รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ. 2549–2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 1 ในวันเดียวกันนั้น และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ตราสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ผู้ลงนามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามิทราธิราช บรมนาถบพิตร
วันลงนาม24 สิงหาคม 2550
ผู้ลงนามรับรองมีชัย ฤชุพันธุ์
(ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
วันลงนามรับรอง24 สิงหาคม 2550
วันประกาศ24 สิงหาคม 2550
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 47 ก/หน้า 1)
วันเริ่มใช้24 สิงหาคม 2550
ท้องที่ใช้ ไทย
การร่าง
ชื่อร่างร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ผู้ยกร่างสภาร่างรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติม
การยกเลิก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
เว็บไซต์
ดูเบื้องล่าง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ ประธาน สนช. จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ประเด็นที่แก้ไข คือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และหลักเกณฑ์ในการทำสนธิสัญญา (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190)

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้รัฐธรรมนูญนี้สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์[1] และสิ้นสุดลงทุกมาตราเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ร่าง[2]

การแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แก้

ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่จัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน (มาตรา 22)
  • สมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน โดยเลือกให้เสร็จภายใน 7 วัน (มาตรา 22)
  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน (มาตรา 22)
  • ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน สมัชชา (มาตรา 25)
  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน (มาตรา 22)

ขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถูกต่อต้าน ทั้งจากกลุ่ม นักวิชาการ นักวิชาการที่เคยต่อต้านรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และ กลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล[3][4][5][6][7]

แนวทางของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แก้

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้แนวทางกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

  • ห้ามไม่ให้บุคคลใดมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีเกินสองสมัย
  • ห้ามไม่ให้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการในช่วงระหว่างการยุบสภาจนถึงการเลือกตั้ง
  • แก้ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งด้วย แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งเพียงวิธีเดียว
  • อนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น
  • แก้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ง่ายขึ้น[8]

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แก้

สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยึดตามแนวทางและแก้ไขจุดอ่อนของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ 4 ประการ คือ

  1. คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน
  2. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน
  3. การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม
  4. ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระตามหมวดต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • คำปรารภ
  • หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 1-7)
  • หมวด 2 พระมหากษัตริย์ (มาตรา 8-25)
  • หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (มาตรา 26-69)
  • หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย (มาตรา 70-74)
  • หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75-87)
  • หมวด 6 รัฐสภา (มาตรา 88-162)
  • หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน (มาตรา 163-165)
  • หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ (มาตรา 166-170)
  • หมวด 9 คณะรัฐมนตรี (มาตรา 171-196)
  • หมวด 10 ศาล (มาตรา 197-228)
  • หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 229-258)
  • หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (มาตรา 259-278)
  • หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 279-280)
  • หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 281-290)
  • หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 291)
  • บทเฉพาะกาล (มาตรา 292-309)

ประเด็นข้อเรียกร้อง แก้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ออกมาเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น

  • การแก้ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แทนที่จะมาจากการเลือกตั้ง เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้มาจากการแต่งตั้งโดยกลุ่มทหารและข้าราชการ นาย วิชา มหาคุณ อดีตผู้พิพากษา และกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้สนับสนุนการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยกล่าวว่า "เรารู้กันดีว่าการเลือกตั้งสว.เป็นเรื่องการเล่นตลกร้ายของตระกูลนักการเมือง ทำไมชาวบ้านถึงอยากให้เห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย? ชาวบ้าน และโดยเฉพาะนักวิชาการ ที่อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะก่อให้เกิด ประชาธิปไตยที่แท้จริง กำลังคิดแบบฝันลอย การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นปัญหา สภา เหมือนที่เห็นกันในอดีต ดังนั้น ทำไมชาวบ้านไม่อยากให้กลุ่มผู้พิพากษาช่วยเลือกให้?"[9]
  • การลดความมั่นคงของฝ่ายบริหารและระบบพรรคการเมือง เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งมีความมั่นคง และระบบพรรคการเมืองเพิ่มความสำคัญขึ้น[10][11] สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้ฝ่ายบริหารและระบบพรรคการเมืองลดอำนาจเบ็ดเสร็จลง โดยทำให้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ง่ายขึ้น อนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น และไม่อนุญาตให้บุคคลใดมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีเกินสองสมัย[12][13]
  • การไม่บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, คณะสงฆ์อณัมนิกาย และอีก 300 องค์กรได้รณรงค์ให้มีการบัญญัติคำว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ไม่สำเร็จ[14][15]
  • การเรียกร้องให้เปลี่ยนนามประเทศไทยเป็นสยาม โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม ตรงตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อหลักการณ์ของความสมานฉันท์ ยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ[16]
  • การเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยกลุ่มเกย์ 10 องค์กร[17]

ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2540 แก้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ[18][19] ดังจะเห็นว่ามีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ

รัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับการกล่าวขานว่ามีความก้าวหน้าเนื่องจากนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่ลอกเลียนจากต่างประเทศมาใช้ แต่เมื่อบังคับใช้จริงก็ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย เพราะเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางทั้งกรณีการฆ่าตัดตอน 2 พันศพ อุ้มฆ่าแกนนำภาคประชาชนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ เช่น กรณีของ สมชาย นีละไพจิตร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกวิจารณ์ว่าทำให้ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งเกินไปจนเกิดระบบผู้นำกึ่งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญ 2550 จึงถูกวิจารณ์ว่ามีอคติต่อ "ระบอบทักษิณ" ที่มีคำอธิบายว่าเป็นเผด็จการทุนนิยม ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผู้นำเดี่ยวที่สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ละเลยต่อเสียงปัญญาชนในสังคม สุดท้ายจึงสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยจนก่อตัวเป็นวิกฤตการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นพฤติกรรมของระบอบทักษิณ เช่น ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร การทำเอฟทีเอต้องฟังความเห็นจากรัฐสภา เข้มงวดต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจริยธรรมของนักการเมือง สร้างมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

จุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 คือบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น รัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้สิทธิแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตน ที่สำคัญคือให้มีผลบังคับทันที ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุข้อความท้ายมาตราต่างๆ ว่า "ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ" หมวดที่ได้รับการบัญญัติขึ้นมาใหม่ เช่น "สิทธิชุมชน" ชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ หมวด "การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน" ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนมีโอกาสยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึงการ ให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ฯลฯ

หมวด "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือ หากรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาที่มีผลต่อความมั่นคงทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น เอฟทีเอต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จุดเด่นอื่น ๆ คือ มาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็งขึ้น เช่น ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนคู่สมรสและบุตร ห้ามรับหรือแทรกแซงสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. แสดงบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และได้เพิ่มหมวด "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ" สร้างกลไกควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบตรวจสอบโดยรื้อที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการสรรหาอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต

อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงในประเด็นโครงสร้างของสถาบันการเมือง เช่น ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. หรือการให้อำนาจฝ่ายตุลาการเข้ามาแก้ปัญหาฉ้อฉลทางการเมือง ด้วยการเพิ่มบทบาทในการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่องค์กรอิสระ และร่วมสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน เป็นที่มาของข้อครหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย ที่ให้อำนาจชนชั้นนำกับขุนนางผ่านทางวุฒิสภาและตุลาการเพื่อสร้างฐานอำนาจ แต่คำชี้แจงอีกด้านกล่าวว่า สภาพวัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบัน การให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยหวังว่าจะปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมืองคงยังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้ง ส.ว. สองครั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในสภาพ "สภาผัวเมีย-สภาบริวาร" ขณะที่การสรรหา ส.ว.อาจได้ตัวแทนหลายสาขาอาชีพกว่า ทำให้การทำงานด้านนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพ อีกประเด็นหนึ่งคือการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. ไปใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เป็นที่เกรงกันว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพราะผู้สมัครในพรรคเดียวกันจะแย่งคะแนนกันเอง และการทุ่มเงินซื้อเสียงจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเขตเดียวคนเดียว โครงสร้างการเมืองใหม่ที่ลดการผูกขาดอำนาจ มีมาตรการตรวจสอบมากมาย และให้สิทธิประชาชนฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญหากรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่อ่อนแอลง แต่ผู้ร่างชี้แจงว่ากติกาเช่นว่านี้บังคับให้รัฐบาลต้องตอบสนองประชาชน หากละเมิดต่อหลักรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ลำบาก

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีที่เคยระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 จึงทำให้รัฐมนตรีอาจมาจาก ส.ส. ทั้งสองระบบโดยไม่ต้องมีการเลื่อนรายชื่อหรือจัดการเลือกตั้งใหม่[20]

การออกเสียงประชามติ แก้

 
ร้อยละของผู้เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งตามจังหวัด

ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เปิดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ช่วงเวลา 8.00 น.ถึง 16.00 น. โดยใช้วิธีกากบาทลงบัตรเหมือนการเลือกตั้ง ในกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับแล้ว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้

ในกรณีที่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป

ผลการออกเสียงตามรายงานผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550[21]

ผลการออกเสียง:
จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 25,978,954 57.61%
จำนวนผู้ไม่มาใช้สิทธิ 19,114,001 42.39%
ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45,092,955
การลงคะแนน:
บัตรที่นับเป็นคะแนน 25,474,747 98.06%
บัตรที่ไม่นับเป็นคะแนน (บัตรเสีย/การคืนบัตร/อื่น ๆ) 504,207 1.94%
รวม 25,978,954
การเห็นชอบและไม่เห็นชอบ:
เห็นชอบ 14,727,306 57.81%
ไม่เห็นชอบ 10,747,441 42.19%
รวม 25,474,747
เห็นชอบ :
57.81% (14,727,306)
ไม่เห็นชอบ :
42.19% (10,747,441)

การประกาศใช้ แก้

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ส.ส.ร. นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงของรัฐสภาเข้าร่วมในพิธี จากนั้นนายมีชัยพร้อมคณะเดินทางไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายร่าง รธน. เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชมเชย ส.ส.ร.ว่าอุตสาหะร่าง รธน.จนเสร็จ เพราะยากมาก จากนั้นจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศต่อไป ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้เตรียมการไว้[22]

มีรายงานว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จัดทำไว้ทั้งสิ้น 3 เล่ม[22] หลังจากทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะนำไปเก็บไว้ 3 แห่งด้วยกัน ฉบับที่ทำด้วยทองคำแท้จะเก็บไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 2 เล่ม ที่ทำด้วยเงินกะไหล่ทอง เก็บไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

ขั้นตอนสำคัญที่เกิดภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธย คือ การประทับพระราชลัญจกร 4 องค์[22] ประกอบด้วย พระราชลัญจกรมหาโองการ พระราชลัญจกรไอยราพต พระราชลัญจกรหงสพิมาน และพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีจำนวน 592 หน้า 2,368 บรรทัด มีน้ำหนัก 7 กิโลกรัม และปกมีตราพระครุฑพ่าห์ติด พร้อมลงรักปิดทองทั้ง 6 ด้านตามโบราณราชประเพณี

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แก้

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ อันประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว., ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธาน[22] ผลปรากฏว่ามีการเสนอชื่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิก สนช. และนายวิษณุ เครืองาม แต่นายวิษณุขอถอนตัว

ต่อมาที่ประชุมมีมติให้นายวิษณุ เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายสุจิต บุญบงการ เป็นรองประธานคนที่ 2 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. นายยุวรัตน์ กมลเวชช เป็นรองประธาน คนที่ 3 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน คนที่ 4 และเป็นประธานอนุ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นเลขานุการ กมธ. นายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นรองเลขาฯ นายประพันธ์ คูณมี นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายธงทอง จันทรางศุ เป็นโฆษก กมธ.

การแก้ไขเพิ่มเติม แก้

หลังจากพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เป็นการนำเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาใช้ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายส่วน ซึ่งปรากฏว่าได้มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน[23] โดยระบุว่าอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองเพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นเหตุให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ให้เรียกร้อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93-98[24]
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 เพียงมาตราเดียว[25]

การสิ้นสุด แก้

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วนั้นก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงชั่วคราวเว้น หมวด 2 พระมหากษัตริย์[26] และได้มีการแก้ไขคำสั่งใหม่ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2557 โดยแก้เป็น ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงเว้น หมวด 2 พระมหากษัตริย์[27] และต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557[28] ซึ่งถือได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้สิ้นสุดลงทุกมาตรา อย่างไรก็ตาม ในทางพฤตินัยนั้นยังคงให้มีการบังคับใช้หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ตามมาตรา 2 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นด้วย และได้ถูกยกเลิกโดยสมบูรณ์แบบหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

อ้างอิง แก้

  1. "คสช. ประกาศให้อำนาจนายกฯ เป็นของประยุทธ์ - เลิก รธน. 50 เว้นหมวด 2 วุฒิฯ-ศาล ทำหน้าที่ต่อ". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-18. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
  2. "ในหลวง"พระราชทานรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการ, 22 กรกฎาคม 2557
  3. The Bangkok Post, Draft charter loopholes can 'resurrect Thaksin regime', 28 September 2006
  4. The Nation, Poll should precede new charter: law experts, 2 October 2006
  5. Asian Human Rights Commission, THAILAND: MILITARY COUP - Constitutional fictions เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 October 2006; see also THAILAND: MILITARY COUP - How to make courts independent? เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 October 2006; THAILAND: MILITARY COUP - The right man for what job? เก็บถาวร 2008-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 4 October 2006
  6. The Nation, Thumbs down for the next charter, 15 January 2007
  7. The Nation, Thumbs down for the next charter, 21 June 2007
  8. The Nation, Sonthi issues guidelines for new charter, 17 December 2006
  9. The Nation, Charter drafter pans 'evil' elections, 27 April 2007
  10. Borwornsak Uwanno and Wayne D. Burns, The Thai Constitution of 1997 Sources and Process, part 1
  11. Borwornsak Uwanno and Wayne D. Burns, The Thai Constitution of 1997 Sources and Process, part 2
  12. The Christian Science Monitor, [Draft Thai constitution draws criticism], 27 April 2007
  13. IPS, New Constitution Regressive Say Critics, 23 April 2007
  14. คมชัดลึก, ม็อบชาวพุทธปิดถ.อู่ทองในกดดันสสร.บัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติ, 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550
  15. สำนักข่าวเนชั่น, องค์กรพุทธร้องบรรจุพุทธศาสนาประจำชาติในรธน. เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 13 กุมภาพันธ์ 2550
  16. คมชัดลึก, ล่ารายชื่อเปลี่ยน"ประเทศไทย"เป็น"สยาม", 9 เมษายน 2550
  17. "ลุ่มเพศที่ 3 รุก เพิ่มข้อความม.30". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
  18. โพสต์ทูเดย์/บางกอกโพสต์, รัฐธรรมนูญ : ประชามติเพื่อชาติ, 10 สิงหาคม 2550
  19. "ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
  20. รัฐธรรมนูญ 2550 ยังยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.
  21. สถิติการใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 19 ส.ค. 2550 จำแนกตามรายภาค[ลิงก์เสีย]
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 มติชน, "รธน."มีผลแล้ว ในหลวงลงพระปรมาภิไธย, 25 สิงหาคม 2550
  23. มติชน, ส.ส.'พปช.'ปัดแก้รธน.ฟอก'แม้ว'นิรโทษฯ 111 ทรท. ยันไม่สนถูกถอดจากตำแหน่ง เก็บถาวร 2008-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 เมษายน 2551
  24. "ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93-98" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2011-04-07.
  25. "ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 เพียงมาตราเดียว" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-12. สืบค้นเมื่อ 2011-04-07.
  26. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
  27. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๑/๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
  28. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2014-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558


ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ถัดไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
(1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550)
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(24 สิงหาคม 2550 - 22 พฤษภาคม 2557 (ทุกมาตรา)
24 สิงหาคม 2550 - 6 เมษายน 2560 (บังคับใช้เฉพาะในหมวด 2 พระมหากษัตริย์)
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
(22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 - 6 เมษายน พ.ศ. 2560)