สงครามพระเจ้าอลองพญา

สงครามพระเจ้าอลองพญา เป็นชื่อเรียกความขัดแย้งทางทหารครั้งแรกระหว่างอาณาจักรโก้นบองแห่งพม่า กับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สงครามครั้งนี้เป็นการจุดชนวนการสงครามนานหลายศตวรรษระหว่างทั้งสองรัฐขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะกินเวลานานไปอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้า ฝ่ายพม่านั้นอยู่ที่ "ขอบแห่งชัยชนะ" แล้วเมื่อจำต้องถอนกำลังจากการล้อมอยุธยา เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาถูกระเบิดปืนใหญ่สิ้นพระชนม์[6] พระองค์สวรรคตและทำให้สงครามครั้งนี้ยุติลง

สงครามพระเจ้าอลองพญา
วันที่ธันวาคม พ.ศ. 2302 - พฤษภาคม พ.ศ. 2303
สถานที่
ผล ไม่มีบทสรุปแน่ชัด
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
พม่าแผ่อำนาจปกครองชายฝั่งตะนาวศรีลงไปจนถึงทวายและมะริด [1]
คู่สงคราม
อาณาจักรโก้นบอง อาณาจักรอยุธยา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าอลองพญา 
เจ้าชายมังระ
มังฆ้องนรธา
พระเจ้าเอกทัศ
พระเจ้าอุทุมพร
กำลัง

กำลังรุกราน:
40,000 นาย[2][3] (รวมทหารม้า 3,000 นาย)[4]
กองหลัง:

พลปืนคาบศิลา 6,000 นาย ทหารม้า 500 นาย[5]

ตะนาวศรีและอ่าวไทย:
ทหาร 27,000 นาย, ทหารม้า 1,300 นาย, ช้าง 200 เชือก[6]
สุพรรณบุรีและอยุธยา:

ทหาร 45,000 นาย, ทหารม้า 3,000 นาย, ช้าง 300 เชือก[6]

ความต้องการครอบครองชายฝั่งตะนาวศรีและการค้าขายในแถบนี้เป็นชนวนเหตุของสงคราม[7][8] และการให้การสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญแห่งอดีตราชอาณาจักรหงสาวดีฟื้นฟู[6][9] ราชวงศ์โก้นบองที่เพิ่งจะสถาปนาขึ้นใหม่นั้นต้องการจะแผ่ขยายอำนาจเข้าควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนอีกครั้ง (ปัจจุบันคือ รัฐมอญ) ซึ่งอยุธยาได้ให้การสนับสนุนแก่กบฏชาวมอญและจัดวางกำลังพลไว้ ฝ่ายอยุธยาปฏิเสธข้อเรียกร้องของพม่าที่จะส่งตัวผู้นำกบฏมอญหรือระงับการบุกรุกดินแดนซึ่งพม่ามองว่าเป็นดินแดนของตน[10]

สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 เมื่อทหารพม่า 40,000 นาย ภายใต้การนำของพระเจ้าอลองพญา และพระราชบุตร เจ้าชายมังระ ยกพลรุกรานลงมาตามชายฝั่งตะนาวศรีจากเมาะตะมะ แผนยุทธการของพระองค์คือ เคลื่อนทัพหลบตำแหน่งที่มีการป้องกันอย่างแข็งแรงของอยุธยา ตามเส้นทางการรุกรานที่สั้นและเข้าถึงโดยตรงมากกว่า กองทัพรุกรานพิชิตการป้องกันของอยุธยาที่ค่อนข้างเบาบางตามแนวชายฝั่ง ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปจนถึงอ่าวไทย จากนั้นวกขึ้นเหนือไปยังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายอยุธยารู้สึกประหลาดใจกับการรุกรานดังกล่าว โดยรีบจัดทัพมาเผชิญกับพม่าทางใต้ของกรุง และจัดตั้งการป้องกันอย่างกล้าหาญระหว่างทางสู่กรุงศรีอยุธยา แต่กองทัพพม่าซึ่งกรำศึกกลับเอาชนะกองทัพฝ่ายป้องกันของอยุธยาซึ่งมีจำนวนเหนือกว่าได้ และเคลื่อนมาถึงชานกรุงเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2303 แต่เพียงห้าวันหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้น พระมหากษัตริย์พม่ากลับทรงพระประชวรและมีการตัดสินใจยกทัพกลับ[6] ปฏิบัติการของทหารกองหลังอันมีประสิทธิภาพ ภายใต้การนำของแม่ทัพมังฆ้องนรธาทำให้การถอนกำลังเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย[11]

สงครามดังกล่าวไม่มีบทสรุปแน่ชัด ขณะที่พม่าสามารถแผ่อำนาจควบคุมเหนือชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนไปจนถึงทวาย แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดภัยคุกคามจากดินแดนรอบข้างได้ ซึ่งถือว่าไม่ค่อยสำคัญเท่าใดนัก ฝ่ายพม่าถูกบีบให้ตกลงกับกบฏชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการสนับสนุนจากอยุธยา เช่นเดียวกับในล้านนา ในอีกสี่ปีต่อมา พม่าจะยกทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง และนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 ยุติประวัติศาสตร์นานสี่ศตวรรษของอยุธยา

ภูมิหลัง แก้

ตะนาวศรีจนถึง พ.ศ. 2283 แก้

การควบคุมชายฝั่งตะนาวศรี (ปัจจุบันคือ รัฐมอญและเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างพม่าและอยุธยา โดยพม่าควบคุมลงไปจนถึงทวาย และอยุธยาควบคุมส่วนที่เหลือ ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ราชอาณาจักรทั้งสองต่างก็อ้างสิทธิ์เหนือชายฝั่งทั้งหมด (อยุธยาอ้างเหนือขึ้นไปถึงเมาะตะมะ ฝ่ายพม่าอ้างใต้ลงมาถึงแหลมจังซีลอน คือ จังหวัดภูเก็ต ในปัจจุบัน) และการควบคุมเหนือดินแดนดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนมือกันหลายครั้ง ราชวงศ์พุกามของพม่าสามารถควบคุมตลอดแนวชายฝั่งได้จนถึง พ.ศ. 1830

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 16 ราชอาณาจักรของคนไทย (ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย และต่อมาคือ อาณาจักรอยุธยา) สามารถควบคุมแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ได้จนถึงตอนใต้ของเมาะลำเลิงในปัจจุบัน ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 พม่าภายใต้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอู พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามที่จะแผ่อำนาจเข้าควบคุมชายฝั่งอีกครั้ง ครั้งแรกล้มเหลวในปี พ.ศ. 2091 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2107 เมื่อเสียกรุงครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2127 อยุธยาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และอยุธยาแผ่อำนาจกลับเข้าควบคุมชายฝั่งตอนล่างอีกครั้งในปี พ.ศ. 2136 และสามารถยึดแนวชายฝั่งทั้งหมดได้ในปี พ.ศ. 2142 พม่าสามารถยึดชายฝั่งตอนเหนือลงไปจนถึงทวายได้ในปี พ.ศ. 2158 แต่ส่วนที่เหลือยังคงเป็นของอยุธยาอยู่[1]

สถานการณ์เป็นเช่นนี้จนกระทั่ง พ.ศ. 2283 ถึงแม้ว่าฝ่ายอยุธยาพยายามแย่งชิงชายฝั่งตอนบนคืน แต่ไม่สำเร็จ ในระหว่างสมัยนี้ มะริดบนฝั่งทะเลอันดามันเป็นเมืองท่าหลักของอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งการค้ากับอินเดียและชาติตะวันตกที่สำคัญ[1]

สงครามกลางเมืองพม่า (พ.ศ. 2283-2300) แก้

ในปี พ.ศ. 2283 ชาวมอญที่อยู่ทางตอนล่างของพม่าก่อกบฏต่อราชวงศ์ตองอูและสถาปนาราชอาณาจักรหงสาวดีฟื้นฟู โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี เจ้าเมืองเมาะตะมะและทวายแห่งพม่าหนีเข้ามาในอยุธยาที่ซึ่งทั้งสองได้รับการคุ้มครองจากราชสำนักอยุธยา ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1740 กองทัพหงสาวดีสามารถรบชนะกองทัพพม่าตอนเหนือซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ตองอู ฝ่ายอยุธยารู้สึกกังวลว่ามอญอาจผงาดขึ้นมาเป็นผู้ครองอำนาจใหม่ในพม่า เนื่องจากในประวัติศาสตร์ พม่าที่มีกำลังกล้าแข็งหมายถึงการรุกรานอยุธยาในอนาคต ในปี พ.ศ. 2288 อยุธยาได้ส่งราชทูตไปยังอังวะเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่นั่น และได้รับการต้อนรับจากพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี ทูตนั้นพบว่าราชสำนักอังวะนั้นสามารถล่มสลายได้ทุกเมื่อ[12] จนถึง พ.ศ. 2291 กองทัพหงสาวดีนั้นรุกคืบเข้าใกล้อังวะ ฝ่ายอยุธยายิ่งรู้สึกกังวลยิ่งขึ้นถึงการถือกำเนิดใหม่ของราชวงศ์อันแข็งแกร่งที่มีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี ท้ายที่สุดแล้ว ราชวงศ์ตองอูในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงต้องหันมาพึ่งอยุธยาจากการที่พม่าตอนบนถูกยึดครองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ฝ่ายอยุธยาตัดสินใจย้ายด่านหน้าไปยังตะนาวศรีตอนบนในปี พ.ศ. 2294 ซึ่งอาจเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน[13][14] (หรืออาจเป็นไปได้ว่าเป็นการฉวยโอกาสเอาดินแดนขณะที่กองทัพหงสาวดียังทำการรบพุ่งในพม่าตอนบน) ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าอยุธยาเจตนาหรือไม่ (หรือมีศักยภาพทางทหารเพียงพอ) ที่จะส่งกองทัพล้ำเข้าไปจากชายฝั่งไปจนถึงพม่าตอนล่าง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในหงสาวดี ผู้นำหงสาวดีซึ่งเป็นกังวลอย่างมาก ตัดสินใจถอนทหารสองในสามกลับมายังพม่าตอนล่าง ทันทีที่พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย ถูกปลดออกจากราชบัลลังก์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2295[15]

การเคลื่อนย้ายกำลังของกองทัพหงสาวดีดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์พม่า เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านในพม่าตอนเหนือมีโอกาสตั้งตัวติด แม่ทัพระดับสูงของหงสาวดีเหลือทหารน้อยกว่า 10,000 นาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในแถบพม่าตอนบน[15] นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การเคลื่อนย้ายกำลังก่อนกำเนิด โดยชี้ว่าภัยคุกคามจากอยุธยาไม่ร้ายแรงเท่ากับการตอบโต้ใด ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากพม่าตอนเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของอำนาจการเมืองในพม่า อาศัยความได้เปรียบจากทหารหงสาวดีที่มีอยู่อย่างเบาบาง กลุ่มต่อต้านกลุ่มหนึ่ง ราชวงศ์โก้นบอง ภายใต้การนำของพระเจ้าอลองพญา ได้ขับไล่ทหารหงสาวดีออกไปจากพม่าตอนบนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2297 กองทัพโก้นบองรุกรานพม่าตอนล่างในปี พ.ศ. 2298 และยึดหงสาวดีได้ในปี พ.ศ. 2300 ยุติอาณาจักรมอญที่มีอายุเพียง 17 ปี[16][17]

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของอยุธยาและการสนับสนุนการต่อต้านของมอญ แก้

สำหรับอยุธยา สถานการณ์ที่เคยเกรงกลัวกันว่าจะเกิดอำนาจใหม่อันแข็งกล้าในพม่ากลายเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นราชวงศ์โก้นบองที่มีฐานอยู่ทางพม่าตอนเหนือก็ตาม ไม่ใช่หงสาวดีที่เคยเกรงกัน อยุธยาเองก็มีส่วนรับผิดชอบต่อความสำเร็จในช่วงแรกของราชวงศ์โก้นบอง เนื่องจากการยึดครองตอนเหนือของตะนาวศรีของอยุธยา ช่วยทำให้กองทัพหลักของหงสาวดีถูกแบ่งลงมาทางใต้ อยุธยาได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อกลุ่มต่อต้านของมอญที่ยังคงสู้รบอยู่ทางตอนเหนือของตะนาวศรีที่ซึ่งการควบคุมของพม่ายังคงมีเพียงแต่ในนามเท่านั้น

หลังจากราชวงศ์โก้นบองยึดหงสาวดีได้ในปี พ.ศ. 2300 เจ้าเมืองเมาะตะมะและทวายได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าอลองพญาเพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมเดียวกัน[18] เจ้าเมืองทวายถูกจับได้ว่าถวายเครื่องราชบรรณาการสองฝ่าย และถูกประหารชีวิตในภายหลัง ขณะที่พม่าอ้างสิทธิ์เหนือตะนาวศรีตอนบนลงไปจนถึงทวาย การปกครองพม่าตอนล่างยังคงไม่แข็งแรงนักและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชายฝั่งตะนาวศรีตอนใต้สุดนั้นส่วนใหญ่คงเป็นเพียงในนามเท่านั้น และอันที่จริงแล้ว เมื่อกองทัพโก้นบองยกกลับขึ้นไปทางเหนือในปี พ.ศ. 2301 ในสงครามกับมณีปุระและรัฐฉานทางตอนเหนือ ชาวมอญในพม่าตอนล่างก็ได้ก่อกบฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[19]

การกบฏประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ โดยสามารถขับเจ้าเมืองพม่าออกจากหงสาวดีได้ แต่ได้ถูกปราบปรามโดยกองทหารรักษาการของราชวงศ์โก้นบอง ผู้นำกลุ่มต่อต้านชาวมอญและผู้ติดตามได้หลบหนีมายังชายฝั่งตะนาวศรีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตะนาวศรี และยังคงปฏิบัติการต่อจากที่นั่น พรมแดนระหว่างพม่ากับอยุธยากลายมาเป็นสถานที่ปล้นสะดมของทั้งฝ่ายมอญและพม่าอยู่เป็นนิจ[19][20]

ชนวนเหตุ แก้

พระเจ้าอลองพญาทรงกังวลกับกบฏมอญที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาอย่างไม่ขาดสาย โดยทรงเชื่อว่าพวกมอญมักจะเตรียมวางแผนก่อกบฏและพยายามชิงเอาพม่าตอนล่างกลับคืนไปเป็นของตน[19] ความกังวลของพระองค์นั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าสมเหตุสมผล มอญได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งในปี พ.ศ. 2301, 2305, 2317, 2326, 2335 และ 2367-69 ซึ่งการกบฏแต่ละครั้งที่ล้มเหลวนั้นจะตามมาด้วยการหลบหนีของมอญเข้าไปยังอาณาจักรของไทย[21] พระเจ้าอลองพญาทรงเรียกร้องให้อยุธยาหยุดให้การสนับสนุนต่อกบฏมอญ ยอมส่งตัวผู้นำมอญ และยุติการส่งกำลังรุกล้ำเข้าไปทางตอนเหนือของตะนาวศรี ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นดินแดนของพม่า พระมหากษัตริย์อยุธยา พระเจ้าเอกทัศ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของพม่า และเตรียมพร้อมทำสงคราม[10]

ขณะที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นโดยทั่วไปว่าการสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญ และการปล้นสะดมข้ามพรมแดนของมอญนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงคราม แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงแรงจูงใจที่ลึกลับกว่านั้น นักประวัติศาสตร์พม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษบางคนลงความเห็นว่าสาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และได้เสนอว่าสาเหตุหลักของสงคราม คือ ความปรารถนาของพระเจ้าอลองพญาที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอาณาจักรอยุธยาด้วย[22][23] เดวิด ไวอัท นักประวัติศาสตร์ไทย ยอมรับว่าพระเจ้าอลองพญาอาจทรงกลัวการสนับสนุนการฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของอยุธยา แต่ได้เสริมว่าพระเจ้าอลองพญานั้นชัดเจนว่าออกจะเป็นชาวชนบทดิบซึ่งมีประสบการณ์ทางการทูตน้อยมาก จึงได้เพียงสานต่อสิ่งต่อพระองค์ได้ทรงแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทำได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือการนำกองทัพไปสู่สงคราม[24]

แต่นักประวัติศาสตร์พม่า หม่อง ทินอ่อง กล่าวว่าวิเคราะห์ของพวกเขานั้นบรรยายไม่หมดถึงความกังวลที่แท้จริงของพระเจ้าอลองพญาที่ว่าอำนาจของพระองค์นั้นเพิ่งจะเริ่มสถาปนาขึ้น และพระราชอำนาจในพม่าตอนล่างนั้นยังไม่มั่นคง และพระเจ้าอลองพญาไม่ทรงเคยรุกรานรัฐยะไข่ เนื่องจากชาวยะไข่ไม่เคยแสดงความเป็นปรปักษ์ และเมืองตานด่วยในรัฐยะไข่ตอนใต้ได้เคยถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ. 2298[10] ถั่น มินอู ยังได้ชี้ให้เห็นว่านโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของอยุธยาในการรักษารัฐกันชนกับพม่าศัตรูเก่า ได้กินเวลามาจนถึงสมัยใหม่ซึ่งครอบครัวของชาวพม่าผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกองทัพต่อต้านรัฐบาลยังสามารถซื้ออาวุธ เครื่องกระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย[25]

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกในสมัยหลังได้ให้มุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลางกว่า ดี.จี.อี. ฮอลล์ เขียนว่า การปล้นสะดมเป็นนิจโดยอยุธยาและกบฏมอญนั้นเพียงอย่างเดียวก็พอที่จะเป็นชนวนเหตุของสงครามได้ ถึงแม้เขาจะเสริมว่าสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้[20] สไตน์แบร์กและคณะสรุปว่าชนวนเหตุของสงครามเป็นผลมาจากการกบฏท้องถิ่นในทวาย ซึ่งอยุธยาถูกคาดว่าเข้าไปมีส่วนพัวพัน[9] และล่าสุด เฮเลนส์ เจมส์ เขียนว่า พระเจ้าอลองพญาทรงต้องการที่จะยึดครองการค้าระหว่างคาบสมุทรของอยุธยา ขณะที่ยอมรับว่าเหตุจูงใจรองนั้นเป็นเพื่อหยุดยั้งการโจมตีของอยุธยา และการให้การสนับสนุนพวกมอญของอยุธยา[6]

การเตรียมการ แก้

แผนการรบฝ่ายอยุธยา แก้

ในปี พ.ศ. 2301 ด้วยการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยาเป็นนครที่มั่งคั่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ หลังจากมีการแย่งชิงราชสมบัติกันระยะหนึ่ง พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้าเอกทัศ ได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์หลังจากพระอนุชา เจ้าฟ้าอุทุมพร สละราชสมบัติและทรงลาผนวช พระองค์ทรงเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อตัวขึ้นทางตะวันตก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องของพระเจ้าอลองพญา และเตรียมการทำสงคราม

ฝ่ายอยุธยาเตรียมแผนการรบแบบตั้งรับ พระเจ้าเอกทัศทรงปรับปรุงการป้องกันพระนครและทรงเริ่มจัดเตรียมการป้องกันตามที่มั่นต่าง ๆ ตามรายทางซึ่งกองทัพพม่าเคยยกเข้ามาในอดีต กองทัพหลักของอยุธยากระจุกตัวอยู่ทางตะวันตกของกรุง[20] การป้องกันดังกล่าวรวมไปถึงเรือรบที่มีชาวดัตช์ประจำการอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเรือรบบรรทุกปืนใหญ่หลายลำ ซึ่งมีลูกเรือเป็นชาวต่างประเทศ[26] ในอดีต การรุกรานของพม่าใช้เส้นทางผ่านด่านเจดีย์สามองค์ทางตะวันตกอยู่เสมอ และในบางครั้งยกมาจากเชียงใหม่ทางเหนือด้วย เพื่อเฝ้าแนวชายฝั่งและปีกด้านอ่าวไทย พระองค์ยังได้จัดวางกำลังพลขนาดเล็กกว่า ซึ่งมีทั้งหมด 20 กรมทหาร (ทหาร 27,000 นาย, ทหารม้า 1,300 นาย และช้าง 500 เชือก) ทำให้มีทหารเพียง 7,000 นาย และทหารม้า 300 นายเท่านั้นที่ถูกจัดวางตามชายฝั่งตะนาวศรี[6]

ในการนี้ พระเจ้าเอกทัศยังได้ทรงขอให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวช และทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่

แผนการรบฝ่ายพม่า แก้

ฝ่ายพม่าเองก็ได้เตรียมระดมพลกองทัพรุกราน โดยเริ่มจากการเฉลิมฉลองปีใหม่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2302 โดยรวบรวมทหารจากพม่าตอนบนทั้งหมด รวมทั้งจากรัฐฉานและมณีปุระที่อยู่ทางเหนือซึ่งเพิ่งจะถูกยึดครองไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วย จนถึงปลายปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถระดมพลได้มากถึง 40 กรมทหาร (ทหารราบ 40,000 นาย และทหารม้า 3,000 นาย) ที่ย่างกุ้ง ซึ่งจากทหารม้าทั้งหมด 3,000 นายนี้ เป็นทหารม้ามณีปุระเสีย 2,000 นาย ซึ่งเพิ่งจะถูกจัดเข้าสู่ราชการของพระเจ้าอลองพญาหลังจากมณีปุระถูกพม่ายึดครองเมื่อปี พ.ศ. 2301[6][27]

แผนการรบฝ่ายพม่าคือ การเลี่ยงตำแหน่งที่มีการป้องกันแข็งแรงของฝ่ายอยุธยาตามฉนวนด่านเจดีย์สามองค์-อยุธยา โดยทรงเลือกเส้นทางที่ยาวกว่าแต่มีการป้องกันเบาบางกว่า โดยมุ่งลงใต้ตามตะนาวศรี ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปยังอ่าวไทย แล้วจึงวกกลับขึ้นเหนือไปยังอยุธยา[18] เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ฝ่ายพม่าได้รวบรวมกองทัพเรือที่มีเรือกว่า 300 ลำ เพื่อขนส่งทหารบางส่วนไปยังชายฝั่งตะนาวศรีโดยตรง[27]

พระเจ้าอลองพญาทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง โดยมีพระราชบุตรองค์ที่สอง เจ้าชายมังระ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ ส่วนเจ้าชายมังลอก พระราชบุตรองค์โต พระองค์ทรงให้บริหารประเทศต่อไป ส่วนพระราชโอรสที่เหลือนั้นนำทหารราวหนึ่งกองพันทั้งสองพระองค์[28] นอกจากนี้ที่ติดตามกองทัพไปด้วยนั้นยังมีแม่ทัพยอดฝีมือ ซึ่งรวมไปถึงมังฆ้องนรธา ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางทหารอย่างมาก บางคนในราชสำนักสนับสนุนให้เขาผู้นี้อยู่ข้างหลังและมังระนำปฏิบัติการแทน แต่พระเจ้าอลองพญาทรงปฏิเสธ[29]

สงคราม แก้

การปะทะครั้งแรก แก้

ตามพงศาวดารพม่า การปะทะกันครั้งแรกในสงครามเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูมรสุมในพรมแดนทวาย ราวเดือนกันยายนหรือตุลาคม พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาทรงได้รับแจ้งว่ามีการโจมตีการขนส่งทางเรือของพม่าโดยอยุธยารอบ ๆ ทวาย และการรุกล้ำเข้าไปยังพรมแดนทวายของอยุธยายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง[29] เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัด ซึ่งอาจเป็นข้ออ้างโดยชอบธรรมในการทำสงครามของฝ่ายพม่าได้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่ากองทัพอยุธยาได้เตรียมแนวป้องกันด่านหน้าไปแล้วในตอนนั้น

ชายฝั่งตะนาวศรี แก้

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2303 ทัพหลวงของพม่าประชุมกันอยู่ที่พรมแดนในเมาะตะมะ แทนที่จะใช้เส้นทางปกติจากเมาะตะมะไปยังด่านเจดีย์สามองค์ พม่าเลือกที่จะรุกรานลงไปทางใต้ โดยเจ้าชายมังระทรงนำทัพหน้าไป ซึ่งประกอบด้วยทหาร 6 กรม (ทหาร 5,000 นาย และม้า 500 ตัว) ไปยังทวาย[28] ทวายถูกยึดครองโดยง่ายดาย และเจ้าเมืองเคราะห์ร้าย ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองและถวายเครื่องราชบรรณาการคู่ ถูกประหารชีวิต[6] กองทัพพม่าหยุดพักเป็นเวลาสามวันเพื่อรอให้ทัพหลวงมาถึงทั้งทางบกและทางทะเล จากนั้นกองทัพพม่าเคลื่อนลงใต้มุ่งหน้าไปยังมะริด และสามารถเอาชนะทหารอยุธยาที่มีน้อยกว่ามาก คือ ทหารราบเพียง 7,000 นาย และทหารม้าเพียง 300 นาย ได้อย่างง่ายดาย หลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้นเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น พม่าสามารถยึดครองทั้งมะริดและเมืองทวาย และสามารถควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดได้สำเร็จ[28]

อ่าวไทย แก้

แม้ว่าพระเจ้าอลองพญาจะทรงทราบว่ากองทัพหลักของอยุธยาจะเคลื่อนลงมาทางใต้เพื่อเผชิญกับทัพหลวงพม่า แต่พระองค์ก็รุกต่อไปมิได้หยุดพัก กองทัพพม่าเคลื่อนไปทางตะวันออกอย่างรวดเร็ว ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี และมาถึงบริเวณที่เป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน ริ่มฝั่งอ่าวไทย[18] ปีกด้านใต้ได้รับการป้องกันโดยกองทัพอยุธยา ซึ่งประกอบด้วยทหาร 20,000 นาย ทหารม้า 1,000 นาย และช้าง 200 เชือก นอกเหนือไปจากกองทัพอยุธยาอีก 7,000 นายที่ล่าถอยมาจากตะนาวศรี[30] ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากฝ่ายอยุธยาต้านทานบริเวณชายฝั่งเพียงเล็กน้อย กองทัพพม่าที่มีกำลังพล 40,000 นาย ส่วนใหญ่จึงยังสมบูรณ์อยู่ ถึงแม้ว่ากองทัพฝ่ายรุกรานนั้นจะถูกปิดล้อมอยู่ในแนวชายฝั่งแคบ ๆ ริมอ่าว

ทัพป้องกันของอยุธยาปะทะกับกองทัพฝ่ายรุกรานนอกกุยบุรี แต่ถูกบีบให้ถอยทัพ ฝ่ายพม่ายังได้ยึดปราณบุรี แต่การรุกคืบต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาถูกถ่วงให้ช้าลงอย่างมากโดยการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่เข้มแข็งขึ้น เป็นเวลาอีกกว่าสองเดือน (กุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2303) กองทัพพม่าที่เป็นฝ่ายกรำศึกกว่าสามารถเอาชนะการป้องกันอย่างกล้าหาญของอยุธยาได้หลายจุด และสามารถยึดเพชรบุรีและราชบุรีได้อีกด้วย[6][30]

สุพรรณบุรี แก้

โดยการยึดสุพรรณบุรี พม่าได้สู้รบขึ้นไปทางเหนือของคอคอดแคบ ๆ และสามารถมาถึงภาคกลางของอยุธยา เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 เมื่อกองทัพฝ่ายรุกรานมาถึงกรุงศรีอยุธยา กองทัพอยุธยาได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งในด้านกำลังพล ปืนและเครื่องกระสุน ได้ทำการตั้งรับอีกจุดหนึ่งที่สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับอยุธยาทางตะวันตก ฝ่ายป้องกันประกอบด้วยทหาร 33,000 นาย รวมทั้งทหารม้า 3,000 นาย และมีภารกิจเพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่ามิให้ข้ามแม่น้ำมาซึ่งจะแบ่งแยกอยุธยาและสุพรรณบุรีออกจากกัน ฝ่ายพม่าแบ่งการโจมตีออกเป็นสามสาย นำโดยเจ้าชายมังระในตอนกลาง ขนาบโดยแม่ทัพมังฆ้องนรธาและมินฮลาทิริ ต่อที่ตั้งของอยุธยาที่ป้องกันอย่างดี ฝ่ายพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนักแต่ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด โดยสามารถจับกุมเชลยศึกเป็นแม่ทัพระดับสูงของอยุธยาได้ห้าคน รวมทั้งช้างศึกของแม่ทัพเหล่านี้[6][31]

การล้อมอยุธยา แก้

ถึงแม้ว่าจะได้รับความสูญเสียอย่างหนักที่สุพรรณบุรี กองทัพพม่ายังคงมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ทหารเหล่านี้ไม่สามารถพักผ่อนได้เนื่องจากฤดูมรสุมอยู่ห่างออกไปเพียงเดือนเศษเท่านั้น เนื่องจากอยุธยาล้อมรอบด้วยแม่น้ำหลายสาย การล้อมในฤดูฝนจึงเป็นงานที่น่าหวาดหวั่น ภูมิประเทศโดยรอบจะถูกน้ำท่วมสูงหลายฟุต ทหารพม่าที่ยังเหลือรอดกว่าครึ่งป่วยเป็นโรคบิด และพระเจ้าอลองพญาเองก็เริ่มมีพระพลานามัยไม่ค่อยดีแล้ว[11]

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าได้มาถึงชานกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2303 ฝ่ายอยุธยาได้ส่งกองทัพใหม่ที่มีกำลังพล 15,000 นาย ออกมากเผชิญหน้ากับฝ่ายผู้รุกราน แต่กองทัพดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าประกอบด้วยทหารเกณฑ์ที่ไม่มีประสบการณ์ในการรบเลย พ่ายแพ้อย่างรวดเร็วต่อกองทัพพม่าที่กรำศึก ถึงแม้ว่าจะมีกำลังพลถดถอยลงแล้วก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการล้อมระยะยาว พระมหากษัตริย์พม่าได้ส่งทูตเข้าไปเจรจาให้พระมหากษัตริย์อยุธยายอมจำนน โดยให้สัญญาว่าพระองค์จะไม่ทรงถูกปลดออกจากบัลลังก์ พระเจ้าเอกทัศทรงส่งทูตของพระองค์เองเพื่อไปเจรจา แต่พบว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้าอลองพญานั้นไม่สามารถยอมรับได้ และการเจรจานั้นยุติลงอย่างสมบูรณ์[10] เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ระหว่างเทศกาลปีใหม่ของพม่าและอยุธยา พม่าเริ่มระดมยิงปืนใหญ่ใส่พระนครซึ่งจะกินเวลานานสามวัน[6]

ตามข้อมูลฝ่ายสยามพระเจ้าอลองพญาทรงเคืองพระทัยที่กองทัพพม่ายึดอยุธยาช้ากว่าที่กำหนดพระองค์จึงทรงนำขบวนไปสังเกตการรบที่แนวหน้าและได้สิ้นพระชนม์จากแรงระเบิดจากปืนใหญ่ซึ่งทรงขึ้นบัญชาการยิงเข้าพระนครด้วยพระองค์เอง[10] หรือจากวัณโรคต่อมน้ำเหลือง[6] แต่พงศาวดารพม่าระบุอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคบิด ไม่มีเหตุอันใดที่พงศาวดารพม่าจะปกปิดความจริง เนื่องจากจะเป็นการสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะสวรรคตจากบาดแผลในการรบมากกว่าสวรรคตด้วยอาการเจ็บป่วยธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้น หากพระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บต่อหน้าทหารทั้งกองทัพ ข้อเท็จจริงนี้ก็จะเป็นที่ที่ทราบไปทั้งกองทัพ และก่อให้เกิดความสับสน[10]

กองหลัง แก้

แม่ทัพระดับสูงของพม่าเก็บความลับที่ว่าพระเจ้าอลองพญาทรงสิ้นพระชนม์เป็นความลับและสั่งให้มีการถอยทัพทั้งหมด พม่าได้ปกปิดข้อเท็จจริงตรงนี้ไว้โดยอ้างเหตุผลว่าพระมหากษัตริย์นั้นทรงพระประชวรสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอลองพญาทรงเลือกพระสหายขณะยังทรงพระเยาว์ มังฆ้องนรธา รับเกียรติบังคับบัญชาทหารกองหลัง ทหารเหล่านี้เป็น "ทหารชั้นเลิศของกองทัพ" ประกอบด้วยทหารราบ 6,000 นาย และทหารม้า 500 นาย โดยทุกนายมีปืนคาบศิลาเป็นอาวุธ มังฆ้องนรธาขยายทหารกองหลังออกเป็นแถวยาวแล้วเฝ้าคอย เป็นเวลาสองวันก่อนที่ฝ่ายอยุธยาจะรู้ว่าทัพหลวงพม่าได้ยกกลับไปแล้ว จากนั้นทัพหลวงของอยุธยาได้ยกออกมาจากกรุง ทหารของเขาเฝ้ามองขณะที่ข้าศึกเข้ามาใกล้พวกเขา และกลัวว่าจะถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของกองทัพ พวกเขาร้องขอแม่ทัพให้ถอยกลับไปเล็กน้อย แต่มังฆ้องนรธากล่าว่า "สหาย ความปลอดภัยของพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในการรักษาของพวกเรา ขอพวกเราอย่าถอย ด้วยเสียงของปืนจะไปรบกวนการบรรทมของพระองค์ท่าน" ภายใต้การนำของเขา กองทัพพม่าจึงล่าถอยได้เป็นระเบียบเรียบร้อยดี และสามารถรวบรวมผู้พลัดหลงกับกองทัพได้ตลอดทาง[10][11]

สงครามยุติ แก้

พระเจ้าอลองพญาสวรรคตเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2303 ใกล้กับกรุงศรีอยุธยา หลังจากถูกเร่งรุดนำพระองค์มาอย่างรวดเร็วโดยทัพหน้า และจากการสวรรคตนี้เองสงครามครั้งนี้จึงสิ้นสุดลง

ผลที่ตามมา แก้

หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่ พระเจ้ามังลอก ทรงต้องเผชิญกับการกบฏหลายครั้ง รวมทั้งการกบฏของแม่ทัพมังฆ้องนรธาด้วย และสงครามไม่สามารถดำเนินตอ่ไปได้

สงครามครั้งนี้ไม่มีบทสรุปชัดเจน พม่าบรรลุวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อยุธยายังคงเป็นขวากหนามต่อเสถียรภาพต่อภูมิภาคที่อยู่รอบข้างของพม่า อีกหลายปีให้หลังอยุธยายังคงให้การสนับสนุนต่อกบฏมอญทางตอนใต้ ซึ่งก่อการกบฏครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2305 เช่นเดียวกับกบฏในล้านนาทางตอนเหนือ (พ.ศ. 2304-06) ดินแดนที่เหลือซึ่งพม่าได้รับมาจากสงครามนั้นคือชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเพียงแต่อ้างสิทธิ์แต่ในนามเท่านั้น (อยุธยายึดชายฝั่งตอนล่างขึ้นไปถึงมะริดในปี พ.ศ. 2304)[1] ถึงแม้ว่ากองทัพอยุธยาจะไม่ได้บุกรุกพรมแดนอย่างเปิดเผยอีกต่อไป แต่กบฏมอญยังคงปฏิบัติการจากดินแดนของอยุธยา ในปี พ.ศ. 2307 เจ้าเมืองทวายชาวมอญ ผู้ซึ่งได้รับการทรงแต่งตั้งจากพระเจ้าอลองพญาเพียงสี่ปีก่อนหน้านี้เท่านั้น ได้ก่อการกบฏจนกระทั่งถูกปราบปรามในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ความไม่มีเสถียรภาพในล้านนาเกิดขึ้นอีกครั้งไม่นานหลังจากกองทัพพม่าออกจากพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2307 บีบให้กองทัพต้องกลับมาประจำอีกครั้งหนึ่งในเดียวกัน[32] ด้วยบทสรุปที่ไม่แน่ชัดของสงครามจะนำไปสู่สงครามครั้งถัดไปในปี พ.ศ. 2308

การวิเคราะห์ แก้

ความสำเร็จของพม่าในการรุกรานไปจนถึงกรุงศรีอยุธยานั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ในการหลีกเลี่ยงการป้องกันของอยุธยาที่ตั้งไว้ตามเส้นทางรุกรานเดิม[20] แต่ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักสำหรับความสำเร็จครั้งนี้ ขณะที่พม่าตัดสินใจถูกในตอนแรกที่โจมตีชายฝั่งตะนาวศรีที่มีการป้องกันเบาบาง (ทหารเพียง 7,000 นาย) แต่เมื่อข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย กลับต้องเผชิญกับการต้านทานอันแข็งขันของอยุธยา ซึ่งถึงแม้ว่าในตอนแรกอยุธยาจะรู้สึกประหลาดใจกับเส้นทางการโจมตีของพม่า การณ์กลับกลายเป็นว่าอยุธยาสามารถปรับตัวได้ และย้ายกองทัพลงมาทางใต้ ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบตามอ่าวไทยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย พงศาวดารพม่ารายงานว่าพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนักเพียงแค่ต้องฝ่าออกจากคอคอดแคบ ๆ แห่งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอยุธยาสูญเสียกำลังพลและเครื่องกระสุนมากกว่า

สำหรับเหตุผลที่เป็นไปได้มากกว่าสำหรับความสำเร็จของพม่านั้น อาจเป็นเพราะว่าพม่าซึ่งรบพุ่งในสงครามสืบราชบัลลังก์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2283 จึงมีความกรำศึกกว่ามาก ผู้นำการทหารของพม่า "สร้างทหารขึ้นมาด้วยตัวเอง"[33] ซึ่งทั้งหมดนั้นมีประสบการณ์ทางทหารเพียงพอเรียบร้อยแล้ว ส่วนในอีกด้านหนึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้นำทางทหารของอยุธยาหรือทหารมีประสบการณ์ทางทหารมากน้อยเพียงใด เนื่องจากอยุธยาสงบมาเป็นเวลานานแล้ว พระมหากษัตริย์อยุธยาถึงกับต้องทรงขอให้พระอนุชาลาผนวชมาบัญชาการรบ การขาดประสบการณ์ทางทหารในหมู่แม่ทัพอยุธยาระดับสูง อาจอธิบายได้ว่าทำไมอยุธยาจึงแพ้ต่อกองทัพพม่าที่มีขนาดเล็กกว่า และมีกำลังพลไม่เต็มที่ที่สุพรรณบุรีและนอกกรุงศรีอยุธยา ในทำนองเดียวกันหากขาดการนำที่ดีการใช้ทหารรับจ้างต่างชาติจะไม่ปรากฏความแตกต่างใด ๆ ในสงครามนี้เลย (พม่าได้เผาเรือที่มีลูกเรือเป็นทหารรับจ้างต่างชาติ)[18] ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะผู้นำนั้นมีความสำคัญเมื่อทหารส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นทหารเกณฑ์[34]

เชิงอรรถ แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 James, SEA encyclopedia, pp. 1318-1319
  2. Harvey, p. 334
  3. Kyaw Thet, p. 290
  4. Letwe Nawrahta, p. 142
  5. Harvey, p. 246
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 James, SEA encyclopedia, p. 302 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "hj-302" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  7. Baker, et al, p. 21
  8. James, Fall of Ayutthaya: Reassessment, p. 75
  9. 9.0 9.1 Steinberg, p. 102
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 Htin Aung, pp. 169-170
  11. 11.0 11.1 11.2 Harvey, p. 242
  12. Wyatt, p. 113
  13. Ba Pe (1952). Abridged History of Burma (ภาษาพม่า) (9th (1963) ed.). Sarpay Beikman. pp. 145–146.
  14. Hall, Chapter IX: Mon Revolt, p. 15
  15. 15.0 15.1 Phayre, pp. 150–151
  16. Harvey, pp. 219-243
  17. Hall, Chapter X: Alaungpaya, pp. 16-24
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Harvey, p. 241
  19. 19.0 19.1 19.2 Htin Aung, pp. 167-168
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Hall, Chapter X, p. 24
  21. Lieberman, p. 205
  22. Harvey, pp. 241, 250
  23. Phayre, pp. 168-169
  24. Wyatt, p. 116
  25. Myint-U, pp. 287, 299
  26. Harvey, pp. 241, 246
  27. 27.0 27.1 Alaungpaya Ayedawbon, pp. 141-142
  28. 28.0 28.1 28.2 Alaungpaya Ayedawbon, pp. 143-145
  29. 29.0 29.1 Alaungpaya Ayedawbon, p. 229
  30. 30.0 30.1 Alaungpaya Ayedawbon, pp. 146-147
  31. Alaungpaya Ayedawbon, pp. 147-148
  32. Kyaw Thet, p. 300
  33. Lieberman, p. 185
  34. Lieberman, p. 216

อ้างอิง แก้

  • Baker, Chris, Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press. ISBN 0521767687, 9780521767682. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • James, Helen (2004). "Burma-Siam Wars and Tenasserim". ใน Keat Gin Ooi (บ.ก.). Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, Volume 2. ABC-CLIO. ISBN 1576077705.
  • James, Helen (2000). "The Fall of Ayutthaya: A Reassessment". Journal of Burma Studies. 5: 75–108.
  • Kyaw Thet (1962). History of Union of Burma (ภาษาพม่า). Yangon: Yangon University Press.
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps--Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6, 0-374-16342-1. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Steinberg, David Joel (1987). David Joel Steinberg (บ.ก.). In Search of South-East Asia. Honolulu: University of Hawaii Press.
  • Wyatt, David K. (2003). History of Thailand (2 ed.). Yale University Press. ISBN 0300084757, 9780300084757. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)