พระลักษมณ์

(เปลี่ยนทางจาก พระลักษณ์)

พระลักษมณ์ (สันสกฤต: लक्ष्मण, อักษรโรมัน: Lakṣmaṇa, แปลตรงตัว'ผู้ที่มีลักษณะดี') เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นอวตารของพญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์กับสังข์ของพระนารายณ์ มีพระวรกายสีเหลืองดั่งทองทา เป็นโอรสของท้าวทศรถและนางสมุทรชา มีพระอนุชาฝาแฝด คือ พระสัตรุด[1]

พระลักษมณ์
ตัวละครใน รามเกียรติ์
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เพศชาย
ตำแหน่งอุปราชเมืองอโยธยา
ญาติท้าวทศรถ (บิดา)
นางสมุทรชา (มารดา)
พระราม (เชษฐาต่างมารดา)
พระพรต (เชษฐาต่างมารดา)
พระสัตรุด (อนุชาร่วมมารดา)
มิตรสหายหนุมาน, สุครีพ, องคต, ชมพูพาน, พิเภก
ศัตรูทศกัณฐ์, กุมภกรรณ, อินทรชิต, ขร, ทูษณ์, ตรีเศียร

พระนามของพระลักษมณ์มาจากภาษาสันสกฤตว่า ลกฺษมณ (อ่านว่า ลัก-สะ–มะ-นะ) แปลว่าผู้มีเครื่องหมายอันเป็นมงคล หรือผู้ที่มีลักษณะดี ในภาษาไทย เขียนว่า ลักษมณ์[2]

ประวัติ แก้

พระลักษมณ์เคยได้ไปร่วมพิธียกธนูโมลีที่มิถิลา ได้ลองยกศรก่อนพระราม เมื่อจับศรแล้วศรขยับแต่แกล้งทำเป็นยกไม่ได้เพราะรู้ว่าพระรามหลงรักนางสีดาตั้งแต่แรกเห็น อีกทั้งพระลักษมณ์ก็ไม่ได้รักนางสีดาแบบชู้สาว พระรามจึงได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา

พระลักษมณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก เป็นผู้ที่อยู่เคียงคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระรามเสมอ เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง 14 ปี พระลักษมณ์ก็ได้ขอติดตามไปเพื่ออารักขาและปรนนิบัติ อีกทั้งยังช่วยออกรบกับกองทัพของกรุงลงกาอย่างกล้าหาญหลายครั้งหลายหน ร่วมผจญหมู่มารและเหล่าศัตรูเคียงคู่พระราม พระลักษมณ์ออกรบจนถูกอาวุธได้รับบาดเจ็บเกือบสิ้นพระชนม์ถึง 5 ครั้ง จากหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ ศรนาคบาศกับศรพรหมาสตร์ของอินทรชิต หอกแก้ววราวุธของมูลพลัม และหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ แต่ฝีมือก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร พระลักษมณ์ได้สังหารกุมภกาศ อินทรชิต มูลพลัม จิตรไพรี ทศคีรีวัน ทศคีรีธร

หลังเสร็จศึกกรุงลงกา ในขั้นแรกเสนาปรึกษากันว่าจะปูนบำเหน็จให้พระลักษมณ์ไปครองเมืองโรมคัล แต่หนุมานคัดค้านว่าเมืองโรมคัลเป็นเมืองยักษ์ไม่ควรให้พระลักษมณ์ไปครอง ควรจะอยู่ใกล้ชิดพระรามจะดีกว่า พระลักษมณ์ก็เห็นด้วย จึงได้เป็นอุปราชฝ่ายหน้าของเมืองอโยธยา

เมื่อพระรามเข้าใจผิดว่านางสีดายังรักใคร่ทศกัณฐ์ ก็สั่งให้พระลักษมณ์นำนางไปประหารแล้วควักดวงใจมาให้ดู พระลักษมณ์ไม่อยากทำแต่นางสีดาบอกให้ทำตาม เมื่อประหารแล้วนางไม่สิ้นชีวิต พระลักษมณ์จึงให้นางสีดาหนีไปและควักหัวใจเนื้อทรายไปถวาย เมื่อพระรามต้องเดินดงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสะเดาะเคราะห์ พระลักษมณ์ก็ได้ทูลขอตามเสด็จไปด้วยอีกครั้ง

ลักษณะและสี แก้

สีทอง 1 หน้า 2 มือ มงกุฏเดินหน มงกุฏชัย หรือพระมหามงกุฏ ตอนทรงพรตสวมชฎายอดฤษี

ในรามายณะ แก้

พระลักษมณ์มีชายาชื่อนางอุรมิลา (Urmila) ธิดาท้าวชนก แต่งงานพร้อมกันกับพระรามและนางสีดา เมื่อพระลักษมณ์ออกจากเมืองไปอยู่ในป่ากับพระราม ได้ขอพรกับนิทราเทวีให้ตนสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องนอนตลอด 14 ปี เพื่ออุทิศตนปรนนิบัติพี่ชายและพี่สะใภ้ โดยให้นางอุรมิลาที่รอคอยอยู่ที่เมืองเป็นผู้หลับแทน ทำให้นางอุรมิลาเข้าสู่นิทรายาวนานจนครบ 14 ปี ทั้งสองมีโอรสสององค์ คือ อังกาต (Angada) และจันทรเกตุ (Chandraketu)[3]

อ้างอิง แก้

  1. www.wisdomlib.org (2012-06-29). "Lakshmana, Lakṣmaṇa, Lakṣmaṇā: 34 definitions". www.wisdomlib.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
  2. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
  3. Ramayana – Conclusion, translated by Romesh C. Dutt (1899)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Lakshmana