สงกรานต์ในประเทศไทย

(เปลี่ยนทางจาก เทศกาลสงกรานต์)

สงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13–15 เมษายนของทุกปี บางครั้งรัฐบาลอาจประกาศยืดวันหยุดช่วงดังกล่าว เช่นเมื่อ พ.ศ. 2561 รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดระหว่าง 12–16 เมษายน[1] เช่นเดียวกับเมื่อ พ.ศ. 2562[2] "สงกรานต์" มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ (संक्रान्ति)[3] แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" สงกรานต์ตรงกับการเริ่มต้นของราศีเมษ[4] และตรงกับวันปีใหม่พื้นถิ่นในหลายวัฒนธรรมของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สงกรานต์
การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์
จัดขึ้นโดยชาวไทย, ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย
ความสำคัญวันปีใหม่ไทย
เริ่ม13 เมษายน
สิ้นสุด15 เมษายน
วันที่13 เมษายน
ความถี่รายปี
ส่วนเกี่ยวข้องวันปีใหม่สุริยคติเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้
สงกรานต์ในไทย
เทศกาลปีใหม่ไทยดั้งเดิม *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
การสรงน้ำพระในเทศกาลสงกรานต์
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล
อ้างอิง01719
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2566 (คณะกรรมการสมัยที่ 18)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ถึงแม้ในปัจจุบัน วันขึ้นปีใหม่ทางการของประเทศไทยคือ 1 มกราคม แต่ในอดีต ประเทศสยามใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2431 จึงประกาศให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน จากนั้นใน พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนเป็น 1 มกราคม ในขณะที่วันสงกรานต์กลายเป็นเทศกาลทั่วประเทศ[5]

ยูเนสโก (UNESCO) ยกให้ประเพณีวันสงกรานต์ในไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566

การคำนวณ แก้

ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13–15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"

การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์[6] จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้

  • ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก
  • เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก

จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร

จากผลที่ได้ ถ้าหารแบบสมัยใหม่โดยติดทศนิยม จะได้ว่าส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม นับ 0 ที่วันแรกของ จ.ศ. 0 ส่วนที่เป็นทศนิยม เป็นเศษส่วนของวันนับจาก 0 นาฬิกาของวันเถลิงศกไปหาเวลาเถลิงศก แต่ในสมัยโบราณการคำนวณด้วยทศนิยมเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ถ้าหารแบบติดเศษ แล้วเอาส่วนที่เป็นจำนวนเต็มบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศก ส่วนที่เป็นเศษนั้นบอกถึงเวลานับแต่ 0 นาฬิกาไปหาเวลาเถลิงศกในหน่วยกัมมัช หากเอาไปหักลบออกจาก 800 ก็จะได้กัมมัชพลเถลิงศก หรือเวลาเป็นกัมมัชที่เหลือจนสิ้นวันเถลิงศก

การแปลงหรคุณเถลิงศกออกเป็นวันที่ในปฏิทิน อาศัยความรู้ที่ว่า ตามปฏิทินก่อนเกรโกเรียน (proleptic Gregorian calendar) วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 เวลา 00:00 น. มีค่าหรคุณจูเลียน (Julian day number) เป็น 1954167.5 จึงสามารถบวกหรคุณตามแบบสุริยยาตร์เข้ากับเกณฑ์ข้างต้นก่อนแปลงให้เป็นวันที่ต่อไป ดังนั้น หรคุณจูเลียนของวันเถลิงศกจึงหาได้ตามสูตร

JD วันเถลิงศก = [(292207* (พ.ศ.-1181) + 373)/800] + 1954167.5

สำหรับวันมหาสงกรานต์นั้น ปกติให้ใช้วิธีการคำนวณตำแหน่งที่สังเกตได้จริงของดวงอาทิตย์ว่าเข้าสู่ราศีเมษ ณ วันเวลาใด แต่วิธีการข้างต้นเสียเวลามากและต้องทำตารางขนาดใหญ่ ไม่สะดวกนัก การแก้ปัญหาทำได้โดยการประมาณ โดยถอยหรคุณเถลิงศกไป 2 วัน 3 ชั่วโมง 57 นาที 36 วินาที (2.165 วัน หรือ 1732 กัมมัช) ดังนั้น สูตรหาหรคุณจูเลียนของวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) เป็นดังนี้

JD วันมหาสงกรานต์ = [(292207* (พ.ศ.-1181) - 1359)/800] + 1954167.5

นางสงกรานต์ แก้

ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[7] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมารและได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้

วัน รูป พระนาม ดอกไม้ อาภรณ์ ภักษาหาร หัตถ์ขวา หัตถ์ซ้าย พาหนะ
วันอาทิตย์   นางทุงษเทวี ดอกทับทิม แก้วปัทมราช อุทุมพร
(ผลมะเดื่อ)
จักร สังข์ ครุฑ
วันจันทร์   นางโคราคเทวี ดอกปีบ มุกดาหาร เตล้ง
(น้ำมัน)
พระขรรค์ ไม้เท้า พยัคฆ์
(เสือ)
วันอังคาร   นางรากษสเทวี ดอกบัวหลวง แก้วโมรา โลหิต
(เลือด)
ตรีศูล ธนู วราหะ
(หมู)
วันพุธ   นางมัณฑาเทวี ดอกจำปา ไพฑูรย์ นมเนย เหล็กแหลม ไม้เท้า คัสพะ
(ลา)
วันพฤหัสบดี   นางกิริณีเทวี ดอกมณฑา มรกต ถั่วงา ขอ ปืน คชสาร
(ช้าง)
วันศุกร์   นางกิมิทาเทวี ดอกจงกลนี บุษราคัม กล้วยน้ำ พระขรรภ์ พิณ มหิงสา
(ควาย)
วันเสาร์   นางมโหทรเทวี ดอกสามหาว
(ผักตบชวา)
นิลรัตน์ เนื้อทราย จักร ตรีศูล มยุรา
ยูง

สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

  1. วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
  2. วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
  3. วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
  4. วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
  5. วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
  6. วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
  7. วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

อนึ่งท่าทางของนางสงกรานต์จะกำหนดตามเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือเวลามหาสงกรานต์ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้[8]

  • ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (06:00–11:59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
  • ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12:00–17:59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
  • ถ้าเป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18:00–23:59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
  • ถ้าเป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00:00–05:59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา

ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้จะมีระบุในประกาศสงกรานต์เสมอ

กิจกรรมในวันสงกรานต์ แก้

  • การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเองและอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
  • การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
  • การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
  • บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
  • การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
  • การดำหัว จุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำทางภาคกลาง พบเห็นได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงเราเคารพนับถือต่อพระ, ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีอาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อยเทียนและดอกไม้
  • การก่อเจดีย์ทราย เป็นการนำทรายมาก่อเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์ และประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ
  • การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
  • การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป

สงกรานต์ในแต่ละท้องที่ แก้

สงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในสายตาชาวโลกคือสงกรานต์ในประเทศไทย จึงทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยติดอันดับเทศกาลที่มีสีสันที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย[9]

ในทางภาคเหนือของประเทศไทย จะมีการเรียกว่า ปีใหม่เมือง

ส่วนในต่างประเทศ ชาวไทในสิบสองปันนา (โดยเฉพาะที่เมืองเชียงรุ่ง) จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ในวันที่ 13–15 เมษายน[10] เรียกว่างานเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย[11]

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แก้

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15:30 น. ตามเวลาประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of Intangible Cultural Heritage) ครั้งที่ 18 ของยูเนสโกที่เมืองกาซาเน ประเทศบอตสวานา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในประเภทรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยใช้ชื่อว่า "สงกรานต์ในไทย เทศกาลปีใหม่ไทยดั้งเดิม" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรายการที่ 4 ของประเทศไทย[12]

อ้างอิง แก้

  1. "'Songkran Festival' extended to five-day holiday". The Nation. 27 February 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-14. สืบค้นเมื่อ 15 April 2018.
  2. "Thai Government Approves Extra Day for Songkran 2019". Chiang Rai Times. 13 February 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-26. สืบค้นเมื่อ 15 February 2019.
  3. แม่แบบ:Cite MWSD
  4. "The magic and traditions of Thai New Year (Songkran)". Tourism Authority of Thailand Newsroom (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2014. สืบค้นเมื่อ 12 December 2015.
  5. Melton, J. Gordon (2011). Religious Celebrations: An Encyclopedia of Holidays, Festivals, Solemn Observances, and Spiritual Commemorations. ABC-CLIO. p. 825. ISBN 978-1-59884-205-0.
  6. เอื้อน มนเทียรทอง. พระคัมภีร์สุริยยาตรศิวาคม. กรุงเทพฯ: สำนักโหร "หอคำ", ม.ป.ป.
  7. อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ, พรหมชาติ ฉบับหลวง, กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส. ธรรมภักดี, ม.ป.ป., หน้า 512-513
  8. สิงห์โต สุริยาอารักษ์. เรื่องฤกษ์และการให้ฤกษ์ ดวงพิชัยสงคราม. กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, ม.ป.ป. (ดูหัวข้อ ตำนานสงกรานต์)
  9. http://www.thairath.co.th/content/oversea/162639
  10. ประชาชนชนชาติไตของสิบสองปันนาของมณฑลหยูนหนานฉลองเทศกาลสาดน้ำ
  11. เขตสิบสองปันนาจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ของชนชาติไต
  12. ""ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" มรดกโลกวัฒนธรรม". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 6 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

ดูเพิ่ม แก้