กฎอัยการศึก
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง (พฤษภาคม 2023) |
กฎอัยการศึก (อังกฤษ: martial law) เป็นกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง โดยเฉพาะในดินแดนที่มีกองกำลังพลเรือนล้นหลาม หรือในดินแดนที่ถูกยึดครอง[1][2]
การใช้งาน
แก้กฎอัยการศึกมักกำหนดเป็นการชั่วคราวเมื่อรัฐบาลหรือข้าราชการพลเรือนไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง หรือให้บริการที่สำคัญ ในกฎอัยการศึกเต็มขั้น นายทหารยศสูงสุดจะยึด หรือได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้ว่าการทหารหรือเป็นหัวหน้ารัฐบาล ฉะนั้น จึงเป็นการถอดอำนาจทั้งหมดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการของรัฐบาล
กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาปกติ แต่ไม่ได้ใช้บังคับ โดยเมื่อจะใช้บังคับจะต้องประกาศ และกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้บังคับ ในหลายประเทศจะไม่มีการตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในบางประเทศจะตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น ฝรั่งเศส ไทย
รัฐบาลอาจใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสาธารณะ เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร (เช่น ประเทศไทยในพ.ศ. 2549) เมื่อถูกการประท้วงของประชาชนคุกคาม (เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในประเทศจีน พ.ศ. 2532) เพื่อปราบปรามคู่แข่งทางการเมือง (เช่น ประเทศโปแลนด์ในปี พ.ศ. 2524) หรือเพื่อกำราบการก่อการกบฏ (เช่น วิกฤตการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ในประเทศแคนาดา) อาจมีประกาศกฎอัยการศึกในกรณีภัยพิบัติธรรมชาติใหญ่ ทว่า ประเทศส่วนมากประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแทน
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกฎอัยการศึกระหว่างความขัดแย้งหรือในกรณีการยึดครอง เมื่อไม่มีการจัดรัฐบาลพลเรือนอื่นใดให้กับประชากรที่ไม่มีเสถียรภาพ ตัวอย่างเช่น การบูรณะประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดจนการบูรณะตอนใต้หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา
ตามแบบ การกำหนดกฎอัยการศึกจะประกอบกับการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืน การระงับกฎหมายแพ่ง สิทธิพลเมือง หมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล และการใช้หรือขยายกฎหมายทหารหรือการศาลทหารกับพลเรือน
ในประเทศไทย
แก้กฎอัยการศึกของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 126) เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. ๑๒๖ มีทั้งสิ้น 8 มาตรา [3] โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในสมัยนั้นจะประกาศเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 133) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. ๑๒๖ นั้นยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. ๑๒๖ และตราพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ในชื่อว่า กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗[4] ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง
อย่างไรก็ดี การยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ใด จะต้องประกาศออกมาเป็นพระบรมราชโองการ
การประกาศใช้กฎอัยการศึก
แก้จากการศึกษาข้อมูลทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวน ๑๔ ครั้ง ดังนี้[5]
สมัยราชอาณาจักรสยาม ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
ครั้งที่ ๑ ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ (จังหวัดใน มณฑลกรุงเทพและมณฑลอยุธยา ในขณะนั้น คือจังหวัดทางภาคกลางในปัจจุบัน ยกเว้นภาคกลางตอนบนหรือภาคเหนือตอนล่าง) เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช (ระยะเวลาที่ใช้ ๑๒ ตุลาคม ถึง ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖)
สมัยราชอาณาจักรไทย
ครั้งที่ ๒ พระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ๒๔ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ เลย ชัยภูมิ อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๔ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามอินโดจีน (ระยะเวลาที่ใช้ ๗ มกราคม ถึง ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔)
ครั้งที่ ๓ พระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามเอเชียบูรพาในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (ระยะเวลาที่ใช้ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙)
ครั้งที่ ๔ พระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๔ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (ระยะเวลาที่ใช้ ๓๐ มิถุนายน ถึง ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔)
ครั้งที่ ๕ พระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ระยะเวลาที่ใช้ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๐ '๔๖ จังหวัด' และ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑'ทั่วราชอาณาจักร')
ครั้งที่ ๖ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น (ระยะเวลาที่ใช้ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒)
ครั้งที่ ๗ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง (ระยะเวลาที่ใช้ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ถึง ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)
ครั้งที่ ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (เริ่มใช้ตั้งแต่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จนถึงการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๒๐)
ครั้งที่ ๙ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒ ให้คงใช้กฎอัยการศึกตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑ อยู่ต่อไป เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาลในขณะนั้น (เริ่มใช้จากรัฐประหารวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐)
ครั้งที่ ๑๐ ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ระยะเวลาที่ใช้ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึง ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ยกเว้นอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใช้จนถึง ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘,อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ใช้จนถึง ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ใช้จนถึง ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ส่วนอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)
ครั้งที่ ๑๑ ประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอยี่งอ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดปัตตานี เฉพาะอำเภอกะพ้อ และจังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอรามัน เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ (ระยะเวลาที่ใช้ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)
ครั้งที่ ๑๒ ประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส อำเภอเมือง อำเภอควนโดน อำเภอละงู อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล อำเภอเมือง อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอยะรัง อำเภอแม่ลาน อำเภอสายบุรี อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอไม้แก่น และอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง และกิ่งอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗ (ระยะเวลาที่ใช้ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)
ครั้งที่ ๑๓ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหารรัฐบาล พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ระยะเวลาที่ใช้ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙'๓๕ จังหวัด' ที่เหลือเป็นวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑)
ครั้งที่ ๑๔ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดำเนินการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ (ระยะเวลาที่ใช้ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘)
สถิติน่ารู้ในการใช้กฎอัยการศึก
แก้สถิติที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
การประกาศใช้ตามพื้นที่
พื้นที่ที่ใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดของประเทศไทยคือ จังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอสะเดา โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนานถึง 24 ปี 1 เดือน 8 วัน (ส่วนอำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2543)[6]
รองลงมาคือ จังหวัดและอำเภอที่มีการประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นระยะเวลา 14 ปี 4 เดือน 26 วัน ดังต่อไปนี้
จังหวัดนราธิวาส เฉพาะอำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน
(จ.นราธิวาส เฉพาะอำเภอเจาะไอร้อง ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
(จ.นราธิวาส เฉพาะอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอยี่งอ และอำเภอสุไหงโกลก ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
จังหวัดยะลา เฉพาะอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา
(จ.ยะลา เฉพาะอำเภอกาบัง ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
(จ.ยะลา เฉพาะอำเภอรามัน ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
(จ.ยะลา เฉพาะอำเภอเมือง และกิ่งอำเภอกรงปินัง ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
โดยในพื้นที่จัดเรียงตามลำดับตามระยะเวลานี้
- อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนานถึง 24 ปี 1 เดือน 8 วัน
- อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นระยะเวลา 14 ปี 4 เดือน 26 วัน
- อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2543
- อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
- อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอยี่งอ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
- อำเภอเมืองยะลา และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
การประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร
ครั้งที่ยาวนานที่สุดคือการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 20.45 ถึง วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรยาวนานที่สุดของประเทศไทย ในขณะนั้นเป็นการเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จะใช้กฎอัยการศึกบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการใช้ในการเกิดรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่
โดยการใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกในรัชกาล พบว่า ใช้กฎอัยการศึกเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นผลที่มาจากกบฏแมนฮัตตัน ในครั้งนี้มีผู้สำเร็จราชการคือพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
รวมถึงการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นับเป็นการประกาศกฎอัยการศึกโดยพระองค์เองที่มีพระบรมราชโองการ ในรัชกาล
และครั้งที่พระองค์ประกาศใช้ยาวนานมากที่สุดคือการประกาศกฎอัยการศึกครั้งที่ 14 เป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนาน 10 เดือน 11 วัน เป็นการประกาศกฎอัยการศึกเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชขึ้นครองราชย์
ดูเพิ่ม
แก้- เดฟคอน
- กองตำรวจภูธร (Gendarmerie)
- การประกาศกฎอัยการศึก 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
- สเตรโตเครซี รูปแบบรัฐบาลที่นำโดยนายพลทหาร
- รัฐตำรวจ รัฐที่บริหารผ่านอำนาจของกลุ่มตำรวจ
- คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง รัฐบาลที่นำโดยคณะผู้นำทหาร
- เผด็จการทหาร รูปแบบเอกาธิปไตยที่ปกครองด้วยทหาร
- ลัทธิอำนาจนิยม รูปแบบรัฐบาลที่มีอำนาจกลางมากและมีเสรีภาพจำกัด
อ้างอิง
แก้- ↑ Anonymous (19 August 2010). "Martial Law". LII / Legal Information Institute.
- ↑ "Martial law". britannica.com.
- ↑ วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
- ↑ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
- ↑ ข้อมูลทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
- ↑ พื้นที่ที่ใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดของประเทศไทย
อ่านเพิ่ม
แก้- วรชัย แสนสีระ, “จุดต่างแห่งอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใจราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๗”, จุลนิติ พ.ค. – มิ.ย. ๒๕๕๓, หน้า ๑๒๙ – ๑๓๑
- Macomb, Alexander, Major General of the United States Army, The Practice of Courts Martial, (New York: Harper & Brothers, 1841) 154 pages.
- Macomb, Alexander, Major General of the United States Army, A Treatise on Martial Law, and Courts-Martial as Practiced in the United States. (Charleston: J. Hoff, 1809), republished (New York: Lawbook Exchange, 2007). ISBN 978-1-58477-709-0.
- Rehnquist, William H. (1998). All the Laws but One: Civil Liberties in Wartime. New York: William Morrow & Co. ISBN 0-688-05142-1.
- The Concise Oxford Dictionary of Politics. Edited by Iain McLean and Alistair McMillan, Oxford University Press, 2004. [ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]
- Black's Law Dictionary: Definitions of the Terms and Phrases of American and English Jurisprudence, Ancient and Modern. Henry Campbell Black. St. Paul: West Pub. Co., 1979. [ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]