พระจันทร์ (เทวนาครี: चंद्र จํทฺร หรือ चन्द्र จนฺทฺร หมายถึง "ส่องแสงสว่าง"[1]) เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่งในศาสนาฮินดู มีที่มาจากเทพปกรณัมฮินดูในอินเดีย ในคติไทย พระจันทร์ถูกสร้างขึ้นมาจากการที่พระศิวะทรงนำนางอัปสร 15 องค์ บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีขาวนวล จากนั้นจึงประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วได้เสกให้เป็นพระจันทร์ โดยพระจันทร์มีพระวรกายสีขาวนวล ทรงอาชาม้าเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก และแสดงถึงอักษรวรรค กะ (ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง) เรียกว่า พยัคฆนาม

พระจันทร์
เทพผู้เป็นใหญ่ในบรรดาดาวนักษัตร เทพแห่งดวงจันทร์ แสงนวลจันทร์ ความเย็น กลางคืน น้ำโสม น้ำขึ้นน้ำลง
พระจันทร์ ในคติอินเดีย ทรงราชรถม้า
ส่วนเกี่ยวข้องเทวดานพเคราะห์ และเทพคณะวสุ
ดาวพระเคราะห์จันทรโลก (ดวงจันทร์)
อาวุธดาบจันทรหัส,คทา,หม้อน้ำโสม,ดอกบัว,จักร,สังข์,ตรีศูล,ไม้เท้า,ธนู,ศร,บ่วงบาศ ฯลฯ
พาหนะราชรถสีเงินเทียมม้าขาว ๑๐ ตัว,ราชรถเทียมกวาง,ราชรถเทียมละมั่ง,ม้า,กวาง,ละมั่ง,หงส์,นกอินทรี
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระนางโรหิณี และเทวีนักษัตร รวม ๒๗ นาง,พระนางตารา(ชู้) ฯลฯ
บิดา-มารดา
  • พระฤๅษีอัตริ (บิดา)
  • พระนางอนสูยา (มารดา)
พี่น้องทุรวาส และ พระทัตตาเตรยะ

ลักษณะของพระจันทร์ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษ มีกายสีขาว มี 2 กร ทรงดอกบัวและพระขรรค์เป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีขาว ทรงเครื่องประดับด้วยเงินและไข่มุก ทรงม้าเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกาย สีขาวเงิน รูปร่างเล็ก เอวเล็ก มีรูปงาม มีรัศมีเย็นสีเงิน มี 4 กร ทรงดอกบัว คทา หม้อน้ำโสม ฯลฯ สวมมงกุฎสีเงิน สวมอาภรณ์สีขาว ทรงเครื่องประดับด้วยเงินและไข่มุก ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงราชรถสีเงินเทียมม้าขาว 10 ตัว บางทีก็ทรงกวาง พระจันทร์ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระโสม,พระศศิ,พระศศิธร,พระรัชนีกร,พระนักษัตรนาถ,พระตาราธิป,พระศีตางศุ,พระนิศากร,พระอินทุ,พระศจิน,พระศีตางคะ ฯลฯ

พระจันทรเทพ

ในพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระจันทร์ หรือ จันทรเทพบุตร เป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง ในเทพทั้ง 33 องค์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานกว้าง 147 โยชน์ ( 2,352 กิโลเมตร) ใหญ่ 49 โยชน์ ( 784 กิโลเมตร ) มีราชรถเทียมม้า 100 ตัว เป็นผู้ขับเคลื่อนดวงจันทร์ ในสมัยพุทธกาลได้เป็นพระโสดาบัน

พระจันทรเทพทรงราชรถละมั่ง

พระจันทร์ เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ให้ผลในทางนุ่มนวลและอ่อนโยน นั่นคือ ผู้ใดที่เกิดวันจันทร์ หรือมีพระจันทร์สถิตร่วมกับลัคนา มักมีอารมณ์ที่อ่อนโยน เพ้อฝัน เจ้าชู้ มีเสน่ห์ รวนเร (แต่อาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก) ตามนิทานชาติเวร พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี โดยเรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตพระจันทร์เกิดเป็นคนจนผู้ยากไร้ พระเสาร์เกิดเป็นพ่อค้า พระราหูเกิดเป็นคฤหบดี พระพุธเกิดเป็นสุนัขในบ้านคฤหบดี คนจนได้ไปยืมเงินของคฤหบดี แต่ไม่มีเงินใช้หนี้จึงต้องหนีไป วันหนึ่งพ่อค้าผู้เป็นเพื่อนของคฤหบดี ได้มาพบคนจนเข้าจึงนำเรื่องไปแจ้งกับคฤหบดี สุนัขที่เฝ้าบ้านได้ฟังแล้วเกิดสงสารคนจนจึงเข้าขบกัดคฤหบดีจนไม่สามารถไปตามจับคนจนได้ ตั้งแต่นั้น พระจันทร์จึงเป็นมิตรกับพระพุธ ส่วนพระเสาร์จึงเป็นมิตรกับพระราหู และพระราหูเป็นศัตรูกับพระพุธ ส่วนเรื่องพระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดีนั้น ครั้งหนึ่ง พระจันทร์เกิดเป็นบุตรี(ลูกสาว)ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระพฤหัสบดีเกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระอาทิตย์เกิดเป็นมานพหนุ่ม พระอังคารเกิดเป็นวิทยาธร มานพหนุ่มได้มาเล่าเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จนสำเร็จวิชา อาจารย์จึงได้ยกบุตรีให้ และให้ใส่นางไว้ในผอบทองเพื่อจะได้ปลอดภัย วันหนึ่งมานพไปหาผลไม้ในป่า วิทยาธรได้ลักลอบมาเป็นชู้กับบุตรีอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ได้เข้าฌานและได้เห็นความประพฤติชั่วของบุตรี จึงได้คิดอุบายขึ้นมา วันหนึ่งมานพกลับมาเยี่ยมอาจารย์ อาจารย์ได้หยิบเซี่ยนหมากออกมารับรองไว้สองเซี่ยน มานพเห็นผิดธรรมเนียมจึงไต่ถาม อาจารย์จึงบอกให้รีบกลับไปที่เรือนและเปิดผอบดูเถิด เมื่อมานพหนุ่มกลับมา เปิดผอบพบนางผู้เป็นภรรยาเป็นชู้กับวิทยาธร วิทยาธรเห็นดังนั้นก็ตกใจ หยิบพระขรรค์ฟันศีรษะมานพหนุ่ม ส่วนมานพขว้างจักรเพชรไป ถูกขาวิทยาธรขาด ตั้งแต่นั้นมา พระจันทร์จึงเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี ส่วนพระพฤหัสบดีเป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และพระอาทิตย์เป็นศัตรูกับพระอังคาร จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันจันทร์แล้วพระพุธโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีมิตรสหายเกื้อหนุน ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง รอดพ้นภัยพาล หากพระพฤหัสบดีโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะเกิดการทะเลาะวิวาทกับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งจะมีเรื่องต้องอับอายขายหน้า

พระจันทรเทพบุตร

ในโหราศาสตร์ไทย พระจันทร์ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๒ (เลขสองไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากนางฟ้า 15 องค์ จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น 15 สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ก็คือ ปางห้ามสมุทร

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว พระจันทร์เปรียบได้กับอาร์เทมีส หรือไดอะไนซัสในเทพปกรณัมกรีก และไดอานาในเทพปกรณัมโรมัน[2] [3]

ในคติอินเดีย

แก้

ในเทพปกรณัมของฮินดู พระจันทร์มีปรากฏอยู่ในหลายตำนาน ในฤคเวทและคัมภีร์ปุราณะได้ยกให้โสม ซึ่งเป็นน้ำเมรัยที่ได้การคั้นและหมักจากกัญชา เป็นที่โปรดปรานอย่างมากของหมู่เทวดา เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง คือ พระจันทร์ พระจันทร์จึงได้มีพระนามหนึ่งว่า "พระโสม" ในตำนานที่ต่างกันเล่าว่า พระจันทร์ คือ พระพรหมอวตารลงมาเกิดเป็นโอรสของฤๅษีอัตริ กับพระนางอนสูยา บางตำนานก็เล่าว่า พระจันทร์กำเนิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร พระศิวะทรงนำมาประดับไว้บนมวยพระเกศา และทรงได้นามว่าจันทรเศขร ตำนานเล่าว่า พระจันทร์มีวรรณะกษัตริย์ สมรสกับเทวีนักษัตร ๒๗ องค์ ธิดาของพระทักษะประชาบดี แต่พระจันทร์สนใจแต่เฉพาะนางโรหิณี ภรรยาคนที่ ๔ องค์เดียว ธิดาของพระทักษะอีก ๒๖ องค์น้อยพระทัยไปฟ้องพระบิดา พระทักษะจึงกริ้วแก่พระจันทร์ สาปให้พระจันทร์ไม่ให้มีโอรสธิดา ทั้งยังให้ป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งคำสาปนี้รุนแรงมาก ทำให้พระชายาทั้ง ๒๗ องค์เสียพระทัย เข้าไปขอร้องพระทักษะให้ถอนคำสาป แต่พระทักษะไม่อาจถอนคำสาปได้ พระจันทร์ได้กลับไปหาฤๅษีอัตริ ผู้เป็นบิดา ฤๅษีอัตริจึงแนะนำให้บูชาพระศิวะ พระจันทร์ได้ไปทำพิธีบูชาพระศิวะ ที่ริมฝั่งทะเลในเมืองเสาราษฏระ แคว้นคุชราต จนพระศิวะพึงพอใจ พระองค์ได้ทรงถอนคำสาปให้ แต่สามารถถอนได้เพียงครึ่งเดียว จึงทำให้พระจันทร์ในแต่ละเดือนมีครึ่งสว่างครึ่งหนึ่ง เรียกว่า ศุกลปักษ์ หรือ ปูรณิมา และมืดอีกครึ่งหนึ่ง เรียกว่า กฤษณปักษ์ หรือ อมาวัสยะ อันเป็นที่มาของข้างขึ้น ข้างแรม และได้สถาปนาศิวลึงค์ ที่พระจันทร์บูชา ให้กลายเป็นเทวสถาน นามว่า โสมนาถชโยติรลึงค์ ผู้ใดที่ไปบูชาจะได้รับพรให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล อีกตำนานเกี่ยวกับข้างขึ้นข้างแรม เล่าว่า ในวันคเณศจตุรถี เหล่าเทพได้มาร่วมเฉลิมฉลองกันที่เขาไกรลาศ พระพิฆเนศได้เสวยขนมโมทกะ เข้าไปจำนวนมาก ในขณะเสด็จกลับจากเขากรอนจะ มีงูตัดหน้าทางของพระองค์ ทำให้ทรงตกจากหนูมุศิกะราชพาหนะ เหตุการณ์นั้นพระจันทร์ได้เห็นทุกอย่าง ทำให้พระจันทร์เกิดอารมณ์ขันและหัวเราะเยาะเย้ย พระพิฆเนศทรงพิโรธ ได้สาปพระจันทร์ให้มืดมิดลง พระจันทร์สำนึกผิดและขอขมา แต่พระพิฆเนศทรงถอนคำสาปได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม หลังจากนั้น พระจันทร์ได้ทำพิธีราชสูยะ สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ เป็นเทพประจำดวงจันทร์ มอบแสงนวลจันทร์ในยามค่ำ เป็นใหญ่ในเวลากลางคืน มีอำนาจควบคุมน้ำขึ้นน้ำลงและความหนาวเย็น อภิบาลน้ำโสมและเหล่าคนธรรพ์ ปกครองหมู่ดาวนักษัตรทั้งหลาย ในพิธีมีเทพและเทวีไปร่วมด้วยจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ พระพฤหัสบดีและนางตารา พระจันทร์และนางตาราเกิดตกหลุมรักกัน และพระจันทร์ได้ไปลักพานางตารา ชายาของพระพฤหัสบดี มาเป็นชายาตัวเอง พระพฤหัสบดีจึงไปขอร้องพระอินทร์ให้ช่วยเหลือ ส่วนพระจันทร์ก็ได้พระศุกร์เข้าช่วย จึงเกิดการทำเทวาสุรสงครามขึ้นครั้งใหญ่บนสวรรค์ สงครามครั้งนี้เรียกว่า ตารกามยะ แปลว่า สงครามแย่งนางตารา ฝ่ายเทวดา ได้แก่ พระอินทร์ พระพฤหัสบดีและเหล่าเทพ ฝ่ายอสูร ได้แก่ พระจันทร์ พระศุกร์และเหล่าอสูร สงครามได้ดำเนินไปอย่างยาวนาน จนพระพรหมต้องเข้ามาห้าม พระพรหมจึงได้ขับไล่พระจันทร์ออกจากเทวสภา ท้ายที่สุดพระศิวะได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย พระจันทร์จึงได้ยอมคืนนางตาราให้แก่พระพฤหัสบดี ต่อมานางตาราได้เกิดตั้งครรภ์ เมื่อกำเนิดออกมาก็คือพระพุธภายหลังจะถูกกล่าวถึงในต้นกำเนิดของปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จันทรวงศ์ในมหาภารตะยุทธ

อ้างอิง

แก้
  1. Graha Sutras By Ernst Wilhelm , Published by Kala Occult Publishers ISBN 0-9709636-4-5 p.51
  2. อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  3. เทพย์ สาริกบุตร และคณะ.พรหมชาติ ฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.