มังฆ้องนรธา (พม่า: မင်းခေါင် နော်ရထာ, ออกเสียง: [mɪ́ɰ̃.ɡàʊɰ̃ nɔ̀.jə.tʰà]; ประมาณ ค.ศ. 1714 - 5 ธันวาคม ค.ศ. 1760[1]) เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพพม่าแห่งราชวงศ์โก้นบองสมัยพระเจ้าอลองพญา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คุมทหารกองหลังในสงครามพระเจ้าอลองพญา ขณะที่กองทัพพม่าเร่งรุดเดินทางเพื่อนำพระบรมศพพระเจ้าอลองพญากลับประเทศ แม่ทัพคนดังกล่าว ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากทหารใต้บังคับบัญชา ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้ามังลอก พระมหากษัตริย์พระองค์ถัดจากพระเจ้าอลองพญา เชื่อกันว่าถูกประหารชีวิตโดยพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ผู้ซึ่งมีประวัติปฏิปักษ์ต่อกันมานาน แม่ทัพกบฏผู้นี้ได้ยึดอังวะได้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1760 และสามารถต้านทานการล้อมได้นานกว่าห้าเดือน ถูกสังหารโดยกระสุนปืนคาบศิลาขณะกำลังหลบหนีออกจากเมืองในเดือนธันวาคม[1][2] พระเจ้ามังลอกซึ่งทรงสำนึกผิดมีบันทึกไว้ว่าได้ทรงเศร้าโศกกับข่าวการเสียชีวิตของศัตรูและเพื่อนผู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระราชบิดา[3]

มังฆ้องนรธา
မင်းခေါင် နော်ရထာ
เกิดประมาณ ค.ศ. 1714
มุกโซโบ
เสียชีวิต5 ธันวาคม ค.ศ. 1760[1]
ใกล้ เจาะแซ
รับใช้ราชวงศ์โก้นบอง
แผนก/สังกัดกองทัพหลวงพม่า
ประจำการเมษายน 1752 – มิถุนายน 1760
ชั้นยศแม่ทัพระดับสูง (1752–1760)
การยุทธ์สงครามโก้นบอง-หงสาวดี
สงครามพม่า-มณีปุระ (ค.ศ. 1758)
สงครามพระเจ้าอลองพญา

ชีวิตช่วงต้น แก้

มังฆ้องนรธาเดิมชื่อว่า หม่องตุง อาศัยในหมู่บ้านเขตพม่าตอนบนชื่อว่า มุกโซโบ (ปัจจุบัน คือ ชเวโบ) เป็นเพื่อนในวัยเยาว์ของ อองไจยะ ลูกชายหัวหน้าหมู่บ้านมุตโชโบ ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าอลองพญา[4]

ราชการทหาร แก้

ค.ศ. 1752 อองไจยะ รวบรวมผู้คนเข้ารบกับกองกำลังของอาณาจักรหงสาวดีทางใต้ ซึ่งได้โค่นล้มราชวงศ์ตองอูได้สำเร็จ อองไจยะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงตั้งพระนามแก่ตนเองว่า "อลองพญา" (พระโพธิสัตว์) มังฆ้องนรธาได้ติดตามร่วมรบในการทำสงครามของพระเจ้าอลองพญา และสามารถได้รับยศตำแหน่งตามลำดับ เป็นผู้นำหนึ่งในกองทัพพม่าระหว่างการรบกับมณีปุระในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งส่งผลทำให้มณีปุระเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรโก้นบอง[5]

มังฆ้องนรธาเป็นหนึ่งในแม่ทัพระดับสูงในการรุกรานอาณาจักรอยุธยาในปี ค.ศ. 1759 โดยเป็นผู้นำกองทัพหนึ่งในสามซึ่งมาบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1760 ฝ่ายพม่าจวนได้ชัยชนะ แต่พระเจ้าอลองพญาทรงพระประชวรจากโรคบิดเสียก่อน[6]

พระเจ้าอลองพญาทรงเจาะจงเลือกพระสหายในวัยเยาว์คนนี้เป็นผู้บัญชาการทหารกองหลัง ซึ่งเป็นสุดยอดของกองทัพ ประกอบด้วยทหารม้า 500 นาย และทหารเดินเท้า 6,000 นาย ทั้งหมดมีปืนคาบศิลา[4] เขาสั่งให้ทหารเหล่านี้เดินทัพออกไป และอีกสองวันต่อมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาทราบว่าทัพหลวงพม่าได้ยกกลับไปแล้ว จึงได้ส่งกองทัพออกไล่ติดตาม ทหารของเขาเฝ้ามองวงล้อมที่ค่อย ๆ บีบเข้ามา โดยกลัวว่าจะถูกตัดออกจากส่วนที่เหลือของกองทัพ จึงร้องขอให้ถอยทัพเร็วมากกว่านี้ แต่เขากล่าวว่า "สหาย ความปลอดภัยของพระเจ้าอยู่หัวของเราอยู่ในการรักษาของพวกเรา ขอพวกเราอย่าถอยเร็วไปมากกว่านี้ด้วยเสียงของปืนจะรบกวนการบรรทมของพระองค์ท่าน" และด้วยความเป็นผู้นำนี้เอง ทำให้กองทัพพม่าสามารถล่าถอยได้อย่างเป็นระเบียบ และสามารถรวบรวมผู้ที่พลัดหลงไปได้ตลอดทาง[4]

ก่อกบฏ แก้

พระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1760 และพระราชโอรส พระเจ้ามังลอก ทรงได้สืบราชบัลลังก์ต่อ พระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าอลองพญา เจ้าชายมังระ ได้ทรงพยายามที่จะแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้ามังลอกทรงให้อภัยต่อพระอนุชาด้วยการร้องขอจากพระราชมารดา แต่พระองค์ก็ทรงเกรงว่ากบฏอื่น ๆ จะตามมาอีก พระองค์ทรงเรียกแม่ทัพสองคนที่พระองค์ไม่ทรงชอบมาเข้าเฝ้าเนื่องจากสงสัยว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนพระเจ้ามังระอย่างออกนอกหน้า โดยที่แม่ทัพทั้งสองไม่ได้สงสัยอะไร พระองค์ได้ทรงประหารชีวิตแม่ทัพทั้งคู่โดยไม่เปิดโอกาสให้ทั้งสองเห็นพระองค์เลย ทำให้ทางกองทัพโกรธมาก[7]

มังฆ้องนรธาเองก็รู้สึกกังวลใจเช่นกันเนื่องจากเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยกย่องในความสามารถของพระเจ้ามังระ โดยมักจะได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ติดตามพระเจ้ามังระเป็นกองหน้าในแทบทุกสงคราม รวมไปถึงความเป็นปฏิปักษ์เก่า ๆ ระหว่างเขากับพระเจ้ามังลอก เขาจึงชะลอการเคลื่อนทัพของทัพหลังกลับไปยังชเวโบอย่างรอบคอบ หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้ามังลอกได้มีพระบรมราชโองการจับกุมตัวเขา ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าชายมังระก็ตามที แต่มังฆ้องนรธาก็รู้สึกมั่นใจว่าเขาจะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งแม่ทัพ และอาจจะถูกประหารชีวิตด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เขาจึงก่อกบฏ ขัดขืนพระบรมราชโองการของพระเจ้ามังลอก แม้ว่าจะยังไม่มีแผนการที่แน่ชัดใดๆ เลยก็ตาม[2]

กองทัพของเขายึดครองอังวะเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1760[1] ทหารของเขาสามารถขับไล่การโจมตีของทัพพระเจ้ามังลอกได้ทุกครั้ง จนกระทั่งเดือนธันวาคม เมืองเริ่มเกิดการขาดแคลนอาหาร เขาเห็นว่าการยอมจำนนนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มังฆ้องนรธาและกลุ่มผู้ติดตามที่จงรักภักดีกลุ่มหนึ่งได้หลบหนีออกจากเมือง ซึ่งก็ถูกส่งกองทัพออกติดตามมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่เขายังคงได้รับความจงรักภักดีในหมู่ทหารที่ทำให้ฝ่ายติดตามนั้นต้องล่าถอยกลับไป ในแถบลาดเขาในรัฐฉานเหนือกย็อกเซ เขาถูกยิงด้วยปืนคาบศิลา แต่ถึงกระนั้น เขากลับมีพละกำลังเอาชนะศัตรูที่มาจับตัวเขาไว้ และจำต้องถูกปลิดชีวิตโดยการยิงนัดที่สอง ซึ่งเป็นจุดจบชีวิตของสหายร่วมรบของพระเจ้าอลองพญา[3]

มังฆ้องนรธาได้รับความเคารพนับถือแม้กระทั่งจากศัตรู พระเจ้ามังลอก เมื่อศพของเขาถูกนำมาเบื้องหน้าพระองค์ พระเจ้ามังลอกก็ทรงโศกเศร้า และกล่าวว่า "ควรแล้วหรือที่พวกเจ้าจะสังหารชายผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้"[3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. pp. 184–185.
  2. 2.0 2.1 Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press. pp. 171–172.
  3. 3.0 3.1 3.2 Harvey, pp. 246-247
  4. 4.0 4.1 4.2 Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd. p. 242.
  5. Letwe Nawrahta and Twinthin Taikwun (circa 1770). Hla Thamein (บ.ก.). Alaungpaya Ayedawbon (ภาษาพม่า) (1961 ed.). Ministry of Culture, Union of Burma. pp. 224–226. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  6. James, Helen (2004). "Burma-Siam Wars". ใน Keat Gin Ooi (บ.ก.). Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, Volume 2. ABC-CLIO. p. 302. ISBN 1576077705.
  7. Harvey, p. 244