สงกรานต์ในประเทศไทย
สงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13–15 เมษายนของทุกปี บางครั้งรัฐบาลอาจประกาศยืดวันหยุดช่วงดังกล่าว เช่นเมื่อ พ.ศ. 2561 รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดระหว่าง 12–16 เมษายน[1] เช่นเดียวกับเมื่อ พ.ศ. 2562[2] และ พ.ศ. 2567 "สงกรานต์" มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ (संक्रान्ति)[3] แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" สงกรานต์ตรงกับการเริ่มต้นของราศีเมษ[4] และตรงกับวันปีใหม่พื้นถิ่นในหลายวัฒนธรรมของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สงกรานต์ | |
---|---|
การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ | |
ชื่อทางการ | เทศกาลสงกรานต์ |
ชื่ออื่น | ปีใหม่ไทย |
จัดขึ้นโดย | ชาวไทย, ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย |
ประเภท | วันสำคัญของไทย |
ความสำคัญ | วันขึ้นปีใหม่ของไทย |
เริ่ม | 13 เมษายน |
สิ้นสุด | 15 เมษายน |
วันที่ | 13 เมษายน |
ความถี่ | ทุกปี |
ส่วนเกี่ยวข้อง | วันปีใหม่สุริยคติเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ |
สงกรานต์ในไทย เทศกาลปีใหม่ไทยดั้งเดิม * | |
---|---|
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก | |
การสรงน้ำพระในเทศกาลสงกรานต์ | |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
สาขา | แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล |
เกณฑ์พิจารณา | R.1, R.2, R.3, R.4, R.5 |
อ้างอิง | 01719 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2566 (คณะกรรมการสมัยที่ 18) |
รายการ | ตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
ถึงแม้ในปัจจุบัน วันขึ้นปีใหม่ทางการของประเทศไทยคือ 1 มกราคม แต่ในอดีต ประเทศสยามใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2431 จึงประกาศให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน จากนั้นใน พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนเป็น 1 มกราคม ในขณะที่วันสงกรานต์กลายเป็นเทศกาลทั่วประเทศ[5]
ยูเนสโก (UNESCO) ยกให้ประเพณีวันสงกรานต์ในไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566
การคำนวณ
แก้ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13–15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์[6] จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้
- ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก
- เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก
จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร
จากผลที่ได้ ถ้าหารแบบสมัยใหม่โดยติดทศนิยม จะได้ว่าส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม นับ 0 ที่วันแรกของ จ.ศ. 0 ส่วนที่เป็นทศนิยม เป็นเศษส่วนของวันนับจาก 0 นาฬิกาของวันเถลิงศกไปหาเวลาเถลิงศก แต่ในสมัยโบราณการคำนวณด้วยทศนิยมเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ถ้าหารแบบติดเศษ แล้วเอาส่วนที่เป็นจำนวนเต็มบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศก ส่วนที่เป็นเศษนั้นบอกถึงเวลานับแต่ 0 นาฬิกาไปหาเวลาเถลิงศกในหน่วยกัมมัช หากเอาไปหักลบออกจาก 800 ก็จะได้กัมมัชพลเถลิงศก หรือเวลาเป็นกัมมัชที่เหลือจนสิ้นวันเถลิงศก
การแปลงหรคุณเถลิงศกออกเป็นวันที่ในปฏิทิน อาศัยความรู้ที่ว่า ตามปฏิทินก่อนเกรโกเรียน (proleptic Gregorian calendar) วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 เวลา 00:00 น. มีค่าหรคุณจูเลียน (Julian day number) เป็น 1954167.5 จึงสามารถบวกหรคุณตามแบบสุริยยาตร์เข้ากับเกณฑ์ข้างต้นก่อนแปลงให้เป็นวันที่ต่อไป ดังนั้น หรคุณจูเลียนของวันเถลิงศกจึงหาได้ตามสูตร
JD วันเถลิงศก = [(292207* (พ.ศ.-1181) + 373)/800] + 1954167.5
สำหรับวันมหาสงกรานต์นั้น ปกติให้ใช้วิธีการคำนวณตำแหน่งที่สังเกตได้จริงของดวงอาทิตย์ว่าเข้าสู่ราศีเมษ ณ วันเวลาใด แต่วิธีการข้างต้นเสียเวลามากและต้องทำตารางขนาดใหญ่ ไม่สะดวกนัก การแก้ปัญหาทำได้โดยการประมาณ โดยถอยหรคุณเถลิงศกไป 2 วัน 3 ชั่วโมง 57 นาที 36 วินาที (2.165 วัน หรือ 1732 กัมมัช) ดังนั้น สูตรหาหรคุณจูเลียนของวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) เป็นดังนี้
JD วันมหาสงกรานต์ = [(292207* (พ.ศ.-1181) - 1359)/800] + 1954167.5
ประวัติ
แก้ที่มา
แก้สุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่า "สงกรานต์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย เกี่ยวกับขึ้นศักราชใหม่ (ไม่ใช่ปีนักษัตร) เมื่อดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนย้ายเข้าราศีเมษ เรียก มหาสงกรานต์ ในเดือนเมษายน (สุริยคติ)"[7] พระยาอนุมานราชธนสันนิษฐานว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียตอนเหนือที่มีช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือต้นฤดูฝน สิ้นฤดูหนาวที่ยาวนานและแห้งแล้ง ภูมิประเทศและอากาศสดชื่น เป็นฤดูแห่งความยินดีจึงมีนักขัตฤกษ์สงกรานต์ แม้ประเทศไทยจะไม่มีฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็อยู่ในช่วงว่างจากงานในนาในไร่ จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นการทำบุญใหญ่[8]
อยุธยา
แก้ส.พลายน้อย ระบุว่าแรกเริมวันปีใหม่ของไทยคงจะถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย คือพ้นจากฤดูฝนมาฤดุหนาว การถือเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่จะเลิกไปเมื่อใดไม่ทราบได้ แต่จากกฎมณเฑียรบาลที่ตั้งขึ้นเมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ก็ไม่ได้กําหนดเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่แล้ว เพราะกําหนดไว้ว่า เดือน 4 คือพิธีสิ้นปี หมายถึงตรุษ และเดือน 5 การพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่[9]
บันทึกของหมอแกมป์เฟอร์ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ได้จดบันทึกวันสงกรานต์ (Songkraen) ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย บันทึกดังกล่าวถูกแปลเป็นภาษาฮอลันดาสมัยศัตรวรรษที่ 17 โดย John Gaspar Scheuchzer ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2270 รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระว่า :-
"De Siamiten vieren den ecrſtcn en vyſtienden dag der maand, zynde de dagen der nieuwe en volle maan. Sommige gaan ook op den cerſtcn dag van de kwartier maanen na de Pagoden, 't welk eeniger maaten overeenkomt met onzen Zondag. Behalven deze hebben zy fommige jaarlykſche plechtige Feeſtdagen, by voorbeeld een in ’t begin van 't jaar, genaamt Sonkraen, ..."[10]
(คำแปล): "ทุก ๆ วันแรกและวันที่ ๑๕ ของเดือน ชาวไทยมีการสมโภชเพราะว่าเป็นวันดวงจันทร์แรกขึ้นและวันดวงจันทร์เพ็ญ บางคนก็ไปวัดทุก ๆ วันแรกของสัปดาห์ ซึ่งลงกันกับวันอาทิตย์ของเราอยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังมีพิธีประจำปีอีกหลายอย่าง เช่น พิธีซึ่งทำเมื่อขึ้นปีใหม่ เรียกว่าสงกรานต์ (Songkraen) ..."[11]
— Engelbert Kaempfer, De beschryving van Japan (The History of Japan). (1727).
พระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยตรัสเมื่อได้ทราบข่าวพระเจ้าแปรยกทัพมาประชิดชายแดนไทยว่า "จะไปเล่นตรุษเมืองละแวก สิสงกรานต์ชิงมาก่อนเล่า จําจะยกออกไปเล่นสงกรานต์กับมอญให้สนุกก่อน"[9]
โคลงทวาทศมาส ซึ่งแต่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีการแยกพระราชพิธีเผด็จศกออกเป็นอีกพิธีหนึ่งต่างหากแล้วเรียกเป็น พิธีตรุษ ต่อมา จากหลักฐานใน นิราศธารโศก ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย พิธีตรุษ ได้ปรากฏชื่อเป็น การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์
ใน คำให้การชาวกรุงเก่า มีการทำ พระราชพิธีละแลงสุก (เถลิงศก) ขึ้นแยกอีกต่างหากจากพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โดยที่มีคำว่า สงกรานต์ (พระราชพิธีละแลงสุกเมื่อสงกรานต์)[12]
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีบันทึกเกี่ยวกับพระราชประเพณีวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก เช่น พระราชประเพณีก่อพระทรายและประดับตกแต่งพระทราย พระราชประเพณีถวายภัตราหารแด่พระสงฆ์ และมีพระราชประเพณีขบวนแห่พระทรายเข้าวัดพร้อมประโคมครื่องดุริยางค์ดนตรีซี่งเป็นโบราณราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยามาสืบมาแต่ก่อน ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เรื่อง ก่อพระทรายครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ว่า :-
"อนึ่ง เมื่อครั้ง (แผ่นดิน) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศนั้น ครั้นวันขึ้นปีใหม่โหรถวายฤกษ์เป็นวันมหาสงกรานต์ เจ้าพนักงานได้ก่อพระทรายหน้าพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์...และเครื่องราชวัติฉัตรธงเครื่องประดับพระทรายนั้น เจ้าพนักงานได้เบิกสิ่งของให้แก่ช่างเขียนทำ และพระทรายนั้นช่างเขียนได้ตัด [เขียนตัดเส้นระบายสี หรือตัดพระทรายให้เป็นรูปทรง] ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าวันมหาสงกรานต์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จไป ณ พระวิหารใหญ่ด้วย [พระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ หลังกลาง] นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะอธิการวัด ได้ฉัน ณ พระวิหารใหญ่ฉลองพระทราย และที่พระ(ทราย)มหาธาตุและพระทรายบริวารนั้น วิเศษแต่งเทียนและบายศรี (มี) เทียนทองคำขวัญบูชาพระทรายองค์ละสำรับ"
"ครั้นเสร็จ (งาน) พระทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์แล้วรุ่งขึ้นเป็นวันเนา เจ้าพนักงานจึงเอาทรายและเตียงเข้าไปให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงก่อพระทราย ณ พระที่นั่งทรงปืน...ทรงก่อแล้วพนักงานยกพระทรายออกให้ช่างเขียนตัด และเครื่องประดับพระทรายนั้นให้เจ้าพนักงานปิดทองอังกฤษประดับ และช่าง [ช่างเขียน] เขียนทำประดับประดาพระทราย แล้วยกเข้าไปตั้งไว้ ณ พระที่นั่งทรงปืน ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าวันเถลิงศก เสด็จ ฯ ออกฉลองพระเจดีย์ทราย เตียงยกพระที่นั่งทรงปืน พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานยกพระทรายออกมาตั้งไว้ ณ ศาลาลูกขุนท้ายสระ พันพุฒ พันเทพราช พันจันท์ เกณฑ์เครื่องเล่นและคู่แห่เดินเท้าและม้า ปี่กลองชนะ ธงสามชาย ปีกลองมลายู ปี่กลองจีนแห่พระทรายไปไว้ ฯ วัดวรโพธิ์ วัดพระราม วัดมงคลบพิตร (เป็น) อย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน (ดังนี้)"[13]
— เริ่มก่อพระทรายครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศตอนปลายกรุงศรีอยุธยาตามที่บันทึกไว้เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ ปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๔๓ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๙-๗๐) เรื่องเกี่ยวกับกรุงเก่าตอนที่ ๑ เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์ และเรื่องขุนบรมราชา.
วันสงกรานต์ในปัจจุบันกำหนดไว้ 3 วันคือ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันกลางเรียกว่าวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกซึ่งก็อาจเลยไปวันที่ 16 ก็ได้ แต่จากพงศาวดารกล่าวว่า "จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก ถึง ณ วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือนห้าวันเนา สงกรานต์วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนสุมรากกําแพงแล้วยิงปืนใหญ่เข้ามาในกรุงพร้อมกันตั้งแต่เพลาบ่ายสามโมงเศษจนพลบค่ำ พอกําแพงทรุดก็พากันเอาบันไดพาดเข้ากรุง" วันที่พม่าเข้าเมืองคือวันเนา นักประวัติศาสตร์ว่าตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[9]
รัตนโกสินทร์
แก้เมื่อ พ.ศ. 2397 มีบันทึกเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ปรากฏใน บันทึกเล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thai ou Siam) ของพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ บาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสที่เข้ามาพำนักในสยามตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2397 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกดังกล่าวเขียนภาษาฝรั่งเศสว่า :-
"Ils ont en outre, durant le cours de l’année, plusieurs jours de fêtes civiles ou religieuses, qu’ils célèbrent avec grande pompe : 1°Songkran; c’est leur nouvel an, qui tombe ordinairement dans leur cinquième mois; on le célèbre pendant trois jours; ce n’est qu’à cette époque que le peuple apprend des astro-logues, si l’ange de l’année monte un tigre, un bœuf,un ours, un cheval; une chèvre, un dragon ou quelque autre animal."[14]
(คำแปล): "ในระหว่างปีนี้ชาวสยามยังมีวันหยุดราชการหรือเทศกาลทางศาสนาซึ่งชาวสยามมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก : 1°วันสงกรานต์ (Songkran) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวสยามตรงกับเดือนห้า มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 3 วัน ชาวสยามมีโอกาสรู้คำทำนายดวงเมืองจากพวกโหรว่านางสงกรานต์ปีนี้ขี่เสือ วัว หมี ม้า แพะ มังกร หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในช่วงเทศกาลเท่านั้น."
— Jean-Baptiste Pallegoix, Description du Royaume Thai ou Siam. (1854).
เมื่อ พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ความว่า[15]
"...มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่คนทั้งปวง บรรดาคนที่ถือพระพุทธศาสนาแลธรรมเนียม ปี เดือน คืน วัน อย่างเช่นใช้ในเมืองไทยรู้ทั่วกัน ว่าในปีมะเมียนี้ วันอาทิตย์ เดือนห้า แรมสิบสามค่ำ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันจันทร์ เดือนห้า แรมสิบสี่ค่ำ แลวันอังคารเดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันเนาว์ วันพุธเดือนหก ขึ้นสองค่ำ เป็นวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เป็น ๑๒๒๐ ในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เป็น ๔ วันด้วยกัน คือ เดือนห้า แรมสิบสามค่ำ สิบสี่ค่ำ แลเดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง และสองค่ำเป็นแน่แล้ว คนฟั่นๆ เฟือนๆ เลือนๆ ไหลๆ จำการหลังไม่ได้ อย่าตื่นถามว่าทำไมสงกรานต์จึงเป็นสี่วันก็สงกรานต์สี่วันนี้โดยบังคับตามคัมภีร์โหราศาสตร์ลางปีก็เคยมีมาแต่ก่อนดอก..."
พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏชื่อ "พระราชพิธีสงกรานต์"[16] โดยระบุว่าพระราชพิธีสงกรานต์ มีการพระราชกุศลตั้งสวดพระปริตรทั้งสามวัน ฉลองพระเจดีย์ทรายทั้งของหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษก สรงน้ำพระพุทธรูป สดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านาย มีการเวียนเทียนทั้งสามวัน และจุดดอกไม้เพลิงเนื่องจากเป็นงานนักขัตฤกษ์[17]
1 เมษายน พ.ศ. 2432 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า หรือวันสงกรานต์ ได้มีการเปลี่ยนให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย เพื่อให้วันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (ภายหลังเรียกวันที่ 1 เมษายนว่า วันตรุษสงกรานต์ อย่างไรก็ดีประชาชนทั่วไปยังคงถือวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่) จนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ได้กำหนดเป็นวันปีใหม่ไทยตามรูปแบบของตะวันตก[18]
เสฐียรโกเศศ เขียนบทความใน วารสารศิลปากร ฉบับปีที่ 4 เล่มที่ 6 เมษายน 2494 เล่าตอนตัวเองอายุ 13 ปี เมื่อราว พ.ศ. 2444 ปลายรัชกาลที่ 5 ว่ามีการสาดน้ำในหมู่ผู้รู้จักกัน ความว่า
"เวลาบ่ายแดดตกวันสงกรานต์ เห็นเขาเล่นสาดน้ำรดกัน หรือไม่ก็เล่นปล้ำมอมหน้ากันอย่างสนุกสนาน ระหว่างหนุ่มๆ สาวๆ ตลอดจนคนแก่แม่ร้าง และสาวทึมทึกกลางคนที่ยังสนุกอยู่ ก็เข้าร่วมเล่นสนุกด้วย เขาเล่นสนุกในหมู่ผู้รู้จักกัน ไม่เกี่ยวไปถึงผู้อื่นที่ไม่รู้จัก และเล่นด้วยความยินดีสมัครใจ การเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้ากัน เขามักเล่นเมื่อสรงน้ำพระแล้ว"[19]
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปัจจุบัน
แก้การสาดน้ำบนท้องถนนในวันสงกรานต์คงเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บ้างสันนิษฐานว่าการสาดน้ำใส่กันในวันสงกรานต์นี้มีที่มาจากพม่า เพราะตามหลักฐานที่พบ การสาดน้ำเล่นสงกรานต์ของฝั่งไทยระบุความเก่าแก่ไม่ได้เท่าฝั่งพม่า[20] พ.ศ. 2482 ปรากฏหลักฐานการประกวดนางสงกรานต์ในนาม นางงามตักบาตรสงกรานต์ ต่อมา พ.ศ. 2493 เปลี่ยนชื่อมาเป็น การประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์[21]
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2491 ถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ[22] คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 อนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว[23] และวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี เป็นวันเถลิงศก
การสาดน้ำในช่วงสงกรานต์บนถนนข้าวสาร เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2533 ซึ่งสมัยนั้นมีเกสต์เฮาส์จำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวมาพักถนนข้าวสาร[24] [25] จนเริ่มโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2542–2543 จนทำให้จังหวัดอื่น ใช้คำว่าถนนข้าว เพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์ เช่น ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น[26] ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี ถนนข้าวกล่ำ จังหวัดกาฬสินธุ์ [27]
นางสงกรานต์
แก้ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[28] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมารและได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
วัน | พระนาม | ดอกไม้ | อาภรณ์ | ภักษาหาร | หัตถ์ขวา | หัตถ์ซ้าย | พาหนะ |
---|---|---|---|---|---|---|---|
วันอาทิตย์ | นางทุงษเทวี | ดอกทับทิม | แก้วปัทมราช | อุทุมพร (ผลมะเดื่อ) |
จักร | สังข์ | ครุฑ |
วันจันทร์ | นางโคราคเทวี | ดอกปีบ | มุกดาหาร | เตล้ง (น้ำมัน) |
พระขรรค์ | ไม้เท้า | พยัคฆ์ (เสือ) |
วันอังคาร | นางรากษสเทวี | ดอกบัวหลวง | แก้วโมรา | โลหิต (เลือด) |
ตรีศูล | ธนู | วราหะ (หมู) |
วันพุธ | นางมัณฑาเทวี | ดอกจำปา | ไพฑูรย์ | นมเนย | เหล็กแหลม | ไม้เท้า | คัสพะ (ลา) |
วันพฤหัสบดี | นางกิริณีเทวี | ดอกมณฑา | มรกต | ถั่วงา | ขอ | ปืน | คชสาร (ช้าง) |
วันศุกร์ | นางกิมิทาเทวี | ดอกจงกลนี | บุษราคัม | กล้วยน้ำ | พระขรรภ์ | พิณ | มหิงสา (ควาย) |
วันเสาร์ | นางมโหทรเทวี | ดอกสามหาว (ผักตบไทย) |
นิลรัตน์ | เนื้อทราย | จักร | ตรีศูล | มยุรา ยูง |
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
- วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
- วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
- วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
- วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
- วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
- วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
- วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
อนึ่งท่าทางของนางสงกรานต์จะกำหนดตามเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือเวลามหาสงกรานต์ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้[29]
- ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (06:00–11:59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
- ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12:00–17:59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
- ถ้าเป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18:00–23:59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
- ถ้าเป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00:00–05:59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา
ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้จะมีระบุในประกาศสงกรานต์เสมอ
กิจกรรมในวันสงกรานต์
แก้- การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเองและอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
- การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
- การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
- บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
- การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
- การดำหัว จุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำทางภาคกลาง พบเห็นได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงเราเคารพนับถือต่อพระ, ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีอาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อยเทียนและดอกไม้
- การก่อเจดีย์ทราย เป็นการนำทรายมาก่อเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์ และประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ
- การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
- การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป
สงกรานต์ในแต่ละท้องที่
แก้สงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในสายตาชาวโลกคือสงกรานต์ในประเทศไทย จึงทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยติดอันดับเทศกาลที่มีสีสันที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย[30]
ในทางภาคเหนือของประเทศไทย จะมีการเรียกว่า ปีใหม่เมือง
ส่วนในต่างประเทศ ชาวไทในสิบสองปันนา (โดยเฉพาะที่เมืองเชียงรุ่ง) จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ในวันที่ 13–15 เมษายน[31] เรียกว่างานเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย[32]
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
แก้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15:30 น. ตามเวลาประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of Intangible Cultural Heritage) ครั้งที่ 18 ของยูเนสโกที่เมืองกาซาเน ประเทศบอตสวานา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในประเภทรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยใช้ชื่อว่า "สงกรานต์ในไทย เทศกาลปีใหม่ไทยดั้งเดิม" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรายการที่ 4 ของประเทศไทย[33]
ลิขสิทธ์
แก้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติพิจารณาผลักดันให้มีการจดลิขสิทธ์คำว่า "สงกรานต์เฟสติวัล" เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศอื่นไม่สามารถนำคำว่า "สงกรานต์เฟสติวัล" ไปใช้ได้ต้องขออนุญาตซื้อลิขสิทธิ์จากรัฐบาลไทยก่อน และต้องจัดงานตามรูปแบบที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้[34]
อ้างอิง
แก้- ↑ "'Songkran Festival' extended to five-day holiday". The Nation. 27 February 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-14. สืบค้นเมื่อ 15 April 2018.
- ↑ "Thai Government Approves Extra Day for Songkran 2019". Chiang Rai Times. 13 February 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-26. สืบค้นเมื่อ 15 February 2019.
- ↑ แม่แบบ:Cite MWSD
- ↑ "The magic and traditions of Thai New Year (Songkran)". Tourism Authority of Thailand Newsroom (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2014. สืบค้นเมื่อ 12 December 2015.
- ↑ Melton, J. Gordon (2011). Religious Celebrations: An Encyclopedia of Holidays, Festivals, Solemn Observances, and Spiritual Commemorations. ABC-CLIO. p. 825. ISBN 978-1-59884-205-0.
- ↑ เอื้อน มนเทียรทอง. พระคัมภีร์สุริยยาตรศิวาคม. กรุงเทพฯ: สำนักโหร "หอคำ", ม.ป.ป.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. "สงกรานต์ เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ประเพณีสิบสองเดือนในภาคกลาง". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 ส.พลายน้อย. "สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย. เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ Engelbert Kaempfer, John Gaspar Scheuchzer and Sir Hans Sloane. (1727). De beschryving van Japan. Door ENGELBERT KÆMPFER, M.D. Geneesheer van bet Hollandſche Ge P. (Translated by John Gaspar Scheuchzer). Netherlands: Gosse en J. Neaulme. 550 pp. p. 29. "Behalven deze hebben zy fommige jaarlykſche plechtige Feeſtdagen, by voorbeeld een in ’t begin van 't jaar, genaamt Sonkraen, een ander Kitimbac genoemt, ook wel ..."
- "Songkran" (noun) in Oxford English Dictionary (Online). Retrieved on 17 April 2024. cited in Engelbert Kaempfer. (1727). The history of Japan: giving an account of the ancient and present state and government of that empire (translated by John Gaspar Scheuchzer). "They [sc. the Siamites] have besides several yearly solemn festivals, as for instance, at the beginning of the year, call'd Sonkraen [Ger. Sonkraan]."
- ↑ กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2545). "วันนักขัตฤกษ์", ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: อาทิตย์ คอมมูนิเคชั่น. 99 หน้า. น. 97. ISBN 974-419-467-7
- ↑ กรมศิลปากร. (2507). คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: คลังวิทยา. 497 หน้า. หน้า. 265.
- ↑ กรมศิลปากร. (2512). "เริ่มก่อพระทรายครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศตอนปลายกรุงศรีอยุธยาตามที่บันทึกไว้เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ ปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์". ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๔๓ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๙-๗๐) เรื่องเกี่ยวกับกรุงเก่าตอนที่ ๑ เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์ และเรื่องขุนบรมราชา. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 3-6.
- คณะกรรมการอํานวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว. หน้า 138-142.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๙ เรื่องเกี่ยวกับกรุงเก่า ตอนที่ ๑. เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาพิริยะวิชัย (เพียบ สุวรรณิน) เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม. พระนคร: พระจันทร์. 118 หน้า. หน้า 2-5.
- ↑ Jean-Baptiste Pallegoix. (1854). Description du Royaume Thai ou Siam. Lagny, France: Vialat et Cie. p. 249. "Ils ont en outre, durant le cours de l’année, plusieurs jours de fêtes civiles ou religieuses, qu’ils célèbrent avec grande pompe : 1°Songkran; c’est leur nouvel an, qui tombe ordinairement dans leur cinquième mois; on le célèbre pendant trois jours; ce n’est qu’à cette époque que le peuple apprend des astro-logues, si l’ange de l’année monte un tigre, un bœuf,-un ours, un cheval; une chèvre, un dragon ou quelque autre animal."
- ↑ วสันต์ ญาติพัฒ. "สงกรานต์ แผ่นดินพระจอมเกล้าฯ ตอนที่ ๑". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
- ↑ กำพล จำปาพันธ์. "ช่วง 'สงกรานต์' สมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ 'มนุษย์อยุธยา' ทำอะไรต่างจากยุคปัจจุบันบ้าง?". เดอะพีเพิล.
- ↑ "พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ นรนิติ เศรษฐบุตร. "1 มกราคม พ.ศ. 2484". สถาบันพระปกเกล้า.[ลิงก์เสีย]
- ↑ หลง ใส่ลายสือ. "สงสาร สงกรานต์". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย". เดอะคลาวด์.
- ↑ ปุรินทร์ นาคสิงห์, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์. "สงกรานต์ การดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงในบริบทการท่องเที่ยว" (PDF). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. "ข้าราชการสมัย ร.6 เคยหยุดวันปีใหม่ (แบบเก่า) ถึงวันสงกรานต์ ยาวนานติดต่อกัน 31 วัน!". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ประเพณีวันสงกรานต์". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-09. สืบค้นเมื่อ 2024-04-09.
- ↑ "ประเพณีสงกรานต์ถนนข้าวสาร". ยินดีต้อนรับเข้าสู่จังหวัดกรุงเทพมหานคร (ภาษาอังกฤษ). 2014-01-12.
- ↑ "เต็มอิ่ม สนุกสนาน นานา "ถนนข้าว" ทั่วไทย ต้อนรับสงกรานต์". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม _ หน้าแรก". m-culture.in.th.
- ↑ "สงกรานต์ สงกรานต์เที่ยวไหนดี ถนนสารพัดข้าว วันสงกรานต์". kapook.com. 2010-03-29.
- ↑ อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ, พรหมชาติ ฉบับหลวง, กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส. ธรรมภักดี, ม.ป.ป., หน้า 512-513
- ↑ สิงห์โต สุริยาอารักษ์. เรื่องฤกษ์และการให้ฤกษ์ ดวงพิชัยสงคราม. กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, ม.ป.ป. (ดูหัวข้อ ตำนานสงกรานต์)
- ↑ http://www.thairath.co.th/content/oversea/162639
- ↑ ประชาชนชนชาติไตของสิบสองปันนาของมณฑลหยูนหนานฉลองเทศกาลสาดน้ำ
- ↑ เขตสิบสองปันนาจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ของชนชาติไต
- ↑ ""ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" มรดกโลกวัฒนธรรม". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 6 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ไทยกำลังจดลิขสิทธิ์ 'สงกรานต์เฟสติวัล' ห้ามประเทศอื่นใช้ ต้องขออนุญาตก่อน". (2567, 21 ตุลาคม). กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2567.