พระยาเพชรบุรี (เรือง)
พระยาสุรินทฦๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหะ (เรือง) เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีคนสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระยาเพชรบุรี (เรือง) | |
---|---|
เจ้าเมืองเพชรบุรี | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2275 - ??? | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2309 |
สัญชาติ | สยาม |
ศาสนา | พุทธ |
บุตร | เจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฦาไชย (บุญมี) |
ประวัติ
แก้พระยาเพชรบุรี มีนามเดิมว่า เรือง ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบล บ้านสวนตาล หลังวัดพนัญเชิง เป็นพระญาติในสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ราชชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1] และเป็นพระญาติกับเจ้าขรัวเงิน พระชนกในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 โดยพระยาเพชรบุรี (เรือง) นั้นสืบเชื้อสายมาแต่ตระกูลขุนนางที่รับราชการต่อเนื่องกันมาในราชสำนักหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังเป็นตระกูลขุนนางซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ราษฎรกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น
เริ่มเข้ารับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเห็นฝีมือจึงขอตัวไปทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งให้เป็นขุนนางฝ่ายทหาร ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2275 และเป็นขุนนางจากราชสำนักอยุธยาคนสุดท้ายที่ได้ออกไปครองเมืองเพชรบุรี
พระยาเพชรบุรี เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ เลื่องลือว่าอยู่ยงคงกระพัน ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ร่วมกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และหมื่นทิพเสนา วางแผนถอดสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ออกจากราชสมบัติ แล้วถวายให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่ครองราชย์[2] ต่อมาความทราบถึงสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จึงมีพระราชโองการให้กุมตัวเหล่ากบฏ พระยาเพชรบุรีรู้ข่าวจึงพาทหารไปเชิญเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธ หนีออกจากพระนคร แต่ก็มาถูกจับ พระยาเพชรบุรีจึงต้องพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ มีรับสั่งให้ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาผนวช แล้วมอบราชสมบัติให้ เมื่อพระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยตัว เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช และ พระยาเพชรบุรี ออกมารับราชการดังเก่า ต่อมาเมืองเมาะตะมะเกิดกบฎ พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีจึงได้ไปปราบจนพวกมอญราบคาบ
ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง พระยาเพชรบุรีได้มีหน้าที่รักษากรุง ได้รบกับทัพพม่าที่ริมวัดสังฆาวาศแล้วถูกพม่าจับกุมได้[3] และถูกพม่าประหารเมื่อ เดือน 12 ปีจอ พุทธศักราช 2309
พระยาเพชรบุรีมีบุตรคนหนึ่งนามว่า บุญมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์ที่หลวงพิไชยราชา ต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาได้รับการพระราชทานยศขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิไชยราชา รามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก
พระยาเพชรบุรี เป็นต้นของสกุล บุญ-หลง พลางกูร[4][1]หมายมั่น[5]และกะรีวัตร (สืบลงมาทางหลวงพิไชยราชา (บุญมี))[6]: 196
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพ : มติชน, พ.ศ. 2559. 623 หน้า. หน้า หน้าที่ 68. ISBN 9789743230561
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 247
- ↑ ปรามินทร์ เครือทอง (8 มิถุนายน 2019). "เปิดตัวพระยาตาก แบบไม่สวย". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2021.
- ↑ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. กระเบื้องถ้วยกะลาแตก. กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ. 2553. 240 หน้า. หน้า หน้าที่ 104. ISBN 9789749601372
- ↑ อาลักษณาโวหาร. (2022, 5 พฤษภาคม). พระยาเพชรบุรีวีรบุรุษที่ถูกลืม. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2023.
- ↑ ตากสินมหาราช, สมเด็จพระเจ้า, ธนิต อยู่โพธิ์ (บก.), และปรีดา ศรีชลาลัย. (2484). บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี: เล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์ และเรื่องงานสร้างชาติไทย. พิมพ์ในงานศพนายอาคม อินทรโยธิน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. 240 หน้า.