วัดราชพลี

วัดร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดราชพลี เป็นวัดโบราณประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกนอกเกาะเมืองอยุธยา อยู่ทางใต้ของวัดกษัตราธิราชวรวิหาร อาจจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นแต่ไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้สร้าง ซึ่งวัดราชพลีได้ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) สรุปใจความได้ว่า ในช่วงเดือน 5 แรม 14 ค่ำ ระหว่างสงครามพระเจ้าอลองพญา กองทัพพม่าได้ใช้วัดราชพลีและวัดกษัตราธิราชเป็นค่ายและเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ยิงถล่มเข้าไปในพระนคร ในครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวซึ่งหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ทรงช้างต้นชื่อ พลายแสนพลพ่าย เสด็จมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เองที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ซึ่งคาดว่าทางฝ่ายอยุธยาได้วางกำลังไว้อย่างหนาแน่นตรงบริเวณนี้

วัดราชพลี
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

แต่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน รวมถึงพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระในสมัยหลัง ได้ระบุชื่อวัดราชพลี และวัดกษัตราธิราช ผิดเป็น วัดราชพฤกษ์ และ วัดกระษัตราวาศ สำหรับทัพพม่าที่ตั้งอยู่ ณ วัดราชพลี และวัดกษัตราธิราช น่าจะเป็นทัพเดียวกันกับที่บุกลงไปตีท้ายคูด้านทิศใต้ของพระนคร หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนคือในเดือน 6 กองกำลังพม่าที่ตั้งอยู่ที่วัดราชพลีและวัดกษัตราธิราชได้ถอนกำลังข้ามฟากไปตั้งค่ายอยู่ข้างวัดภูเขาทองที่อยู่ทางเหนือ ก่อนจะไปรวมตัวกันอยู่ที่ค่ายวัดหน้าพระเมรุ ทางเหนือของพระนครซึ่งเป็นค่ายใหญ่ที่พระเจ้าอลองพญาประทับอยู่และระดมยิงใส่พระนครต่อไป

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเมื่อปี 2310 วัดราชพลีก็ถูกทิ้งร้างขณะที่วัดกษัตราธิราชได้รับการบูรณะจนกลับมาสวยงาม ซึ่งโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่ของวัดราชพลีคือ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พระพุทธรูปหินทรายแดงที่เหลือเพียงลำตัว 2 องค์และท่อนแขนส่วนบนของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 1 ท่อน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนปูนปั้นลวดลายประดับปรางค์ อันเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระปรางค์ และท่อนชิ้นส่วนพระพุทธรูปท่อนลำตัวถึงหน้าตักที่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์อีกหนึ่งชิ้นอยู่ตรงเนินโบราณสถาน[1]

อ้างอิง แก้