มาเลเซียเชื้อสายไทย

กลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซีย

ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย หรือ ชาวสยาม (นิยมเรียกในมาเลเซีย) เป็นชาวไทยถิ่นใต้ที่อาศัยอยู่พื้นที่แถบนี้มาช้านาน โดยการเข้ามาเรื่อย ๆ พอนานเข้าก็กลายเป็นชนกลุ่มหนึ่งในรัฐไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ทางตอนเหนือของรัฐเปรัก และมีจำนวนหนึ่งอาศัยในปีนัง โดยบางส่วนได้ผสมกลมกลืนกับชนพื้นเมืองแถบนี้ด้วย ภายหลังการยกดินแดนส่วนนี้แก่อังกฤษ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งตกค้างในประเทศมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวไทยในประเทศมาเลเซียนี้ก็ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยในอดีตไว้ได้อย่างดี รวมถึงภาษา และศาสนาที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกับชาวมลายูทั่วไป

ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย
Malaysian Siam
Orang Siam - โอรังเซียม
ออแฆ ซีแย
กลุ่มนักแสดงสยามที่กัวลาเลอบีร์ (ปัจจุบันคืออำเภอกัวลาไกร) รัฐกลันตัน, กรกฎาคม ค.ศ. 1909
ประชากรทั้งหมด
70,000[1][2] (2014, ประมาณ)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 มาเลเซีย (โดยเฉพาะรัฐทางเหนือของมาเลเซียตะวันตก[3] รวมรัฐเนอเกอรีเซิมบีลันกับรัฐซาบะฮ์บางส่วน)[4]:
 รัฐเกอดะฮ์: 42,000 (2015)[5]
 รัฐกลันตัน: 28,000 (2015)[5]
 รัฐปะลิส: 8,000 (2015)[5]
 รัฐเประ: 3,200 (2015)[5]
 รัฐปีนัง: 400 (2015)[5]
 กัวลาลัมเปอร์: 300 (2015)[5]
ภาษา
ภาษาไทยถิ่นใต้ (ท้องถิ่น); ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาไทยมาตรฐานได้ เช่นเดียวกันกับสำเนียงมลายูท้องถิ่น (กลันตันหรือเกอดะฮ์) กับภาษามาเลเซียมาตรฐาน[6]
ศาสนา
ส่วนใหญนับถือศาสนาพุทธเถรวาท ส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนบุคคลสัญชาติไทยที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย มีจำนวน 107,417 คน ใน พ.ศ. 2564 โดยมากอาศัยอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ จำนวน 100,000 คน โกตาบารู จำนวน 7,180 คน และปีนัง จำนวน 237 คน[7]

ประวัติ

แก้

ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวไทยในประเทศไทย เชื่อกันว่าอพยพเข้าสู่ดินแดนมลายูตั้งแต่ 300-500 ปีมาแล้ว โดยเป็นช่วงที่ไทยล่าอาณานิคมไปถึงปะหัง ผู้ที่ติดตามกองทัพสยามจึงเข้าไปอยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยในสมัยพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งเมืองชัยนครขึ้นใหม่ เมื่อไทยยกไปตีมะละการะหว่าง พ.ศ. 1998-2003 จึงเรียกว่าเมืองไชยบุรีและมีราษฎรทางหัวเมืองเหนืออพยพมาอยู่กันมาก จึงออกเสียงแบบสำเนียงเหนือเป็นไซบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2067 เมืองไชยบุรีได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาเจะฮ์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประชากรจึงได้หันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเช่นเดียวกัน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในราว พ.ศ. 2173 จึงได้เมืองไชยบุรีกลับมาตามเดิม ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเขียนชื่อเป็นไซบุรีอยู่ ภายหลังจึงเขียนเป็น ไทรบุรี

ยุคล่าอาณานิคม

แก้

ในสมัยยุคล่าอาณานิคม เพื่อรักษาเอกราชชนชั้นปกครองไทยได้ยอมเซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู เปรักตอนบนให้สหราชอาณาจักร ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน คิดเป็นพื้นที่ที่เสียในครั้งที่ 13 ประมาณ 52,100 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมีอิสรภาพในการคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มีโรงเรียนสอนภาษาไทยและพระพุทธศาสนา โดยประเทศไทยเสียดินแดนดังกล่าว แต่ชาวไทยในหัวเมืองมลายูทั้ง 4 เมือง ยังคงตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่นนับตั้งแต่อังกฤษยึดครองมาเลเซียจนกระทั่งมาเลเซียได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในเกอดะฮ์มี 11 เขต 27 หมู่บ้าน มีวัด 50 วัดมีชาวไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

  • ก่อนมาเลเซียได้รับเอกราช ชาวไทยมีหลักฐานแสดงสถานภาพความเป็นชนกลุ่มน้อย คือ
  1. สูติบัตรแสดงความเป็นไทย เชื้อสายไทย
  2. ทะเบียนสำมะโนครัว แสดงสัญชาติมาเลเซีย
  3. บัตรประชาชน เริ่มทำตั้งแต่อายุ 12 ปี และทำใหม่อีกครั้ง เมื่ออายุ 18 ปี
  • หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ชาวไทยมีหลักฐานการแสดงสถานภาพ ดังนี้
  1. สูติบัตร แสดงว่าเป็นคนไทย เชื้อสายไทย
  2. บัตรประชาชน แสดงสัญชาติมาเลเซีย

เดิมทีชาวไทยไม่มีสถานะเป็นภูมิบุตร โดยมีสิทธิ์ครองดินเป็นของตนเอง มีสิทธิ์ขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นได้แต่ผู้ซื้อต้องเป็นชาวมลายู ชาวไทยด้วยกันไม่มีสิทธิ์ซื้อขายที่ดินไม่ว่าเป็นของชาวไทยหรือของชาวมาเลเซีย อีกประการหนึ่งเจ้าของที่ดินต้องเป็นเกษตรกรชาวไทยและมีบัตร Regence Patanian Orang Orang Siam ทางการมาเลเซียจึงยอมรับว่าชาวไทยเป็นเกษตรกรเจ้าของที่ดินและไม่ประสงค์กลับเข้าไปอยู่ในประเทศไทย ส่วนชาวไทยบางส่วนก็ได้กลับประเทศไทยแล้วแต่หากมีกิจกรรมบางอย่างก็จะกลับมาและหลังจากนั้นก็จะกลับประเทศไทยตามเดิม โดยปัจจุบันชายมาเลเซียเชื้อสายไทยได้รับสถานะภูมิบุตรแล้ว

การกระจายตัวของชาวไทย

แก้
 
แผนที่การเสียดินแดนของอาณาจักรสยาม

รัฐกลันตัน

แก้

ชุมชนชาวไทยในรัฐกลันตันมีมากในเขตตุมปัต โกตาบาห์รู ปาซีร์มัส ปาซีร์ปูเตะห์ บาเจาะ ตาเนาะแมเราะ และเบอสุต ซึ่งชาวไทยในรัฐกลันตันสามารถพูดภาษาเจ๊ะเหซึ่งเป็นภาษาถิ่นเดียวกับที่พูดในบางส่วนของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส โดยมีเพียงแม่น้ำโก-ลกที่ขีดเส้นแบ่งเขตระหว่างไทยและมาเลเซียเท่านั้น และชาวไทยกลุ่มนี้ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของไทยเอาไว้อยู่ โดยในเมืองตุมปัตจะมีวัดไทยตั้งอยู่ไม่น้อย ได้แก่วัดพิกุลทองวราราม วัดมัชฌิมาราม และวัดโพธิวิหาร ชุมชนคนไทยที่พานพบชื่อหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังคงมีชื่อเป็นภาษาไทย และที่สำคัญภายในบ้านมักปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประดับ ในรัฐกลันตันมีมากกว่า 15 หมู่บ้าน เช่น บ้านยุงเกา บ้านบ่อเสม็ด บ้านบางแซะ เป็นต้น

รัฐเกอดะฮ์และปะลิส

แก้

ชุมชนชาวไทยพุทธในรัฐเกอดะฮ์นั้นมีกระจายทั่วไปในรัฐทั้ง 7 อำเภอ มีหมู่บ้านคนไทยอยู่ 53 หมู่บ้าน มีวัด 34 วัด มีสำนักสงฆ์อยู่ 8 สำนัก และมีคนไทยอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน คนเชื้อสายไทยที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา และเพาะปลูกพืชผัก และต่างพูดภาษาไทยถิ่นใต้ เด็กส่วนใหญ่จะเรียนภาษาไทยที่วัด โดยจะมีพระภิกษุ หรืออาสาสมัครชาวไทยเป็นครูสอนให้อ่านออกเขียนได้ โดยจะมีองค์กรและกลุ่มคนไทยที่พยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์การเรียนการสอนภาษาไทยขึ้นในวัดไทย เพื่อให้เรียนรู้และเข้าในหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยปัจจุบันพบว่ามีเด็กหนุ่มสาวสนใจเรียนรู้และสอบธรรมศึกษากันอย่างแพร่หลาย ชุมชนของชาวไทยในไทรบุรีได้แก่ บ้านลำป่า บ้านหนุน บ้านทุ่งควาย (ปาดังเกอเบา) บ้านปลายละไม (ติติอาการ์) บ้านไม้สน อำเภอเปินดัง บ้านลาแหล บ้านคลองใหม่ อำเภอกุบังปาสู บ้านประดู่ บ้านนาข่า บ้านลำดิน อำเภอปาดังเตอรัป บ้านจันทร์หอม บ้านกาไหล อำเภอเซะ บ้านคลองช้าง บ้านสระหลวง อำเภอกัวลามูดา บ้านวัด บ้านน่านทาล บ้านทุ่งสยาม (บางกัง) อำเภอบาลิง

นอกจากนี้ยังมีหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐปะลิส ซึ่งในรัฐปะลิสเองก็มีวัดและการสอนศาสนาและภาษาไทยแก่เด็ก ๆ หมู่บ้านที่สำคัญ ได้แก่ บ้านควนมูสัง บ้านยาหวี บ้านตาน้ำ บ้านควนขนุน เป็นต้น

รัฐเปรัก

แก้

รัฐเปรัก มีหมู่บ้านของคนไทยอยู่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตาเซ๊ะ บ้านน้ำไทร บ้านปลง และบ้านควนสู โดยหมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่ในตำบลเปิงกาลันฮูลู อำเภอฮูลูเปรัก รัฐเปรัก ทั้ง 4 หมู่บ้านมีคนไทยอาศัยอยู่ 349 ครัวเรือน รวมประชากร 2,080 คน คิดเป็นร้อยละ 95ประชาชนกลุ่มนี้อาศัยตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนถึงทวด ในที่นี้จะห่างจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพียงแค่ 14 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยถิ่นใต้ และประกอบอาชีพสวนยางพารา มีกลุ่มทำนาข้าว และยังมีคนไทยบางส่วนรับราชการก็มี คนไทยในเปรักกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีพื้นเพทางจังหวัดสงขลาถึงร้อยละ 90 นอกนั้นเป็นกลุ่มที่มาจากจังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวไทยที่นี่มีศูนย์จิตใจอยู่ที่วัดอินทราวาส ที่ตาเซ๊ะ ที่นี่ยังมีการจัดประเพณีของไทยอย่าง ประเพณีสงกรานต์ที่จัดกันเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว โดยในงานยังมีการประกวดนางนพมาศ มีการรำมโนราห์ และยังมีการแสดงกลองยาวอีกด้วย คนเชื้อสายไทยที่นี่ยังใช้นามสกุลไทย และเมื่อมีวันหยุดยาวก็จะข้ามมาหาญาติในฝั่งไทย[8]

เกาะลังกาวี

แก้

คนไทยบนเกาะลังกาวี เป็นคนไทยที่อพยพจากจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมจากอำเภอละงู ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง บางคนทำทำนา และการเกษตรอื่นๆ ชุมชนของชาวไทยกลุ่มนี่ส่วนมากอยู่ที่เขตกัวห์ (Kuah) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ส่วนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อ่าวตะโละเอวา (Taluk Ewa) อ่าวปันไตปาซีร์ฮิตัม (Pamtai Pasir Hitam) และแหลมตันหยงรู (Tangung Rhu) บริเวณนี้ชาวไทยยังนิยมพูดภาษาไทยกันอยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระยาศราภัยพิพัฒ และพวกเคยพบชาวบ้านคนหนึ่งพูดภาษาไทย เพราะมีบรรพบุรุษเป็นคนไทย นอกจากคนกลุ่มนี้แล้ว ยังมีชาวไทยที่อพยพไปทีหลังอย่างกลุ่มผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพในลังกาวีซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศมาเลเซีย อย่างในรัฐปีนัง (เกาะหมากในอดีต) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดไชยมังคลาราม มีคนเชื้อสายไทยในอำเภอเบอสุต (Besut) ในรัฐตรังกานู ในอดีตรัฐปะหังก็มีประวัติว่ามีชาวไทยมาเป็นเจ้าเมืองด้วยในอดีต มีคนเชื้อสายไทยบ้างในรัฐสลังงอห์ และในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทุกชุมชนก็จะมีวัดไทยปรากฏอยู่และเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวพุทธ นอกจากกลุ่มชาวไทยพุทธแล้ว ยังมีกลุ่มชาวไทยมุสลิมอีกกลุ่มที่เรียกว่า ซัมซัม (Samsam) ซึ่งมีเชื้อสายไทยแต่นับถือศาสนาอิสลาม[9]

วิถีชีวิต

แก้

ในชีวิตประจำวันชาวไทยส่วนมาก ทำนา ทำสวนยางพารา และพูดภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงถิ่นของไทรบุรี ที่ใกล้เคียงสำเนียงนครศรีธรรมราชและสงขลา ถ้าสมาคมกับชาวจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยด้วยกันก็จะใช้ภาษาฮกเกี้ยนและภาษาจีน ถ้าสมาคมกับชาวมาเลเซียจะใช้ภาษามลายู

ชาวไทยเรียนหนังสือไทยจากวัด ส่วนใหญ่มีพระภิกษุหรือคนไทยอาสาสมัครเป็นผู้สอนพอให้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ ปัจจุบันพ่อแม่เด็กไทยไม่นิยมส่งลูกหลานให้เรียนภาษาไทย เพราะผู้เรียนภาษาไทยไม่มีสิทธ์เรียนต่อชั้นสูงในโรงเรียนรัฐบาล รัฐบาลมาเลเซียไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนภาษาไทย

วัฒนธรรม

แก้

ชาวไทยที่อาศัยในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบเดียวกับไทย แม้ว่าในวัดไทยบางแห่งจะมีเทพเจ้าจีนที่ผู้มีศรัทธาชาวจีนมาประดิษฐานไว้ก็ตาม แต่คนไทยที่ไทรบุรีจะเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ และอำนาจไสยศาสตร์เร้นลับ ผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และฮินดูสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของคนไทย

จากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมของคนที่ที่ในไทรบุรี พบว่าชาวมาเลเซียที่เป็นชนกลุ่มใหญ่มักเกรงกลัวชาวไทยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เพราะคิดว่าชาวไทยมีคาถาอาคม สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เช่นมีพิธีกรรมรับ-ส่งเทวดา (เทียมดา) พิธีกรรมในงานศพ ดนตรีกาหลอ พิธีกรรมโนราโรงครูเป็นต้น

ในช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี คนไทยในมาเลเซียเหล่านี้ จะนัดหมายกันพาลูกหลานที่มีอายุครบบวชมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่ละปีจะมีมาบวชกันหลายสิบรูป และมีญาติพี่น้องยกขบวนกันมาร่วมงาน มาแสวงบุญนมัสการพระมหาธาตุกันโดยใช้รถบัส 10-20 คัน นับพัน ๆ คน

ซึ่งชาวไทยในมาเลเซียนั้นมีความเคารพศรัทธาและความผูกพันกับพระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราชมาช้านานหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งในอดีตอันยาวนานนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองนครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงก์ เป็นแคว้นใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นเป็นเมืองศูนย์กลางในแหลมมลายูมีเมืองบริวารถึง 12 เมืองเรียกว่าเมือง 12 นักษัตร และไทรบุรีหรือเกอดะฮ์แห่งนี้ก็เป็นหนึ่งใน 12 เมืองบริวาร โดยถือตรงมะโรงหรืองูใหญ่เป็นตราสัญลักษณ์ ประกอบกับทั้งเมืองนครศรีธรรมราชที่ตั้งอยู่ริมฝั่งอ่าวไทย ในขณะที่รัฐไทรบุรีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญต่อกัน ผู้คนพลเมืองเดินทางไปมาหาสู่กันเหมือนบ้านพี่เมืองน้องจนมีคำกล่าวที่ติดปากกันสืบมาว่า "กินเมืองคอน นอนเมืองไทร" อันเป็นคำกล่าวที่แสดงถึงความผูกพันระหว่างสองเมืองได้เป็นอย่างดียิ่ง และความผูกพันเช่นนี้ก็ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน บรรยากาศของความเคารพความศรัทธาของชาวไทยในมาเลเซียที่มีต่อพระบรมธาตุ คนไทยในไทรบุรีมีคติความเชื่อสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณว่า หากใครได้มีโอกาสเดินทางมานมัสการพระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราชแล้ว ก็จะได้บุญกุศลมากมายยิ่ง เพราะได้มาถึงศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต อีกทั้งยังเป็นการเดินทางที่ยาวไกลและสมบุกสมบันทุรกันดารยิ่งนัก คนที่เดินทางมาถึงได้ต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในจิตใจ ใครได้มาถึงแล้วกลับไปก็จะกลายเป็นคนที่เป็นยอดคนเลยทีเดียว ยิ่งได้มาบวชหรือพาลูกพาหลานมาบวชด้วยแล้ว ก็จะยิ่งได้กุศลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก แม้ปัจจุบันการเดินทางจะสะดวกสบาย ด้วยการเดินทางทางรถยนต์ราว 3-4 ชั่วโมง แต่ศรัทธาของพวกเขาก็ยังคงอยู่และสืบทอดมายังคนรุ่นหลัง

สมาคมสยามเกอดะฮ์-ปะลิสที่พยายามต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทย รักศาสนาพุทธเทิดทูลพระมหากษัตริย์ไทยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีการยกธงชาติไทยควบคู่กับธงชาติมาเลเซีย แต่จะไม่มีขบวนการที่เคลื่อนไหวนอกระบบหรือวิธีการที่รุนแรง

การดำเนินกิจกรรมของสมาคมชาวพุทธเชื้อสายไทยในตอนเหนือประเทศมาเลเซียนั้นไม่เพียงดำเนินการทางด้านวัฒนธรรมอย่างเดียวแต่พยายามรวมกลุ่มเพื่อมีอำนาจางการเมืองด้วยเช่นกัน เช่นข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นสำคัญๆ และนำเสนอผ่านสมาคมไทยกลันตัน และสมาคมสยามมาเลเซียมายังรัฐบาลก็คือ การขอมีสิทธิเป็นบูมีปูเตอรา การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุด (การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นที่สักการะของชาวพุทธจากทั่วโลก ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญ ปัจจุบันนี้ ประเทศมามาเลเซียมีพระพุทธรูปทรงนั่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากพระพุทธรูปทรงนั่งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพระพุทธรูปทรงนั่งในประเทศมาเลเซียจะประดิษฐานอยู่ที่วัดมัชฌิมาราม หมู่บ้านตือรือโบะ (Tereboh) อำเภอตุมปัต (Tumpat) รัฐกลันตัน (Kelantan) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียจากฝั่งอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก็จะพบเห็น พระพุทธรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายมือห่างจากเปิงกาลันกุโบร์ (Pengkalan Kubor) ริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามอำเภอตากใบประมาณ 5 - 8 กิโลเมตร) ให้เป็นที่สักการบูชาของชาวพุทธจากทั่วโลก การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ การขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ การขอมีสิทธิในกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ ตลอดจนการขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรคอัมโน (UMNO)

การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ และการขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ ทั้งสองประเด็นดังกล่าวถือว่าสำคัญ เพราะการที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในชาตินั้น ส่อให้เห็นว่า วัฒนธรรมของชาวพุทธเชื้อสายไทยกำลังถูกกลืนจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ รัฐบาลมาเลเซียจึงประกาศให้วัฒนธรรมการละเล่นกลองยาว การฟ้อนรำไทย และประเพณีวันสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ

การขอมีสิทธิในการกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ รัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิการขอทุนทั้งการศึกษาอย่างเช่น ทุน MARA ซึ่งเป็นทุนพิเศษสำหรับชาวมลายู และทุนการประประกอบทางธุรกิจอย่าง เช่น ASB และ ASN ซึ่งเป็นกองทุนทางธุรกิจสำหรับชาวมลายูและพลเมืองแห่งชาติแก่ชาวพุทธเชื้อสายไทยเท่ากับชาวมลายูในมาเลเซียทุกประการ

นโยบายของมาเลเซียที่มีต่อชาวไทย

แก้

ประเด็นการขอมีสถานภาพเป็นภูมิบุตร หรือบูมีปูเตอราถือว่าสำคัญที่สุด ตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียถือว่า บุคคลที่สืบเชื้อสายเป็นชาวมลายูหรือสืบเชื้อสายเป็นชาวซาบะฮ์หรือชาวซาราวักในมาเลเซียเท่านั้นที่เป็นบูมีปูเตอรา นอกจากนั้นจะไม่ใช่บูมีปูเตอรา ฉะนั้น จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นบูมีปูเตอราเพียงสองกลุ่มเท่านั้นคือ กลุ่มชาติพันธุ์มลายูและกลุ่มชาติพันธุ์กาดาซันจากรัฐซาราวักและซาบะฮ์ ส่วนลูกหลานที่เป็นบุมีปตราก็จะต้องมีบิดาหรือมารดาที่สืบเชื้อสายมลายูหรือชาวซาบะฮ์หรือซาราวักเท่านั้น ผู้ที่ถือสิทธิเป็นบูมีปูเตอราจะถือว่าเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง จะมีสิทธิพิเศษมากมายนับว่าเหนือกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในมาเลเซีย ทุกกลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้สถานภาพบูมีปูเตอรา อย่างไรก็ตาม จากการต่อสู้ทางสายกลางของชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะว่าชาวพุทธเชื้อสายไทยถึงแม้ว่า แรกเริ่มไม่มีสถานภาพเป็นบูมีปูเตอรา แต่สิทธิต่างๆ หมายถึง สิทธิด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม จะเหมือนกับบูมีปูเตอราที่เป็นชาวมลายูทุกประการ ปัจจุบันนี้ชาวพุทธเชื้อสายไทยมีสถานภาพเป็นภูมิบุตรแล้ว เมื่อประมาณ กลางปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ซึ่งถือว่าเป็นสถานภาพที่สูงกว่าชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซีย

การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ประเด็นนี้ก็ถือว่าสำคัญ เพราะว่าหากไม่มีการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจน จะทำให้ลูกหลานชาวพุทธเชื้อสายไทยหมดสิทธิในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันของรัฐ เพราะการเข้าสถาบันการศึกษาของรัฐในมาเลเซียนั้นมีการจัดการเข้าศึกษาตามระบบ PR ซึ่งเป็นอัตราส่วนตามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์

การขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรคอัมโนประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่าประเทศมาเลเซียนั้น พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคของชาวมลายูเป็นพรรคการเมืองที่ผูกขาดในการบริหารปกครองประเทศ ผู้ที่เป็นสมาชิกของพรรคอัมโนจะได้รับผลประโยชน์และสิทธิต่างๆ มากกว่าพรรคอื่นๆ สำหรับชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น นับตั้งแต่มีการต่อสู้การเรียกร้องสิทธิทางการเมือง คุณเจริญ อินทร์ชาติ คุณซิวชุน เอมอัมไพ ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติล้วนแต่เป็นสมาชิกของพรรคอัมโนทั้งสิ้น

ที่แตกต่างกันในการดำเนินนโยบายที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวพุทธเชื้อสายไทยนั้น จะเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียตอบสนองด้วยการให้มีการจัดตั้งองค์กรกลุ่มชาติพันธ์ชาวพุทธเชื้อสายไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกิดสมาคมสยามมาเลเซียและสมาคมไทยกลันตันที่ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธ์ รัฐบาลมาเลเซียมีการให้คำมั่นแก่ชาวพุทธเชื้อสายไทยถึงการสงวนสิทธิในตำแหน่งสภานิติบัญญัติไว้สำหรับชาวพุทธเชื้อสายไทยหนึ่งที่นั่งตามประชากรจำนวนประมาณ 60,000 คน และผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติคนแรกที่เป็นชาวพุทธเชื้อสายไทยในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ก็คือ ประธานของสมาคมสยามมาเลเซีย ชื่อว่าคุณเจริญ อินทร์ชาติ ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติต่อจากคุณเจริญ อินทร์ชาติ โดยเริ่มจากปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) คือ คุณซิวชุน เอมอัมไพ จนท่านเป็นสุภาพสตรีชาวพุทธเชื้อสายไทย ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นรองประธานของสมาคมสยามมาเลเซียและที่ปรึกษาของมุขมนตรีแห่งรัฐปะลิสนั้นเอง

ภาษา

แก้

จากการศึกษาระบบเสียง คำ ความหมายของคำบางคำ และลักษณะการเรียงคำของประโยคในภาษาถิ่นที่ใช้ในปัจจุบัน ในรัฐกลันตัน ไทรบุรีและปะลิส ในประเทศมาเลเซีย ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ในภาษาถิ่นที่วิจัยทั้ง 3 ถิ่นกับภาษากรุงเทพ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาถิ่นที่วิจัยแต่ละถิ่นที่พูดในมาเลเซียกับภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดในเมืองไทยผลการวิจัย พบว่าภาษาถิ่น 3 ถิ่นนี้มีทั้งลักษณะที่คล้ายคลึงกันและต่างกัน โดยเฉพาะภาษาไทยไทรบุรีกับปะลิสคล้ายคลึงกันมาก เกือบทุกด้าน แต่แตกต่างจากภาษาไทยกลันตันอย่างเห็นได้ชัด และทั้ง 3 ภาษานี้จะแตกต่างจากภาษากรุงเทพ แต่จะคล้ายคลึงกับภาษาไทยถิ่นใต้ สามารถจะจัดให้ภาษาไทยกลันตันอยู่กลุ่มเดียวกับภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มตากใบ ส่วนภาษาไทยไทรบุรีและปะลิสอยู่กลุ่มเดียวกับภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนครศรีธรรมราช และสงขลา

ภาษาไทยในกลันตัน มีคำเรียกสิ่งของต่าง ๆ ยังเป็นคำราชาศัพท์อยู่ เช่น หมวกเรียกมาลา กางเกงเรียกสนับเพลา รองเท้าเรียกบาท เป็นต้น และลักษณะการเรียงประโยคต่างจากกรุงเทพ เช่น ออกเสียงว่า อะ-ไร-ชื่อ แปลว่า ชื่ออะไร มีการสันนิษฐานว่า ภาษาไทยในกลันตัน มีการผสมความเป็นปักต์ใต้เข้ากับสุโขทัย เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี เพราะในประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 2 ดินแดนแถบนี้แข็งเมือง จึงต้องส่งกองทัพมาปราบและได้กวาดต้อนคนในรัฐกลันตันไปไว้ที่กรุงเทพ เพชรบุรี และ เชียงใหม่ แล้วนำพาคนในพื้นที่มาไว้ที่รัฐกลันตัน จึงทำให้สำเนียงภาษาในพื้นที่มีลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไป[10]

ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่มีชื่อเสียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Nop Nai Samrong (8 January 2014). "SIAMESE MALAYSIANS: They are part of our society". New Straits Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2014. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014. There are an estimated 70,000 Malaysians of Siamese origin in the country.
  2. "Zooming in on Malaysia's Thai community". The Star. 17 November 2016. สืบค้นเมื่อ 21 March 2019. The Thai community in Malaysia is a significant part of the nation's multiracial society. At present, an estimated 70,000 Thai-speaking Buddhists live in the west coast and east coast in the north of peninsular Malaysia.
  3. Salmah Omar; Rafidah Mohamad Cusairi; Shariffah Suraya Syed Jamaludin; Philip Lepun (2017). "Pengunaan tumbuh-tumbuhan dalam Perubatan Tradisional Masyarakat Siam di Negeri Kedah" [The use of plants in Traditional Medicine of the Siamese Community in the State of Kedah] (PDF) (ภาษามาเลย์). Kolej Universiti Islam Antarabangsa Selangor. p. 2/14. สืบค้นเมื่อ 21 March 2019. Masyarakat Siam di Malaysia kebanyakannya menetap di kawasan Utara Semenanjung Malaysia iaitu di Kedah, Perlis, Perak, Kelantan dan sebahagian kecil di negeri Terengganu. Sebahagian besar masyarakat Siam menetap di Kedah iaitu berjumlah 30,000 orang, 13,000 orang di Kelantan, 6,000 di Perlis dan 2,000 di Perak.
  4. "Thai community in Ipoh pays last respects to King Bhumibol". Bernama. The Malay Mail. 26 October 2017. สืบค้นเมื่อ 21 March 2019. As a mark of their last respect, thousands of Thai community in Malaysia including in Perak, Negeri Sembilan, Kedah, Kelantan, Sabah and Kuala Lumpur held religious ceremonies in their local temples today.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Thatsanawadi Kaeosanit (2016). "Dynamic Construction of the Siamese-Malaysians' Ethnic Identity, Malaysia" (PDF). A Dissertation Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy (Communication Arts and Innovation). p. 143 [153/384]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 October 2019. สืบค้นเมื่อ 24 October 2019 – โดยทาง Graduate School of Communication Arts and Management Innovation, National Institute of Development Administration, Thailand. In Kedah, there were about forty-two thousand Siamese-Malaysians people (42,000 people), twenty-eight thousand people in Kelantan (28,000 people), eight thousand people in Perlis (8,000 people) and the remaining three thousand and two hundred people in Perak (3,200 people) and in Penang there was about 400 people, in Kuala Lumpur about 300 people and in Terengganu about 24 households". (Boonsom Suwanmanee, member of the Senate, Malaysia, In-depth Interview, May 27, 2015)
  6. Irving Johnson. "Movement and Identity Construction Amongst Kelantan's Thai Community" (PDF). Harvard University. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 March 2019. สืบค้นเมื่อ 21 March 2019 – โดยทาง University of Münster.
  7. "สถิติจำนวนคนไทยใน ตปท. ประจำปี 2564" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 28 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  9. "๑ วันในมาเลย์|Boring Days". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-30. สืบค้นเมื่อ 2009-09-29.
  10. ใหม่มณี รักษาพรมราช. "อัตลักษณ์วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาจากวัดไทยในตุมปัต". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-01.

ดูเพิ่ม

แก้