อำเภอแม่ลาน
แม่ลาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี และเป็น 1 ใน 2 อำเภอของจังหวัดที่มีทางรถไฟสายใต้ผ่าน โดยมีสถานีรถไฟคลองทรายที่เป็นสถานีย่อยประจำอำเภอ จัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอในปี พ.ศ. 2532[1] และยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2538[2] เป็นอำเภอล่าสุดในจังหวัดปัตตานี
อำเภอแม่ลาน | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mae Lan |
คำขวัญ: ลองกองหวาน ชลประทานดี วิถีอำนวย พระนอนสวย รวยทุ่งกว้าง | |
แผนที่จังหวัดปัตตานี เน้นอำเภอแม่ลาน | |
พิกัด: 6°39′39″N 101°14′23″E / 6.66083°N 101.23972°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ปัตตานี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 89.2 ตร.กม. (34.4 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 17,604 คน |
• ความหนาแน่น | 197.35 คน/ตร.กม. (511.1 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 94180 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 9412 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอแม่ลาน หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี 94180 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอแม่ลานมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหนองจิก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอยะรัง และอำเภอเมืองยะลา (จังหวัดยะลา)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองยะลา (จังหวัดยะลา)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโคกโพธิ์
ประวัติ
แก้"แม่ลาน" เป็นชื่อของหนองน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 6 บ้านลูตง ตำบลแม่ลาน (เดิม) ในอดีตแม่ลานเป็นชุมชนเก่าแก่ประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว เดิมอยู่ในเขตการปกครองของเมืองหนองจิกเป็น 1 ใน 7 หัวเมือง โดยมีเจ้าพระยาเมืองหรือเจ้าเมือง เป็นคนไทยพุทธ ประชาชนรุ่นแรกอพยพมาจากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา โดยพระยาเมืองหนองจิกในขณะนั้น มอบหมายภารกิจให้ชุมชนแม่ลานและชุมชนใกล้เคียงทำหน้าที่หาข่าวลาดตระเวนพื้นที่จัดเตรียมเสบียงอาหารไว้ใช้ในราชการ เตรียมคนไว้นำทางแก่กองทัพเมื่อเกิดสงคราม
ชุมชนแม่ลานและชุมชนใกล้เคียง เช่น ป่าไร่ นาประดู่ ทรายขาว โคกโพธิ์ ทุ่งพลา ปากล่อ ห้วยเงาะ ลำพระยา ลำใหม่ ยุโป ล้วนแต่เป็นชุมชนเครือข่ายเดียวกันทั้งสิ้น สำหรับเจ้าหน้าที่ปกครองชุมชนแม่ลานและชุมชนใกล้เคียง พระยาหนองจิกได้แต่งตั้งผู้ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ มีลักษณะผู้นำและมีความเด็ดขาด เป็นกรมการเมืองหนองจิก ทำหน้าที่ดูแลชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบเรียกว่า "หัวเมือง" ผู้ปกครองคนสุดท้ายชื่อ "หัวเมืองชุม" ต้นตระกูล "ชุมนุมมณี" ในปัจจุบันมีลูกหลานกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ลานและอำเภอใกล้เคียงในทุกวันนี้[3]
เดิมทีอำเภอแม่ลานเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอโคกโพธิ์ ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่ และตำบลม่วงเตี้ย (แยกออกจากตำบลแม่ลานในปี พ.ศ. 2524[4]) เป็นท้องที่ห่างไกลทุรกันดาร มีการคมนาคมไม่สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่หลบซ่อนและซ่องสุมของโจรผู้ร้าย เป็นพื้นที่รอยต่อกับอำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
ในปี พ.ศ. 2528 นายอำเภอโคกโพธิ์ในขณะนั้น นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา) ได้พิจารณาเห็นว่าพี่น้องประชาชนในตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่บางส่วน (บางส่วนถูกแบ่งไปจัดตั้งเป็นตำบลควนโนรี ในปี พ.ศ. 2531[5]) และตำบลม่วงเตี้ย ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางไปติดต่อราชการกับอำเภอโคกโพธิ์ จึงได้ประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตั้งกิ่งอำเภอใหม่ขึ้นในบริเวณพื้นที่ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่บางส่วนและตำบลม่วงเตี้ย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งห่างจะเดินทางไปติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ ต้องเดินทางผ่านอำเภอยะรังเพื่อเข้าตัวเมืองปัตตานีและนั่งรถโดยสารต่อไปยังอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 1 วันเต็ม ในเบื้องแรกนั้น ได้มีการเสนอสถานที่ตั้งกิ่งอำเภอ 2 แห่ง คือ
- ประชาชนในตำบลแม่ลาน และตำบลม่วงเตี้ย เสนอให้มีการตั้งกิ่งอำเภอใหม่ ที่หมู่ 4 บ้านนางโอ ตำบลแม่ลาน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 1.6 ตร.กม. (1,000 ไร่)
- ประชาชนในตำบลป่าไร่ เสนอที่ตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ ที่หมู่ 6 บ้านควนแปลงงู ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (กรป.) มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่
ในท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติเสนอให้หมู่ 4 ตำบลแม่ลาน เป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งที่ว่าการ กิ่งอำเภอแม่ลาน[1] เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้การบริการ การรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอโคกโพธิ์เดิม คือ ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่ (บางส่วน) ตำบลม่วงเตี้ย นับเป็นก้าวแรกของที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน และต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ได้ยกฐานะเป็น อำเภอแม่ลาน[2] มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน เป็นอำเภอล่าสุดที่จัดตั้งขึ้นในจังหวัดปัตตานี
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้การปกครองของอำเภอแม่ลานมี 3 ตำบล 22 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | แม่ลาน | (Mae Lan) | 9 หมู่บ้าน | |||||||
2. | ม่วงเตี้ย | (Muang Tia) | 6 หมู่บ้าน | |||||||
3. | ป่าไร่ | (Pa Rai) | 7 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอแม่ลานประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ลานทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงเตี้ย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่วงเตี้ยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลป่าไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าไร่ทั้งตำบล
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่ลาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 106 (40 ง): 1888. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-19. สืบค้นเมื่อ 2022-07-21. วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2532
- ↑ 2.0 2.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอแก่งหางแมว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่วาง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอบ่อเกลือ อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอห้วยราช อำเภอแม่ลาน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอยางสีสุราช อำเภอจังหาร อำเภอบ้านธิ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบางกล่ำ อำเภอวังม่วง และอำเภอนายูง พ.ศ. ๒๕๓๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (32 ก): 1–3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2022-07-21. วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538
- ↑ "การส่งเสริมครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : อำเภอแม่ลาน (Mae Lan)" (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี.[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (96 ง): 1820–1824. วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2524
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (143 ง): (ฉบับพิเศษ) 92-95. วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2531