โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก เตรียมอุดมศึกษา)

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (นับแบบเก่า) โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น โดยวารสารข่าวภาพไทยบันทึกว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล"[1]

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
Triam Udom Suksa School
ป้ายโรงเรียน
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล
โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม
นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา
(ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี)
สถาปนา3 มกราคม พ.ศ. 2480 (นับแบบเก่า)
(86 ปี 276 วัน)
ผู้ก่อตั้งจอมพล แปลก พิบูลสงคราม[1]
หน่วยงานกำกับกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อำนวยการบุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
เพศสหศึกษา
จำนวนนักเรียน4,442 คน (2565)[2]
สี  สีชมพู
เพลง"ปิ่นหทัย"
สังกัดสพฐ.
ศิษย์เก่าสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์
เว็บไซต์http://www.triamudom.ac.th
เตรียมอุดมศึกษาตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
เตรียมอุดมศึกษา
เตรียมอุดมศึกษา
เตรียมอุดมศึกษา (กรุงเทพมหานคร)

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในพื้นที่เช่าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ และที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมชื่อว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยนายกรัฐมนตรีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยเหตุที่ลดชั้นมัธยมบริบูรณ์ลงเหลือเพียงมัธยมปีที่ 6 และจัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นนั้นมีกล่าวไว้ว่า "แผนการศึกษาชาติซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้น มีระยะเวลาในการศึกษาสามัญยาวเกินสมควร นักเรียนต้องเสียเวลาเรียนในสายสามัญถึง ๑๒ ปี และยังจะต้องไปเข้าเรียนต่อในสายวิสามัญอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าโครงการศึกษาเก่าของเรากำหนดเวลาเรียนไว้เป็นเวลานานมาก" ขุนสุคนธ์วิทย์ศึกษากร รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2480 ประกาศให้มีการเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อนอุดมศึกษา

 
จอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[1]

สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้กว่า 8 เดือน ขณะนั้น พันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นอธิการบดี หลวงแมนวิชาประสิทธิ์เป็นเลขาธิการของมหาวิทยาลัย หลวงพรตพิทยพยัตเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุดท้ายมีมติให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยสภามหาวิทยาลัยประชุมในตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อตั้งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามวันต่อมา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียกหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเข้าไปพบและมอบหมายให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย" ขึ้น โดยใช้สถานที่โรงเรียนมัธยมหอวังฯ แต่ให้ขยายไปจนจดถนนสนามม้า ให้ร่างโครงการเขียนแบบแปลนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม หาครูอาจารย์เขียนหลักสูตร ร่างระเบียบรวมทั้งระเบียบการรับสมัครนักเรียนด้วย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2480 โดยเปิดสอนโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2481

ใน วารสารข่าวภาพไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปรากฏข้อมูลบทบาทของคณะราษฎรกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล"[1]

ในช่วงแรก โรงเรียนฯ ริเริ่มพิธีมอบตัวให้เข้าศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษา จัดสร้างตึกเรียนเพิ่มขึ้นจนจดสนามม้า ทางด้านกีฬานักเรียนเล่นฟุตบอล ฮอกกี้ รักบี้ ฯลฯ ในเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนกัน นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ไปร่วมเดินขบวนด้วย อาจารย์ชายต่างสมัครเข้าช่วยราชการทหาร ส่วนอาจารย์สตรีต่างสมัครเป็นอาสากาชาดเป็นจำนวนมาก นักเรียนต่าง ๆ ก็ช่วยกันทำงานอุตสาหกรรม ทำถุงของขวัญและบรรจุของขวัญเป็นการใหญ่ส่งไปให้ทหารที่ปฏิบัติการในสนาม ทั้งต้อนรับทหารกองทัพที่ 30 (ลำปาง) มาพักอยู่ที่โรงเรียน สิ้นเดือนมีนาคม 2483 วิทยุกระจายเสียงประกาศเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญตอนหนึ่งให้ยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของรัฐบาล ฝ่ายหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการว่าในปีการศึกษา 2484 นี้ จะรับนักเรียนให้มากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนอพยพทางกรุงเทพฯ เปิดเรียนเมื่อต้นปีการศึกษา 2485 มีพิเศษคือจัด "หลักสูตรเร่ง" ให้นักเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เร่งหลักสูตร 3 ภาคเรียนให้จบใน 2 ภาค ถึงเดือนตุลาคมเกิดอุทกภัยใหญ่ทำให้ปิดโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2486 กิจการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหัวเมืองเปิดรับสมัครที่เชียงใหม่ พิษณุโลกและกรุงเทพฯ แต่พอถึงเวลาเปิดภาคการศึกษา 2486 ทหารญี่ปุ่นได้ออกไปจากโรงเรียนแล้ว นักเรียนจึงได้เข้าเรียน ณ ที่เดิม แต่ยังคงต้องใช้หอใหม่ต่อไปเพราะจำนวนนักเรียนมาก นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาขาดไปหนึ่งรุ่น (รุ่น 9) เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนและให้งดสอบ ท่ามกลางสถานการณ์การทิ้งระเบิดพระนครของฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่มีการสอบคัดเลือกรับนักเรียนใหม่ในปี พ.ศ. 2488

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นที่รับรองทหารสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม

ความรู้สึกเกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยะนี้ก็ไม่สู้จะดีนัก ทางฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่านักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมากนักและก็ไม่ได้เล่าเรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด จะต้องมีการสอบคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งความวุ่นวายยุ่งเหยิงทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านประชาชนทั่วไปนั้นก็ได้วิจารณ์ต่าง ๆ นานาเช่น

  1. ทำไมจึงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ ผูกขาดการเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโรงเรียนเดียว
  2. ขอให้โรงเรียนอื่น ๆ เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาด้วยเถิด ชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็เคยสอนมาแล้ว ถ้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอนดี นักเรียนเตรียมก็คงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หมดตามเดิมไม่เดือดร้อนอะไร
  3. อยากให้นักเรียนที่จบมัธยมปีที่ 6 ได้เรียนต่อเพื่อจะได้มีความรู้สูงขึ้นมากกว่าที่จะให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ให้เข้าก็ไม่เป็นไร

ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงได้ร่วมกันพิจารณาที่จะเปิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ เพราะทนปิดต่อไปไม่ไหวแล้ว กรมสามัญศึกษาจะเอื้อเฟื้อให้ยืมสถานที่ในโรงเรียนบางแห่ง สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ตกลงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปเปิดสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดไตรมิตร โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส โรงเรียนศึกษานารี โดยจัดให้สองสองผลัด นักเรียนหญิงตอนเช้านักเรียนชายตอนบ่าย แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ทหารแจ้งว่าต้องการใช้โรงเรียนศึกษานารี จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ได้โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามมาแทน โรงเรียนเจ้าของสถานที่เอื้อเฟื้อเป็นอย่างมากโดยจัดนักเรียนของตนไปเรียนเป็นผลัดบ่าย ณ โรงเรียนอื่นแทน

ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาประชุม และชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องอนุโลมตามเสียงของประชาชน แต่จะตั้งชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 ขึ้นก็ไม่ได้เพราะขัดกับแผนการศึกษา จึงจะให้ขยายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีอยู่ก็ให้จัดต่อไป แต่จะให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นและโรงเรียนราษฎร์เปิดสอนได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อโอนมาอยู่ทางกรมสามัญศึกษาได้ก็ให้โอนมา กระทรวงจะเป็นผู้จัดสอบประโยคเตรียมอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะจัดสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อมา กำหนดให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรับนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา พ.ศ. 2489 จำนวน 100 คนและกำหนดจะให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดพระนคร ธนบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สงขลาและอุบลราชธานี จังหวัดละ 2 โรงเรียน

การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการรื้อฟื้นชั้นมัธยมปีที่ 8 กลับมาอีก ไม่เหมือนนโยบายที่ประกาศครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2484 เพราะกลับเพิ่มชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแทนที่จะยุบ เรื่องนี้ได้พูดกันในที่ประชุมกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งหนึ่ง กรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ บอกว่าเป็นการเตรียมเสมียนและเป็นยาหอมสำหรับประชาชนมากกว่าอย่างอื่น เหตุการณ์นี้เป็นผลให้โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีอันยุบไป

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ได้จัดการสอบคัดเลือกรับนักเรียนสำหรับโรงเรียนของตนเอง ประชาชนยังนิยมอยู่ มีผู้สมัครมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โรงเรียนรัฐบาลในส่วนกลางแห่งหนึ่งมีผู้สมัครเพียง 30 คนเท่านั้น ขณะที่สมัครที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 1,112 คน ทุกโรงเรียนสอบคัดเลือกพร้อมในวันเดียวกัน พอสอบรับสมัครนักเรียนใหม่แล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็จัดการสอบประจำปี พ.ศ. 2487 ซึ่งค้างเติ่งมาถึงต้นปีการศึกษา 2489 สอบปี 1 และปีที่ 2 พร้อมกัน มีผู้สอบประมาณ 3,000 คน ในจำนวนนี้ จบหลักสูตรได้เข้ามหาวิทยาลัย 664 คน จำนวนนักเรียนที่เหลือศึกษาอยู่ในโรงเรียนจึงมากพอใช้

สิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2489 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้คืนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้แก่ประเทศไทย โดยมีทหาร ส.ห. เป็นผู้รับมอบแล้วจึงมอบให้แก่โรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง บัดนี้นักเรียนก็ได้ทยอยกลับเข้ามาเรียนยังโรงเรียนทีละนิด ผู้อำนวยการโรงเรียนร้องว่าจะซ่อมโรงเรียนไปทำไมกัน เมื่อสภามหาวิทยาลัยประชุมตกลงว่าจะให้ย้ายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งขณะนั้นดูเหมือนหมายความว่าจะให้ย้ายอาจารย์และนักเรียนไปจากโรงเรียนเดิมให้หมดด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ต่อสู้ที่จะอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นผลสำเร็จ เกิดความยุ่งยากบางอย่างที่ไม่ได้คาดฝัน เช่นในต้น พ.ศ. 2490 ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสามัญศึกษาต่างก็จะไม่วางฎีกาเบิกเงินเดือนให้ครูอาจารย์ เรื่องการโอนโรงเรียนนี้จึงโอ้เอ้กันอยู่นาน ในที่สุดได้โอนกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 แต่โอนเฉพาะสังกัด ยังใช้สถานที่โรงเรียนเดิมไม่ต้องโยกย้ายไปที่อื่น

เรื่องนี้กระทบกระเทือนจิตใจอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่น้อยกว่าเมื่อได้ยินวิทยุกระจายเสียงประกาศว่าจะยุบโรงเรียน เสียดายพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราของโรงเรียนอยู่เช่นเดียวกับของมหาวิทยาลัยและเสียดายสร้อยชื่อ "แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้กล่าวว่า

"โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ชื่อยาวนัก จึงได้เปลี่ยนเป็น "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" เฉย ๆ แต่พระเกี้ยวนั้นเป็นของสูง จะทิ้งกันได้อย่างไร โรงเรียนได้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายรวมจิตใจ ของอาจารย์และนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้

อาคารสถานที่ของโรงเรียนขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โรงเรียนจึงต้องดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นการใหญ่ นอกจากนั้นก็ต้องปรับปรุงจิตใจของนักเรียนด้วย งานทางด้านนี้ที่บังเกิดผลดีคือ ได้จัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นเพื่อให้จัดการในเรื่องที่ควรปล่อยให้นักเรียนทำเอง ให้ใช้ห้อง ๖๐ ที่โรงหัตถกรรมเป็นสำนักงานเรียกกรรมการนักเรียนนี้ว่า "กรรมการห้อง ๖๐" ซึ่งถือได้ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้แบ่งนักเรียนออกเป็นคณะ ๆ รวม 6 คณะ แต่ละคณะให้มี "สี" ประจำคณะ (ปัจจุบัน มี 7 สี ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีแดง สีแสด สีม่วง และสีบานเย็น) และมีการแข่งขันกีฬาสีเป็นโรงเรียนแรก อีกด้วย

แต่เรื่องสำคัญที่สุดในปี พ.ศ. 2490 ก็ย่อมเป็นเรื่องขยายการศึกษา กล่าวคือเมื่อโรงเรียนรัฐบาลอื่น ๆ และโรงเรียนราษฎร์ต่างก็จัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงไม่มีความสำคัญมากนัก แต่มีผู้มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ประจวบกับเป็นเวลาหลังสงคราม กระทรวงศึกษาธิการกำลังขยายการศึกษา ต้องการครูชั้นสูงเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ได้ทรงเป็นหัวหน้างานใหม่นี้

ปลายปีการศึกษา 2490 (มีนาคม พ.ศ. 2491) โรงเรียนจำใจต้องให้หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร โอนไปรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้ทรงเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการมาได้ 4 ปี

ในปี พ.ศ. 2496 จัดตั้ง โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เพื่อเป็นหน่วยสาธิตของ แผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ฝค.ตอ.) ซึ่งโรงเรียนนี้นับเป็นแห่งแรกที่ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสาธิต" โดยดำเนินงานตามรูปแบบโรงเรียนมัธยมหอวังฯ เดิม (ต่อมา ฝค.ตอ. ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา ปทุมวัน และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ตามลำดับ)

ในปี พ.ศ. 2503 มีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ เรียกชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 2 เดิมว่า ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ แบ่งเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 (มศ.4 - มศ.5) แผนกศิลปะ แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกทั่วไป มีหลักสูตรสองปีเท่าเดิม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเป็นชื่อเฉพาะที่มีความหมายเช่นเดิม เพราะนักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ ส่วนมากต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

ในปี พ.ศ. 2533 กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยหลักสูตร 2 ปี ปรับให้เป็นหลักสูตร 3 ปี (ม.4 - ม.6)

เครือข่ายวิชาการแห่งจุฬาฯ

ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยกัน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิเข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและถนัดเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ริเริ่มขึ้นมาสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยังเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนภาษาสเปน ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกโครงการหนึ่ง จัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
     1.    ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
(24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 — 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538)
พ.ศ. 2480 พ.ศ. 2487
     2.  - สนั่น สุมิตร
(12 เมษายน พ.ศ. 245315 กรกฎาคม พ.ศ. 2539)
พ.ศ. 2487 พ.ศ. 2493
     3.    สงวน เล็กสกุล
(8 มกราคม พ.ศ. 245223 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505)
พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2505
     4.  - คุณหญิง บุญเลื่อน เครือตราชู
(13 พฤษภาคม พ.ศ. 24597 มีนาคม พ.ศ. 2555)
พ.ศ. 2507 พ.ศ. 2518
     5.  - คุณหญิง สุชาดา ถิระวัฒน์
(20 มิถุนายน พ.ศ. 2467 — 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565)
พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2522
     6.    คุณหญิง พรรณชื่น รื่นศิริ
(7 เมษายน พ.ศ. 24724 ตุลาคม พ.ศ. 2551)
พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2532
     7.  - คุณหญิง พรรณี กาญจนะวสิต
(4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 —)
พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2540
     8.  - สมพงศ์ ธรรมอุปกรณ์
(18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 —)
พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2542
     9.  - อัศวิน วรรณวินเวศร์
(9 ตุลาคม พ.ศ. 2483 —)
พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2544
   10.  - พรรณี เพ็งเนตร
(19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 —)
พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2548
   11.  - พิศวาส ยุติธรรมดำรง
(2 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 — 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)
พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2551
   12.  - วิศรุต สนธิชัย
(11 มกราคม พ.ศ. 2496 —)
พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2556
   13.  - ปรเมษฐ์ โมลี
(6 กันยายน พ.ศ. 2501 —)
พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2561
   14.  - โสภณ กมล
(25 เมษายน พ.ศ. 2503 —)
พ.ศ. 2561 พ.ศ. 2563
   15.  - วรรณดี นาคสุขปาน
พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565
   16.  - บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต
พ.ศ. 2565 ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญภายในโรงเรียน

 
อาคาร 80 ปี
 
หอประชุมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
 
สระปิ่นหทัย
 
สนามฟุตบอล
อาคาร
  • ตึก 1
  • ตึก 2
  • ตึก 3
  • ตึก 4 (หอสมุด ม.ล.ปิ่น มาลากุล)
  • ตึก 8
  • ตึกคุณหญิงหรั่ง (หรั่ง กันตารัติ)
  • โรงพลศึกษา (สร้างแทนที่เรือนเหลือง)
  • ตึก 9
  • ตึกศิลปะ (สร้างแทนที่เรือนเทา)
  • หอประชุมโรงเรียน
  • ตึก 50 ปี (สร้างแทนที่เรือนไม้อรชร 1)
  • ตึก 55 ปี (สร้างแทนที่เรือนไม้อรชร 2)
  • ตึก 60 ปี
  • เรือนเกษตร
  • ตึกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ (สร้างแทนที่โรงอาหารหรั่ง กันตารัติ)
  • ตึก 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สร้างแทนที่ตึกปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ซึ่งรื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2560)
  • ตึก 81 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  • อาคารนันทนาการ
  • อาคารสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์
สิ่งสักการะในโรงเรียน
  • ศาลพระปริวรรติเทพ
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราช
  • รูปปั้นหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ ห้องทำงานห้องแรก (ห้อง 57 ชั้นบน ตึก 1)
  • อนุสรณ์สถาน ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หน้าหอประชุมโรงเรียน

หลักสูตรที่เปิดสอน

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยแบ่งตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เน้นดังนี้

หลักสูตรที่ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2560

รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง (เรียงลำดับตามรุ่น)

รายพระนามและรายนาม รุ่น เกียรติประวัติ
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ต.อ. 1
คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ต.อ. 1
  • อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คนที่ 5 (พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2522)
ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ต.อ. 3
คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ ต.อ. 7
  • อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนที่ 6 (พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2532)
จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ต.อ. 7
  • องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
  • กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล
  • กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ต.อ. 10
  • ราษฎรอาวุโส
  • นักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษาชาวไทย
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต.อ. 10
  • อดีตนายกรัฐมนตรี
  • อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • อดีตผู้บัญชาการทหารบก
อนันต์ อนันตกูล ต.อ. 10
อาทิตย์ อุไรรัตน์ ต.อ. 16
รองศาสตราจารย์ ธัชชัย สุมิตร ต.อ. 20
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ต.อ. 21
ศาสตราจารย์ เทียนฉาย กีระนันทน์ ต.อ. 23
ศาสตราจารย์ สุทัศน์ ยกส้าน ต.อ. 24
ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ต.อ. 25
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ต.อ. 28
ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ต.อ. 28
ธาริษา วัฒนเกส ต.อ. 28
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ต.อ. 33
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต.อ. 33
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต.อ. 33
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต.อ. 34
ศาสตราจารย์ น.พ สุชัย เจริญรัตนกุล ต.อ. 34
พงศ์เทพ เทพกาญจนา ต.อ. 35
กิตติรัตน์ ณ ระนอง ต.อ. 37
ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ต.อ. 39
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ต.อ. 39
รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต.อ. 44
ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ต.อ. 44
บุญยอด สุขถิ่นไทย ต.อ. 44
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ต.อ. 56

อ้างอิง

  • หนังสือ ๗๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ประวัติ "เตรียมอุดมศึกษา" โรงเรียนสหศึกษาที่แรกของไทย ผลงานของคณะราษฎร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 September 2020. ในเอกสาร วารสารข่าวภาพไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปรากฏข้อมูลบทบาทของคณะราษฎรกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล
  2. "จำนวนนักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-10. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.

แหล่งข้อมูลอื่น

ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา https://www.triamudom.ac.th/website/index.php/2016-07-13-03-51-27/2016-07-13-07-27-57

13°44′26″N 100°31′51″E / 13.740625°N 100.530760°E / 13.740625; 100.530760

  • คู่มือนักเรียน ครู และผู้ปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา