กะเทย ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า "คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย"[3] ส่วนความหมายทางแพทยศาสตร์ หมายถึง คนที่มีอวัยวะของทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในคน ๆ เดียวกัน ส่วนกะเทยที่มีจิตใจตรงข้ามกับเพศของตน ทางการแพทย์เรียกกลุ่มนี้ว่า "ลักเพศ"[4]

กะเทย
กะเทยบนเวทีการแสดงคาบาเร่ต์ที่พัทยา
กะเทยบนเวทีการแสดงคาบาเร่ต์ที่พัทยา
การออกเสียง[kàtʰɤːj]
ความหมายหญิงข้ามเพศ เพศกำกวม บุคคลรวมเพศ (androgyny) และชายรักร่วมเพศที่มีความเป็นหญิง (effeminacy)
ประเภทอัตลักษณ์แห่งเพศ (gender identity)
คำอื่น ๆ
คำพ้องความหมายLadyboy ผู้หญิงประเภทสอง เพศที่สาม สาวประเภทสอง
คำที่เกี่ยวข้องบักละ (Bakla) เคาะนีษ (Khanith) โกถี (Kothi (gender)) หิชรา ทูสปิริต (Two-spirit) หญิงข้ามเพศ อากาวาอีเน (Akava'ine)
ความถี่มากถึงร้อยละ 0.6 ของผู้ที่แพทย์กำหนดให้เป็นชายตอนเกิด (AMAB)[1]: 253 
ข้อมูลด้านกฎหมาย
การรับรองจำกัด[2]
การคุ้มครองจำกัด[2]

สรีรวิทยาของกะเทย

ในทางการแพทย์ หมายถึง คนที่มีอวัยวะของทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในคน ๆ เดียวกัน หรือมีอวัยวะเพศแบบก่ำกึ่งบอกไม่ได้แน่ว่าเป็นผู้หญิงหรือชาย หรือบางอวัยวะเป็นชาย บางอวัยวะเป็นหญิง ถ้ามีทั้งอวัยวะเพศหญิงและอวัยวะเพศชายอยู่ในคน ๆ เดียวกัน เรียกว่า "กะเทยแท้" (true hermaphrodite) แต่ถ้าอวัยวะเพศเป็นแบบครึ่งหญิงครึ่งชาย หรือบางอวัยวะเป็นหญิงบางอวัยวะเป็นชาย เรียกว่า "กะเทยเทียม"[4]

ส่วนกะเทยอีกประเภทที่เรียกว่า สาวประเภทสอง หรือศัพท์สแลงเรียกว่า ตุ๊ด[remark 1] ในทางการแพทย์ คนเหล่านี้ไม่ใช่กะเทย แต่เรียกว่า "ลักเพศ"[4] ก็คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการได้รับความตื่นเต้นหรือความสุขทางอารมณ์หรือทางเพศ โดยการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของเพศตรงข้าม ในขณะที่บางคนมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ[5] เช่น บุคคลเพศชายที่แสดงลักษณะและพฤติกรรมออกมาในลักษณะท่าทางใกล้เคียงกับลักษณะของเพศหญิง เขาสามารถมีกิจกรรมทางเพศกับเพศตรงกันข้ามได้ตามปกติ แต่จะต้องอาศัยเครื่องแต่งกายของเพศตรงข้ามเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นอารมณ์เพศ[5]

ในปัจจุบันคนทั่วไปนิยมเรียกกะเทยแท้กับลักเพศรวมกันว่า "กะเทย" กะเทยที่เป็นลักเพศโดยทั่วไปต้องการเป็นเพศหญิง ทั้งทางด้าน กาย วาจา และใจ ต้องการให้คนในสังคมปฏิบัติกับตนเองดังเช่นผู้หญิงคนหนึ่ง

ศัพท์ภาษาอังกฤษทางแพทยศาสตร์ กะเทย ใช้ว่า "hermaphrodite"

นิยาม

ในกฎหมายตราสามดวง บันทึกการเขียนไว้ว่า "กะเทย"[6] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 และ 2542 ว่ามาจากคำในภาษาอาหมว่า "เทย" ส่วนภาษาเขมรก็มีคำว่า ខ្ទើយ (ขฺเทิย) อ่านว่า ขฺเตย ใช้แทนความหมายเดียวกัน [7]

ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายไว้ใน สารานุกรมภาษาอีสาน ไทย อังกฤษ ไว้ว่า “คนสองเพศ ข้างขึ้นเพศชายปรากฏ พอถึงข้างแรมเพศชายหายไปเพศหญิงปรากฏ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต เรียก กะเทย คนเช่นนี้ทางพระศาสนาห้ามไม่ให้บวช ถ้าบวชจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์”

James Caswell (สมัยรัชกาลที่ 3) ระบุไว้ในพจนานุกรมคำไทยขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1846 หรือ พ.ศ. 2389 คำว่ากะเทย ไว้ว่า “กะเทยนั้น คือ บุทคลที่มีประเทษที่ลับเปนหญิงก็ใช่ เปนชายใช่นั้น เรียกว่า คนกะเทย” ส่วนหมอบรัดเลได้ให้คำนิยามไว้ว่า “คนไม่เปนเภษชาย, ไม่เปนเภษหญิง, มีแต่ทางปัศสาวะ”[8]

พะจะนะพาสาไท เขียนโดย บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ในปี พ.ศ. 2397 ระบุคำว่า กเทย ใช้แทนคำในภาษาอังกฤษว่า "Hermaphrodite"[9]

ชื่อเรียก

กะเทยไม่ใช่ เกย์ เพราะเกย์กับกะเทยมีรสนิยมและวิถีการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน คำว่ากะเทยในบางครั้งจะใช้คำเรียกว่า "เลดี้บอย" หรือ "เพศที่สาม" สำหรับบุคคลเพศชายที่แต่งตัวเป็นเพศหญิงในการแสดงในภาษาอังกฤษส่วนมากจะเรียกแดร็กควีน (drag queen) และในละครคาบุกิของญี่ปุ่นที่ห้ามผู้หญิงแสดง จะมีการให้ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิงแสดงแทน คำว่า กะเทย ยังเป็นศัพท์ทางชีววิทยาหมายถึง สัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน (hermaphrodite)

กะเทยบางส่วนจะนิยมผ่าตัด ในทางการแพทย์เรียกว่า เป็นการรักษาให้ร่างกายกับจิตใจตรงกันให้มากที่สุด โดยการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีลักษณะใกล้เคียงกับผู้หญิง ไม่ว่าจะด้วยความชอบเป็นส่วนตัว เพื่อประโยชน์ในการในทำงาน หรือเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งได้ราบรื่นขึ้น โดยการเสริมหน้าอก ผ่าตัดอวัยวะเพศ ผ่าตัดลูกกระเดือก รวมถึงผ่าตัดศัลยกรรมเพิ่มความงามต่าง ๆ กะเทยส่วนใหญ่จะทำงานในด้านการแสดงและความบันเทิง และความสวยงาม ตั้งแต่ ดาราภาพยนตร์ ช่างเสริมสวย ช่างแต่งหน้า นักแสดงคาบาเร่ต์ รวมไปถึงโสเภณี กะเทยที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Transsexual

กะเทยในศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธเรียกกะเทยว่า บัณเฑาะก์[10] ในพระวินัยปิฎกใช้คำนี้หมายถึงบุรุษที่พอใจมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษโดยมีความรู้สึกตนเหมือนเป็นสตรี[11] ในสมัยพุทธกาลได้มีกะเทยบวชเป็นภิกษุ แล้วไปชวนภิกษุสามเณรมีเพศสัมพันธ์ แต่ถูกภิกษุสามเณรเหล่านั้นขับไล่ ภิกษุกะเทยจึงไปชวนพวกคนเลี้ยงช้างและคนเลี้ยงม้ามีเพศสัมพันธ์ด้วย เมื่อคนเลี้ยงช้างคนเลี้ยงม้าเหล่านั้นมีเพศสัมพันธ์กับภิกษุกะเทยแล้วก็ไปโพนทะนาว่า ภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ถ้าไม่ใช่กะเทย ก็เคยมีเพศสัมพันธ์กับกะเทย ภิกษุได้ยินจึงนำเรื่องกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับสั่งมิให้อุปสมบทกะเทยอีก กะเทยที่อุปสมบทแล้วก็ให้สึกเสีย[12] กะเทยจึงเป็นบุคคลจำพวกแรกในบุคคล 11 จำพวกที่ไม่ทรงอนุญาตให้อุปสมบท[11]

ต่อมามีคัมภีร์สมันตปาสาทิกาซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 10 ได้ตีความกะเทยใหม่ โดยจำแนกกะเทยไว้ 5 ประเภท[13] ได้แก่

  1. อาสิตตบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่ใช้ปากอมองคชาตของผู้ชายเพื่อสำเร็จความใคร่
  2. อุสุยยบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่ดูการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลอื่นเพื่อสำเร็จความใคร่
  3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ หมายถึง ขันที
  4. ปักขบัณเฑาะก์ หมายถึง คนที่เป็นกะเทยเฉพาะข้างแรม
  5. นปุงสกบัณเฑาะก์ หมายถึง คนที่ไม่มีเพศ

สมันตปาสาทิการะบุว่าเฉพาะกะเทยสองประเภทแรกที่บวชได้ 3 ประเภทหลังห้ามบวช

กะเทยในประเทศไทย

กะเทยในประเทศไทยได้รับการยินยอมให้แสดงออกในสังคมไทย เห็นได้จากการออกตามสื่อต่าง ๆ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงการประกวดกะเทย แต่คนส่วนมากในสังคมดูแล้วมักคิดไปในทาง ตลก แปลก หรือน่ารังเกียจ แต่ก็มีไม่น้อยที่ชื่นชม ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากในหลายประเทศ ซึ่งมีการห้ามกะเทยมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม หลายบุคคลเชื่อว่าที่สังคมไทยยอมรับกะเทยได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของกะเทยที่โดดเด่น อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกัน ในสังคมระดับครอบครัว กะเทยไม่เป็นที่ยอมรับจากครอบครัว (โดยเฉพาะฝ่ายพ่อ) ผู้เป็นพ่อมักจะผิดหวัง และมีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับลูกชายที่เป็นกะเทย

ถึงแม้ว่า กะเทยจะเรียกตัวเองว่าเป็นเพศที่สาม แต่ในทางกฎหมายของหลายประเทศยังคงมีไว้กำหนดให้เป็นเพศชาย ถึงจะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงแล้ว แต่บางประเทศในโลกยังไม่สามารถขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจากชายเป็นหญิงได้ ทำให้ประสบปัญหาในการติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ

กะเทยในสื่อ

ภาพยนตร์ที่นักแสดงเป็นกะเทย หรือแสดงตัวละครให้เป็นกะเทย

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  1. คำว่า "ตุ๊ด" มาจากชื่อภาพยนตร์ "ทูทซี" (อังกฤษ: Tootsie, พ.ศ. 2525) กำกับโดย ซิดนีย์ พอลแลค นำแสดงโดย ดัสติน ฮอฟแมน นักแสดงชายแต่งชุดเป็นผู้หญิงและแสดงในบทบาทต่าง ๆ ส่วนมากคนมักจะเรียกตุ๊ดกะเทยสับสนกัน ตุ๊ด คือ คนที่มีพฤติกรรมคล้าย ๆ กับกะเทย แต่แตกต่างกันคือ ตุ๊ดจะไม่แต่งหญิง ในชีวิตประจำวัน จะแต่งตัวเป็นเพศหญิงก็ต่อเมื่อบางโอกาส

อ้างอิง

  1. Winter, Sam (2011). "Transpeople (Khon kham-phet) in Thailand: Transprejudice, Exclusion, and the Presumption of Mental Illness". ใน Jackson, Peter A. (บ.ก.). Queer Bangkok: 21st Century Markets, Media, and Rights (PDF). Queer Asia. Hong Kong University Press. pp. 251–268. JSTOR j.ctt1xwdfx.18. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2022.
  2. 2.0 2.1 "ประเทศไทย: คนข้ามเพศถูกปฏิเสธสิทธิอันเท่าเทียม". ฮิวแมนไรตส์วอตช์. กรุงเทพฯ. 16 ธันวาคม 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 93
  4. 4.0 4.1 4.2 นพ. วิจารณ์ พานิช (พฤศจิกายน 1981). "กะเทยก็เป็นกรรมพันธุ์ (ตอนที่ 1)". พันธุ์ดี..พันธุ์ศาสตร์ในชีวิตประจำวัน. หมอชาวบ้าน. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012. (ไทย)
  5. 5.0 5.1 orusawakai (5 ตุลาคม 2009). "ลักเพศ ไม่รู้ต้องอ่าน". hunsa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012. (ไทย)
  6. chonlada inkasa, "เรื่องทอม", blogger.com, april 8, 2017
  7. Khmer Online Dictionary: ខ្ទើយ
  8. กะเทย / บั๊ณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ เก็บถาวร 2008-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน gotoknow.org
  9. ปาลเลอกัวร์, พะจะนะพาสาไท (พระนคร : ม.ป.ท., 2397)
  10. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 662
  11. 11.0 11.1 สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2550, หน้า 224
  12. เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท, พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวรรค ภาค 1
  13. เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท, สมันตปาสาทิกา อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ

แหล่งข้อมูลอื่น