วานรสิบแปดมงกุฎ

วานรสิบแปดมงกุฏ เป็นวานร (ลิง) ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ วานรเหล่านี้เป็นเทวดาที่จุติลงมาเป็นวานร และมาเป็นทหารเอกในกองทัพของพระราม ผู้ซึ่งเป็นองค์พระนารายณ์อวตารลงมา และต้องไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 14 ปี เพื่อรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดา คือ ท้าวทศรถ

รูปบางส่วนของวานรสิบแปดมงกุฎ ในการแสดงโขนที่ลานคนเมืองเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549

เมื่อพระมเหสีของพระราม คือ นางสีดา ถูกทศกัณฐ์ กษัตริย์เมืองลงกา ลักพาตัวไป พระรามต้องนำกองทัพติดตามไปรับนางสีดาคืนมา โดยมีหนุมานผู้นำเอา สุครีพ ซึ่งเป็นน้าชายมาถวายตัวพร้อมไพร่พลเมืองขีดขิน และท้าวมหาชมพูที่ยกกำลังพลเมืองชมพูให้เป็นทหารแห่งองค์พระราม วานรสิบแปดมงกุฏจึงเป็นกำลังพลในทัพขององค์พระราม ที่มาจากสองเมืองคือ เมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู

วานรสิบแปดมงกุฎ

แก้
1. เกยูร
อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีม่วงแก่ หรือ สีม่วงชาดแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรุฬหก (ท้าวพญายมราช) จอมกุมภัณฑ์ จตุโลกบาลแห่งทิศใต้
เกยูรนามเยี่ยงนี้ ในสกนธ์ นั้นฤๅ
ศีม่วงแก่มัวมน เผือดคล้ำ
วิรุณหกเวหน หากแบ่ง ภาคแฮ
ช่วยชูราเมศห้ำ หั่นเสี้ยนศึกอสูร
กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
2. โกมุท
อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีบัวโรย มีลักษณะ หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระหิมพานต์ เทพเจ้าแห่งป่าหิมพานต์ เมื่อครั้งเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน
สมญาโคมุทผู้- พิสดาร
สีประทุมโรยบาน เปรียบได้
คือองค์พระหิมพานต์ ปันภาคย์ มาแฮ
หวังรบราพฉลองใต้ บาทเบื้องอวตาร
พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
3. ไชยามพวาน
อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน มีลักษณะ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอีศาณ หรือพระวิศาลเทพบุตร ไชยามพวานได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร เมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน คู่กับโกมุท
คนธงนำทัพไท้ อวตาร
นามว่าไชยามพวาร ภาพนี้
สีเทาพระอิสาณ เทวบุตร์
จุติจากสวรรค์ลี้ แบ่งเพี้ยงภาคย์ผัน
พระเทพกระวี
4. มาลุนทเกสร
วานรฝ่ายเมืองขีดขินลักษณะ สีเมฆ หรือ สีม่วงครามอ่อน หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าพระครู เทพแห่งครู วิทยาความรู้ นักบวช และฤษี ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระอินทร์ และเป็นผู้นำสวดมนต์บนสวรรค์
5. วิมลพานร
วิมลพานร หรือ พิมลพานร หรือ นิลพานร วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีดำหมึก หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งการกสิกรรม
6. ไวยบุตร
วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเมฆครึ้มฝน หรือ สีมอครามแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝน
7. สัตพลี
วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีขาวผ่อง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือ พระจันทร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งความรัก ความงาม ผู้ให้แสงสว่างเวลากลางคืน สัตพลีนอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน
8. สุรกานต์
วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองจำปา หรือ สีแดงชาด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระมหาชัย เทพเจ้าแห่งชัยชนะ สุรกานต์เป็นผู้คุมกำลัง 30 สมุทรมาช่วยพระรามรบ เมื่อเสร็จศึกแล้วได้ครองเมืองโรมคัล
9. สุรเสน
วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีแสด หรือ สีเขียว บางตำราว่าสีแดงเจือเขียว หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพุธ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ สุรเสนมีความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร
10. นิลขัน
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีหงดิน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิฆเนศ พระวิฆเนศ เทพเจ้าแห่งศิลปะ
11. นิลปานัน
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีสำริด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระราหู เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้สถิตอยู่บนก้อนเมฆ
12. นิลปาสัน
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีเลื่อมเหลือง หรือ สีหมากสุก หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระศุกร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งความบันเทิงและความสันติ
13. นิลราช
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีน้ำไหล หรือ สีฟ้าอ่อนเจือเขียว หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระสมุทร เทพเจ้าประจำมหาสมุทร นิลราชนอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤๅษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป
14. นิลเอก
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีทองแดง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพินาย วินายก นิลเอกคือผู้ที่ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต
15. วิสันตราวี
วานรฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีลิ้นจี่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอังคาร เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งสงคราม
16. กุมิตัน
ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด วานรพงศ์ ของ พระเทวาภินิมมิต (ฉายเทวาภินิมมิต) ว่าเป็นฝ่าย เมืองชมพู ลักษณะ สีทอง หรือ สีเหลืองรง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเกตุ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้คุ้มครองสวัสดิมงคล
17. เกสรทมาลา
ลิงตัวหอม ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด วานรพงศ์ของพระเทวาภินิมมิต (ฉายเทวาภินิมมิต) ว่าเป็นฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองอ่อน หรือ สีเลื่อมเหลือง หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระไพศรพณ์ พระพนัสบดี เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในป่า คุณสมบัติพิเศษคือ มีกลิ่นกายหอมสดชื่น มีหน้าที่อยู่ใกล้ๆองค์พระราม ให้กลิ่นกายไปสร้างความสดชื่นให้กับพระองค์
18. มายูร
ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด วานรพงศ์ของพระเทวาภินิมมิต (ฉายเทวาภินิมมิต) ว่าเป็นฝ่ายเมืองชมพู ลักษณะ สีม่วงอ่อน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรูปักษ์(พระอินทร์) ราชาแห่งนาค จตุโลกบาล ประจำ ทิศตะวันออก

ระบำวานรพงศ์ของกรมศิลปากร

แก้

ระบำวานรพงศ์เป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์ใหม่ โดยนาย เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2531 สาขาศิลปการละคร (ถึงแก่กรรม 2550) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีต กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและสร้างบท นำออกแสดงในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญสมร ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ นาย กรี วรศะริน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2531 สาขานาฏศิลป์โขน (ถึงแก่กรรม 2541) ผู้รับถ่ายทอดท่ารำ คือ นาย ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป (เกษียณฯ 2545)

การแสดงชุดนี้เป็นการนำให้ผู้ชมทราบชื่อลิงสิบแปดมงกุฏและลิงพญาวานรที่เป็นกำลังสำคัญในกองทัพฝ่ายพลับพลาของพระราม และได้เห็นลักษณะการแต่งกายและสีประจำกายของลิงแต่ละตัว

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่

การแต่งกายนั้นแต่งตามรูปแบบลิงสิบแปดมงกุฎ และลิงพญายืนเครื่องเต็มตัว พร้อมอาวุธประจำตัว สีเสื้อและศีรษะเป็นสีเดียวกันตามพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์

ส่วนลักษณะท่ารำนั้น ลิงสิบแปดมงกุฏออกท่าเพลงหน้าพาทย์รุกร้น แล้วตีบทในเพลงแขกโหม่งชั้นเดียว ต่อจากนั้นลิงพญาออกท่าเพลงหน้าพาทย์รัวสามลาและเพลงกราวกลาง โดยตีบทตามความหมายของบทร้อง ในกิริยาอาการของลิงผสมผสานกับลีลานาฏศิลป์เรียงตามลำดับตามชื่อด้วยความคล่องแคล่วว่องไวการแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ 12 นาที

เนื้อความจากบทร้องในระบำวานรพงศ์

แก้
ชุดที่ 1 วานรสิบแปดมงกุฏ ปี่พาทย์ทำเพลงรุกร้น ร้องเพลงแขกโหม่งชั้นเดียว
นำดัวยไชยามพวานทหารหน้า เกสรทมาลากล้ากลั่น
ถัดมานิลราชกาจฉกรรจ์ เคียงคู่นิลขันชาญชัย
นิลเอกฤทธิไกรดังไฟกัลป์ คู่นิลปานันทหารใหญ่
วิมลรณรบว่องไว ถัดไปชื่อวิสันตราวี
มาลุนเริงแรงกำแหงหาญ เคียงขนานเกยูรกระบี่ศรี
ทั้งมายูรพูนพลังแข็งขันดี คู่กับสัตพลีมีเดชา
สุรเสนเจนจบรบรอนราญ คู่กับสุรกานต์ทหารกล้า
โกมุทวุฒิไกรไวปัญญา เคียงมากับกระบี่กุมิตัน
ไวยบุตรรำบาญราญแรง เคียงแข่งกับนิลปาสัน
ครบสิบแปดมงกุฎสุดฉกรรจ์ ทหารเอกทรงธรรม์รามราชา
ชุดที่ 2 เหล่าพญาวานร ปี่พาทย์ทำเพลงรัวสามลา ร้องเพลงกราวกลาง
สุครีพโอรสพระสุริย์ฉาน คำแหงหนุมานทหารหน้า
นิลพัทฝ่ายชมพูนัครา องคตบุตรพญาพาลี
ชมพูพานศิวะโปรดประสาท ชามภูวราชชาติเชื้อพญาหมี
นิลนนท์ลูกพระอัคนี ล้วนกระบี่พงศ์พญาวานร

สำนวนไทย

แก้

ในหนังสือ "สำนวนไทย" ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เขียนไว้ว่า สิบแปดมงกุฎ นำมาใช้เป็นสำนวนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีนักเลงการพนันใหญ่ลือชื่อพวกหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นนักเลงชั้นยอด สักตามตัวเป็นรูปมงกุฎ จึงเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ตามเรื่องราวในรามเกียรติ์ จากนั้นถ้าใครเป็นนักเลงการพนันก็เลยเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ

ทุกวันนี้ สิบแปดมงกุฎมิใช่สำนวนที่ใช้เรียกพวกนักเลงพนันเท่านั้น แต่ใช้เรียกพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย เป็นสำนวนที่พบเห็นบ่อยมากตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ซิ่งมีความหมายถึงพวกที่ยักยอก ต้มตุ๋น หลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อแล้วยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตน

โครงกลอนที่แสดงถึงวานรสิบแปดมงกุฎ

แก้

เทวดา 18 องค์ที่อาสามาช่วยพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม ปรากฏในในบทละครรามเกียรติ์[1] ที่กล่าวถึงตอนนี้ว่า

เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาพระภูวไนย จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
มาล้างเหล่าอสูรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อนางมณโฑเทวีผู้เคยเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ออกไปดูทัพพระรามกับทศกัณฐ์ เมื่อเห็นทัพลิงก็ตกใจ แล้วกล่าวว่า

อันทหารทั้งสองนคเรศ เลื่องชื่อลือเดชชาญสมร
ล้วนเทวามาเป็นพานร อาจจะช้อนพิภพเมืองอินทร์
ถึงจะพลิกสี่มหาสุธาธาร ทั่วทุกจักรวาลก็ได้สิ้น

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้