สามารถ ราชพลสิทธิ์

สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์[1] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร หนึ่งในทีมบริหารกรุงเทพมหานครชุดเริ่มต้นของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

สามารถ ราชพลสิทธิ์
สามารถ ในปี พ.ศ. 2556
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เริ่มดำรงตำแหน่ง
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 (70 ปี)
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2548–ปัจจุบัน)

การศึกษา แก้

สามารถ ราชพลสิทธิ์ หรือ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์เกิดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ที่ ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของ นายจบ ราชพลสิทธิ์ และนางละม้าย ราชพลสิทธิ์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพัทลุง และเข้าศึกษาในชั้นมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ต่อจากนั้นจึงได้เข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโท วิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) โดยทุนยูเสด (USAID) และระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา สาขาการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น[2]

การทำงาน แก้

ดร.สามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาโครงการ รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที (Bus Rapid Transit หรือ BRT) ของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับจราจรและขนส่ง ทั้งในและต่างประเทศหลายประเภท เช่น รถไฟฟ้า ทางด่วน สนามบิน และท่าเรือ โดยเป็นที่ปรึกษาโครงการ ให้กับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และกองทุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจโพ้นทะเล (โออีซีเอฟ) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "เจบิก" หรือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น

การเมือง แก้

ระหว่างดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเวลาสั้นๆ ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ดร.สามารถ ได้รับผิดชอบดูแลโครงการด้านการจราจรหลายโครงการ ที่สำคัญเช่น โครงการรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที (Bus Rapid Transit หรือ BRT) และยังรับผิดชอบควบคุมดูแลโครงการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสไปยังฝั่งธนบุรี

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ดร.สามารถ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 1 ลำดับที่ 2 สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ดร.สามารถ ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[3] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย

ในปี 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 37[4] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นายสามารถได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 13 [5]

ประสบการณ์ด้านวิศวกรรมจราจร แก้

  • โครงการวางแผนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเมืองเกาชุง (Kaohsiung) ประเทศไต้หวัน
  • โครงการศึกษาความเหมาะสมระบบรถไฟฟ้ากรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
  • โครงการวางแผนแม่บทโครงข่ายถนนและรถไฟฟ้าในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • โครงการปรับปรุงถนนในชนบทของประเทศฟิลิปปินส์
  • โครงการปรับปรุงการเดินเรือทะเลในประเทศฟิลิปปินส์
  • โครงการจัดทำแผนแม่บทการเดินเรือทะเลในประเทศเวียดนาม
  • โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม
  • โครงการศึกษาความเหมาะสมระบบท่าอากาศยานในประเทศบังกลาเทศ
  • โครงการปรับปรุงระบบท่าอากาศยานในประเทศฟิลิปปินส์
  • โครงการปรับปรุงระบบท่าอากาศยานในประเทศไทย
  • โครงการวางแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมสนามบินอู่ตะเภา
  • โครงการวางแผนพัฒนาทางรถไฟควบคู่กับการพัฒนาเมืองในประเทศไทย
  • โครงการระบบทางด่วนในกรุงเทพฯ
  • โครงการวางแผนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสำหรับเมืองเชียงใหม่
  • โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาเมือง (Land Readjustment) ในประเทศไทย

กรณี บีเอ็มซีรีส์ 7 แก้

นายสามารถตกเป็นข่าวฮือฮาเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ กล่าวหาในรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ว่านายสามารถ รับสินบนเป็นรถ “บีเอ็ม ซีรีส์ 7” ทำให้นายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายสมัคร และนายดุสิต ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 ศาลชั้นต้นได้พิพากษา ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง รวม 4 กระทง ๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาย่อ ในหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน เป็นเวลา 3 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ผลงานหนังสือ แก้

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกือบ 30 ปี จากการทำงานในแวดวงวิศวกรรมจราจรและขนส่ง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่วงเวลาปีเศษ ในตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาจราจร และผลักดันเส้นทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ข้ามไปถึงฝั่งธนบุรี กลายเป็นผลงานเขียนเล่มแรกในชีวิตชื่อ "เปิดปมรถไฟฟ้า ที่คนกรุงเทพฯ ต้องรู้" ประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในหลากหลายประเด็น

การดำรงตำแหน่งอื่นๆ แก้

  • ประธานสมาคมวิศวกรโยธาแห่งประเทศญี่ปุ่น (ประจำประเทศไทย)
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
  • กรรมการแปรรูปการท่าเรือแห่งประเทศไทย
  • เลขาธิการสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย
  • ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • กรรมการ/ที่ปรึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นายกสมาคมนักเรียนเก่าพัทลุง

เกียรติประวัติ แก้

  • ได้รับรางวัลเกียรติยศจากประเทศฟิลิปปินส์ จากผลงานการเป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลกเพื่อวางแผนแม่บทโครงข่ายถนน และรถไฟฟ้าในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • ได้รับรางวัล นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2543
  • ได้รับเลือกเป็นนักศึกษาเก่าดีเด่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. เปิดรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 39 คน
  2. "นายสามารถ ราชพลสิทธิ์". www.parliament.go.th.
  3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  4. เปิด 150 รายชื่อผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์
  5. "เผยเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. "จุรินทร์-ชวน" นำทีม "ตั๊น" ที่ 10 เบียด "เดียร์" พร้อมใส่เฝือกหาเสียง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๑๓, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๓๘, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย "สึนามิ", เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๔๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

แหล่งข้อมูลอื่น แก้