อภิรักษ์ โกษะโยธิน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน (เกิด 30 มีนาคม พ.ศ. 2504) อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[2] อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย
อภิรักษ์ โกษะโยธิน | |
---|---|
อภิรักษ์ ใน พ.ศ. 2553 | |
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 14 | |
ดำรงตำแหน่ง 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551[1] (4 ปี 82 วัน) | |
ก่อนหน้า | สมัคร สุนทรเวช |
ถัดไป | ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 30 มีนาคม พ.ศ. 2504 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2535–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | ปฏิมา โกษะโยธิน |
บุตร | อนรรฆ โกษะโยธิน |
ประวัติ
แก้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เกิดวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2504[3] ที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงทำให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดในยุคกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) นายอภิรักษ์มีชื่อเล่นว่า "ต้อม" เป็นบุตรคนโตของ นายบุญลักษณ์ โกษะโยธิน และ นางอมรา โกษะโยธิน (สกุลเดิม จามรมาน)(เสียชีวิตแล้ว) มีน้องสาว 1 คนคือ อภิสรา โกษะโยธิน (ทำงานที่ ธนาคารทหารไทยธนชาต)
- นายอภิรักษ์เริ่มเข้าเรียนครั้งแรก ที่โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี
- มัธยมศึกษาตอนต้น : โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม
- มัธยมศึกษาตอนปลาย : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- ปริญญาตรี : วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2526 (รุ่นเดียวกับ นายยงยุทธ ติยะไพรัช)
- ปริญญาโท : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า (การจัดการการตลาด)
- ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบริหาร (AMP - General Management) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการพัฒนาการปกครอง มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร
นายอภิรักษ์ สมรสกับ นางปฏิมา โกษะโยธิน (สกุลเดิม พงศ์พฤกษทล) มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ อนรรฆ โกษะโยธิน (พี)
นายอภิรักษ์มีฉายาจากสื่อมวลชนว่า "หล่อเล็ก" คู่กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฉายาว่า "หล่อใหญ่" และต่อมามีนักการเมืองพรรคเดียวกันได้รับฉายาทำนองนี้อีกเช่น นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคที่ได้รับฉายา "หล่อโย่ง" และ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล รองโฆษกพรรคที่มีฉายาว่า "หล่อจิ๋ว"
การทำงาน
แก้นายอภิรักษ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง เริ่มจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 การลงคะแนนเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศให้ นายอภิรักษ์ เป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2547 หลังได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อมานายอภิรักษ์ได้รับเลือกตั้งให้เป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548
ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 นายอภิรักษ์ได้ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชั่วคราว พร้อมกับได้ตั้ง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ รักษาการแทน เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการชี้มูลความผิดหรือส่งเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว[4] และในวันที่ 12 เมษายน ปีเดียวกัน ได้กลับมาทำงานอีกครั้งเนื่องจากครบวาระการพักงาน โดยเริ่มงานแรกคือ การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่ท้องสนามหลวง เนื่องในงานเทศกาลสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้ นายอภิรักษ์ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งในเวลา 15.30 น. ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมิได้มีผลบังคับให้ต้องทำถึงขนาดนั้น แต่นายอภิรักษ์ระบุว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่การเมืองไทย ทั้งนี้ให้มีผลในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จสิ้น[1]
ในปี พ.ศ. 2552 นายอภิรักษ์เข้ารับตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของรัฐบาล โดยร่วมในองค์ประกอบคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อเร่งรัดโครงการตามนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน เป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผลักดันงานด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายด้านการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งจากเหตุอุทกภัยและจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553–2554
ในปี พ.ศ. 2553 นายอภิรักษ์ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเขต 2 กรุงเทพมหานคร แทนที่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ไปด้วยเหตุถือครองหุ้นส่วนของบริษัทไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550[5] ซึ่งนายสมเกียรติก็ไม่ขอลงสมัครอีกเนื่องจากอายุมากแล้ว ทางพรรคจึงได้มีมติเลือกนายอภิรักษ์ให้ลงสมัครแทน และนายอภิรักษ์ก็ได้รับคะแนน 71,072 คะแนน ชนะ นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 30,506 คะแนน[6] และได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร[7] ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8[8] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ซึ่งต่อมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินให้นายอภิรักษ์พ้นข้อกล่าวหาในคดีรถดับเพลิงเนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีผลก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งแล้ว และได้มีการดำเนินการเพียรพยายามรักษาผลประโยชน์ของกทม. จนได้รับผลประโยชน์คืนให้กับกทม.อีก 250 ล้านบาท
ประวัติการทำงาน
แก้- ปี 2526–2527 : ผู้ช่วยผู้จัดการร้านฝึกหัด (Management Trainee) บริษัท พิซซ่าฮัท ไทยแลนด์ จำกัด[9]
- ปี 2528–2530 : Account Executive บริษัท Lintas Worldwide มีลูกค้าหลักคือ ลีเวอร์ บราเธอร์ส
- ปี 2530–2532 : Account Director บุกเบิกก่อตั้ง บริษัท ดามาร์กส์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (Damask Advertising)
- ปี 2532–2537 : ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จากนั้นขึ้นเป็นผู้อำนวยการขายและการตลาดของเป๊ปซี่ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ปี 2537–2543 : กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์
- ปี 2543–2545 : กรรมการผู้จัดการ CEO บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2545–2547 :
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม หรือ Co-CEO บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (คู่กับ นายศุภชัย เจียรวนนท์)
- ประธานกลุ่มการตลาดและบริหารงานสื่อ กลุ่มบริษัทในเครือเทเลคอมเอเชีย จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น)
- กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
- ปี 2547 : ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในโทรศัพท์มือถือเครือข่าย ออเร้นจ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ทรูมูฟ) เพื่อลงสมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนน 911,441 เสียง
- ปี 2548 : รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- ปี 2549–2551 : ประธานคณะกรรมการอำนวยการกิจการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์
- ปี 2551 : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน คิดเป็น 45.93 %
- ปี 2552-2553 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- ปี 2553-2554 : ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร (ยานนาวา, บางคอแหลม, คลองเตย, วัฒนา) ด้วยคะแนนเสียง 71,072 (เลือกตั้งซ่อม)
- กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
- ปัจจุบัน : ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8 พรรคประชาธิปัตย์, รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, รัฐมนตรีพาณิชย์เงา พรรคประชาธิปัตย์
- กรรมาธิการที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558
- เป็น 1 ในผู้บริหารตำแหน่งกรรมการ บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งปี 2557 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท[10]
- เป็น 1 ในผู้บริหารตำแหน่งกรรมการ บริษัท วี ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก่อตั้งปี 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท[11]
การดำรงตำแหน่งอื่นๆ
แก้- อดีตประธานนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2528)
- อดีตกรรมการศูนย์ฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2534)
- อดีตกรรมการสมาคมศิษย์เก่า คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2536)
- อดีตกรรมการที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการอำนวยการ การส่งเสริมการประเมินคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2542)
- อดีตประธานกลุ่มบริหารการตลาด และกรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2545)
- อดีตกรรมการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2546)
- อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2553)
- อาจารย์พิเศษ
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ
- คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ที่ปรึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สหราชอาณาจักร
- ประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ประธานสโมสรฟุตบอลแบงค็อกยูไนเต็ด
- ประธานสถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย
- นายกสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลงานบริหารกรุงเทพมหานคร
แก้ในช่วงที่นายอภิรักษ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอส), การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การวางผังพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ผลงานด้านการต่างประเทศ นายอภิรักษ์ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงเทพฯเป็นอย่างมาก ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีและทำการแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนากรุงเทพฯร่วมกับเมืองหลวงสำคัญ ๆ ทั่วโลก เช่น ปักกิ่ง, แต้จิ๋ว, โซล, ฟุกุโอกะ, ฮานอย, ลิเวอร์พูล, วอชิงตัน ดี.ซี., บริสเบน เป็นต้น นายอภิรักษ์ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้บรรยายกิตติมศักดิ์ในงานสัมมนาระดับโลกมากมาย อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN 100 Leadership Forum) ในปี พ.ศ. 2542 ณ ประเทศสิงคโปร์ และในปี พ.ศ. 2544 ณ ประเทศเวียดนาม รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (C40 Cities Climate Summit) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตลอดการทำงานด้วยความตั้งใจจนครบวาระ 4 ปี นายอภิรักษ์ได้สร้างผลงานโดดเด่นมากมาย ด้วยประสบการณ์ด้านการบริหาร และผลงานการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้นายอภิรักษ์ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนโหวตเกือบ 1 ล้านคะแนน
- ในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์มีทีมงานประกอบด้วยรองผู้ว่าฯ 4 คนคือ
- ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ เป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายโยธาและจราจร
- ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ ฝ่ายการศึกษา
- พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ รองผู้ว่าฯ ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
- นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง เป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายการคลัง
- นอกจากนี้นายอภิรักษ์ยังมีทีมที่ปรึกษาอีก 8 คน คือ
นายอภิรักษ์ได้ประกาศลาออกในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้แจ้งผิดกรณีรถดับเพลิง[12]
เกียรติประวัติ
แก้- ศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี พ.ศ. 2542
- ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2543
- รางวัลครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2549
- รางวัลเอกบุรุษ ประจำปี พ.ศ. 2549 โดยสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
- ทูตพิทักษ์สิทธิเด็กแห่งปี 2551 โดยเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็ก
- รางวัล โล่มารวยผดุงสิทธิ์ - ศิษย์เก่าดีเด่นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ใช้คุณธรรมนำความสำเร็จ ประจำปี พ.ศ. 2552
- ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2549 จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ตระกูลโกษะโยธิน
แก้ตระกูลโกษะโยธิน สืบเชื้อสายมาจาก หลวงพินิจปรีชา (คลัง) โดยนามสกุล "โกษะโยธิน" (Kosayodhin) เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 2962 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเนื่องจากเป็นสกุลทหารบก จึงมีคำว่า "โยธิน" ประกอบในนามสกุล
นายอภิรักษ์มีปู่คือ พันโทจมื่นศักดิ์สงคราม (นายร้อยเอกนายไกรพลแสน) รับราชการในกรมทหารรักษาวังของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างระบบราชการ เพื่อลดจำนวนคนจากหน่วยงานต่าง ๆ ลง ปู่จึงลาออกจากราชการ มาเก็บค่าเช่าจากที่ดินและตึกแถว
รุ่นถัดมาคือบิดาของนายอภิรักษ์ ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับราชการ ที่กรมชลประทาน ก่อนจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ในขณะที่ลุงของนายอภิรักษ์คือ พันเอกพิเศษทำนุ โกษะโยธิน รับราชการเป็นทหารจนเกษียณอายุ ส่วนป้า ของนายอภิรักษ์ คือ ร้อยเอกหญิงกานดา โกษะโยธิน เคยเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเตรียมทหารจนได้ยศร้อยเอกหญิงนำหน้าชื่อ ก่อนจะย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนทางตระกูลจามรมานของมารดานายอภิรักษ์ มีต้นตระกูลคือ พระยานิติศาสตร์ไพศาล ที่เป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็น คณบดีคนแรกของ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[13]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[14]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.)[15]
- พ.ศ. 2547 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[16]
ส่วนเกี่ยวข้อง
แก้- นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เริ่มได้รับฉายาว่า "หล่อเล็ก" ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพในปี พ.ศ. 2547
- ในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2547 นั้น นายอภิรักษ์จับได้เบอร์ 1
- นายอภิรักษ์ ใช้แคมเปญในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า "กรุงเทพ 360 องศา"
- ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯอยู่นั้น นายอภิรักษ์ได้จัดรายการ "พบผู้ว่า กทม." เป็นประจำทุกวันพุธ เวลา 20.00 – 21.00 น. ทางคลื่นวิทยุ จส.100 โดยเปิดสายให้ผู้ฟังโทรเข้าไปพูดคุยได้ สามารถรับฟังได้ทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์จส.100 เก็บถาวร 2006-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2551 นั้น นายอภิรักษ์จับได้เบอร์ 5 ซึ่งมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551
- ในการรับสมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 2 ปี พ.ศ. 2553 นายอภิรักษ์จับได้เบอร์ 2 ซึ่งมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 อภิรักษ์ลาออกจากผู้ว่าฯกทม. ขอมีผลหลังพระราชพิธีเสร็จ
- ↑ ประชาธิปัตย์ ตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคบัญญัติ-อภิสิทธิ์-ชายหมู มาครบทีม
- ↑ "ประวัติจากเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-20. สืบค้นเมื่อ 2007-11-22.
- ↑ "ด่วน!"อภิรักษ์"โชว์สปิริตยุติผู้ว่าฯกทม.ชั่วคราวแล้วหลังคตส.ชี้ผิดรถดับเพลิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-26. สืบค้นเมื่อ 2008-03-13.
- ↑ ฟันทิ้ง! ศาลรธน.สั่งพ้นสภาพ6ส.ส. ถือหุ้นสื่อ-สัมปทานรัฐ จากสนุกดอตคอม
- ↑ “อภิรักษ์-เกื้อกูล” ผลชนะเลือกตั้งซ่อมถึงมือ กกต.กลางเก็บถาวร 2012-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งซ่อมส.ส.3จังหวัด[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
- ↑ ประวัติโดยสังเขป อภิรักษ์ โกษะโยธิน
- ↑ “อภิรักษ์” หวนคืนตลาด “ฟูด-ดริงก์” คว้า “ดาวคอฟฟี่” รุกตลาดไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ “อภิรักษ์” หวนคืนตลาด “ฟูด-ดริงก์” คว้า “ดาวคอฟฟี่” รุกตลาดไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ด่วน!"อภิรักษ์"โชว์สปิริตยุติผู้ว่าฯกทม.ชั่วคราวแล้วหลังคตส.ชี้ผิดรถดับเพลิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-26. สืบค้นเมื่อ 2008-03-13.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย "สึนามิ", เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๔๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๔๒, ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ก่อนหน้า | อภิรักษ์ โกษะโยธิน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมัคร สุนทรเวช | ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยที่ 1 : 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สมัยที่ 2 : 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551) |
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร |