พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕

พระราชพิธีสิบสองเดือน รู้จักกันในคำยืมภาษาบาลี/สันสกฤตว่า พระราชพิธีทวาทศมาส เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชพิธีรายปีโดยพระมหากษัตริย์สยาม (ปัจจุบันคือประเทศไทย) ซึ่งมีการกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลของอาณาจักรอยุธยา (คริสต์ศตวรรษที่ 14–18) และในโคลงทวาทศมาส ในคริสต์ศตวรรษที่ 15[1]

พระราชพิธีสิบสองเดือน
กวีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเภทสารคดี
คำประพันธ์ความเรียง ร้อยแก้ว
ความยาว700 หน้า
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งพ.ศ. 2431
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

พระราชพิธีนี้ได้รับความสนใจอีกครั้งจากสถาบันกษัตริย์และขุนนางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2394–2411) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ได้แต่งโคลงเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ โดยมีชื่อว่า โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2463 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2411–2453) ทรงเขียนและตีพิมพ์เป็นหนังสือร้อยแก้วชื่อ พระราชพิธีสิบสองเดือน ใน พ.ศ. 2431 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2453–2468) ทรงปรับปรุงและพัฒนาพระราชพิธีหลายอัน[2]

พระราชพิธีเหล่านี้ถูกยกเลิกหลังยุบเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน พ.ศ. 2475 แต่มีบางพระราชพิธีได้รับการรื้อฟิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะการฟื้นฟูความนิยมพระมหากษัตริย์ใหม่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960–1970 แรกนาขวัญเป็นหนึ่งในไม่กี่พระราชพิธีที่ยังมีการจัดทุกปีจนถึงปัจจุบัน[2] พระราชนิพนธ์เล่มนี้นับเป็นวรรณคดีชิ้นเอกเล่มหนึ่งของไทย

ประวัติ

แก้

พระราชพิธีสิบสองเดือนเป็นพระราชนิพนธ์ที่อธิบายถึงพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ทำเป็นประจำในแต่ละเดือน โดยทรงค้นคว้าและแต่งขึ้นทีละเรื่อง จนได้พระราชพิธีทั้งหมด 11 เดือน ขาดแต่เดือน 11 (ทรงเริ่มต้นที่เดือน 12 ก่อน) เนื่องจากติดพระราชธุระจนไม่ได้แต่งต่อจวบสิ้นรัชสมัย

เนื้อหา

แก้

เนื้อหาในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ว่าด้วยพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นทั้งในสมัยโบราณ และในสมัยที่ทรงแต่ง รวมหลายสิบพระราชพิธีด้วยกัน ทรงเล่าถึงพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วยสำนวนภาษาที่ไม่เคร่งครัดอย่างตำรา ในสมัยใหม่อาจเรียกได้ว่าสารคดี

พระราชพิธีสิบสองเดือนเป็นหนังสือที่อ่านได้ยากมากๆ มีรายละเอียดของพระราชพิธีในส่วนต่าง ๆ อย่างครบถ้วน นอกจากทรงเล่าถึงพระราชพิธีตามตำรับโบราณแล้ว ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างแยบยล

คุณค่าทางวรรณศิลป์

แก้

พระราชนิพนธ์เล่มนี้นับเป็นแบบอย่างทั้งการเขียนความเรียง และตำราอ้างอิงที่สำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีของไทย ครั้นเมื่อ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น พระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน ก็ได้รับการยกย่อง ว่าเป็น "ยอดของความเรียงอธิบาย" นอกจากนี้ยังได้รับการจัดเป็นหนึ่งใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

รายชื่อพระราชพิธีในเรื่อง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2017). A History of Ayutthaya : Siam in the Early Modern World. Cambridge University Press. pp. 109–110. ISBN 9781107190764.
  2. 2.0 2.1 "พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". lek-prapai.org. Lek-Prapai Viriyahpant Foundation. 16 June 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-30. สืบค้นเมื่อ 17 October 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้