นะ (พม่า: နတ်, เอ็มแอลซีทีเอส: nat; อักษรโรมัน: nat; IPA: [naʔ]) ออกเสียง น่ะ (มาจากคำว่า นาถะ ในภาษาบาลี แปลว่า "ที่พึ่ง") เขียนว่า นัต[1] หรือ แน็ต ก็มี หมายถึงวิญญาณซึ่งเคารพบูชากันอยู่ในพม่าตามความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาก่อนพุทธศาสนา

นะแบ่งเป็น นะหลวง 37 ตน กับนะส่วนที่เหลือทั้งหมด (เช่น รุกขเทวดา เจ้าป่า เจ้าเขา ฯลฯ) บุคคลที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นนะหลวงนั้นมักเป็นผู้ตายผิดธรรมชาติ เช่น ตายโหง ตายด้วยโรคระบาด หรือถูกลอบสังหาร เพราะเชื่อว่ามีแรงจิตและฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่ว ๆ ไป และมักเป็นผู้มีประวัติเป็นที่กล่าวขานหรือยกย่องนับถือ นอกจากนี้ นะยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ นะชั้นล่าง หรืออัคนะ (အောက်နတ်) คือ วิญญาณคนทั่วไปไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อ และนะชั้นสูง หรืออเทตนะ (အထက်နတ်) เป็นเทวดาอาศัยอยู่ในหกชั้นฟ้า[2] นะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของพม่า ในเขตเมืองบูชานะน้อยกว่าในชนบทและสังคมพม่าทั่วไป[3]

นะกับพระพุทธศาสนา

แก้
 
วิวโดยรอบบริเวณเขาโปะป้า ศาลนะอยู่บน ตองกะละ ยอดเขาเล็กทางซ้ายของภาพ

เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากอาณาจักรมอญเข้าสู่อาณาจักรพม่าในพุทธศตวรรษที่ 18 ความเชื่อเรื่องนะจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ โดยยกเลิกการบูชานะตามแบบพื้นบ้าน และนะบางส่วนถูกยกระดับให้เป็นนะหลวงหรือนะระดับประเทศ พระองค์ได้ทำการตั้งศาลนะหลวงขึ้นที่ตองกะละบริเวณเขาโปะป้า หรือที่เรียกว่า มหาคีรีนะ ใกล้เมืองพุกาม โดยมีทั้งหมด 37 ตน โดยนะที่สำคัญคือ นะตัจจาเมง หรือ นะสักรา (พระอินทร์), นะพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นะโยนบะเยง (นะพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น

นะกับสังคมชนบท

แก้

ความเชื่อดั้งเดิมที่แพร่หลายในหมู่คนชนบทเชื่อว่ามีวิญญาณของผู้พิทักษ์ป่าหรือเจ้าป่า เรียกว่า ตอซองนะ (တောစောင့်နတ်) และวิญญาณของผู้พิทักษ์ภูเขาหรือเจ้าเขา เรียกว่า ตองซองนะ (တောင်စောင့်နတ်) และดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ในจุดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จะถูกละเว้นเนื่องจากเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของรุกขเทวดา หรือที่เรียกว่า ย็อกกาโซ (ရုက္ခစိုး) เพราะการกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งความโกรธกริ้วแก่ผู้กระทำความผิด[4]

รายชื่อนะ

แก้
 
เหล่านะในศาลบนตองกะละ
 
นะฮินดูในศาลบนตองกะละ
 
เครื่องบูชานะแบบดั้งเดิมคือกล้วยและมะพร้าว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า กล่าวว่ามีนะถึง 37 ตน เรียกว่า นะมิน (กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า แน็ตมิน) หรือ นะหลวง และมีตำราว่าด้วยเรื่องนะ ชื่อว่ามหาคีตะเมคะนี (Maha Gita Megani) ซึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกาพยุหะ อันเป็นตำราประเพณีของพม่า ซึ่งเซอร์ยอช สก็อต เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือภิธานเมืองพม่าเหนือ หรือ Upper Burma Gasetteer มีรายชื่อเมืองและประวัติของนะหลวงทั้ง 37 ตน บอกถึงธรรมเนียมลงนะซึ่งส่วนใหญ่คนทรงจะเป็นผู้หญิง และนะแต่ละตนจะมีการขับร้อง การฟ้อนรำ เครื่องดนตรี และเพลงเฉพาะตน โดยในวัดเจดีย์ชเวซี่โกน เมืองพุกาม มีการสร้างนะที่ทำจากไม้ ขนาดเท่าหุ่นกระบอกที่มีครบอยู่ 37 ตนเพียงแห่งเดียว ซึ่งแต่ละตัวต่างแต่งตัวด้วยอาภรณ์หลากสี ตั้งอยู่บนฐานชุกชีในวิหารยาวประมาณ 4 ห้อง มีเพียงรูปเดียวที่มีขนาดเท่าคนจริงสวมเครื่องทรงกษัตริย์ซึ่งคือพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าแห่งนะทั้งปวง

ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า ของไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ ได้มีการกล่าวถึงนะว่ามี 37 ตน โดยในช่วงสมัยอาณาจักรพุกาม เหลือนะอยู่เพียง 22 ตน ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ตน โดยมีรายนามดังต่อไปนี้[5]

รายชื่อนะเดิม

แก้
  • ตะจามิน (ท้าวสักกะ) ถือเป็นเจ้าแห่งนะทั้งปวง
  • งะตินเด หรือ มินมหาคีรีนะ
  • ชเวเมี้ยตนา หรือ เจ้านางหน้าทอง
  • เจ้านางสีข้างทอง
  • นางงามสามเวลา
  • เจ้านางผิวขลุ่ย
  • เจ้าสีน้ำตาลแห่งทิศใต้
  • เจ้าสีขาวแห่งทิศเหนือ
  • พระเจ้ากู้นซอจ้องพยู
  • พระราชมารดาของพระเจ้ากู้นซอจ้องพยู
  • เจ้ามินกองแห่งปะเรนมา
  • เจ้านางทองคำ
  • ชายชราต้นกล้วยเดี่ยว
  • พระเจ้าอลองสิธู
  • เจ้าชิงช้าหนุ่ม
  • เจ้าจ่อส่วยผู้กล้าหาญ
  • แม่ทัพใหญ่แห่งอังวะ
  • นักเรียนนายทหารหลวง
  • เจ้าเทพทองน้อย
  • ปู่เจ้าแห่งมัณฑะเลย์
  • นางขาโก่ง
  • เจ้าเทพทองใหญ่
  • มารดานักเรียนนายทหารหลวง

รายชื่อนะเพิ่มเติม

แก้

รูปลักษณ์ของนะหลวงทั้ง 37 ตน

แก้

หมายเหตุ: ภาพและชื่อของนะในที่นี้ได้มาจากหนังสือ "The Thirty Seven Nats" โดย Sir Richard Carnac Temple (พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1906) ซึ่งชื่อของนะที่ปรากฏอาจไม่ตรงกับรายชื่อข้างบน เนื่องจากยังไม่สามารถหาคำแปลเทียบเคียงกับรายชื่อข้างต้นได้

การบูชานะ

แก้
 
รูปแบบของศาลนะ

ในประเทศพม่า การบูชาหรือประเพณีเกี่ยวกับนะมีตลอดทั้งปี แต่งานเทศกาลเกี่ยวกับนะที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด คือ หมู่บ้านต่องปะโยง ในเขตมัณฑะเลย์ เป็นเวลา 6 วัน ในเดือนสิงหาคมของทุกปี เนื่องจากนะสองพี่น้อง หรือ ชเวปยินยีดอ และชเวปยินนองดอ เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเชื้อสายแขกผสมพม่า ถูกสั่งประหาร ณ ที่แห่งนี้ เนื่องจากละเลยต่อการขนอิฐสร้างพุทธเจดีย์ตามพระราชบัญชา และกลายเป็นผีมาหลอกหลอนพระเจ้าอโนรธา พระองค์จึงมีบัญชาให้ตั้งศาลบูชาไว้ ณ ที่แห่งนี้[6]

คนทรงนะ มีชื่อเรียกว่า "นะกะด่อ" (နတ်ကတော်; nat kadaws) นะกะด่อจะนับถือนะชเวปยินยีดอเป็นเสมือนนะครู นะกะด่อจากทั่วพม่าจะเดินทางมาที่นี่เพื่อบูชาปีละครั้ง ผู้ที่เป็นนะกะด่อจะเป็นผู้ที่ชาวพม่าให้ความเคารพในทุกชนชั้น และความเชื่อจะถูกส่งต่อมาเป็นทอด ๆ หากพ่อแม่ศรัทธานะกะด่อคนใด ลูกหลานก็จะถูกพามาด้วยและมอบตัวเป็นศิษย์

นะกะด่อ ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างนะกับมนุษย์ ซึ่งนะกะด่อแต่ละคนสามารถเข้าทรงนะได้หลายตน ไม่จำกัดเฉพาะตนใดตนหนึ่ง แต่การที่จะเข้าทรงนะตนใด ก็จะมีการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป แต่เดิมผู้ที่หน้าที่เป็นนะกะด่อจะเป็นผู้หญิง และได้รับการนับถือว่าเป็นภรรยาของนะ และสืบทอดกันทางสายเลือดจากแม่สู่ลูก ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงได้มีนะกะด่อที่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีจำนวนน้อย ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 นะกะด่อที่เป็นเพศที่สามจึงปรากฏ และมีมากขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทั้งที่ในสังคมพม่าในยุคนั้นยังไม่ค่อยเปิดรับมากกับสภาพเพศที่สาม การที่บุคคลเพศที่สามได้เป็นนะกะด่อเนื่องจากเชื่อว่าบุคคลที่มีเพศสภาพเช่นนี้ เหมาะสมที่สุดที่เป็นผู้ติดต่อกันระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งวิญญาณ ซึ่งในปัจจุบันนะกะด่อที่เป็นเพศที่สามได้รับความนิยมมากกว่านะกะด่อที่เป็นชายจริงหญิงแท้เสียอีก

ก่อนการเข้าทรงจะมีการจัดเลี้ยงอาหารต่อผู้มาร่วมงานและบูชาพระรัตนตรัย และบูชานะโดยเครื่องบูชาหลัก คือ มะพร้าว เนื่องจากมินมหาคีรีนะ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ยังเขาโปปา ตายเพราะถูกไฟคลอกในรัชสมัยพระเจ้าจานสิตา น้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติเย็นและช่วยดับร้อนอันจะทำให้นะพึงพอใจ นอกจากนี้ยังมีกล้วยและธูปเทียนต่าง ๆ

ในหมู่บ้านต่องปะโยงจะมีปะรำพิธีสำหรับนะกะด่อแต่ละคนที่จะมาเข้าทรง โดยจัดเวียนกันเป็นรอบ ๆ เมื่อถึงรอบของใคร ผู้นำก็จะพามารำยังปะรำพิธีซึ่งมีปี่พาทย์ประโคมรออยู่แล้ว ซึ่งบริเวณที่จัดงานจะเป็นงานนอกกำแพงวัด เนื่องจากเป็นการเข้าทรงนะนอก ซึ่งมีถิ่นฐานนอกกำแพงวัดเจดีย์ชเวซีโกน

การเข้าทรงนะ นะกะด่อจะฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงเพลงโดยมีสาวกหรือผู้ศรัทธาติดตามไป ช่วงที่สำคัญคือ นะกะด่อจะโปรยเงินแจกจ่ายผู้ที่ยืนดู ซึ่งสามารถใช้ความมั่งคั่งของนะกะด่อเป็นเครื่องวัดความมีชื่อเสียงของนะกะด่อผู้นั้นได้ และก็มักมีการเข้าทรงเกิดขึ้นมากมายในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งที่ไม่ใช่นะกะด่อ

แม้ผ่านกาลเวลามานานกว่าสองพันปีและถูกท้าทายความเชื่อ ทั้งเคยมีความพยายามที่จะยกเลิกการบูชาและเชื่อเรื่องนะ แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีชาวพม่ากว่าร้อยละ 80 ที่ยังคงนับถือนะอยู่[7]

ความเชื่อเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของนะ

แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้กล่าวเกี่ยวกับอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ของนะ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้ามินดง เนื่องจากพระเจ้ามินดงได้มีพระดำริให้ทำการรื้อศาลนะแห่งหนึ่งทำให้พระองค์ประชวร ดังมีข้อความดังนี้

"...ครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้ามินดง ผีแน็ตที่ศาลแห่งหนึ่งดุร้าย ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนจนร้อนถึงพระเจ้ามินดง จึงโปรดให้ทำพิธีส่งวิญญาณด้วยประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยตรัสว่าผีแน็ตไปปฏิสนธิแล้ว ให้รื้อศาลเสียเถิดคนจะได้หายครั่นคร้าม

...อยู่ต่อมาพระเจ้ามินดงประชวร มีอาการให้จุกแดกเป็นกำลัง หมอหลวงถวายพระโอสถเสวยก็ไม่หาย พวกเข้าเฝ้าปรึกษากันเห็นว่า คงเป็นด้วยถูกผีแน็ตที่ดำรัสสั่งให้รื้อศาลกระทำร้าย ด้วยยังมิได้ไปเกิดใหม่ดังพระราชบริหาร จึงให้ทำศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้ามินดงก็หายประชวร..."

อ้างอิง

แก้
  1. https://www.silpa-mag.com/culture/article_33024
  2. Braun, Kelly (January 15, 2001). "Syncretism in Burma and Thailand". Axis Mundi, University of Alberta. สืบค้นเมื่อ 2008-09-15.
  3. Brac de la Perriere, Benedicte. "The Spirit-possession Cult in the Burmese Religion" (PDF). dhammaweb.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-09-14.
  4. Dr Sein Tu. "Traditional Myanmar Folk Beliefs and Forest and Wildlife Conservation". Perspective (January 1999). สืบค้นเมื่อ 2008-09-13.[ลิงก์เสีย]
  5. บุญยงค์ เกศเทศ. อรุณรุ่งฟ้าฉาน เล่าตำนานคนไท. กรุงเทพฯ:หลักพิมพ์, 2548. หน้า 76
  6. หน้า 94-105, นะ พลังศรัทธาของมวลชน โดย ยศธร ไตรยศ. นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิกฉบับภาษาไทย: ฉบับที่ 180 กรกฎาคม 2559
  7. "Spirit of Asia: ผีนะ". ไทยพีบีเอส. 22 June 2013. สืบค้นเมื่อ 4 July 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้