วัดหัสดาวาส

วัดร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดหัสดาวาส หรือ วัดช้าง เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา ถัดจากวัดหน้าพระเมรุ [เดิมเรียกวัด เมรุราชิการาม หรือ วัดที่ใช้ทำพระเมรุมาศ สำหรับพระราชา หรือ พระราชินี] ไปทางทิศตะวันออก เดิมเคยมีทางเดินติดต่อถึงกัน ในพงศาวดาร ฉบับกรมราชบัณฑิต พ.ศ. 2455 ที่แก้ไขจากฉบับหมอบรัดเลย์ และ ฉบับสมุดไทย เขียนว่า วัดหัษฏาวาส วัดหัสดาวาส [น่าจะมาจากคำสนธิ หัตถึ+อาวาส = หัตาวาส หรือ วัดช้าง แต่ ด และ ต ใช้แทนกันได้ นานๆ ไปจึงกลายเป็น หัสดาวาส]

วัดหัสดาวาส
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดหัสดาวาสเป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับวัดหน้าพระเมรุ ในฐานะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อ พ.ศ. 2092[1]

หลังจากนั้นมีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารอีกว่า ใน พ.ศ. 2303 ทัพพม่าที่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งปืนใหญ่ยิงพระราชวังที่วัดพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง วัดท่าช้างที่กล่าวถึงนี้ คงจะได้แก่ วัดหัสดาวาสนั่นเอง เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่อเนื่องกับวัดหน้าพระเมรุ และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดช้าง

ไม่มีหลักฐานระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นแต่เมื่อใด หากยึดถือเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดาร ซึ่งกล่าวชื่อวัดนี้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็อาจกล่าวได้ว่า คงจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ก่อนรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นอย่างช้า สภาพของวัดในปัจจุบันคงเหลือสิ่งก่อสร้างที่ยังคงสภาพอยู่น้อย ในจำนวนนั้นมีเจดีย์ 1 องค์ ซึ่งอาจกำหนดอายุให้อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นยุคที่ 2 นับแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา นับว่าค่อนข้างจะสอดคล้องกันกับหลักฐานการกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร

วัดหัสดาวาสคงจะร้างมาตั้งแต่คราวเสียกรุง และสภาพคงจะเสียหายมากจนยากที่จะทำการบูรณปฏิสังขรณ์ เพราะมิฉะนั้นเมื่อพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในรัชกาลที่ 3 มาทำการปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุซึ่งตั้งอยู่ติดกัน ก็น่าจะได้สงเคราะห์ทำการปฏิสังขรณ์วัดนี้เสียด้วยแล้ว แต่กระนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำการสำรวจทำผังวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2500 วัดนี้ก็ยังมีซากปรักหักพังของเจดีย์ขนาดเล็ก นอกเหนือเจดีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่อีก 4 องค์ (รวมเป็นเจดีย์ 6 องค์) และซากมณฑปอีก 2 องค์

สิ่งก่อสร้าง แก้

เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ขนาดค่อนข้างใหญ่ทรงกลมหรือที่มักเรียกกันว่า ทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดเจดีย์ทรงลังกาไว้ในกลุ่มของเจดีย์ที่ นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยายุคที่ 2 คือ ช่วงเวลานับแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์ที่พิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2006 ลงมาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อย่างไรก็ดีเจดีย์ทรงลังหาหรือทรงกลมก็มีที่สร้างกันในสมัยอยุธยายุคที่ 1 ด้วย

ฐานเจดีย์องค์นี้เป็นฐานประทักษิณ ซึ่งหมายถึงฐานที่มีพื้นที่เป็นลานให้เดินเวียนประทักษิณ คือเดินเวียนขวานมัสการพระเจดีย์ 1 แต่สำหรับเจดีย์องค์นี้คงไม่ได้ตั้งใจสร้างให้เป็นที่เดินเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ตามความหมายที่แท้จริง เพราะมีเนื้อที่แคบฐานประทักษิณนี้เดิมมีลูกกรงรอบ 2 แต่ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว

เจดีย์แปดเหลี่ยม ถัดจากเจดีย์ประธานไปทางทิศตะวันตก มีเจดีย์อีก 1 องค์ สภาพชำรุดยอดหักเป็นโพรงเหลือแต่แกนอิฐ แต่ยังพอมองเห็นลักษณะได้คร่าวๆ ว่าเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ได้กล่าวถึงลักษณะของเจดีย์องค์ไว้ในหนังสือชื่อ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” พอสรุปได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงสูง องค์เจดีย์แปดเหลี่ยม บัลลังก์แปดเหลี่ยม มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดับล้อมรอบบัลลังก์ประทับในซุ้มเรือนแก้ว จำนวนทั้งหมด 16 องค์

เนินวิหาร ระหว่างเจดีย์ทั้งสององค์นี้ มีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นเนินดินฐานวิหารซึ่งพังทลายหมดสภาพไปแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. "วัดหัสดาวาส". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.