พระพุธ (เทวนาครี: बुध พุธ) เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง ในคติไทย พระพุธถูกสร้างขึ้นมาจากพระศิวะทรงนำคชสาร (ช้าง) ๑๗ เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสกได้เป็นพระพุธ มีพระวรกายสีเขียวใบไม้ ทรงเครื่องผนวชฤๅษี นุ่งห่มหนังเสือ สวมลูกประคำ ทรงเครื่องประดับเป็นแก้วมรกตและแก้วไพฑูรย์ ทรงคชสารเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ และแสดงถึงอักษรวรรค ฏะ ใหญ่ (ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ) เรียกว่า โสณนาม ในไตรภูมิพระร่วง พระพุธมีวิมานลอยอยู่รอบเขาพระสุเมรุด้านทิศใต้ วิมานใหญ่ ๑๔ โยชน์ รัศมีขาวมน

พระพุธ
เทวนาครี: बुध
พระพุธ ในคติอินเดีย ทรงกริช,คทา,ดาบ ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ
ตำแหน่งเทพแห่งดาวพุธ การเจรจา การพาณิชย์ การทูต ความฉลาด สติปัญญา พิธีกรรม มนตร์คาถา การสะกดจิต
จำพวกเทวดานพเคราะห์
อาวุธคทา,ขอช้าง,ดาบ,โล่,ธนู,ศร,จักร,สังข์,กริช ฯลฯ
สัตว์พาหนะคชสีห์(ยาฬิ),ราชสีห์,ช้าง,ม้า,นกอินทรี,ราชรถสีเหลืองเทียมม้าสีเหลืองเข้ม ๘ ตัว,ราชรถเทียมคชสีห์,ราชรถเทียมเสือ
บิดาพระจันทร์
มารดาพระนางตารา
คู่ครองพระนางอิลา
บุตรท้าวปุรูรพ,สุรเสน (วานรสิบแปดมงกุฎในรามเกียรติ์)
ดาวพระเคราะห์พุธโลก (ดาวพุธ)
ท้าวอิลราชมาพบกับพระพุธที่ริมสระน้ำ

ในคติฮินดู พระพุธ เป็นบุตรของพระจันทร์ กับนางตารา ชายาของพระพฤหัสบดี เมื่อตอนที่อยู่ในครรภ์ พระพฤหัสบดีสงสัยว่าบุตรในท้องของนางตารา เป็นบุตรของใครกันแน่ พระพุธผู้อยู่ในท้องของนางตาราได้ตอบออกมาว่าตนเป็นบุตรของพระจันทร์ นางตาราได้ยินก็โกรธมากจึงสาปบุตรในท้องให้กลายเป็นคนลักเพศ ส่วนพระพฤหัสบดีเมื่อได้ยินดังนั้นก็โกรธและใช้ไฟตบะของตนเผานางตาราเป็นเถ้าถ่าน ส่วนพระพุธนั้นไม่ได้ถูกเผาไหม้ไปด้วย พระพรหมได้ปรากฏกายขึ้น และกล่าวว่า นางตาราได้รับการชำระล้างบาปจากการถูกไฟเผาแล้ว และได้ชุบชีวิตให้นางตารา ส่วนพระพุธนั้น พระพฤหัสบดีทรงเลี้ยงดูไว้ และมอบความรู้และศิลปวิทยา เมื่อพระพุธอายุได้ ๓๐ ปี ก็ทรงจดจำได้ทุกศาสตร์ จนเป็นผู้ฉลาดปราชญ์เปรื่อง ต่อมาพระพุธได้ไปบำเพ็ญตบะในป่าสคันวัน และได้พบรักกับนางอิลา ซึ่งคือท้าวอิลราชที่ต้องคำสาปให้กลายเป็นหญิงเดือนหนึ่งชายเดือนหนึ่ง พระพุธได้บำเพ็ญตบะด้วยการบูชาศิวลึงค์ด้วยทรายเป็นเวลานาน และพบกับอุปสรรคจากสัตว์ร้ายมากมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระพุธหวาดหวั่น จนพระศิวะพอพระทัย และได้แต่งตั้งให้เป็นเทพประจำดาวพุธ เป็นเทพแห่งความฉลาดปราชญ์เปรื่องในญาณ พิธีกรรม มนตร์คาถา และการสะกดจิต เป็นใหญ่ในการเจรจาและการพาณิชย์ อภิบาลเหล่าคณะทูตและพ่อค้า ทรงเป็นบิดาแห่งท้าวปุรูรพ ปฐมกษัตริย์ต้นตระกูลแห่งราชวงศ์จันทรวงศ์ และได้อวตารมาเกิดเป็นบุตรของอรชุน นามว่า อภิมันยุ ยอดนักรบหนุ่มในสงครามทุ่งกุรุเกษตร

ลักษณะของพระพุธ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีเขียวใบไม้ มี ๒ กร ทรงขอช้างเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า ทรงเครื่องผนวชฤๅษี นุ่งห่มหนังเสือ สวมลูกประคำ ทรงเครื่องประดับเป็นแก้วมรกตและแก้วไพฑูรย์ ทรงคชสารเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีเขียวเข้ม รูปร่างเล็ก ปราดเปรียว มีรูปงาม มี ๔ กร ทรงคทา ขอช้าง ดาบ โล่ ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ รัศมีสีเหลือง สวมอาภรณ์สีเหลือง ทรงเครื่องประดับด้วยแก้วมรกตและแก้ว ไพฑูรย์ ทรงคชสีห์เป็นพาหนะ พระพุธ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระเสามยะ,พระเราหิเณยะ,พระตุงคะ,พระปริยังคุ,พระศุภปรัท,พระสัตยวาส,พระสัตยวจัส,พระสัตยวัต,พระเวทวิท,พระวีตราคะ,พระวีตภยะ,พระพันธุปริยะ,พระปีตามพร ฯลฯ

พระพุธเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ให้ผลในทางอ่อนโยนไพเราะ นั่นคือ ผู้ใดเกิดวันพุธ หรือมีพระพุธสถิตร่วมกับลัคนา มักชอบพูดชอบเจรจา มีวาทศิลป์ ฉลาดในการพูด สุขุมรอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย ตามนิทานชาติเวร พระพุธเป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตพระพุธเกิดเป็นสุนัขในบ้านคฤหบดี พระราหูเกิดเป็นคฤหบดี พระเสาร์เกิดเป็นพ่อค้า พระจันทร์เกิดเป็นคนจนผู้ยากไร้ คนจนได้ไปยืมเงินของคฤหบดี แต่ไม่มีเงินใช้หนี้จึงต้องหนีไป วันหนึ่งพ่อค้าผู้เป็นเพื่อนของคฤหบดี ได้มาพบคนจนเข้าจึงนำเรื่องไปแจ้งกับคฤหบดี สุนัขที่เฝ้าบ้านได้ฟังแล้วเกิดสงสารคนจนจึงเข้าขบกัดคฤหบดีจนไม่สามารถไปตามจับคนจนได้ ตั้งแต่นั้น พระพุธจึงเป็นมิตรกับพระจันทร์ ส่วนพระราหูเป็นศัตรูกับพระพุธ และพระเสาร์เป็นมิตรกับพระราหู จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันพุธแล้วพระจันทร์โคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีมิตรสหายเกื้อหนุน ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง รอดพ้นภัยพาล หากพระราหูโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะเกิดการทะเลาะวิวาทกับผู้ใหญ่ มีเกณฑ์พลัดพรากจากที่อยู่อาศัย

พระพุธทรงยาฬิ(คชสีห์)

ในโหราศาสตร์ไทย พระพุธถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๔ (เลขสี่ไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากคชสาร ๑๗ เชือก จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๗ สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพุธก็คือ ปางอุ้มบาตร

ทางโหราศาสตร์จัดเป็นเทวดาของผู้ที่เกิดในวันพุธกลางวัน ส่วนผู้ที่เกิดในวันพุธกลางคืนเทวดาจะเป็นพระราหู

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว พระพุธเทียบได้กับเฮอร์มีสของเทพปกรณัมกรีก และเมอร์คิวรี่ของเทพปกรณัมโรมัน ซึ่งเป็นเทพที่มีความว่องไว เป็นเทพแห่งการสื่อสาร

อ้างอิง แก้

  • อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • เทพย์ สาริกบุตร และคณะ.พรหมชาติ ฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • กิเลน ประลองเชิง, ตำนานจันทร์เจ้า. "ชักธงรบ". หน้า 3 ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21346: วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  • สายล่อฟ้า 16 09 59. ฟ้าวันใหม่