงวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

แก้

ในสหรัฐอเมริกามีตำแหน่งทางวิชาการหลักใน 3 ระดับ โดยศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งสูงสุด ถัดจากนั้นก็จะเป็นรองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยในสหรัฐอเมริกาตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะเป็นตำแหน่งที่ได้รับเริ่มแรกหลังจากเข้าบรรจุทำงาน

ศาสตราจารย์ในประเทศญี่ปุ่น

แก้

ตำแหน่งการทำงานเต็มเวลาในวงการวิชาการ ศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ใช้ชื่อว่า เคียวจุ (ญี่ปุ่น: 教授โรมาจิKyōju) โดยถัดมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่เรียกว่า จุนเคียวจุ (ญี่ปุ่น: 准教授โรมาจิJunkyōju)

รางวัลราชบัณฑิต

เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ มีเก้าอี้จำนวนจำกัด จะพ้นวาระก็ต้องเมื่อถึงแก่กรรมเท่านั้น ดังเช่น มี 2 ตำแหน่งสำหรับสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งต้องคัดเลือกจากศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ นับหลายร้อยคน จากหลายสิบสาขา มีบางกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญสูงสุดมิได้ทำงานในสถาบันการศึกษา จึงอาจไม่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เป็นได้ ผู้ที่มีตำแหน่งดังกล่าว มีสิทธิที่จะคำว่า ราชบัณฑิต ต่อท้ายชื่อได้

จำนวนศาสตราจารย์ในประเทศไทย[17]

ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2561) ประเทศไทยมีจำนวนผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(ระบบนำเข้าข้อมูล) และให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสังกัด โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ รวมทั้งสิ้น 1,041 คน แบ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำ 804 คน ศาสตราจารย์พิเศษ 122 คน และศาสตราจารย์ญาณวิทย์ (ศาสตราจารย์ ระดับ 11 เดิม) 115 คน โดยจำแนกตามสังกัด ดังนี้[18]

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 247 คน
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล 243 คน
  3. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 189 คน
  4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 155 คน
  5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 88 คน
  6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 64 คน
  7. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 62 คน
  8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 37 คน
  9. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 22 คน
  10. มหาวิทยาลัยศิลปากร 22 คน
  11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 20 คน
  12. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 20 คน
  13. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 20 คน
  14. มหาวิทยาลัยรามคำแหง 18 คน
  15. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 16 คน
  16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 16 คน
  17. มหาวิทยาลัยนเรศวร 11 คน
  18. มหาวิทยาลัยสยาม 10 คน
  19. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 8 คน
  20. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 8 คน
  21. มหาวิทยาลัยพะเยา 7 คน
  22. มหาวิทยาลัยบูรพา 6 คน
  23. มหาวิทยาลัยสยาม 5 คน
  24. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 5 คน
  25. วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ 5 คน
  26. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 5 คน
  27. มหาวิทยาลัยรังสิต 4 คน
  28. มหาวิทยาลัยพายัพ 4 คน
  29. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 4 คน
  30. มหาวิทยาลัยทักษิณ 4 คน
  31. มหาวิทยาลัยคริสเตียน 3 คน
  32. มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ 3 คน
  33. มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 3 คน
  34. มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น 3 คน
  35. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 คน
  36. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 3 คน
  37. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 คน
  38. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2 คน
  39. มหาวิทยาลัยเกริก 2 คน
  40. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 2 คน
  41. มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น 2 คน
  42. สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ 2 คน
  43. มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 คน
  44. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2 คน
  45. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2 คน[19] [20]
  46. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 1 คน
  47. มหาวิทยาลัยนครพนม 1 คน
  48. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 1 คน
  49. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 1 คน
  50. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 1 คน
  51. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 1 คน
  52. มหาวิทยาลัยศรีปทุม 1 คน
  53. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 1 คน
  54. วิทยาลัยนครราชสีมา 1 คน
  55. วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ 1 คน
  56. วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย 1 คน
  57. สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 1 คน
  58. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 1 คน
  59. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 1 คน
  60. โรงเรียนนายเรือ 2 คน
  61. โรงเรียนนายเรืออากาศ 2 คน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. ๒๕๓๖ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๑๔. ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๖.
  2. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  3. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  4. พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์, หน้า 571
  5. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  6. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  7. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  8. ข้อบังคับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์. ว่าด้วย การแต่งตั้งศาสตราจารย์ปรมัตถ์ (Paramattha Professor) พ.ศ. ๒๕๖๔
  9. Thailandplus (2022-07-08). "สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์".
  10. สกอ. เล็งยกเลิกระบบซีเปลี่ยนเป็นระบบแท่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เก็บถาวร 2009-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสารสภาอาจารย์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552
  11. การใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม. ราชบัณฑิตยสถาน.
  12. คุณสมบัติผู้สมัครรับทุน NSTDA Chair Professor
  13. ดุษฎี สนเทศ มติชนรายวัน 10 มิย. 2552คอลัมน์ คนตามข่าว
  14. [1]
  15. [2]
  16. [3]
  17. "ข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการแห่งชาติ. สกอ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-24. สืบค้นเมื่อ 2013-06-10.
  18. "จำนวนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-26. สืบค้นเมื่อ 2011-08-09.
  19. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00138407.PDF[ลิงก์เสีย]
  20. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/108/4.PDF