เจดีย์ชเวมอดอ (พม่า: ရွှေမောဓော ဘုရား, ออกเสียง: [ʃwèmɔ̀dɔ́ pʰəjá]; มอญ: ကျာ်မုဟ်တ, ออกเสียง: [tɕaɪʔmṵtú]) เป็นเจดีย์สำคัญที่อยู่ในเมืองพะโค (หงสาวดี) ประเทศพม่า มีความสูง 114 เมตร (374 ฟุต) ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศพม่า แต่เจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งมักได้รับการบันทึกว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศ 98 เมตร (322 ฟุต) เพราะประดิษฐานบนเนินเขา เชื่อกันว่าเจดีย์ชเวมอดอเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า เจดีย์ชเวมอดอ เจดีย์ชเวดากอง และพระธาตุไจที่โย่เป็นเจดีย์ที่มีชื่อเสียงที่ชาวมอญสร้างขึ้น เทศกาลประจำปีเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวมอดอจัดในช่วงเดือนดะกู้ ตามปฏิทินพม่า[1]

เจดีย์ชเวมอดอ
ရွှေမောဓော ဘုရား
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
เทศกาลเทศกาลเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวมอดอ
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งพะโค ภาคพะโค พม่า
เจดีย์ชเวมอดอตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เจดีย์ชเวมอดอ
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์17°20′13″N 96°29′49″E / 17.3368744°N 96.496954°E / 17.3368744; 96.496954
สถาปัตยกรรม
เสร็จสมบูรณ์คริสต์ศตวรรษที่ 10
ความสูงสูงสุด114 เมตร (374 ฟุต)

ประวัติ

แก้

เจดีย์ชเวมอดอมีชื่อเรียกในภาษามอญซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับชื่อนี้คือ พระธาตุมุเตา แปลว่า "จมูกร้อน" เพราะกล่าวกันว่าพระเจดีย์องค์นี้สูงมาก ต้องแหงนหน้ามองจนต้องกับแสงแดด ปัจจุบันเจดีย์ชเวมอดอมีความสูงที่ 114 เมตร เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศพม่า

มีการสันนิษฐานว่าเจดีย์ชเวมอดอสร้างขึ้นราวประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตั้งแต่สมัยอาณาจักรมอญเรืองอำนาจ เดิมเจดีย์ชเวมอดอมีความสูง 21 เมตร (69 ฟุต) สร้างโดยชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่าพ่อค้าชาวมอญสองคนชื่อ มหาศาลและจุลศาล ได้เดินทางไปอินเดียสมัยพุทธกาลและได้รับพระเกศาธาตุจากพุทธองค์ นำกลับมาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวมอดอ ภายหลังได้มีการบรรจุพระเขี้ยวแก้วไว้ในพระเจดีย์เมื่อปี ค.ศ. 982 และปี ค.ศ. 1385 ในสมัยพระเจ้าราชาธิราช ต่อมาในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้โปรดให้มีการสร้างพระวิหารและหล่อระฆังถวาย

ในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ใช้เป็นที่ทำพระราชพิธีเจาะพระกรรณเมื่อครั้งพระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ที่ตองอู ภายใต้วงล้อมของทหารมอญหลายหมื่นนายที่เป็นศัตรู แต่ก็ไม่อาจทำอะไรพระองค์ได้[2] ภายหลังพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สามารถยึดพะโคเป็นราชธานีแห่งใหม่ได้สำเร็จ ในรัชกาลต่อมา คือ พระเจ้าบุเรงนองได้มีการสร้างฉัตรถวายเพิ่มเติมอีกหลายชั้น จนพระเจดีย์สูงขึ้นอีกหลายเท่า และได้มีการถวายพระมงกุฎเป็นพุทธบูชา อีกทั้งกล่าวกันว่าก่อนที่พระองค์จะออกทำศึกคราใด จะทรงมานมัสการพระเจดีย์นี้ก่อนทุกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทำการสักการะก็ยังปรากฏอยู่ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยกทัพมาตีพะโคก็ได้เสด็จมานมัสการ ในสมัยพระเจ้าปดุงได้มีการถวายฉัตรยอดพระเจดีย์องค์ใหม่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระเจดีย์ได้รับความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวหลายครั้ง รวมทั้งในปี ค.ศ. 1917 และปี ค.ศ. 1930 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1917 ทำให้ยอดพระเจดีย์พังลงมา หลังการบูรณะได้มีการเก็บส่วนยอดพระเจดีย์ที่พังลงมาไว้ในจุดเดิม

ในประเทศไทย มีเจดีย์จำลองของเจดีย์ชเวมอดออยู่ที่วัดชมภูเวก อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ในชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ[3] และที่วัดปรมัยยิกาวาสบนเกาะเกร็ด ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญเช่นเดียวกัน[4]

คลังภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Zaw Winn (28 April 2008). "Shwemawdaw Pagoda welcomes in the New Year". Myanmar Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 5 March 2012.
  2. "Chill Out Travel Note: Myanmar". ช่อง 5. 22 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-03. สืบค้นเมื่อ 23 June 2014.
  3. ร่วมรากเดียวกัน, รายการทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556
  4. หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 38

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้