กลุ่มงูเห่า
กลุ่มงูเห่า เป็นชื่อเรียก ส.ส. กลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคประชากรไทย มีที่มาจากคำเปรียบเปรยของ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น ที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนาที่ถูกงูเห่ากัดในนิทานอีสป
เหตุการณ์เกิดขึ้น หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปลายปี พ.ศ. 2540 และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติ จะสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีแทน ด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ (ส.ส. 125 เสียง) พรรคชาติพัฒนา (52 เสียง) พรรคประชากรไทย (18 เสียง) และ พรรคมวลชน (2 เสียง) รวม 197 เสียง
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ (123 เสียง) ต้องการสนับสนุน นายชวน หลีกภัย โดยร่วมกับ พรรคชาติไทย (39 เสียง) พรรคเอกภาพ (8 เสียง) พรรคพลังธรรม(1 เสียง) พรรคไท (1 เสียง) และพรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิต 2 พรรคได้แก่ พรรคกิจสังคม (20 เสียง) และ พรรคเสรีธรรม (4 คน) รวมได้ 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อยู่เพียง 1 เสียง
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น จึงได้ชักชวน ส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คนเข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 สียง และทำให้ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เหลือเพียง 184 เสียง นายชวน หลีกภัย จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย มีมติพรรค ไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นายสมัครที่เดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กลับต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยเหลือ ส.ส. ในสังกัดเพียง 4 คนไม่นับตัวเองคือ นายสุมิตร สุนทรเวช น้องชายของนายสมัคร นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และ นายสนิท กุลเจริญ
อย่างไรก็ดี หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกที่สนับสนุนนายชวน ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ทันที
หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือน ชาวนา ในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า" ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมา งูเห่า นั้นก็ฉกชาวนาตาย ซึ่งนายสมัคร เปรียบเทียบงูเห่า กับแกนนำของ ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัด พรรคชาติไทย แต่หลังจากมีความขัดแย้งกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรรคสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัด พรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาก็มีการกระทำ ที่ขัดต่อมติพรรคดังกล่าว ทำให้ต่อมา สื่อมวลชน เรียก ส.ส. 12 คนนี้ตามคำพูดของนายสมัครว่า "กลุ่มงูเห่า" อยู่เป็นเวลานาน
ต่อมาพรรคประชากรไทยตอบโต้ โดยมีมติขับไล่สมาชิกกลุ่มนี้ออกจากพรรค ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นสภาพ ส.ส. และกลุ่มงูเห่าได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสินว่าการดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามมติพรรคหรือไม่ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ว่า สมาชิกภาพของกลุ่มงูเห่าไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจาก สส. มีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และมติขับไล่ ออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด
หลังพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แกนนำกลุ่ม ส.ส. ดังกล่าวได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรี จากรัฐบาล นายชวน หลีกภัย 4 ตำแหน่ง คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประกอบ สังข์โต ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในเวลาต่อมา นายวัฒนา อัศวเหม แกนนำกลุ่มงูเห่า ถูกดำเนินการตรวจสอบ กรณีพัวพันกับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
สมาชิกกลุ่มงูเห่า 13 คนแก้ไข
- นายวัฒนา อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ (เสียชีวิตแล้ว)
- นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก (เสียชีวิตแล้ว)
- นายประกอบ สังข์โต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี (เสียชีวิตแล้ว)
- นายมั่น พัธโนทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
- นายสมพร อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ (เสียชีวิตแล้ว)
- นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
- นายสุชาติ บรรดาศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
- นายพูนผล อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- นายฉลอง เรี่ยวแรง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
- นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์
- นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุตรดิตถ์ (ลาออกทันทีหลังแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี)[1]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ สารานุกรมการเมืองไทย เล่ม 3 โดย รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร (สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพ กันยายน พ.ศ. 2549)