เจดีย์ชเวซี่โกน

เจดีย์ชเวซี่โกน, เจดีย์ชเวซี่โคน หรือ เจดีย์ชเวสิกอง (พม่า: ရွှေစည်းခုံ စေတီတော်) เป็นวัดในเมืองญองอู้ ใกล้พุกามในพม่า เป็นต้นแบบเจดีย์แบบพม่า การก่อสร้างเจดีย์ชเวซี่โกน เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. 1587–1620) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรพุกามใน พ.ศ. 1602–1603 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 1645 ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาพระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมากและได้รับการบูรณะใหม่หลายครั้ง ในการบูรณะเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการบูรณะโดยใช้แผ่นทองแดงกว่า 30,000 แผ่น อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม

เจดีย์ชเวซี่โกน
ရွှေစည်းခုံ စေတီတော်
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งญองอู้ ภาคมัณฑะเลย์ พม่า
เจดีย์ชเวซี่โกนตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เจดีย์ชเวซี่โกน
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์21°11′43″N 94°53′38″E / 21.19528°N 94.89389°E / 21.19528; 94.89389
สถาปัตยกรรม
ผู้ก่อตั้งพระเจ้าอโนรธามังช่อ และ พระเจ้าจานซิต้า
เริ่มก่อตั้งคริสต์ศตวรรษที่ 11
เสร็จสมบูรณ์คริสต์ศตวรรษที่ 12
ความสูงสูงสุด48.8 เมตร (160 ฟุต)

เชื่อกันว่าเจดีย์ชเวซี่โกนเป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและพระทันตธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจดีย์มีรูปทรงระฆังคว่ำมีการปิดประดับทองคำเปลว ฐานเจดีย์มีหลายชั้น เจดีย์เป็นทรงตัน ฐานระเบียงเจดีย์มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้นเล่าเรื่องในนิทานชาดก ที่ทางเข้าของเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถาน บริเวณโดยรอบล้อมด้วยวิหารและศาลเจ้าขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สี่องค์ของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ทั้งสี่ทิศ ที่ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนะ 37 ตน โดยมีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นหัวหน้านะ สร้างจากไม้แกะสลักอย่างประณีตตามแบบศิลปะพม่า บริเวณเจดีย์ชเวซี่โกนยังมีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานซิต้า

ที่ตั้ง

แก้

เจดีย์ชเวซี่โกนตั้งอยู่ใกล้กับเมืองพุกาม (หรือรู้จักในสมญานามว่า "ดินแดนแห่งเจดีย์พันองค์")[1] บนที่ราบชเวซี่โกน เมืองญองอู้[2]

ประวัติ

แก้
 
เจดีย์ชเวซี่โกนในปี พ.ศ. 2398

พงศาวดารพม่าบันทึกว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อ (ได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากพระสงฆ์ชาวมอญสมัยอาณาจักรสุธรรมวดี)[2] ได้ริเริ่มการก่อสร้างพระเจดีย์ระหว่าง พ.ศ. 1602–1603 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตด้วยอุบัติเหตุระหว่างออกล่าสัตว์ เนื่องจากถูกกระบือเผือกขวิด ใน พ.ศ. 1620[3][4]: 151, 156 [5][6] โดยอ้างอิงตามพงศาวดารของพระองค์ จุดที่สร้างพระเจดีย์เกิดจากช้างเผือกเสี่ยงทายของพระองค์อัญเชิญพระอุณหิสธาตุ (กระดูกหน้าผาก) ของพระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า ถ้าช้างเผือกหยุดเดินลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น ช้างเผือกของพระองค์เดินมาหยุดอยู่ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี พระองค์จึงดำริให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่ตรงนั้น ดังนั้นชื่อเจดีย์ชเวซี่โกน จึงหมายถึง "เจดีย์ทองบนพื้นทราย" ในภาษาพม่า[1][7]

พระเจดีย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า (พ.ศ. 1627–1655) ขณะที่ฐานระเบียงเจดีย์ด้านล่างถูกสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ส่วนโครงสร้างที่เหลือถูกสร้างในสมัยพระเจ้าจานซิต้า การก่อสร้างเสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 1629 และพระพุทธรูปสี่องค์ในระดับพื้นดินรอบพระเจดีย์เชื่อว่าถูกสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน[3][6] พระเจดีย์เป็นแบบจำลองของพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย[8]

พระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ได้รับการบูรณะใหม่เป็นครั้งคราว และได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2094–2124) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 26 ใน พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพุกาม ยอดฉัตรและองค์เจดีย์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องบูรณะครั้งใหญ่ ปัจจุบันการบริจาคเพื่อบูรณะเจดีย์ได้รับแรงศรัทธาอย่างมาก โดยมีแผ่นทองแดงมากกว่า 30,000 แผ่นซึ่งได้รับบริจาคจากผู้ศรัทธาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปิดทองขององค์เจดีย์เสร็จสิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2526–2527 และอีกครั้งในช่วงเวลาเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม[5]

รูปแบบ

แก้

เจดีย์ชเวซี่โกนเป็นต้นแบบของเจดีย์แบบพม่า[4] เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ[8] โดยดัดแปลงมาจากทรงเจดีย์ของชาวมอญ[9][5] ซึ่งกลายเป็นคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมต้นแบบของเจดีย์หลายแห่งที่สร้างขึ้นในพม่า[2] มีบันได, ประตู, และยอดฉัตรขนาดใหญ่ประดับอัญมณี[2][5][8] พระสารีริกธาตุ ที่เชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์คือพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) พระอุณหิสธาตุ (กระดูกหน้าผาก) จากแปร และพระทันตธาตุ จากประเทศศรีลังกา[10] ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนะ 37 ตน โดยมีท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของอินเดียที่มีอาวุธเป็นสายฟ้า[11] เป็นหัวหน้านะสร้างจากไม้แกะสลักอย่างประณีตตามแบบศิลปะพม่า ซึ่งเชื่อว่าเก่าแก่กว่า 900 ปี ศาลนะ 37 ตนได้รับการสร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสารีริกธาตุ[10]

พระเจดีย์มีฐานระเบียงเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรงตัน ความสูงถูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานถึงยอดฉัตร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจากฐานถึงปลายยอดมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ฐานระเบียงเจดีย์ทั้งสี่ทิศมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เพื่อให้ผู้ศรัทธานมัสการ ฐานระเบียงเจดีย์เหล่านี้มีการประดับเล่าเหตุการณ์ชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและเรื่องราวในพุทธศาสนา การตกแต่งภายในแม้ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงตันแต่มีทางขึ้นที่เชื่อมต่อกัน รอบพระเจดีย์มีทางเดินแคบ ๆ ที่ปูด้วยแผ่นกระเบื้องซึ่งได้จากผู้ศรัทธาในการบริจาคเงินและอธิษฐานขอพร[7]

 
เครื่องตกแต่งภายนอก

ที่ทางเข้าพระเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถานที่เรียกว่า ชินเต ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายสิงโตขนาดใหญ่[12] ทางเข้าสู่พระเจดีย์ทั้งสี่ทางมีทางใต้และทางตะวันตกเท่านั้นที่มีการเปิดใช้งาน มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้น 550 แผ่นซึ่งเล่าเรื่องในนิทานชาดกประดับบนฐานระเบียงสามชั้นของเจดีย์ โดยก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 584 แผ่นซึ่งบางส่วนได้สูญหาย ฐานเจดีย์มีสี่ชั้นบนสุดเป็นชั้นแปดเหลี่ยมรองรับองค์เจดีย์ ที่มุมระเบียงฐานเจดีย์บนสุดทั้งสี่ด้านมีการจำลององค์เจดีย์ขนาดเล็กเอาไว้ตามมุม ด้านล่างของฐานเจดีย์มีบาตรจำลอง แจกันสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลวและมีดอกไม้สัมฤทธิ์ประดับโดยรอบ บริเวณรอบนอกของพระเจดีย์มีวิหารและศาลาไม้ตกแต่งตามแบบศิลปะพม่า[13]

ที่ระดับพื้นดินมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าสี่รูปที่มีความสูง 12 ถึง 13 ฟุต (3.7 ถึง 4.0 เมตร)[3] ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าสี่องค์ในภัทรกัปนี้ ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศของวัด พระกกุสันธพุทธเจ้าอยู่ทางทิศเหนือ พระโกนาคมนพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศตะวันออก พระกัสสปพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศใต้ และพระโคตมพุทธเจ้าที่กำแพงด้านทิศตะวันตก พระพุทธรูปเหล่านี้ทั้งหมดถูกสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์[11] ด้านล่างพระพุทธรูปพระกัสสปพุทธเจ้า มีร่องรอยการแกะสลักอย่างประณีตบนแผ่นหินทราย[3] แผ่นหินเหล่านี้ถูกแกะสลักเป็น "ใบโพธิ์" ขนาดใหญ่[14] ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์มงคล ยังมีจิตรกรรมฝาผนังตามทางเดิน เพื่อทำให้ผู้เยี่ยมชมประทับใจในการเดินเข้าไปยังพระพุทธรูป[3]

ด้านนอกของกำแพงที่ล้อมรอบเจดีย์ชเวซี่โกน มีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานซิต้า[15]

ความเชื่อ

แก้
 
ความเชื่อ 9 ประการของเจดีย์ชเวซี่โกน

ความเชื่อ 9 ประการของเจดีย์ชเวซี่โกน

  • ยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม
  • กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระเจดีย์ จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์
  • เงาพระเจดีย์จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไป ถือว่าเป็นลางร้าย)
  • ภายในเขตองค์พระเจดีย์ สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัดจำนวน (ไม่เคยเต็ม)
  • มีการให้ทานด้วยข้าวสุกร้อน ๆ ทุกเช้า (ไม่ว่าเราจะตื่นเช้าสักเพียงใด จะพบข้าวสุกในบาตรอยู่ก่อนหน้าเราเสมอ)
  • เมื่อตีกลองใบใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม
  • แม้พระเจดีย์จะตั้งอยู่บนพื่นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอก จะเกิดภาพลวงตาคล้ายพระเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง
  • ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในอาณาเขตขององค์พระเจดีย์
  • มีต้นพิกุล ซึ่งจะออกดอกตลอดทั้งปี (ปรกติจะออกปีละครั้ง)

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 SK 2011, p. 147.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "Shwezigon Pagoda at Pagan". British Library On Line gallery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Gärtner 1994, p. 286.
  4. 4.0 4.1 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Shwezigon Paya Temple (built late 11th century)". Asian Historical Architecture. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
  6. 7.0 7.1 Jarzombek & Prakash 2011, p. 91.
  7. 8.0 8.1 8.2 "Pagan (Myanmar)". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
  8. Encyclopædia Britannica 2008, p. 835.
  9. 10.0 10.1 Harvey 2000, p. 33.
  10. 11.0 11.1 Köllner & Bruns 1998, p. 124.
  11. "No. 24. Pugahm Myo [Pagan]: Entrance to the Shwe Zeegong Pagoda". British Library On Line gallery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2015.
  12. Köllner & Bruns 1998, p. 123.
  13. Gärtner 1994, p. 279.
  14. "History of Shwezigon Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2015.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้