ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

พระราชวงศ์ไทย

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี; ประสูติ 5 เมษายน พ.ศ. 2494) เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี
พระโสทรเชษฐภคินี
ประสูติ5 เมษายน พ.ศ. 2494 (73 ปี)
โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระสวามีปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน (พ.ศ. 2515–2541)
พระบุตรพลอยไพลิน เจนเซน
พุ่ม เจนเซน
สิริกิติยา เจนเซน
ราชสกุลมหิดล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระมารดาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ศาสนาพุทธ

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาแล้ว ทรงประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน[1] เพื่อเข้าพระพิธีเสกสมรสกับปีเตอร์ แลดด์ เจนเซนในพระบรมมหาราชวังตามพระราชประเพณี แล้วเสด็จไปประทับด้วยพระสวามี ณ สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2515 ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยหลังเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการก่อตั้งโครงการทูบีนัมเบอร์วันขึ้นสำหรับเยาวชน ทรงช่วยเหลือราษฎรและให้โอกาส ผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง และทรงเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์

พระประวัติ

ประสูติ

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล โทศก จ.ศ. 1312 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494[2] เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า "เป้" อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่"[3] ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า "พี่หญิง"[4]

การศึกษา

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจนสำเร็จจากโรงเรียนจิตรลดา ครั้นทรงสำเร็จมัธยมศึกษา ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิสลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จในการศึกษา

การอภิเษกสมรส

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์[1] ต่อมาอภิเษกสมรสกับปีเตอร์ แลด เจนเซน ชาวอเมริกัน ในพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี และประทับอยู่ ณ สหรัฐอเมริกา ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น จูลี เจนเซน (อังกฤษ: Julie Jensen)[5][6][7][8] ทั้งสองมีพระโอรส-ธิดาสามคน ทั้งหมดเกิดในสหรัฐอเมริกา โดยมีการออกพระนามในประเทศไทยระหว่างทรงพำนักในต่างประเทศว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจนเสน[9]

ในปี พ.ศ. 2541 ทรงหย่ากับปีเตอร์ เจนเซน กลับมาใช้พระนามเดิมคืออุบลรัตน มหิดล (อังกฤษ: Ubolratana Mahidol)[6][7] และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมคุณพุ่ม หลังผ่านปัญหาการหย่าร้างกับอดีตพระสวามีกว่าสองปี[10] ในขณะที่เสด็จกลับประเทศไทยนั้น ท่านผู้หญิงพลอยไพลินยังศึกษาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[11] ส่วนท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์[12] โดยพำนักอยู่ร่วมกับบิดา[7]

พระโอรสธิดา

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี อภิเษกสมรสกับปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน มีพระราชโอรส-ธิดา 3 พระองค์ดังนี้

รูป นาม เกิด เสียชีวิต คู่สมรส บุตร/ธิดา
ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เดวิด วีลเลอร์ คุณแม็กซิมัส จุลรัตน์ วีลเลอร์
คุณลีโอนาร์โด ภัททพงศ์ วีลเลอร์
คุณอเล็กซานดรา ภัททสุดา วีลเลอร์
คุณพุ่ม เจนเซน 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 มิได้สมรส
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 มิได้สมรส

การเสด็จนิวัตประเทศไทย

ขณะทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาประทับอยู่สหรัฐอเมริกานั้น พระมารดาและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาเยี่ยมพระองค์บ้างเป็นบางปี และพระองค์ก็ได้เสด็จมาประเทศไทยเพื่อทรงเยี่ยมพระบิดาและพระมารดา ทั้งทรงร่วมงานพระราชพิธีต่าง ๆ พร้อมด้วยพระโอรส-ธิดา ดังนี้

เมื่อทรงหย่ากับปีเตอร์ แลด เจนเซน ในพ.ศ. 2541 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาได้เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับอยู่เป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544

ภายหลังเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ นอกจากนี้ยังทรงให้การช่วยเหลือราษฎรและให้โอกาส ผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ โดยมีพระดำริให้จัดตั้งมูลนิธิต่าง ๆ ขึ้นในการช่วยเหลือและให้โอกาสประชาชน อีกทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง เป็นต้นว่า หนึ่งใจ... เดียวกัน (พ.ศ. 2551), มายเบสต์บอดีการ์ด (พ.ศ. 2552) โดยนำรายได้ทั้งหมดในการจัดฉายภาพยนตร์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศไปช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย

พระกรณียกิจ

ด้านสังคมสงเคราะห์

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการช่วยเหลือราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยทรงตั้งมูลนิธิชีวิตสดใสเป็นองค์การสาธารณกุศล

นอกจากนี้ ยังทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการช่วยเหลือ ด้านการศาสนา โดยได้เสด็จหรือทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ไปดูความคืบหน้าของโครงการอยู่เป็นประจำ

ด้านเทคโนโลยี

พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าสมัยใหม่ มีช่องทางสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ผ่านแอปพลิเคชัน โซเชี่ยลมีเดีย ชื่อว่า อินสตาแกรม โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า Nichax เพื่อโพสต์พระรูปส่วนพระองค์ในพระอิริยาบถต่างๆให้ประชาชนเข้าไปชื่นชม และพูดคุยจนเป็นที่ชื่นชมจากพสกนิกรว่า เป็นเจ้าฟ้าทันสมัย

ด้านการรณรงค์การแก้ไขปัญหายาเสพติด

 
สัญลักษณ์โครงการ TO BE NUMBER ONE

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระดำริให้มีและทรงรับเป็นองค์ประธานโครงการ "TO BE NUMBER ONE" เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงาน องค์กร ชุมชนต่าง ๆ ตามพระปณิธาน "ทุกคนเป็นหนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด" มุ่งหมายให้เยาชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรมอันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก นอกจากนี้ ยังมี "ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น" ซึ่งให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเยาวชน เช่น ปัญหาครอบครัว และปัญหายาเสพติด มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่มากถึง 31 ล้านคน หรือครึ่งประเทศ

นอกจากนี้ ยังทรงเปิดศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นทั่วประเทศ และเสด็จมาเยี่ยมชมกับพระราชทานรางวัลในการประกวดของชมรมทูบีนัมเบอร์วันและงานรวมพลคนทูบีครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีด้วย

ต่อมา รัฐบาลสหรัฐแม็กซิโกได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในงานประชุมเยาวชนโลก (World Youth Conference) ประจำปี พ.ศ. 2553 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก โดยเม็กซิโกให้ความสนใจโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และให้การยกย่องว่า เป็นต้นแบบในการป้องกันเยาวชนติดยาเสพติดเป็นผลสำเร็จ และต่างชื่นชมในความเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ด้านเด็กออทิสติก

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเห็นว่าเด็กออทิสติกไม่ได้เรียนหนังสือ จนทำให้เป็นคนไม่ปกติ จึงทรงตั้งมูลนิธิคุณพุ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 ภายหลังจากที่คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสซึ่งเป็นโรคออทิซึมด้วยนั้น ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 บางปียังพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่เด็กออทิสติกนำไปใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาและเพื่อให้เด็กออทิสติกได้พัฒนาตนเอง

ด้านการกีฬา

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระปรีชาในกีฬาเรือใบ และเคยทรงลงแข่งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อแปรพระราชฐานยังพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ทรงเคยเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ ที่งานกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และทรงทำคะแนนรวมได้เป็นที่ 1 เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงร่วมการแข่งขันเช่นกัน จึงได้รับพระราชทานเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ร่วมกับพระบิดา[13]

ด้านการศึกษา

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชทานทุนการศึกษาให้กับเยาวชน ผ่านมูลนิธิ TO BE NUMBER ONE ผู้ได้รับทุนการศึกษา จะได้รับต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับปริญาตรี

ผลงานในวงการบันเทิง

ด้านการแสดงละคร

เมื่อปี พ.ศ. 2546 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงละครสองเรื่องแรก คือ กษัตริยา และ มหาราชกู้แผ่นดิน ตามคำกราบทูลเชิญของบริษัทกันตนา ละครทั้งสองออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 19:30 นาฬิกา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้ทรงแสดงนำในละครเรื่อง อนันตาลัย ซึ่งทรงประพันธ์เค้าโครงเรื่องด้วยพระองค์เองโดยใช้พระนามแฝงว่า "พลอยแกมเพชร" ละครดังกล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 พระองค์ได้ทรงร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คู่ขนานกับ ช่อง 3 HD ช่อง 33 เรื่อง ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน ทรงรับบทเป็น "อัมราภาชินี"

การออกรายการโทรทัศน์

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จมาทรงถ่ายรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นประจำ ตามคำกราบทูลเชิญคณะบุคคลต่าง ๆ เพื่อออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะรายการที่พระองค์ทรงออกรายการทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำเป็นรายการที่มีความรู้และสาระต่าง ๆ ที่ประชาชนได้รับชมอยู่จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 2 รายการ มีดังนี้

  • ทูบีนัมเบอร์วัน วาไรตี้ เมื่อ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อห่างไกลยาเสพติด ผลิตโดย โครงการทูบีนัมเบอร์วันและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พระองค์จะออก ช่วง Talk to the Princess ตอบจดหมายจากผู้ชม จะออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 20:30–21:30 นาฬิกา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
  • พรินเซสไดอารี (Princess Diary) เมื่อ พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของต่างประเทศ ปัจจุบัน เปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นการสัมภาษณ์ดารารับเชิญในห้องส่ง โดยเล่าประวัติและผลงานของดารารับเชิญ ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 23:05–24:00 นาฬิกา ทาง เอ็มคอตเอชดี

การแสดงภาพยนตร์

เมื่อ พ.ศ. 2551 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงถ่ายภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งใจเดียวกัน เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในพระองค์ จากบทพระนิพนธ์ เรื่องสั้นที่...ฉันคิด ทำรายได้ 50 ล้านบาท[14] ต่อมา ยังทรงแสดงในภาพยนตร์เรื่อง มายเบสต์บอดีการ์ด และ พระนางจามเทวี[15] ภาพยนตร์ทั้งสามได้เข้าฉายในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเสด็จมาทรงร่วมในพิธีเมื่อ พ.ศ. 2551, 2552 และ 2553

ใน พ.ศ. 2555 ทรงร่วมแสดงภาพยนตร์อีกสองเรื่อง คือ เรื่อง ว่ายน้ำข้ามทะเลดาว ร่วมกับ โทนี่ รากแก่น เทิดพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เข้าฉายในวันที่ 1–23 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และเรื่อง Together วันที่รัก ร่วมกับ สหรัถ สังคปรีชา และ ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ เข้าฉายวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ด้านการร้องเพลง

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีผลงานเพลงหลายผลงานในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น เพลงประจำโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งใจ...เดียวกัน เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มาย เบส บอดี้การ์ด เพลง "ทางของฉัน" และเพลง "ผู้ชายคนนั้น" นอกจากนี้ ยังทรงได้รับเชิญเข้าร่วมร้องเพลง "ขวานไทยใจหนึ่งเดียว" เมื่อปี พ.ศ. 2547 ด้วย

ด้านการเมือง

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงตอบรับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยพรรคได้เสนอพระนามต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[16][17] แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความโดยสรุปว่า การนำพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง[18][19] และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 กกต. ประกาศรับรองบัญชีรายชื่อทั้ง 45 พรรค 69 รายชื่อ โดยไม่ปรากฏชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เพราะยังถือว่าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ต้องอยู่เหนือการเมือง[20]

องค์กรในพระอุปถัมภ์

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี
 
ตราประจำพระองค์
 
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
ลำดับโปเจียม6

ฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศ

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (5 เมษายน พ.ศ. 2494 – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515)
  • จูลี เจนเซน (ในสหรัฐ)[21] ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจนเสน (ในไทย) (25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2541)
  • อุบลรัตน มหิดล (ในสหรัฐ)[21] (พ.ศ. 2541 – 2544) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจนเสน (ในไทย)
  • ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พ.ศ. 2544 – ปัจจุบัน)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

เครื่องอิสริยยศ

ครั้งที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงนั้น ทรงมีเครื่องอิสริยยศประจำพระองค์ที่ทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เครื่องอิสรริยยศเหล่านั้นประกอบด้วย

  • พระสุพรรณบัฎ พร้อมหีบทองคำลงยาราชาวดี ประดับตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดับเพชร
  • พานพระศรีทองคำลงยาราชาวดี พร้อมจอกทองคำลงยาราชาวดี ผอบทองคำลงยาราชาวดียอดปริกประดับเพชร ซองพลูทองคำขอบบนล่างประดับทับทิม และมีตลับภู่ประดับทับทิมกับเพชร ไม้ควักพระกรรณ ไม้แคะพระทนต์ และพระกรรบิดทองคำลงยาราชาวดีประดับทับทิม
  • หีบพระศรีทองคำลงยาราชาวดีประดับตราพระจุลมงกุฎ มีลูกหีบสามหีบ พร้อมพานรองลงยาราชาวดี
  • พระสุพรรณศรีทองคำลงยาราชาวดี
  • พระภิงคารทองคำลงยาราชาวดี พร้อมพานรองลงยาราชาวดี
  • ขันพระสุธารสทองคำลงยาราชาวดี ที่ขอบประดับทับทิม พร้อมพานรองลงยาราชาวดี กับจอกทองคำลงยาราชาวดี
  • ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาราชาวดี พร้อมพานรองลงยาราชาวดีขอบประดับทับทิม กับคลุมปัก
  • ที่พระสุธารสชาทองคำสลักลาย ประกอบด้วย กาพระสุธารสชาทองคำสลักลาย ถ้วยพระสุธารสชาทำจากหยก มีถาดทองคำสลักลาย
  • กาพระสุธารสทองคำสลักลาย ทรงกระบอก พร้อมพานรอง ทองคำสลักลาย

รางวัล

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงได้รับรางวัลดังต่อไปนี้

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ปริญญากิตติมศักดิ์ สถาบัน วันที่
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์[29] มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาสังคม[30] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 28 มกราคม พ.ศ. 2547
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา[31] มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา[9] มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2547
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พ.ศ. 2547
พยาบาลศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพยาบาลศาสตร์[32] มหาวิทยาลัยขอนแก่น 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547
ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษาพิเศษ[33] มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2548
การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา[34] มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2548
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารและประเมินโครงการ[35] มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 18 มกราคม พ.ศ. 2549
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาสังคม[36] มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พ.ศ. 2548
ปริญญากิตติมศักดิ์[37] วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2549
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์[38] มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป[39] มหาวิทยาลัยศรีปทุม 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา[40] วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา จังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2553
รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา[41] มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พ.ศ. 2553
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา[42] มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2554
ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[43] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 9 มีนาคม พ.ศ. 2555
นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการภาพยนตร์[44] มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555
สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์[45] มหาวิทยาลัยนเรศวร 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการสุขภาพ[46] มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษาและพัฒนาสังคม[47] มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สิ่งอันเนื่องด้วยพระนาม

สถาบันการศึกษา

การคมนาคม

ศาสนสถาน

ศาสนวัตถุ

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ราชการ

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ลาออกจากฐานันดรศักดิ์, เล่ม 89, ตอน 112 ก ฉบับพิเศษ, 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515, หน้า 1
  2. ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงการณ์ประสูติ, เล่ม 68, ตอน 23 ง, 10 เมษายน พ.ศ. 2494, หน้า 1635
  3. พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554, หน้า 24
  4. "หนังสือที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณพุ่ม เจนเซน". ASTV ผู้จัดการรายวัน. 1 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-08. สืบค้นเมื่อ 1 Feb 2016.
  5. "The King of Thailand in World Focus". คมชัดลึก. 9 Dec 2009. สืบค้นเมื่อ 29 Dec 2013.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 "IN RE MARRIAGE OF JENSEN". Leagle. สืบค้นเมื่อ 29 Dec 2013.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 7.2 "IN RE: the MARRIAGE of Julie and Peter JENSEN". FindLaw. สืบค้นเมื่อ 29 Dec 2013.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "Prince dies in tsunami, was grad of Torrey Pines". The San Diego Union-Tribune. December 30, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-20. สืบค้นเมื่อ 2010-09-19.
  9. 9.0 9.1 คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[ลิงก์เสีย]
  10. Matt Potter (9 Mar 2012). "MOOLA, MOOLA". San Diego Reader. สืบค้นเมื่อ 29 Dec 2013.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "Former Del Mar resident and Thai royal is among tsunami dead". North County Times. December 29, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-02. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20.
  12. "Prince dies in tsunami, was grad of Torrey Pines". The San Diego Union-Tribune. December 30, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-09-19.
  13. "16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  14. มยุรี อำนวยพร, ที่สุดของหนังเด่น-หนังโดนแห่งปี เก็บถาวร 2008-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dailynews.co.th
  15. 4 หนังไทยใหม่เปิดตัวที่เมืองคานส์ thaicinema.org
  16. "พระปรีชา ทูลกระหม่อมหญิงฯ ทรงรับเป็น แคนดิเดตนายกฯ". ไทยรัฐออนไลน์. กรุงเทพมหานคร. 2019-02-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  17. "Historic candidacy of princess upends tradition in Thailand". Associated Press. กรุงเทพมหานคร. 2019-02-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  18. "Thailand's king condemns bid by sister to become PM". BBC. กรุงเทพมหานคร. 2019-02-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  19. "ประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" (PDF) (Press release). Bangkok: ราชกิจจานุเบกษา. 2019-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-02-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  20. "กกต.ประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯพรรคการเมืองแล้ว 45 พรรค ไม่มีชื่อพรรคไทยรักษาชาติ". มติชนออนไลน์. 11 Feb 2019. สืบค้นเมื่อ 11 Feb 2019.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. 21.0 21.1 คดีหมายเลข D040234 ระหว่างอุบลรัตน มหิดล โจทย์ กับนายปีเตอร์ เจนเซน จำเลย ในกรณีการสมรสระหว่างจูลี และปีเตอร์ เจนเซน 18 ธันวาคม 2003. ศาลอุทธรณ์แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา.
  22. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
  23. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๔๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๓, ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕
  27. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๙ ง หน้า ๔๓๑๙, ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕
  28. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๓, ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
  29. คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[ลิงก์เสีย]
  30. คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 38 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]
  31. คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[ลิงก์เสีย]
  32. "รายพระนามและรายนามผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2511 - ปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-18. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  33. "มก. ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-21. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  34. คำประกาศราชสุดุดีเฉลมพระเกียรติคุณทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี[ลิงก์เสีย], มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  35. พิธีประทานปริญญาบัตรครั้งที่ 4 วันที่ 18/1/2006 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,
  36. คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[ลิงก์เสีย]
  37. ทำเนียบนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร[ลิงก์เสีย]
  38. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก ม.วงษ์ชวลิตกุล
  39. "สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม มีมติ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2012-05-10.
  40. ทูลกระหม่อมอุบลรัตนฯ พระราชทานปริญญา ว.เฉลิมกาญจนา ศรีสะเกษ[ลิงก์เสีย]
  41. "คำกราบบังคมทูลรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-08-24.
  42. ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฉบับที่ 40 22 กุมภาพันธ์ 2554
  43. วาไรตี้สุดสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 133 7 มีนาคม 2555
  44. "แวดวงราชภัฎ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-08-24.
  45. ทูลเกล้าถวายปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[ลิงก์เสีย]
  46. ทูลเกล้าถวายปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[ลิงก์เสีย]
  47. สภา มร.ชร. ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ และมีมติมอบปริญญากิตติมศักดิ์ผู้มีผลงานโดดเด่น 5 สาขาวิชา[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น